Sunday, 19 May 2024
สรรเพชญ_บุญญามณี

‘สรรเพชญ บุญญามณี’ ยืนเด่นเขต 1 สงขลา การหลีกทางให้หลานได้แจ้งเกิดทางการเมือง

เขต 1 สงขลา เป็นเขตคาดหวังของพรรคประชาธิปัตย์ โดยส่ง ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ ลูกชายของ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปี 2562 สรรเพรช พ่ายให้กับ ‘วันชัย ปริญญาศิริ’ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งวันชัยก็ไม่ใช่คนอื่นไกล เป็นเพื่อนรุ่นน้องของนิพนธ์นั้นเอง เป็นรุ่นน้องจากมหาวชิราวุธ สงขลา โดยนิพนธ์เป็นรุ่นพี่ของวันชัย 1 ปี

มาถึงวันนี้ ‘วันชัย’ เปิดทางให้สรรเพชญ โดยลาออกจาก ส.ส.ไปลงชิงเก้าอี้นายกเทศมนตรีนครสงขลา เท่ากับเป็นการหลีกทางให้หลานได้แจ้งเกิดทางการเมือง

กล่าวถึงสนามเลือกตั้งเขต 1 สงขลา เมื่อวันชัยลาออกไปลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐยังไม่เห็นขยับว่าจะส่งใครลงแทน เดิมมีผู้การฯ ชาติ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีต ส.ส.สงขลา เป็นคนคุมทีมพลังประชารัฐอยู่ แต่เมื่อผู้การฯ ชาติก้าวออกไปจากพลังประชารัฐ ไปร่วมหัวจมท้ายกับพรรคสร้างอนาคตไทย ของอุตตม สาวนายน และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงค์ ทำให้พรรคพลังประชารัฐไม่มีหัวเรือใหญ่ 

พรรคพลังประชารัฐสงขลาจึงเหลือ ส.ส.อยู่สองคน คือ ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี เขต 4 ศาสตรา ศรีปาน เขต 2 และพยม พรหมเพชร ซึ่งศักยภาพในการคุมทีมยังไม่เพียงพอ หรือการจะควานหาคนมาแทนวันชัยก็ยังไม่มีบารมีพอ ทำให้สนามเลือกตั้งเขต 1 สงขลา ของพลังประชารัฐยังว่างอยู่

กล่าวเฉพาะที่เห็นเวลานี้ก็จะมี ‘สรรเพชญ บุญญามณี’ เป็นตัวยืนในนามประชาธิปัตย์ และมีประสงค์ บุรีรักษ์ นายกฯ แบน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง ที่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วหลุดจากเก้าอี้ มาเปิดตัวลงชิง ส.ส.เขต 1 ในนามพรรคภูมิใจไทย ฟัดกับเด็ก ๆ น่าจะมีพลังมากกว่า และยังมีพ่อเป็นลมใต้ปีกอยู่อีกด้วย ‘นิพนธ์’ พยายามไม่เข้าไปยุ่งมากกับการหาเสียง ปล่อยให้น้องเพรชจัดการไป ไม่งั้นเขาจะไม่โตสักที

แต่เขต 1 สงขลา นอกจากนายกฯแบน และน้องเพชญ แล้ว ให้จับตาว่า ‘เจือ ราชสีห์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ ๆ สด ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ จะตัดสินใจอย่างไร แน่นอนว่าจะลงเขตในนามประชาธิปัตย์ไม่ได้แล้ว เพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดตัวน้องเพรชไปแล้ว ถ้าเจือยังยืนยันอยู่ประชาธิปัตย์ก็ต้องขึ้นไปอยู่ระบบบัญชีรายชื่อ และลำดับต้องดีกว่าเดิม ถ้ายังประชาสงค์จะลงเขต 1 ก็ต้องย้ายพรรค หาพรรคใหม่สังกัด โอกาสจึงน่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค คนเก่าจากประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าพรรคอยู่ และมีเครือข่ายประชาธิปัตย์อยู่ไม่น้อย หรือไม่ก็พรรคพลังประชารัฐที่พื้นที่ว่างอยู่ แต่เวลานี้เจือคงยังพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะยังเป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์อยู่

'สรรเพชญ' จี้ รัฐบาลใหม่ดันเรื่องยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ เสนอ 3 มาตรการ 'ป้องกัน-ปราบปราม-ฟื้นฟู' ขจัดปัญหาให้สิ้น

