Monday, 20 May 2024
สมเด็จฮุนเซน

"ดร.ซก" ที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฮุนเซน ยืนยัน!ข่าวกัมพูชายกเลิกล็อกดาวน์จริง เผยยอดติดเชื้อลดลงวันละไม่ถึง 100 ราย พร้อม!เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ทำ PCR Test เข้าได้

หลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าวว่า ประเทศกัมพูชามีคำสั่งยกเลิกล็อกดาวน์พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ โดยนายกรัฐมนตรีสมเด็จฮุนเซนได้ประกาศข้อความเสียงผ่านโซเชียลมีเดียไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น

ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจน นักข่าวได้สอบถามไปยัง (ดร.แซม) ดร.ซก ซกกรัดทะยา ที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฮุนเซนนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งกำลังทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ ไทย - กัมพูชา อยู่ ณ เวลานี้ โดยไดัรับการยืนยันจากท่านที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฮุนเซนว่าข่าวดังกล่าวเป็นความจริงทุกประการ โดยท่านยังได้ยืนยันถึงมาตรการด้านการควบคุมการแพร่ระบาดไของเชื้อไวรัสโคโรน่าที่เข้มข้นของรัฐบาล พร้อมได้เชิญชวนประชาชนชาวไทยให้เดินทางไปท้องเที่ยวประเทศกัมพูชาด้วย

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 (ดร.แซม) ดร. ซก ซกกรัดทะยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า สำหรับข่าวยกเลิกล็อกดาวน์เปิดให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้าประเทศกัมพูชาได้แล้วนั้น ผมขอยืนยันคือข่าวจริงทุกประการ โอกาสนี้ จึงอยากเชิญชวนชาวไทยทุกคนให้เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศกัมพูชาได้ตามปกติ ขอยืนยันความปลอดภัย โดยเฉพาะมาตรการคุมเข้มเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ตอนนี้กัมพูชาได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้ว 85% หรือกว่า 14 ล้านคน จึงอยากให้คนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยได้มีความมั่นใจในการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในกัมพูชา

ดร.ซก กล่าวอีกว่า “สำหรับประเทศกัมพูชา ณ เวลานี้ เราขอยืนยันความพร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวและกัมพูชาไม่ได้มีเพียงเมืองมรดกโลกอย่างเมืองเสียมเรียบที่มีนครวัดนครธมเท่านั้น เรายังมีเมืองสีหนุวิลล์เมืองตากอากาศ และพนมเปญ ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจที่อยากให้ทุกคนไปเยือน และการเดินทางจากประเทศไทยนั้นสะดวกสามารถเดินทางได้ทั้งทางรถยนต์ ทางเรือ หรือทางเครื่องบิน จึงอยากขอเชิญชวนคนไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวกัมพูชาได้แล้ว” ดร.ซก ที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฮุนเซน กล่าว  

 

‘ฮุน เซน’ หวนใช้เฟซบุ๊กอีกครั้ง หลังถูกระงับบัญชี 6 เดือน  เหตุโพสต์คลิปขู่ดำเนินคดี-ทำร้ายคนเห็นต่างทางการเมือง

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 66 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ‘สมเด็จฯ ฮุน เซน’ อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ประกาศว่าจะกลับมาใช้งานเฟซบุ๊ก แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมในประเทศกัมพูชาอีกครั้ง โดยอ้างว่าเฟซบุ๊กได้ ‘มอบความยุติธรรม’ ให้กับเขา โดยการไม่สั่งระงับบัญชีผู้ใช้งานของเขา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ‘สมเด็จฯ ฮุน เซน’ ได้โพสต์ข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเขา

สมเด็จฯ ฮุน เซน ได้โพสต์ข้อความว่า เฟซบุ๊กได้ปฏิเสธคำแนะนำจากคณะกรรมการกำกับดูแลของเมตา บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก ให้มีการระงับบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมของอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาผู้นี้เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากที่เขาโพสต์วิดีโอข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเขาเมื่อเดือนมกราคม ว่าจะถูกดำเนินคดีและตีด้วยไม้ หากกล่าวหาว่าพรรคการเมืองของสมเด็จฯ ฮุน เซน โกงการเลือกตั้งที่มีขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ของเขาคว้าชัยชนะไปอย่างถล่มทลายจนส่ง ‘พลเอกฮุน มาเนต’ บุตรชายคนโตของเขาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้สำเร็จ

คำแนะนำดังกล่าวจากคณะกรรมการกำกับดูแลของเมตาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ทำให้สมเด็จฯ ฮุน เซน ไม่พอใจอย่างมาก จนเลิกใช้งานเฟซบุ๊ก พร้อมกับขู่ว่าจะปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กในประเทศกัมพูชา รวมถึงแบนตัวแทนของเฟซบุ๊กจากประเทศกัมพูชา และขึ้นบัญชีดำสมาชิกคณะกรรมการดังกล่าวกว่า 20 คน

