Monday, 7 April 2025
สวนดุสิตโพล

'สวนดุสิตโพล' ยก 'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' ท็อปฟอร์ม หลังครอง 3 ปีซ้อน 'รัฐมนตรีในใจประชาชน'

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยรายงานเมื่อ 28 ธ.ค. 65 เกี่ยวกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพ ที่มีต่อการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั่วประเทศทั้ง 6 ภูมิภาค จำนวน 3,038 คน ระหว่างวันที่ 17-22 ธันวาคม 2565 พบว่า โดยภาพรวม เต็ม 10 คะแนน ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของ กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์' ที่ 7.66 คะแนน และให้คะแนนความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ 'ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7.80 คะแนน ซึ่งนับว่า ยังคงเป็นรัฐมนตรีและกระทรวงที่ประชาชนชื่นชอบและเชื่อมั่นมากที่สุด ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน

ผลการสำรวจโพลยังระบุว่า นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ประชาชนชื่นชอบและเห็นว่าเกิดประโยชน์มากที่สุด อันดับ 1 คือ นโยบาย การประกันรายได้ของเกษตรกร ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คิดเป็น 57.50% รองลงมา คือ การประกันภัยพืชผล 41.21% และตลาดนำการผลิต 36.54% 

นอกจากนี้ผลโพลยังชี้ว่า โครงการที่มีการดำเนินงาน และประสบผลสำเร็จมากที่สุด คือ โครงการเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย 52.14% รองลงมา ได้แก่ บริหารจัดการและ พัฒนาแหล่งน้ำ 33.57% และปฏิบัติการฝนหลวง 24.06% และเมื่อสอบถามถึงความต้องการให้กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เข้าช่วยเหลือด้านใดมากที่สุด พบว่า ประชาชนต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ไขเรื่องปัญหาราคาสินค้าเกษตรมากเป็นอันดับแรกถึง 78.67% รองลงมาคือช่วยเหลือหนี้สิน 53.16% และขอให้ช่วยเหลือเยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ 50.92%

ขณะที่ด้านความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 77.88% ไม่แน่ใจ 17.74% และไม่เชื่อมั่น 4.38% โดยมองว่ากระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ยังคงมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 65.64% ไม่แน่ใจ 29.69% และเห็นว่าไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ที่ 4.67%

สอดคล้องกับผลสำรวจโพลจากหลายสำนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ระบุว่า ดร.เฉลิมชัย คือ รัฐมนตรีที่ประชาชนชื่นชอบ ผลงาน ทั้งจากผลงานการช่วยเหลือการประกันรายได้ การแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ตลอดจนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ผลักดันการส่งออกตามนโยบายตลาดนำการผลิตจนเห็นผลเป็นรูปธรรม

มติเอกฉันท์!! ‘เพื่อไทย’ ยืนหนึ่ง 3 โพล เลือกตั้ง 66

‘เพื่อไทย’ ครองที่ 1 จาก 3 โพลดัง โดยผลสำรวจในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ได้รับการโหวตและยอมรับให้เป็นพรรคในดวงใจที่ประชาชนอยากจะเทคะแนนเสียงให้มากที่สุด จากผลสำรวจของ 3 โพล ได้แก่ ซูเปอร์โพล, สวนดุสิตโพล และ นิด้าโพล 

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ โดย 'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรณี นายกรัฐมนตรีโพล

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ โดย 'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กรณี นายกรัฐมนตรีโพล : 'นายกรัฐมนตรีคนใหม่' ในสายตาประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 1,274 คน (สำรวจทางภาคสนามและออนไลน์) ระหว่างวันที่ 11-14 เมษายน 2566
 

‘สวนดุสิตโพล’ เผย คนไทยนิยมพรรคการเมืองใดก่อนเลือกตั้ง ชี้ ‘เพื่อไทย’ อันดับ 1 ทิ้งห่างที่ 2 อย่าง ‘ก้าวไกล’ เท่าตัว!!