เมื่อวันที่ 9 ส.ค.66 นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายผลการปฏิบัติงานของ ป.ป.ส. ในการปราบปรามยาเสพติด ประจำปี 2564 โดยนายสรรเพชญกล่าวว่า "ยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกรัฐบาลพยายามแก้ไขและให้ความสำคัญ แต่ปัญหายาเสพติดก็ยังไม่ทุเลาเบาบางลง จากสถิติของการจับกุมคดียาเสพติด พบว่า ปี 2564 มีการจับกุมคดียาเสพติด ทั้งหมด 337,186 คดี ผู้ต้องหา 350,758 คน ซึ่งตัวเลขที่มากขนาดนี้ นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่ควรจะได้รับการแก้ไขปราบปรามอย่างจริงจังโดยเร็ว"

นายสรรเพชญ ได้กล่าวต่อว่า "ตนมีความห่วงใยกับสถานการณ์ยาเสพติดที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากยาเสพติดในทุกวันนี้เข้าถึงทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน และยังมีการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่เป็นช่องทางให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย"

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ได้เสนอ 3 มาตรการ ในการจัดการกับปัญหายาเสพติด คือ ‘มาตรการในการป้องกัน ปราบปราม และฟื้นฟู’ โดย ‘มาตรการในการป้องกัน’ คือ การให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง รวมถึงให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ของตน ‘มาตรการที่สอง คือ การปราบปราม’ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระดมสรรพกำลังในการทำงานให้สอดคล้องกัน และสุดท้าย ‘มาตรการในการฟื้นฟู’ ต้องให้ผู้ที่เคยกระทำความผิด ได้กลับตัวกลับใจเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังได้รับการฟื้นฟู มีงานทำ มีรายได้ จะได้ไม่ต้องกลับเข้าไปสู่วงจรยาเสพติดอีก

"โดยทั้งสามมาตรการที่ได้เสนอไป ตนเชื่อว่าอาจจะช่วยให้ ป.ป.ส. สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และปราบปรามยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่เพียงแต่ ป.ป.ส. ที่ต้องจัดการแก้ไขเพียงหน่วยงานเดียว แต่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ควรที่จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพื่ออนาคตที่ดี และชีวิตที่มีคุณภาพของลูกหลาน จะได้ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดในอนาคตต่อไป" นายสรรเพชญ กล่าว

'สรรเพชญ' ซัด!! เหตุใด 'การกระจายอำนาจ' หลุดผังวาระประชุม กระทุ้ง!! หากยิ่งช้ายิ่งทำให้แผนปฏิรูปประเทศหลากด้านสะดุด

เมื่อวันที่ 17 ส.ค.66 ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายรับทราบรายงานความคืบหน้าในแผนการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญฯ ครั้งที่ 18 (เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565)

นายสรรเพชญ ได้กล่าวว่า การรายงานแผนการปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ เป็นการรายงานรอบสุดท้าย เนื่องจากระยะเวลาของแผนการปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ได้สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยนายสรรเพชญ ได้ถามถึงแผนการกระจายอำนาจในแผนการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากไม่ปรากฎในรายงานที่เสนอต่อที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงได้เสนอแนะหัวใจของการกระจายอำนาจ ที่ต้องกระจายทั้งงบประมาณและทรัพยากรที่เพียงพอควบคู่กับความพร้อมของพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พร้อมทั้งยังได้หยิบยกประเด็น 'ความล่าช้าของโครงการก่อสร้างอควาเรียมหอยสังข์ จ.สงขลา' ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 15 ปี ใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึง 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นการผลาญเงินภาษีของประชาชนกว่าวันละ 70,000 บาท โดยกรณีนี้นายสรรเพชญ กล่าวว่า เป็นการสะท้อนถึงความต้องการในการปฏิรูปประเทศหลายด้าน ทั้งด้านกฎหมาย ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งในอนาคต นายสรรเพชญ เตรียมการอภิปรายในประเด็นนี้ ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาการก่อสร้างอควาเรียมหอยสังข์ฯ ต่อไป

เมื่อกล่าวถึงประเด็นในการปฏิรูปด้านกฎหมาย นายสรรเพชญ กล่าวว่า การปฏิรูปกฎหมายมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้เนื่องจากตามแผนจะปฏิรูปกฎหมาย 45 ฉบับ แต่ครบระยะเวลาตามกรอบ 5 ปี กลับทำสำเร็จ 10 ฉบับ "ท่านตั้งเป้าหมายไว้ถึง 45 ฉบับ แต่ทำจริงได้เพียง 10 ฉบับในกรอบระยะเวลาที่เรียกว่า Deadline หรือหมดเวลากำหนดส่งอย่างนี้ หากตนเป็นนักเรียนอยู่ ป่านนี้ผมเตรียมตัวได้เกรด F พร้อมไข่ต้มกลับไปกินที่บ้าน"

'สส.สรรเพชญ' ยก 5 ปัญหาเรื้อรัง 'สงขลา' หารือสภาฯ  ชี้!! ชาวบ้านทุกข์หนัก วอน!! หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งช่วยด่วน

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 66 ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ปรึกษาหารือปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ด้วยความรวดเร็วกระชับในเวลาเพียงไม่เกิน 4 นาที แต่สามารถระบุสาระสำคัญของปัญหาที่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยดูแลได้ถึง 5 เรื่องด้วยกัน ดังนี้...

