Friday, 17 May 2024
สสปุ้ยพิมพ์ภัทราวิชัยกุล

'รมว.ปุ้ย' เผย!! 'ก.อุตฯ' รับลูกนายกฯ ดันนโยบายสอดรับแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ชี้!! จัดเต็มแก้ไขตั้งแต่ต้นตอปัญหา 'โรงงาน-ควันรถยนต์-เผาไร่อ้อย'

(14 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยภายหลังติดตามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมงาน เดลินิวส์ ทอล์ก 2023 (Dailynews Talk 2023) พร้อมฟังเสวนา หัวข้อ ‘คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ’ ในหลากหลายมิติ ว่า…

เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค. 66) ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตาม นายกเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมงาน ‘เดลินิวส์ ทอล์ก 2023’ พร้อมฟังเสวนา ในหัวข้อ ‘คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ’ โดยมีพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวเดลินิวส์ จัดขึ้นอย่างอลังการมาก คุณปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ เป็นหัวเรือใหญ่ มีประเด็นที่พูดคุยเสวนากันอย่างครบครันที่ล้วนแต่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าอย่างเต็มสูบ เต็มกำลัง

รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก คือการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา อัตราเงินเดือนขั้นต่ำเงินของผู้จบปริญญาตรี เงินดิจิตอล การแก้ไขหนี้นอกระบบ ปัญหาเรื่องพลังงาน ปัญหาสังคมยาเสพติด อาชญากรรม ฝุ่น PM 2.5 โดยนายกเศรษฐาได้ให้คำมั่นไว้ รัฐบาลยึดถือประชาชนเป็นหลัก ทำงานให้เต็มกำลังแก้ปัญหาให้ทุก ๆ ปัญหา

รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม เรากำลังนำนโยบายมาแก้ไขซึ่งสอดรับกับเรื่องฝุ่น เป็นนโยบายที่เร่งด่วนลดผลกระทบกับสภาพอากาศ ต้นตอปัญหาที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งแก้ไขจัดการคือ โรงงานอุตสาหกรรมต้นตอการปล่อยฝุ่นควัน ท่อไอเสียยานยนต์ชนิดต่าง ๆ และที่กำลังรอผลประเมินคือการแก้ไขปัญหาการเผาไร่อ้อย โดยมีมาตรการที่เข้าไปจัดการแก้ไขคือทั้งในรูปแบบในการสนับสนุนด้วยวงเงินสนับสนุนเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลง และการสนับสนุนและการกำกับตามกฎหมาย ยกระดับมาตรฐาน ไปจนถึงระบบการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

“เหล่านี้เพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและภาคอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ มีความสุขและความยั่งยืน ตนกำลังนำพากระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าไปหาจุดนั้น เต็มที่ เต็มกำลังแน่นอน” รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ผุดแผนยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ มุ่งส่งเสริมการลงทุนกว่า 359,000 คันต่อปี พร้อมชูรียูสแบตฯ 

'รมว.พิมพ์ภัทรา' นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เผยที่ประชุมรับทราบ และเห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน หลัง สศอ. ในฐานะเลขานุการฯ นำเสนอ พร้อมเตรียมรับเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 ตามแผนส่งเสริมการลงทุนรวม 359,000 คันต่อปี 

(14 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้รับทราบ และเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ ได้แก่ ความคืบหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า, แนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (EV Conversion), แนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงแนวทางการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียด ข้อกฎหมาย และรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามระเบียบขั้นตอน เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภททั้งรถขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์, รถยนต์, รถกระบะ ไปจนถึงรถขนาดใหญ่ เช่น รถโดยสาร, รถบรรทุก และการส่งเสริมการผลิตและการจัดการซากตลอดช่วงชีวิตการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า หรือ End of Life Vehicle (ELV) 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในส่วนของการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตเครื่องจักรกลอัตโนมัติในกระบวนการผลิต และ EV Conversion อาทิ รถขนขยะมูลฝอย, รถบรรทุกน้ำ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมกระบวนการจัดการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อขยายความต้องการลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

ด้าน นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะเลขานุการฯ ได้นำเสนอความคืบหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งด้านการผลิต การใช้ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผน 30@30 เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน และ มาตการ EV3 ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle : BEV) รวม 67,056 คัน ซึ่งเติบโตมากกว่าร้อยละ 690 หรือ 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 8,483 คัน ทำให้ตลาด EV ไทยเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีผู้เข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิต BEV คิดเป็นมูลค่า 39,579 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 359,000 คันต่อปี และผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วน คิดเป็นมูลค่า 35,303 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ (EV Conversion) โดยเป็นการสร้างต้นแบบการดัดแปลงรถขนาดใหญ่ให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถขนขยะมูลฝอย และรถบรรทุกน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ในราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ โดยให้คำนึงถึงการพัฒนาต้นแบบยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างมาตรฐานในการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการ โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดำเนินการกำหนดมาตรการ และกลไกในการขับเคลื่อนการส่งเสริมยานยนต์ดัดแปลงประเภทต่างๆ ผ่านคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต ครอบคลุมมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี โดยมีมาตรการที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ System Integrator (SI) ผ่านการดำเนินงาน เช่น พัฒนาบุคลากร System Integrator (SI) จำนวน 1,301 คน และบุคลากรในสถานประกอบการ จำนวน 3,665 คน รวมทั้งพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 185 ต้นแบบ 