(29 เม.ย. 66) ‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อกรณี “คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง)” ระหว่างวันที่ 10-20 เมษายน 2566 เก็บข้อมูลทางภาคสนาม จำนวน 162,454 คน เป็นเพศชาย จำนวน 74,073 คน ร้อยละ 45.60 เพศหญิง จำนวน 88,381 คน ร้อยละ 54.40 โดยมีอายุระหว่าง 18 – 30 ปี จำนวน 31,627 คน ร้อยละ 19.47 อายุ 31 – 50 ปี จำนวน 72,808 คน ร้อยละ 44.82 และอายุ 51 ปีขึ้นไป จำนวน 58,019 คน ร้อยละ 35.71

โดยสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 13,368 คน ร้อยละ 8.23 ภาคกลาง จำนวน 43,023 คน ร้อยละ 26.48 ภาคเหนือ จำนวน 27,664 ร้อยละ 17.03 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 53,865 ร้อยละ 33.16 และภาคใต้ จำนวน 24,534 คน ร้อยละ 15.10

พรรคการเมืองที่นิยมมากที่สุดในช่วงก่อนเลือกตั้ง คือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 41.37 รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล ร้อยละ 19.32 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 9.55 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 8.48 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.49 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.30 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 2.41 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.74 พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 1.25 และพรรค อื่น ๆ ร้อยละ 1.09

เมื่อพิจารณาจำแนกตามอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 18-30 ปี นิยมพรรคก้าวไกลมากที่สุด ร้อยละ 50.20 กลุ่มอายุ 31-50 ปี และกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไป นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ร้อยละ 44.59 และ ร้อยละ 44.92 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด ร้อยละ 41.99, ร้อยละ 42.11, ร้อยละ 49.24 และร้อยละ 48.92 ตามลำดับ ส่วนภาคใต้นิยมพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ร้อยละ 24.20

จากผลการสำรวจครั้งนี้ ภาพรวมกระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยแม้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลช่วงก่อนยุบสภา แต่ก็ยังคงเป็นที่นิยมในทุกภูมิภาคแม้แต่ในภาคใต้ก็ถือได้ว่าได้รับผลตอบรับที่ไม่แย่นัก ส่วนพรรคก้าวไกลกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคก็ต้องมาติดตามกันต่อว่าจะเปลี่ยนกระแสเป็นคะแนนในวันเลือกตั้งจริงได้เท่าใด ส่วนพรรคอื่น ๆ กระแสความนิยมไม่ต่างจากเดิมมากนัก

คนไทยกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณีคนไทยกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 1,352 คน เป็นการสำรวจทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 24-26 พ.ค.66 พบว่า จากการเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนสนใจติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 72.63 ณ วันนี้ ประชาชนรู้สึกเครียดกับเรื่องปากท้อง/ค่าใช้จ่ายมากที่สุด ร้อยละ 52.14 รองลงมาคือ การจัดตั้งรัฐบาล ร้อยละ 51.90 ทั้งนี้เมื่อมีความรู้สึกเครียดจะแก้ปัญหาด้วยการคุยกับเพื่อน คนรัก คนที่ไว้ใจได้ ร้อยละ 46.38

เมื่อสอบถามว่าประชาชนมีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ พบว่า กังวล ร้อยละ 67.83 เนื่องจากกลัวว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน พรรคที่ได้เสียงข้างมากอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน มีการเล่นเกมการเมืองมากเกินไป และกังวลการโหวตของ ส.ส. และ ส.ว.

ส่วนความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นไปด้วยความราบรื่น พบว่าไม่เชื่อมั่น ร้อยละ 58.33 และเชื่อมั่น ร้อยละ 41.67 จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาทำให้คนไทยติดตามข่าวการเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง รวมไปถึงกังวลกับการเลือกนายกรัฐมนตรีว่าอาจจะไม่ได้ตาม ที่ต้องการเพราะกลไกของการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นมีเงื่อนไขของการโหวตจาก ส.ว. ร่วมด้วย กอปรกับภาพความขัดแย้งของพรรคฝั่งประชาธิปไตยที่มีข่าวให้เห็นรายวัน จึงทำให้ประชาชนยังไม่แน่ใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ครั้งนี้จะเป็นไปด้วยความราบรื่น

'สวนดุสิตโพล' เผยผลสำรวจ ‘ประชาชนอยากบอกอะไร ครม.เศรษฐา 1’ พบ!! ขอให้บริหารชาติด้วยความโปร่งใสและอย่าลืมเงินดิจิทัล 10,000

(8 ก.ย. 66) ‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ‘ประชาชนอยากบอกอะไร ครม.เศรษฐา 1’ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,042 คน (สำรวจทางภาคสนามและออนไลน์) ด้วยแบบสอบถามแบบปลายเปิด (ให้ผู้ตอบเขียนคำตอบด้วยตนเอง) สำรวจระหว่างวันที่ 4 - 7 กันยายน 2566 พบว่า