1. ขอให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนเครื่องจักรกลเพื่อขุดลอกคูคลองในพื้นที่สำคัญ ๆ เพิ่มเติม เพื่อเตรียมการรับมือน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะอำเภอเมืองสงขลา โดยเฉพาะบริเวณห้าแยกน้ำกระจาย มักจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่ตลอดทุกปี เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่หาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง

2. ขอให้แขวงทางหลวงชนบทสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการติดตั้งไฟส่องสว่างสาธารณะบนเส้นทางสัญจร ถนนทางหลวงชนบท สาย สข 2004 แยกทางหลวงหมายเลข 43 เขตเทศบาลนครสงขลา เนื่องจากผู้ใช้ถนนดังกล่าวได้รับความไม่สะดวก ในการสัญจรรวมถึงความไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เนื่องจากแสงสว่างไม่เพียงพอ รวมถึงทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ยังมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดแนวชายฝั่ง และถนนดังกล่าวยังเป็นเส้นทางสัญจรของประชาชน และมีโรงงานอุตสาหกรรม บ้านเรือนประชาชน อาศัยอยู่ตลอดแนวถนน ทำให้ช่วงเวลากลางคืน อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน

3. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซ่อมแซมถนนไทรบุรี ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักที่ใช้มุ่งหน้าเข้าเมืองสงขลา ถนนเส้นนี้เคยได้รับฉายาว่า ‘หลับที่อื่นแต่มาตื่นที่สงขลา’ เพราะถนนขรุขระมาก ถนนสายนี้เป็นเส้นทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาค่อนข้างมาก เช่น ย่านเมืองเก่า ชายหาดต่างๆ อยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยปรับปรุงถนนเป็นการเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาของพี่น้องประชาชน และเพื่อเตรียมการรองรับกีฬาซีเกมส์ในอีก 2 ปีข้างหน้า ที่จะจัดขึ้นและจังหวัดสงขลาเป็นเจ้าภาพด้วย และเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของประเทศต่อไป

4. ขอให้การประปาส่วนภูมิภาค ขยายเขตประปาภูมิภาค และปรับปรุงคุณภาพน้ำประปา เนื่องจากเดิมทีเป็นประปาหมู่บ้าน หรือชาวบ้านเจาะน้ำบาดาล และต้องเอามากรองแล้วใช้ในหมู่บ้าน โดยชาวบ้านดูแลค่าใช้จ่ายกันเอง แต่บางหมู่บ้านขาดทุนก็ต้องล้มเลิกไป ซึ่งปัจจุบันระบบน้ำเก่า ชำรุดทรุดโทรม ท่อน้ำมีสนิมเกาะ ไม่เหมาะแก่การอุปโภคและบริโภค อีกทั้งแรงดันน้ำไม่เพียงพอ ต้องดึงเมนมาจากบ้านโคกสูง ตำบลท่าข้าม จึงขอให้การประปาฯ ขยายเขตประปาภูมิภาค และปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้น้ำประปาที่มีคุณภาพ

5. ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยเหลือประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาที่คลองอิกอง หมู่ 1 บ้านบางดาน ตำบลเขารูปช้าง เนื่องจากผนังกั้นคลองเริ่มทรุดตัว มีรอยแตกร้าวเป็นทางยาวจากการกัดเซาะของน้ำที่ไหลบ่าจากบนเขาในทุกๆ ปี ทำให้เกิดอันตรายกับประชาชน และประชาชนเคยขอให้เทศบาลเขารูปช้างดำเนินการแล้วแต่ติดปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ จึงขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือประชาชนด้วย

"ทั้งนี้ จึงกราบเรียนผ่านท่านประธานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป เนื่องจากประชาชนรอการแก้ไขปัญหาเรื้อรังเหล่านี้ด้วยครับ" นายสรรเพชญ กล่าว

'สรรเพชญ' สับรัฐบาลไม่จริงใจ 'กระจายอำนาจ' ไม่เห็นหัวท้องถิ่น  ชี้!! แค่ปล่อยวาทกรรมประชาธิปไตยอำพราง หวังคะแนนเสียง

เมื่อวันที่ 12 ก.ย.66 ที่อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมอภิปรายวาระเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2562 โดยระบุว่า...