โดยปัจจุบันมี System Integrator (SI) ที่ขึ้นทะเบียนรายกิจการ จำนวน 121 กิจการ ผ่านกลไกศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ Center of Robotics Excellence (CoRE) มีผู้ประกอบการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 271 กิจการ มูลค่ารวม 27,710 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อแนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) ให้มีศักยภาพและเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของ SI ไทยที่จะสามารถเชื่อมโยงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทย เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศได้

ขณะเดียวกัน ยังได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริม และจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ สร้างมูลค่าจากการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ประกอบด้วย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เนื่องจากแบตเตอรี่มีมูลค่าสูง ซึ่งจากผลการศึกษาที่ได้ประเมินว่าแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ซ้ำในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ การผลิตอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า (Energy Storage System: ESS) และส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น Cloud Service โดยคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องในการควบคุม และติดตามการจัดการแบตเตอรี่ให้เหมาะสม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อศึกษารายละเอียด และกำหนดแนวทางการส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 มีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิจาก หลายหน่วยงานเข้าร่วมการประชุม โดยมีนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ กระทรวงอุตสาหกรรม

'รมว.ปุ้ย' ติดตามงานสำคัญทุกภาคส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จ!! 4 แพ็กเกจของขวัญปีใหม่ 'เข้าเป้า-ทะลุเป้า'

(18 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (17) ได้นัดหมายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม จากทุกกรมมาร่วมกันประชุมเป็นนัดแรกของปี 2567 สาระสำคัญอยู่ที่การติดตามงานที่ได้มอบหมายในหลายๆ เรื่อง

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวถึงการติดตามเรื่องพลังงานสะอาด ที่กำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานสะอาด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกันเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มกำลังผ่านนโยบายและการส่งเสริม สนับสนุนในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ 

ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเรื่องพลังงานสะอาดเข้ามาร่วมพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 และยังมีการติดตามความก้าวหน้าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้การดำเนินการ Green Industry (GI) และยังได้กำหนดให้มีการรวบรวมข้อมูลงบประมาณอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการตอบคำถาม หรือการสืบค้นได้อย่างรวดเร็วคล่องตัวมีความโปร่งใสและชัดเจน

รมว.ปุ้ย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของการดำเนินงานตามแพ็กเกจของขวัญปีใหม่กระทรวงอุตสาหกรรม ใน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสินค้าและบริการดี ราคาพิเศษ, มาตรการเติมทุน เสริมสภาพคล่อง, มาตรการเพิ่มโอกาส เสริมแกร่งธุรกิจ และ มาตรการกระจายรายได้สู่ชุมชนรอบอุตสาหกรรม พบว่ามีตัวชี้วัดที่น่าพอใจอย่างมาก โดยตัวชี้วัดที่ดีเข้าเป้าหมายหรือทะลุเป้าที่วางไว้คือผลสำเร็จ 

"ทุกกรมที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงงบประมาณในปี 2568 พร้อมทั้งนำเสนอโครงการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลสนับสนุนเสริมสร้างผู้ประกอบการ และยังมีการเตรียมมาตรการข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รวบรวมจากพื้นที่ เพื่อนำเข้าสู่การประชุม ครม.สัญจรครั้งที่ 1 ปี 2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม 2567 นี้ต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

'รมว.ปุ้ย' ชวนยล!! เสน่ห์แห่ง 'ผ้ายกเมืองนคร' ผลิตภัณฑ์ผ้านครศรีฯ ที่ลือชื่อมาแต่ครั้งโบราณ

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึง 'ผ้ายกเมืองนคร' ผ้าดีจากเมืองคอนที่สร้างชื่อกระฉ่อนในวงการผ้าไทย ว่า...

