Friday, 10 May 2024
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคต

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ เสด็จสวรรคตที่โรงพยาบาลศิริราช รวมพระชนม์มายุ 95 พรรษา 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ‘สมเด็จย่า’ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2443 ทรงเป็นบุตรคนที่ 3 ใน พระชนกชู และ พระชนนีคำ พระนามเดิมคือ สังวาลย์ ตะละภัฏ ในวัยประมาณ 7-8 ขวบ ครอบครัวได้นำพระองค์ไปฝาก คุณจันทร์ แสงชูโต ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงในพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ทรงเข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา จากนั้นเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนั้น

ทรงเป็นนักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดในรุ่นของพระองค์ซึ่งมีจำนวนเพียง 14 คน พระองค์ทรงเรียนได้ดีและทรงศึกษาสำเร็จภายในสามปี และทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตามข้อผูกพันของการเป็นนักเรียนหลวง

ในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับทุนให้ไปเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงพบกับ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระบรมราชชนก) ซึ่งได้ทรงถูกพระทัย และขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์ 

21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ‘สมเด็จย่า’ ของปวงชนชาวไทย

วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้ว ยังเป็นอีกหลายวันสำคัญของประเทศไทย พระราชกรณียกิจของ 'สมเด็จย่า' ที่ทรงมีต่อชาวไทยและประเทศชาตินั้น ใหญ่หลวงนัก ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะสูงในการทรงงาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้ทรงอุทิศพระวรกายและสละเวลาให้แก่ประชาชน ตลอดมา โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากส่วนพระองค์

วันพยาบาลแห่งชาติ

เนื่องด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาล และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา และด้วยพระวิริยะอุตสาหะ นำสิริสุขแก่ปวงชนทุกก้าวพระบาทที่เสด็จไปถึง สมควรเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ให้ตระหนักในภารกิจของวิชาชีพแห่งตนว่าเป็นงานบริการสุขภาพที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าแก่สังคม ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวแล้วนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันพยาบาลแห่งชาติ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2533 เป็นต้นมา

วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ
สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทเป็นทุนริเริ่มการสร้างตึกทำงานของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ และได้พระราชทานนามตึกนี้ว่า 'ตึกมหิดล' เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณในด้านสังคมสงเคราะห์ของสมเด็จพระบรมราชชนก โครงการที่สำคัญที่สุดของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ คืออุดมการณ์ที่รัฐรับเป็นอุดมการณ์ของชาติ คือ 'โครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง' ซึ่งมีที่มาจากพระบรมราชปณิธานในพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า 'เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม'

10 กันยายน พ.ศ. 2463  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ อภิเษกสมรส กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พันเอก (พิเศษ) จอมพลเรือ นายแพทย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช (1 มกราคม พ.ศ. 2435 - 24 กันยายน พ.ศ. 2472) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นสมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระบรมราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ระหว่างที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา 2 คน คือ สังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และอุบล ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา (ต่อมาคือ อุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง 2 ของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ

และในขณะที่กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1 นั้นเอง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงพบและพอพระทัยกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยมีพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่นๆ ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์

เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ได้มีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม และหลังจากได้อภิเษกสมรสแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้ตามเสด็จด้วยกันไปประพาสเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป และ สหรัฐอเมริกา เพื่อทรงไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเอ็มไอที เมืองบอสตัน ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงเรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน ก่อนจะประสูติพระโอรสและพระธิดารวม 3 พระองค์

10 มีนาคม พ.ศ. 2539 น้อมรำลึกวันคล้ายวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ‘สมเด็จย่า’ ผู้ทรงก่อตั้ง ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ เพื่อช่วยให้ชาวไทยภูเขาได้อยู่ดีกินดี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ ตะละภัฏ ทรงเป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ตลอดพระชนชีพ สมเด็จย่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างมากมาย อาทิ ทรงให้การอุปถัมป์ราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนเป็นที่มาของ ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ นอกจากนี้ยังทรงเป็นแบบอย่างของความพอเพียง ทรงสอนพระโอรสและพระธิดา ให้รู้จัก ‘การให้’ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า ‘กระป๋องคนจน’ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก ‘เก็บภาษี’ หยอดใส่กระปุกนี้ 10% และทุกสิ้นเดือน สมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อตรัสว่า จะนำเงินในกระป๋องไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระประชวร โดยมีพระอาการทางพระหทัยกำเริบ และทรงเหนื่อยอ่อน โดยเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จนกระทั่งในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทรงมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต

คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนเมื่อเวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา ต่อมาจึงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

13 มีนาคม พ.ศ. 2553 'ในหลวง ร.9' พระราชทานชื่อ ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เทิดพระเกียรติน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ ’สมเด็จย่า‘

ท่าอากาศยานเชียงรายเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2535 สังกัดกรมการบินพาณิชย์ (บพ.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งใช้ชื่อว่า ‘สนามบินบ้านดู่’ ต่อมา บพ.ได้ถูกโอนมาขึ้นอยู่กับการบริหารของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2541 และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ภายใต้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 ถึงปัจจุบัน

ต่อมา คณะกรรมการ ทอท. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มชื่อท่าอากาศยานเชียงรายเป็น ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามที่ได้มีการร้องขอจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดเชียงราย ดังนั้น ทอท. จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top