“ต้องขอเรียนกับทุกท่านด้วยความเคารพอย่างตรงไปตรงมาว่า จากที่ได้อ่าน ได้ฟังนโยบาย เหมือนจะดูดี เหมือนจะเคลิบเคลิ้มตาม ว่านี่คือทิศทาง แนวทางการบริหารงานของท่าน ที่จะมาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน แต่ภายใต้คำที่สวยหรู กลับเห็นอนาคตที่มืดมน ไร้ทิศทาง ในหลายๆ นโยบายที่ท่านได้หาเสียงไว้ เมื่อขมวดมาแล้ว กลับเห็นแต่นามธรรมกว้าง ๆ จับต้องไม่ได้”

สรรเพชญ ระบุต่อว่า “เท่าที่ทราบมา หลักการของการ กระจายอำนาจ คือ การลดบทบาท อำนาจภารกิจ หน้าที่ของรัฐส่วนกลาง รวมทั้งรัฐส่วนภูมิภาคลง และเอาอำนาจนั้นไปเพิ่มศักยภาพให้กับท้องถิ่น ทั้งในเรื่องงบประมาณ และทรัพยากรให้เขาสามารถดูแลตนเอง แต่เมื่อฟังท่าน แถลงนโยบายเรื่องผู้ว่า CEO  แล้ว เหมือนเป็นการสนับสนุนต่อยอดการกระจายอำนาจของไทยให้พัฒนาขึ้น แต่ผมคิดว่าตรงนี้ท่านอาจเข้าใจผิด สับสน หรืออาจแกล้งสับสน ที่กระผมพูดเช่นนี้ เพราะว่า แนวคิดเรื่องผู้ว่า CEO มันคือโลกคู่ขนานที่ไม่มีทางมาบรรจบกัน ไม่เชื่อท่านลองขีดเส้น 2 เส้นดู อย่างที่ผมนำเรียนครับ มันเป็นคนละเรื่อง คนละหลักการกัน เนื่องจากแนวคิดเรื่องผู้ว่า CEO คือ การบริหารงานแบบเอกชน แบบบริษัท ที่รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่เบอร์หนึ่งของจังหวัด อำนาจรัฐที่มันกระจุกตัวไปที่ผู้ว่า CEO เช่นนี้ มันไม่ใช่การกระจายอำนาจ หากแต่มันเป็นการขยายอำนาจรัฐส่วนกลาง ไปสู่ส่วนภูมิภาคให้กว้างขึ้น”

นายสรรเพชญ ได้กล่าวต่อว่า “มาถึงตอนนี้เราสามารถสรุปได้ไหมครับ ว่านโยบายหาเสียงของท่านมันเป็นเพียงวาทกรรมประชาธิปไตยอำพราง เพื่อคะแนนเสียง เพราะท่านบอกว่าจะท่านจะเลือกตั้งผู้ว่าในจังหวัดที่มีความพร้อม ท่านบอกว่าท่านจะยกระดับพื้นที่เพื่อเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ ๆ แต่ภายหลังที่ท่านได้รับโอกาส ให้จัดตั้งรัฐบาล กลับไม่ปรากฏนโยบายเหล่านี้ ในการแถลงของท่านแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำท่านยังจะทำเรื่องที่ตรงกันข้าม ไม่ต่อยอดการกระจายอำนาจไม่ว่า แต่ท่านกลับกระจุกอำนาจ และรวมศูนย์อำนาจ ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้ง กระผมชักไม่แน่ใจ หากจะใช้คำว่า ‘โกหกประชาชน’ ได้หรือไม่ หรือคำว่า ‘โกหก’ มันอาจน้อยไปสำหรับท่าน”

นายสรรเพชญได้ยกตัวอย่างสถิติงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เห็นความพยายามผลักดัน การกระจายอำนาจในประเทศไทย ผ่านการจัดสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่น โดยกล่าวว่า “ผมอยากให้ดูสถิติที่น่าสังเวชใจครับท่านประธาน เกือบ 30 ปี ที่เรามุ่งผลักดันการกระจายอำนาจมา เราสามารถจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ไม่ถึง 30% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งแท้ที่จริงแล้วความมุ่งหมายของกฎหมายกระจายอำนาจต้องการให้ทะลุเพดาน คือ 35% สิ่งที่ท่านกลัว คือ ท่านกลัวว่าถ้ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่น คือความสุ่มเสี่ยงที่จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีการทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น แต่จากฐานข้อมูลงานวิจัยในปี 2564 พบว่าการทุจริตของ อปท. นั้นสร้างความเสียหายน้อยกว่าส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และรัฐวิสาหกิจ ขณะที่งบการเงินของท้องถิ่นได้รับการรับรองจาก สตง. ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาครัฐ / รัฐวิสาหกิจ ด้วยซ้ำไป” 

อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญกล่าวในตอนท้ายโดยสรุปว่า "ตนยังมีความหวังอยู่ริบหรี่ ว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะเกิดขึ้นในไม่ช้าไม่นานนี้ จะนำเอาวาระเรื่องการกระจายอำนาจ เข้าไปเป็นวาระหลักวาระหนึ่ง ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันว่าท้องถิ่นในยุคต่อไปจะได้รับการเอาใจใส่ และมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด”