สิ่งที่อยากบอกกับนายกรัฐมนตรี คือ อยากให้บริหารประเทศด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ร้อยละ 45.99 ใช้ความสามารถในการเป็นผู้บริหารธุรกิจมาใช้ในการบริหารประเทศ ร้อยละ 31.02 และทำตามนโยบายที่ให้ไว้ โดยเฉพาะเงินดิจิทัล 10,000 บาท ร้อยละ 28.10

สิ่งที่ประชาชนอยากบอกรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง อันดับ 1 มีดังนี้

1.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำงานรวดเร็ว สื่อสารชัดเจน ร้อยละ 51.43

2.รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ร้อยละ 65.76

3.รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ควบคุมราคาสินค้ าไม่ให้แพงเกินไป ร้อยละ 65.47

4.รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง รับฟังความเห็นทุกฝ่าย ร้อยละ 48.90

5.รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มสิทธิสวัสดิการรักษาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ร้อยละ 72.50

6.รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ยกระดับประเทศไทยสู่สากล สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับ ร้อยละ 61.11

7.รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ควบคุมราคาพลังงาน แก้ปัญหาราคาแพง ร้อยละ 68.25

8.รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง บริหารงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีวินัยทางการเงิน ร้อยละ 70.77

9.รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระตุ้นการท่องเที่ยวและการกีฬา ร้อยละ 40.96

10.รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ คนยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ร้อยละ 46.13

11.รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พัฒนาการวิจัยเทคโนโลยี นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ ร้อยละ 42.26

12.รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ประกันราคา ร้อยละ 64.14

13.รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ขยายเส้นทาง เชื่อมต่อการคมนาคม ร้อยละ 54.79

14.รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แก้ปัญหามิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ร้อยละ 42.51

15.รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ร้อยละ 59.45

16.รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ไม่รับสินบน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ร้อยละ 43.61

17.รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ร้อยละ 65.97

18.รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม สืบสานวัฒนธรรมไทยให้สืบต่อไป ร้อยละ 53.98

19.รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายทุนเรียนฟรีถึงปริญญาตรี ร้อยละ 53.09

20.รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมสินค้าอุตสาหกรรมไทย สินค้าการเกษตร ร้อยละ 45.45 

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล กล่าวว่า จากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่า หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประชาชนก็อยากให้แต่ละกระทรวงทำงานบนความรับผิดชอบตามเนื้องานของแต่ละกระทรวงให้ดียิ่งขึ้น ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ แก้และสะสางปัญหาเก่า พัฒนาสิ่งใหม่ ส่งเสริมจุดเด่นของประเทศไทยนำไปต่อยอด นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้มาตรฐานขั้นพื้นฐานในการทำงานคือต้องมีความซื่อสัตย์ โปร่งใส และทำเพื่อประเทศชาติ จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลใหม่จะสร้างผลงานให้เป็นรูปธรรมเพื่อพิสูจน์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป

 

'สวนดุสิตโพล' เผลผลสำรวจ ‘คนไทยกับนายกรัฐมนตรี’ คาดหวัง!! เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง-แก้ปากท้องได้ทันที

(16 ส.ค. 67) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง ‘คนไทยกับนายกรัฐมนตรี’ ระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม 2567 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,239 คน สำรวจผ่านทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างคิดว่าการที่นายกฯ เศรษฐาหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเรื่องการเมือง มีเบื้องลึกเบื้องหลัง ร้อยละ 52.88 และน่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง ร้อยละ 70.30

ทั้งนี้หวังว่าผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ คนใหม่ ควรเข้าใจปัญหาสังคมและประชาชน ร้อยละ 62.62 สุดท้ายคิดว่าคนที่จะมาเป็นนายกฯ คนใหม่ น่าจะเป็นคุณแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 36.35 รองลงมาคือคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 25.33

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลโพลสะท้อนถึงความกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นในช่วงนี้ มองเห็นถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองที่อาจกระทบต่อทิศทางการบริหารประเทศและนโยบายเรือธงที่เป็นความหวังของประชาชน เรื่องการเมืองมีความซับซ้อนและผลประโยชน์ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น ผู้นำคนใหม่จึงต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจลึกซึ้งในปัญหาของประเทศและสามารถเชื่อมโยงกับประชาชนได้อย่างแท้จริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและนำพาประเทศไปสู่เสถียรภาพที่มั่นคง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยอดชาย ชุติกาโม อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า การหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองไทย ณ เวลานี้ มีความร้อนแรงอย่างยิ่ง และกระทบไปยังภาคส่วนต่างๆ จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล พบว่า 52.88% ประชาชนเชื่อว่าเป็นเรื่องการเมือง มีเบื้องลึกเบื้องหลัง มีประชาชน เพียง 15.76% เท่านั้นที่เชื่อว่าไม่มีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน

ขณะที่คนส่วนใหญ่มองว่าการหลุดจากตำแหน่งของนายเศรษฐา น่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทย ในประเด็นที่ว่าใครสมควรเป็นนายกฯ คนต่อไป ประชาชน 36.35% ให้คุณแพทองธาร ชินวัตร มาเป็นอันดับหนึ่ง เบียดคู่แข่งที่มาแรงอย่างคุณอนุทิน ชาญวีรกูล โดยประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังว่านายกฯ คนต่อไป ต้องเข้าใจปัญหาสังคมและประชาชน และสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ทันทีซึ่งประชาชนมีความคาดหวังเรื่องเศรษฐกิจถึง 61.97%

“ทิศทางการเมืองไทยนับจากนี้ เราจะมีนายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของการปกครองไทยนับตั้งแต่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมา 92 ปี คนรุ่นใหม่ที่หลายฝ่ายอยากได้มาสร้างรูปแบบ และกระบวนการทางการเมืองใหม่ ๆ จะเป็นดังที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยอดชาย ระบุ

‘ดุสิตโพล’ เผยประชาชนคาดหวัง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เร่งแก้ไขปัญหาปากท้อง ชี้!! ต้องทำงานร่วมกัน ซื่อสัตย์ โปร่งใส ให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่น

(25 ส.ค. 67) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง ‘ความคาดหวังของประชาชน ต่อ ครม.ชุดใหม่’ ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม 2567 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,164 คน สำรวจผ่านทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างอยากให้ ครม. ชุดใหม่ควรต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก ร้อยละ 74.43 และคาดหวังว่าจะทำงานดีขึ้น กระทรวงต่าง ๆ ร่วมมือกันทำงานได้ดีขึ้น ร้อยละ 70.30 โดยมองว่า “ความซื่อสัตย์และจริยธรรม” ทางการเมืองเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการคัดเลือก ครม.ชุดใหม่ ร้อยละ 84.19 การปรับ ครม. ครั้งนี้คาดหวังว่าน่าจะส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลดีขึ้น ร้อยละ 46.39 สุดท้ายการปรับ ครม. จะส่งผลต่อสถานการณ์บ้านเมืองอย่างไรนั้น ยังคาดการณ์อะไรไม่ได้ ร้อยละ 30.50

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลโพลไม่ว่าจะกี่ครั้งของรัฐบาลนี้ ประชาชนยังคงให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่กระทบต่อชีวิตประจำวัน โดยมีความหวังว่าครม.ชุดใหม่จะทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซื่อสัตย์ โปร่งใส เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล แม้ประชาชนจะมีความหวังแต่ก็ยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์บ้านเมืองจะไปในทิศทางใด เนื่องจากยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจพร พึงไชย ผู้ช่วยคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่าการเมืองไทยไม่มีอะไรแน่นอน สามารถพลิกผันได้ตลอดเวลา สิ่งที่ประชาชนต้องการและคาดหวังอย่างยิ่ง คือ ความเชื่อมั่นว่าคนที่เข้ามาบริหารประเทศจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยมาอย่างยาวนาน สอดคล้องกับผลสำรวจที่สะท้อนว่า ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ถึงร้อยละ 74.43 และสิ่งที่ตามมาจากปัญหาเศรษฐกิจ คือ ปัญหาปากท้องที่ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นแต่รายรับกับสวนทาง สำหรับประเด็นการปรับครม.ชุดใหม่นี้ ประชาชนหวังว่าจะช่วยให้การทำงานของรัฐบาลดีขึ้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าการคัดเลือกรัฐมนตรีที่จะเข้ามาสานต่อนโยบายการทำงานของรัฐบาลมีผลต่อความมั่นใจของประชาชน ทั้งนี้ ความซื่อสัตย์และจริยธรรมทางการเมืองเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญ เพราะการเมืองไทยช่วงสิบปีที่ผ่านมาล้วนประสบกับปัญหานี้มาโดยตลอด ซึ่งส่งผลต่อความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลหรือแม้กระทั่งฝ่ายค้านเอง อย่างไรก็ดี โฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ย่อมเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าการเมืองไทยจะหลุดพ้นจากวังวนของปัญหาจริยธรรมนักการเมืองได้หรือไม่ คงต้องติดตามกัน ห้ามกระพริบตาเลยทีเดียว

