Wednesday, 15 May 2024
สวัสดี

22 มกราคม พ.ศ. 2486 ประกาศใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทาย หลังจากมีการคิดค้นคำนี้เมื่อปี 2476

วันนี้ เมื่อ 79 ปีก่อน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศใช้คำว่า "สวัสดี" เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการคิดค้นคำนี้เมื่อปี 2476 ในรายการวิทยุกระจายเสียง

การกล่าวคำทักทายของแต่ละประเทศล้วนมีความแตกต่างกัน และถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกความเป็นมาของประเทศนั้น ๆ ซึ่งประเทศไทยก็มีคำทักทายเช่นกัน นั่นก็คือคำว่า "สวัสดี" เรียกได้ว่าเป็นคำพูดติดปากไม่ว่าจะเป็นการพบกัน หรือลาจากกัน ต่างก็ต้องเอ่ยคำว่า "สวัสดี" และรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยนั้นมีการใช้คำนี้อย่างเป็นทางการนานเกือบ 80 ปีแล้ว

โดยเริ่มแรกนั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เล่าต้นสายปลายเหตุว่า เมื่อก่อนเจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงจะใช้คำว่า "ราตรีสวัสดิ์" เป็นการพูดเมื่อจบรายการ บางครั้งก็มีการอนุโลมให้พูดคำว่า "กู๊ดไนท์" (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีคนไม่เห็นด้วย จึงให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ในสมัยนั้น ช่วยคิดหาคำใหม่ขึ้นมาแทน จนในที่สุดก็ได้คำว่า "สวัสดี"

22 มกราคม พ.ศ. 2486 รัฐบาล ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ประกาศให้ใช้ “สวัสดี” เป็นคำทักทาย

ผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า “สวัสดี” คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) โดยพิจารณามาจากศัพท์ “โสตฺถิ” ในภาษาบาลี หรือ “สวัสติ” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งได้เริ่มใช้เป็นครั้งแรก ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นอาจารย์อยู่ที่นั่น หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเห็นชอบให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 โดยมอบให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ออกข่าวประกาศในวันนี้

โดยคำว่า “สวัสดี” นั้น จะทำหน้าที่ทั้งการทักทาย และอวยพรไปในคราวเดียวกัน และเมื่อเรากล่าวคำว่า “สวัสดี” คนไทยเรายังยกมือขึ้นประนมไหว้ตรงอก มือทั้งสองจะประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม เหมือนสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงสิ่งสูงค่าที่เป็นมงคล เพราะชาวไทยใช้ดอกบัวในการสักการะผู้ใหญ่ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนการวางมือไว้ตรงระดับหัวใจนั้น เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้นมาจากใจของผู้ไหว้

ดังนั้น เมื่อกล่าวคำว่า “สวัสดี” พร้อมกับการยกมือขึ้นประนม จึงแฝงให้เห็นถึงความมีจิตใจที่งดงามของคนไทย ที่หวังให้ผู้อื่นพบเจอแต่ในสิ่งที่ดี ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ถือเป็นมงคลต่อทั้งตัวผู้พูดและผู้ฟัง และยังสามารถเพิ่มเสน่ห์ในตัวบุคคลได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามก่อนใช้คำว่าสวัสดีนั้น คำทักทายของคนไทยสมัยก่อนไม่มีรูปแบบคำเฉพาะตายตัว แต่เป็นคำที่มาจากความรู้สึกจากใจ บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top