'สรรเพชญ' ซัด!! ปัญหาความล่าช้าก่อสร้างอควาเรียมหอยสังข์ ใบ้ชื่อย่อ 'ช' และ 'ม' อาจเอี่ยวทุจริตโครงการฯ ทำ 15 ปีไม่คืบ

(21 ก.ย.66) ณ ห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ยื่นกระทู้ถามแยกเฉพาะ ได้ถามคำถามต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในครั้งนี้ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าตอบคำถามในกระทู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 

ในการนี้ นายสรรเพชญ ได้กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าของโครงการ ที่มาและความจำเป็นของการที่ต้องมาตั้งกระทู้ถามสดในวันนี้ โดยกล่าวว่า “โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรือที่รู้จักกันดี คือ อควาเรียมหอยสังข์ เป็นโครงการที่ตนคิดว่ามีวัตถุประสงค์ที่ดี เป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวสงขลา และครั้งหนึ่งเคยมีการขายฝันกับชาวสงขลาไว้ว่า อควาเรียมหอยสังข์ จะเป็นอควาเรียมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะวัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง คือ ใช้เป็นสถานที่จัดแสดง วิจัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดใหญ่ซึ่งครอบคลุมทั้งสัตว์น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม เพราะจังหวัดสงขลาเองก็เป็นจังหวัดใหญ่ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โครงการนี้ตนจึงคิดว่าเป็นโครงการที่ดี” 

แต่อย่างไรก็ดี โครงการนี้กลับมีความฉ้อฉลที่ทำให้ประชาชนสงสัย และสร้างบาดแผลในใจให้กับพี่น้องชาวสงขลาเป็นอย่างมาก เพราะใช้เวลาก่อสร้างกว่า 15 ปีแล้ว ก็ยังไม่เสร็จ อีกทั้งใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 1,400 ล้านบาท ได้มาเพียงตึกรูปหอยสังข์กับระบบภายในที่ไม่แล้วเสร็จ กลายเป็นอนุสาวรีย์ที่ผู้คนกล่าวขานกันว่า ถ้าอยากดูซากหอยล้านปีต้องไปที่กระบี่ แต่ถ้าอยากดูซากหอยที่สร้างไม่เสร็จซักทีต้องไปที่สงขลา 

นายสรรเพชญ จึงได้ถามคำถามในห้องกระทู้ถามแยกเฉพาะ โดยถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 3 คำถามด้วยกัน คือ...

1) กระทรวงศึกษาธิการภายใต้รัฐบาลชุดนี้ มีแนวทางหรือแผนการดำเนินงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

2) กระทรวงศึกษาธิการ มีแนวทางหรือนโยบาย เพื่อระงับข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม จากการขอลดสเปกของผู้รับเหมา แต่ราคากลับไม่ลดตาม เพื่อให้เกิดข้อยุติและไม่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ในอนาคต นอกจากนี้ ในเรื่องของรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงที่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบที่ผ่านมา ท่านมีข้อสรุปอย่างไร ขอทราบรายละเอียด

3) หากไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการอย่างไรกับงบประมาณที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงการดำเนินการทางคดีกับผู้รับเหมาที่ทิ้งงานท่านได้ดำเนินการไปแล้วหรือไม่อย่างไร ขอทราบรายละเอียด 

หลังจากนั้น นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ ก็ได้ให้เกียรติตอบคำถามโดยสรุปว่า “ในขณะนี้คดีอยู่ในชั้น ป.ป.ช. และยังไม่ได้มีข้อสรุปออกมา ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ส่งหนังสือสอบถามความคืบหน้าไปยัง ป.ป.ช. เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงฯ  จึงยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เหตุเพราะว่ารอการตรวจสอบของ ป.ป.ช. และเกรงว่าหากดำเนินการอะไรไปก่อน จะเกิดข้อผิดพลาดทางกฎหมายได้” 

นายสรรเพชญ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “จากที่ตนได้ศึกษาที่มาที่ไปของปัญหาเบื้องต้น ก็ได้ทราบถึงต้นตอปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้น อาจจะเกิดจากการทุจริตของคนบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะมีชื่อย่อ ช และ ม อย่างไรก็ตาม ต้องรอการตรวจสอบของ ป.ป.ช. และตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีการตรวจสอบอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา” 

และในตอนท้าย นายสรรเพชญ กล่าวว่า “ตนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระทรวง ศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการดำเนินการหาทางออกอย่างเร็วที่สุด เพราะกว่า 15 ปีแล้ว ที่งบประมาณถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตาม หากจะมีการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของโครงการเป็นอื่นหรืออย่างไร ก็ขอให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วและโปร่งใส เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวสงขลาและประชาชนทุกคน”

‘สรรเพชญ’ เชื่อ!! วิกฤตเศรษฐกิจปีหน้าหนักหนาสาหัส แนะรัฐบาลหาทางรับมือ พร้อมแก้ปัญหาปากท้อง-ครัวเรือน

เมื่อวันที่ 22 ต.ค.66 นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วมทำโพล มติชน x เดลินิวส์ สอบถามประชาชนว่าอยากให้รัฐบาลเศรษฐา แก้ปัญหาอะไรก่อนระหว่างเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งสามารถโหวตได้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม ว่า ในส่วนการทำงานของรัฐบาล อย่างที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภาฯ หลังจากนี้ก็คงจะเป็นกระบวนการของการจัดทำงบประมาณปี 67 ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าพี่น้องประชาชนก็ฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดนี้มากพอสมควร ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดก็คือเรื่องของปากท้อง เศรษฐกิจ ที่เราต้องยอมรับว่าอยู่ในช่วงของวิกฤตเศรษฐกิจที่คิดว่ารุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบ ณ วันนี้ แต่ตนเชื่อว่าปีหน้าเราอาจจะได้เห็นการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าปีนี้ เพราะฉะนั้นตนก็อยากเห็นรัฐบาลมีการเตรียมตัวรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

นายสรรเพชญ กล่าวต่อว่า พี่น้องประชาชนก็อยากจะเห็นรัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องให้ในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือการลดภาระค่าครองชีพภาคครัวเรือน ลดค่าน้ำมัน ขณะเดียวกันก็ต้องมีการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่กำลังพุ่งสูงขึ้น และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะฉะนั้นตนคิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง โดยเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน รวมไปถึงนโยบายที่รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เพราะถึงขณะนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ารายละเอียดของโครงการจะเป็นอย่างไร ตนไม่ได้บอกให้ยกเลิก แต่ถ้ารัฐบาลยืนยันว่าจะทำเงินดิจิทัลต่อไปก็ขอให้มีการทบทวนหรืออาจจะต้องปรับหลักเกณฑ์ สำคัญที่สุดคือรัฐบาลต้องตอบพี่น้องประชาชนให้ได้ว่าเงินดิจิทัล ที่รัฐบาลจะนำมาแจก คือ

1.แหล่งที่มาของเงิน 
2.หลักเกณฑ์ในการแจกต้องแจกทุกคนหรือไม่ 
3.ทำไมต้องเป็นเงินดิจิทัล ทำไมไม่แจกเป็นเงินสด ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลยังไม่ให้ความชัดเจน

“ผมจึงอยากให้นายกฯ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ต่อพี่น้องประชาชน เพราะผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนก็มีสิทธิที่จะรับรู้ รับทราบ เพราะสุดท้ายแล้วการที่รัฐบาลเอาเงินมาแจกได้ก็ขึ้นอยู่กับภาษีของพี่น้องประชาชนและภาระของพี่น้องประชาชนที่จะต้องจ่ายในอนาคต” นายสรรเพชญ กล่าว

นายสรรเพชญ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันการปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปสังคม การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามโรดแม็บที่ได้ตกลงกันไว้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งตนเชื่อว่าต้องดำเนินควบคู่กันไป ขณะเดียวกันก็อยากเห็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทำงานร่วมมือกันอย่างเข้มข้น เราสงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม เพื่อที่จะทำงานร่วมกันในการผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน และครอบคลุมสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เชื่อว่าพี่น้องประชาชนตั้งความหวังอยากจะให้สภาฯ ชุดนี้ได้ช่วยกันแก้ไขและออกกฎหมายดี ๆ ที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และลดผลกระทบของปัญหาต่างๆ  ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ จึงขอฝากประเด็นนี้ให้รัฐบาลได้พิจารณาด้วย

นายสรรเพชญ กล่าวว่า ดังนั้นขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ท่านใดมีความคิดเห็นอย่างไร ก็สามารถที่จะเข้าไปในคิวอาร์โค้ด สแกนเข้าไปแสดงความคิดเห็นทำโพลเพื่อสะท้อนให้กับรัฐบาลและสภาฯ ได้รู้ เพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ประชาชนสามารถร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อรัฐบาลได้

'สรรเพชญ' ยัน!! จุดยืน 'ประชาธิปัตย์' หนุนแก้รัฐธรรมนูญ แต่ห้ามแตะหมวด 1 และ หมวด 2 หวั่นสังคมแตกแยก

เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.66) เวลา 14.20 น. ที่ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ช่วงของการอภิปรายญัตติ เรื่อง 'ขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่' ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ โดยมีนายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าว