หลังการประกาศกลับมาใช้งานเฟซบุ๊กอีกครั้ง สมเด็จฯ ฮุน เซน ระบุอีกว่า กระทรวงโทรคมนาคมกัมพูชาจะอนุญาตให้ตัวแทนของเฟซบุ๊กกลับเข้ามาทำงานในประเทศอีกครั้ง แต่ยังคงไม่นำชื่อของสมาชิกคณะกรรมการกำกับดูแลของเมตาออกจากบัญชีดำ

‘สว.คำนูณ’ ชวนจับตา!! ‘เส้นเขตผ่ากลางเกาะกูด-แหล่งปิโตรเลียม' หลัง ‘พี่น้องสองแผ่นดิน’ ได้พบปะกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

(23 ก.พ.67) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง พี่น้องสองแผ่นดิน มีเนื้อหาดังนี้

สมเด็จฯ ฮุนเซนมาเยี่ยมพี่ชายที่คบกันมา 32 ปีนับแต่ยุค IBC Cambodia เมื่อวานซืนนี้ถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า มีข้อดีอยู่อย่างตรงที่ทำให้สังคมไทยหันมาสนใจแผนที่อ่าวไทยลักษณะประมาณนี้อีกครั้ง แล้วเกิดการถามไถ่วิพากษ์วิจารณ์กันตามสมควร

หนึ่งในประเด็นสำคัญคือเกาะกูด!

กัมพูชามาลากเส้นเขตแดนทะเล (เส้นเขตไหล่ทวีป) ผ่ากลางเกาะกูดของไทยมาตั้งแต่ปี 2515 (ค.ศ. 1972) และยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

คำถามคือเกิดขึ้นได้อย่างไร จะมีผลกระทบต่อสิทธิอธิปไตยของไทยแค่ไหน และเกี่ยวข้องกับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียม (หรือที่นายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันเรียกใหม่ว่าไฮโดรคาร์บอน) มูลค่า 20 ล้านล้านบาทอย่างไร

เพราะเกาะกูดเป็นของไทยอย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อโต้แย้ง โดยสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ข้อ 2

เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่กัมพูชาสมัยนายพลลอนนอล

จู่ ๆ ก็ประกาศกฤษฎีกากำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 โดยลากออกมาจากแผ่นดินบริเวณหลักเขตแดนไทยกัมพูชาที่ 73 บริเวณบ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ตรงลงทะเลมาทางทิศตะวันตกผ่ากลางเกาะกูดตรงไปยังกึ่งกลางอ่าวไทยที่บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ววกลงใต้ขนานกับแผ่นดินกัมพูชา

พูดตรง ๆ เป็น ‘เส้นฮุบปิโตรเลียม’ โดยแท้!

ภูมิหลังของเรื่องคือไทยกับกัมพูชามีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลและผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งเป็นช่วงที่สองประเทศเริ่มดำเนินการให้สัมปทานบริษัทต่างชาติผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาหมาด ๆ ขณะที่การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรในยุคสมเด็จนโรดม สีหนุ ก็พอดีเกิดการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงใหญ่ในกัมพูชา นายพลลอนนอลขึ้นมามีอำนาจตั้งตนเป็นประธานาธิบดีได้ 2 ปีก็ประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปทันที

เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร บุคคลในประวัติศาสตร์ของไทยท่านหนึ่งทั้งเขียนและเล่าไว้อย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ

พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มายาวนาน เขียนบทความเรื่อง ‘การเจรจาปัญหาการอ้างเขตไหล่ทวีปทับซ้อนในอ่าวไทยของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน’ เผยแพร่ในเว็บไซต์โครงการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล และนำความทำนองเดียวกันมาเล่าด้วยวาจาในเวทีสัมมนาสาธารณะของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา จัดที่สยามสมาคมเมื่อวันพุธที่ 28 กันยายน 2554 ว่า จอมพลประภาส จารุเสถียรเคยเล่าให้ท่านฟังว่านายพลลอนนอลผู้นำกัมพูชาขณะนั้นบอกท่านว่า เส้นเขตไหล่ทวีปนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนตะวันตกที่ขอรับสัมปทานแสวงประโยชน์จากปิโตรเลี่ยมในเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเสนอขึ้นมาให้ โดยตัวนายพลลอนนอลและกัมพูชาไม่มีความมุ่งประสงค์ใด ๆ ทั้งสิ้นต่อเกาะกูดของไทย พร้อมที่จะแก้ไข แต่ขอให้ไทยเห็นใจหน่อยว่าการเมืองภายในกัมพูชามีความเปราะบาง หากรัฐบาลทำการใดทำให้ประชาชนไม่พอใจอาจพังได้ ก็เลยไม่มีการแก้ไขใด ๆ ที่ตอบสนองฝ่ายไทยได้

เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ประกาศออกมาสร้างความตะลึงและไม่สบายใจให้กับรัฐบาลไทยและคนไทยในช่วงนั้นมาก

เพราะเป็นห่วงเกาะกูด!