‘ดุสิตโพล’ ชี้!! ผลงาน 3 เดือน รัฐบาลแพทองธาร ยังประเมินไม่ได้ เห็นผลชัดเจนสุด ‘แจกเงินหมื่น’ แนะ!! ควรเร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ

(15 ธ.ค. 67) ‘สวนดุสิตโพล’ สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง ‘3 เดือนรัฐบาลแพทองธาร’ กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,162 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 10-13 ธ.ค. 2567 พบว่า

กลุ่มตัวอย่างมองจุดแข็งของรัฐบาลแพทองธาร คือ การมีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ร้อยละ 49.38 ภาพรวมผลงาน 3 เดือนของรัฐบาลยังประเมินไม่ได้ ร้อยละ 39.85 ต่ำกว่าที่คาดหวัง ร้อยละ 28.14 และยังไม่เชื่อมั่นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ร้อยละ 54.99

โดยมองว่านโยบายที่เห็นผลชัดเจนที่สุดใน 3 เดือนที่ผ่านมา คือ การแจกเงิน 10,000 บาท ร้อยละ 71.44 เรื่องที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วนยังคงเป็นเรื่องการแก้ปัญหาค่าครองชีพ สร้างงาน เพิ่มรายได้ ร้อยละ 70.84

สุดท้ายสิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึงน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศ คือ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ร้อยละ 49.14

‘สวนดุสิตโพล’ เผย!! เด็กไทยอยากได้ ‘ทุนการศึกษา’ เป็นของขวัญ จากรัฐบาล ปลื้ม!! ‘ลิซ่า’ เป็นแรงบันดาลใจ พร้อมอยากให้มี ‘การเรียน - โรงเรียน’ที่สนุกขึ้น

(11 ม.ค. 68) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็กไทยทั่วประเทศ เรื่อง ‘เสียงสะท้อนจากเด็กไทย ปี 2568’ ระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม 2568 กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กไทยอายุระหว่าง 6-18 ปี จำนวน 1,030 คน สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า สิ่งที่เด็กไทยชอบหรือประทับใจที่สุดในวัยเรียน คือ การเล่นกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน ร้อยละ 66.21 นอกเหนือจากห้องเรียน เด็กไทยชอบเรียนรู้จากการดูคลิปหรือเรียนรู้จากมือถือ/แท็บเล็ตมากที่สุด ร้อยละ 76.99 ทักษะที่สำคัญสำหรับอนาคต คือ ทักษะการรู้จักป้องกันและรับมือกับภัยอันตรายทั้งในชีวิตจริงและออนไลน์ ร้อยละ 74.76 ทั้งนี้ เด็กไทยอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง คือ โรงเรียนและการเรียนสนุกขึ้น ร้อยละ 61.26 ของขวัญที่อยากได้จากรัฐบาล/นายกรัฐมนตรีในวันเด็กปีนี้ คือ ทุนการศึกษา เงินช่วยเหลือ ร้อยละ 74.37 นอกจากคุณพ่อคุณแม่ คนที่เด็กไทยชื่นชมและเป็นแรงบันดาลใจ คือ ลิซ่า ลลิษา ร้อยละ 47.09 รองลงมาคือ คุณครู ร้อยละ 41.26

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล กล่าวว่า จากผลโพลสะท้อนเสียงของเด็กไทยอายุ 6-18 ปี ว่า 'ความสนุก' ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของช่วงวัยนี้ ทั้งการเล่นกับเพื่อนในโรงเรียนและคาดหวังให้การเรียนในห้องเรียนสนุกมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้น 'เรียนดี มีความสุข' หากสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ย่อมตอบโจทย์ผู้เรียนอย่างแท้จริง ผลโพลยังชี้ให้เห็นว่าเด็กไทยตระหนักถึงภัยมิจฉาชีพออนไลน์ การพัฒนาด้านเทคโนโลยี รวมถึงชื่นชมบุคคลศิลปินระดับโลกอย่าง ‘ลิซ่า ลลิษา’ คุณครู นักกีฬา ไปจนถึงนักการเมืองอย่าง ‘พิธา’ และ ‘แพทองธาร’


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top