นายสรรเพชญ กล่าวว่า "สำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีปัญหาทั้งเรื่องของที่มา และกระบวนการรับรอง โดยอาศัยกระบวนการจัดทำประชามติ เมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตามครรลองที่ควรจะเป็น เนื่องจากในตอนนั้นมีการปิดกั้นการแสดงความเห็น การรณรงค์ ที่จะเสนอเนื้อหาว่ารัฐธรรมนูญมีจุดบกพร่องอย่างไร จนมาถึงสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ที่ผ่านมา ก็มีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยมีส่วนร่วม ในการเสนอแก้ไขและได้ยื่นให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาแล้ว จำนวน 6 ฉบับ แต่ก็ผ่านแค่เรื่องเดียว เพราะติดอุปสรรคต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หลายประการ"

นายสรรเพชญ กล่าวต่อว่า "ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า ต้องมีการทำประชามติ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจ และหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรก ให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สอง เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากรัฐบาลดึงดันพลิกลิ้น ไม่รับให้มีการทำประชามติ ก็เหมือนกับว่าเป็นการถ่วงเวลา ผมคิดว่าอันที่จริงแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเป็นวาระแรก ๆ ที่ท่านจะดำเนินการเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ท่านอย่าเอารัฐธรรมนูญมาเป็นตัวประกันให้เป็นระเบิดเวลาของตัวท่านเองเลยครับ"

อย่างไรก็ดี นายสรรเพชญ ได้พยายามกล่าวย้ำต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะรัฐบาลเคยรับปากกับประชาชนไว้ตอนหาเสียงไว้ว่า จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีที่เป็นรัฐบาล แต่แม้ว่า นายสรรเพชญ จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการจัดทำประชามติ แต่อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญ ก็ได้ย้ำจุดยืนว่า "ตนและพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไม่แตะหมวด 1 และ หมวด 2 ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม"

นายสรรเพชญ กล่าวในตอนท้ายว่า "เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความสำคัญไม่แพ้เรื่องปากท้องของประชาชน เพราะ รัฐบาลได้เคยพูดเอาไว้ตอนหาเสียง ก็ขอให้ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ ว่าจะทำเป็นเรื่องเร่งด่วนทันที แต่เมื่อถึงการโหวตญัตติฯ ที่ประชุมสภาฯ มีมติ ตีตกญัตติดังกล่าว"

นายสรรเพชญ กล่าวว่า "รู้สึกผิดหวัง เพราะรัฐบาลเคยประกาศเอาไว้แล้วว่าจะทำการแก้ รธน. เป็นเรื่องเร่งด่วน เมื่อมีโอกาสกลับทิ้งโอกาสนี้ไป แต่ตนก็เคารพและยอมรับผลการลงมติดังกล่าว และก็หวังว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไข รธน. และรีบดำเนินการโดยเร็ว ตามที่ได้เคยหาเสียงไว้"

'สรรเพชญ' ชี้!! รัฐบาลควรยึดโยง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังรัฐ แนะ!! นโยบาย Digital Wallet ถ้าทำต้องถูกต้องตามกฎหมาย

(10 ม.ค.67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ได้ให้ความเห็น กรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาส่ง ความเห็นกรณี การออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำนโยบาย Digital Wallet กลับมายังกระทรวงการคลัง ว่าตามที่ตนได้รับทราบข่าวกฤษฎีกาไม่ได้ฟันธงว่ารัฐบาลสามารถจัดทำนโยบาย Digital Wallet ได้หรือไม่ แต่กฤษฎีกาทำหน้าที่ส่งความเห็นในเชิงกฎหมายเพียงเท่านั้น โดยตนเห็นว่ากฤษฎีกากำลังบอกรัฐบาลว่าหากจะจัดทำนโยบาย Digital Wallet ต้องพิจารณาภายใต้กฎหมายใดเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ตนเห็นว่านโยบายรัฐบาล คือฉันทามติของสังคมที่ไม่สามารถหักล้างได้ ขณะเดียวกัน หากสุดท้ายมันผิดกฎหมายจริงๆ รัฐบาลจำเป็นรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและการเมืองเป็นอย่างน้อย เพราะมันคือนโยบายหาเสียงที่จำเป็นตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ก่อนจะประกาศหาเสียงเลือกตั้ง

กรณีตัวนโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศโดยนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ภายใต้ความฮือฮาก็มีข้อกังขาถึงความเป็นไปได้ของนโยบาย มาจนถึงวันนี้ ความชัดเจนของนโยบายก็ยังไม่คืบหน้า เพราะรัฐบาลไม่มีเงินที่จะมาทำนโยบาย อีกทั้งรัฐบาลเองก็มีความสับสนในช่วงแรกว่าจะกู้หรือไม่กู้ จะใช้เงินผ่าน Platform หรือ Application ซึ่งรัฐบาลเองก็ยังไม่มีความ โดยนโยบาย Digital wallet ที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นไว้กับ กกต. ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เรื่องของการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องให้จ่ายเงิน พบว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล วงเงิน 560,000 ล้านบาท ซึ่งที่น่าสังเกตคือที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการโดยจะมาจาก 4 แหล่ง คือ...