"มีคนถามปุ้ยมาค่ะ 'ผ้ายกเมืองนคร' ทำอย่างไรให้ขึ้นชื่อลือชากระฉ่อนในวงการผ้าไทย นี่เลยค่ะ ปุ้ยใช้ผ้ายกเมืองนครจากนครศรีธรรมราช บ้านเราค่ะ 

"ต้องเล่าความเป็นมาก่อนนะคะ ผ้ายกเมือง เป็นผ้าจากฝีมือการทอผ้าของชาวเมืองนครศรีธรรมราช มีชื่อนามปรากฏในประวัติศาสตร์เรื่องราวต่างๆ มานับร้อยปี เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ 'ผ้ายกเมืองนคร' 

"สมัยก่อนชาวเมืองนครศรีธรรมราชนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบน รวมถึงข้าราชการกรมเมือง ข้าราชการศาลและราษฎรทั่วไปนุ่งกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะเจ้านายฝ่ายหญิงของเมืองนครฯ แต่โบราณ จะนุ่งผ้ายกจีบเวลาออกรับแขกบ้านแขกเมือง หรือไปทำการงานพิธีบุญต่างๆ และมีผ้ายกสำคัญที่ชื่อ 'ผ้ายกขาวเชิงทอง' ใช้นุ่งในพิธีการถือพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช  

"ผู้ที่เข้าพิธีถือน้ำจะต้องนุ่งผ้ายกขาวเชิงทองเรียกว่าหรือเรียกอีกชื่อว่า 'ผ้าสัมมะรส' และยังมีผ้ายกทองซึ่งมีด้ายทำจากทองคำ จะใช้สำหรับเฉพาะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรั้วในวังหรือเจ้าพระยาเท่านั้น ซึ่งมีบันทึกตรงกันหลายแหล่งว่าเจ้าพระยานครได้ส่งผ้ายกเข้ามาถวายเจ้านายในเมืองหลวง ส่วนผ้ายกธรรมดาก็ใช้กันโดยทั่วไป

"ปัจจุบันผ้ายกเมืองนคร เป็นที่นิยมมากค่ะ เป็นผ้าที่มีความเป็นมายาวนานอยู่ในวัฒนธรรมของชาวนครศรีธรรมราช มีคุณลักษณะพิเศษคือ สามารถนำมาออกแบบตัดเย็บได้อย่างหลากหลาย ทั้งชุดสวมใส่เพื่อความสวยงามทั่วไป ชุดเครื่องแต่งกายที่มีระเบียบแบบแผน หรือพิธีการสำคัญต่างๆ ผ้ายกเมืองนครจะโดดเด่นมากค่ะ หรือจะเป็นชุดสูททางการเช่นที่ปุ้ยจะนิยมนำมาใช้เสมอมาแบบนี้ ทำนองนี้ค่ะ 

"ช่างตัดเย็บ นักออกแบบสามารถออกแบบได้อย่างหลากหลายตามสมัยค่ะ"

'รมว.ปุ้ย' ชี้ กรณี กากแคดเมียม ต้องมีคนรับผิดชอบ เตรียมใช้กฎหมาย ลงโทษ ผู้กระทำความผิด!!

เมื่อวานนี้ (5 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวง ทุกกรมที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปติดตามเรื่องขนย้ายกากแร่แคดเมียมมาที่สมุทรสาคร ที่โรงงานอะลูมิเนียมแท่งและอะลูมิเนียมเม็ด ในสมุทรสาคร

ทั้งนี้ รมว.ปุ้ย ได้เรียกประชุมด่วนและสั่งการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 และมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 สั่งอายัดกากแคดเมียมและกากสังกะสีที่ปรากฏ พร้อมทั้งสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและดำเนินคดีทะเบียนโรงงานตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอายัดกากแร่นี้มาตั้งแต่มีนาคมแล้ว

ในวันเดียวกัน รมว.ปุ้ย ยังได้สั่งการให้มีการเร่งแก้ปัญหาในทุกด้านอย่างเร่งด่วน พร้อมให้ตรวจสอบโรงงานประเภท 106 ซึ่งดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม และโรงงานประเภท 59 และ 60 ซึ่งดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการหล่อหลอมโลหะในพื้นที่สมุทรสาครทั้งหมด หากโรงงานใดไม่ปฏิบัติตาม พรบ.โรงงาน และประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จะต้องถูกดำเนินคดีทุกข้อหาที่เกี่ยวข้อง และจะต้องมีบทลงโทษขั้นสูงสุดตามบัญญัติ

สำหรับการลงพื้นที่ไปยังโรงงานอะลูมิเนียมแท่งและอะลูมิเนียมเม็ด ที่สมุทรสาคร พบกากแคดเมียมและกากสังกะสีจำนวนราว 2,440 ตัน ส่วนที่เหลือได้ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบว่าอยู่ที่ไหน อย่างไร อยู่ในพื้นที่เฉพาะตามกำหนดหรือไม่ ขณะที่ในส่วนที่ปรากฏอยู่นี้จะต้องขนย้ายไปยังจุดฝัง ภายใน 7 วัน และให้ฝังกลบให้เสร็จในที่เฉพาะภายใน 15 วัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและอยู่ในกรอบมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

นอกจากนี้ รมว.ปุ้ย ยังได้ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจ หากมีการอนุญาตให้เคลื่อนย้าย โดยทราบว่าขณะนี้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีคำสั่งให้อุตสาหกรรมจังหวัดต้นทางย้ายมาช่วยราชการ ที่สำนักงานกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top