ทำอย่างไรจะให้กัมพูชายกเลิกเส้นเขตไหล่ทวีปนี้ให้ได้ เป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทย

คุณูปการของจอมพลประภาส จารุเสถียรคือท่านลงมากำกับการเจรจาเอง และคุยตรงไปตรงมากับนายพลลอนนอล เพราะเป็นทหารด้วยกัน เดินตามยุทธศาสตร์อเมริกันเหมือนกัน ที่สุดเมื่อคุยไม่เป็นผล ท่านก็รักษาสิทธิของไทยโดยการออกประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเส้นไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมายระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 90 ตอน 60 หน้า 1-2 วันที่ 1 มิถุนายน 2516

เป็นเส้นที่ลากจากหลักเขตที่ 73 ลงทะเลตรงจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา

นอกจากประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปแล้ว รัฐบาลไทยสมัยนั้นสั่งการให้กองทัพเรือเข้าดูแลรักษาสิทธิในน่านน้ำอ่าวไทยเขตไหล่ทวีปของไทยตามประกาศทันที

นั่นเป็นเหตุการณ์แค่เพียง 5 เดือนก่อนจอมพลประภาส จารุเสถียรพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

การเจรจาระหว่าง 2 ประเทศไม่คืบหน้า

เพราะกัมพูชาตกอยู่ในสภาวะสงครามหลายรูปแบบอยู่ยาวนานจึงค่อยฟื้นคืนสู่สันติภาพ

กว่าจะมาเริ่มเจรจากันจริงจังอีกครั้งก็ปี 2538

ไม่คืบเช่นเคย!

กัมพูชาไม่พยายามจะพูดเรื่องเส้นเขตไหล่ทวีป หรือเรื่องแบ่งเขตแดนทางทะเล จะพูดแต่เฉพาะเรื่องการแบ่งปันปิโตรเลียมใต้ทะเลเท่านั้น ขณะที่ไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศพยายามพูดทั้ง 2 เรื่อง

ในที่สุด MOU 2544 ก็ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544

ลงนามในยุคที่พี่น้อง 2 แผ่นดินต่างขึ้นครองอำนาจทางการเมืองในแผ่นดินของตน

เกิดเป็นกรอบแนวทางการเจรจาตามภาพกราฟิกที่นำมาแสดง

ดูเหมือนการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในปิโตรเลียมจะคืบหน้าไปมาก จนมีตัวแบบและตัวเลขแบ่งผลประโยชน์ออกมา ขณะที่การเจรจาแบ่งเขตแดนแม้จะถูกจำกัดตามกรอบ MOU 2544 ให้ทำเฉพาะส่วนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือเท่านั้นก็ยังคงไม่คืบหน้าเช่นเดิม

หลังผู้พี่ตกจากบัลลังก์อำนาจฝั่งไทยเมื่อปี 2549 การเจรจาสะดุดไป เพราะมีปัญหาเขตแดนทางบกบริเวณปราสาทพระวิหารเข้ามาแทรกเสียร่วม 10 ปี

วันนี้เมื่อผู้พี่กลับเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าอีกครั้ง และหัวหน้าคณะรัฐบาลที่มีพรรคของลูกสาวเป็นแกนนำประกาศนโยบายพลังงานว่าจะพยายามนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ให้ ‘เร็วที่สุด’ โดยบอกว่าจะ ‘แยก’ จากเรื่องเขตแดน แม้ผู้น้องจะเพียงมาเยี่ยมไข้ผู้พี่และถือโอกาสเชิญหลานสาวคนเล็กไปเยือนกัมพูชาเดือนหน้า ไม่ได้คุยเรื่องการเมืองใด ๆ ก็ตาม

แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปรากฏการณ์พบกันของพี่น้องสองแผ่นดินคู่นี้จะต้องเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งอยู่ดี

เส้นฮุบปิโตรเลียมจะยังอยู่หรือไม่ ?

สองประเทศจะแบ่งผลประโยชน์จากขุมทรัพย์ 20 ล้านล้านบาทกันได้สำเร็จหรือไม่ตลอดอายุรัฐบาลไทยชุดนี้ และจะมีผลกระทบต่อเขตแดนทางทะเลในอนาคตของไทยหรือไม่อย่างไร ??

ล้วนเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top