1) รายได้ที่รัฐจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 260,000 ล้านบาท
2) ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท
3) การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท
4) การบริหารงบประมาณที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท

ซึ่งไม่มีเรื่องของการกู้ จึงหมายความว่า นโยบายนี้จะสามารถดำเนินการได้โดยใช้เงินที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องสร้างภาระให้กับประเทศเพิ่ม

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าการทำนโยบาย Digital Wallet หากรัฐบาลจะดึงดันให้สามารถดำเนินการภายในปี 2567 เท่ากับรัฐบาลนายเศรษฐาจะต้องกู้เงินถึง 1.1 ล้านล้านบาท เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งในรายละเอียดไม่ปรากฎนโยบาย Digital Wallet และร่าง พ.ร.บ. งบ 67 มีการกู้เงินเพื่อชดใช้เงินคงคลังกว่า 600,000 แสนล้านบาท และหากจะดำเนินการ นโยบาย Digital Wallet รัฐบาลจะต้องกู้อีก 560,000 ล้านบาท รวมแล้วรัฐบาลนายเศรษฐา จะสร้างหนี้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ การกู้เงินของรัฐบาลจะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ที่ระบุไว้ว่า “คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

อีกทั้งหากพิจารณาเรื่องของหนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือน พฤศจิกายน 2566 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท ซึ่งหากต้องกู้เพื่อทำนโยบาย Digital Wallet ตนไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว การกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวมันมีอยู่หลากหลายแนวทาง หลายแนวทางมันนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ การฝึกทักษะใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ 

นายสรรเพชญ กล่าวในตอนท้ายว่า “ความท้าทายของรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทย คือมาตรฐานนโยบายการเมืองกับความถูกต้องทางกฎหมาย และจำเป็นต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของนโยบายที่ให้ไว้เป็นสัญญาประชาคมว่า Digital Wallet จะเป็นนโยบายที่ไม่ต้องกู้เงิน ซึ่งรัฐบาลจะต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง”

‘สรรเพชญ’ ชี้ งบ มท. ส่วนของกรมส่งเสริมฯ 2.3 แสนล้าน เป็นแค่ภาพลวงตา ท้องถิ่นไร้อิสระ

เมื่อวานนี้ (21 มี.ค. 67) ณ อาคารรัฐสภา ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว (วาระ 2) เป็นวันที่สอง นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา ได้อภิปรายในมาตรา 20 ส่วนของกระทรวงมหาดไทย โดยเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่ากระทรวงฯ มีความสับสนในพันธกิจของตนเอง เพราะเมื่อครั้งแถลงนโยบายฯ รัฐบาลตั้งใจขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าฯ CEO แต่ตามพันธกิจ ข้อ 4 ที่กระทรวงระบุไว้ในเอกสารงบประมาณ ว่าจะส่งเสริม และสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินในระดับพื้นที่

นายสรรเพชญ ชี้ต่อไปว่า การจัดสรรงบฯ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูเสมือนรัฐบาลส่งเสริมการกระจายอำนาจ โดยในปี 2567 ท้องถิ่นได้รับการจัดสรรมากถึง 236,000 ล้านบาท จากงบฯ ของกระทรวงมหาดไทยกว่า 291,000 ล้านบาท หากแต่ไปดูในรายละเอียดโครงสร้างงบท้องถิ่น กลับพบว่าเป็นการอำพรางงบฯ เพื่อสร้างภาพว่ารัฐบาลส่งเสริมกระบวนการกระจายอำนาจ และความเป็นอิสระของท้องถิ่น 

ในโครงสร้างงบท้องถิ่น นายสรรเพชญ ได้ชี้ให้เห็นว่า งบฯ ที่เพิ่มขึ้นของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกว่า 236,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป 198,000 ล้านบาท งบอุดหนุนเฉพาะกิจ 38,000 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณากันในรายละเอียดกลับพบว่า ท้องถิ่นมีอิสระในการใช้งบประมาณจริง ๆ เพียง 42,000 ล้านบาท เพราะงบส่วนที่เหลือที่ได้รับการจัดสรรนั้นพ่วงไปด้วยเงื่อนไขบังคับที่มาจากส่วนกลาง

นายสรรเพชญ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดสรรงบประมาณแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นเพียงการสร้างภาพของรัฐบาล แต่สุดท้ายมันคือการกดทับไม่ให้ท้องถิ่นโตตามศักยภาพของตนตามที่ควรจะเป็น 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top