Friday, 17 May 2024
สมเด็จพระพุฒาจารย์

“มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” จัดพิธีเททองหล่อพระบูชาและพระเครื่องหลวงปู่ไต้ฮง รุ่นฉลองครบรอบ 110 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

เมื่อวันพฤหัสที่ 14 ตุลาคม 2554 เวลา 16.19 น. สมเด็จพระพุฒาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ฝั่งหนตะวันออก เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง องค์ประธานร่วม ทำพิธีเททองหล่อพระบูชาและพระเครื่อง หลวงปู่ไต้ฮง รุ่นฉลองครบรอบ 110 ปี มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

โดยมี นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นายสัก กอแสงเรือง รองประธานกรรมการคณะกรรมการ และผู้ช่วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ ร่วมในพิธี เททองหล่อพระบูชาและพระเครื่อง หลวงปู่ไต้ฮง รุ่นฉลอง 110 ปี ณ บริเวณมณฑลพิธี หน้าพระอุโบสถหลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรุงเทพฯ

โดยภายในพิธี ได้จัดให้มีพระสงฆ์สมณศักดิ์ 9 รูป นำโดย พระสุวรรณมหาพุทธาภิบาล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตร ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมทั้งพระคณาจารย์นั่งปรกอธิษฐานจิตพิธีเททองหล่อพระบูชาและพระเครื่อง หลวงปู่ไต้ฮง รุ่นฉลอง 110 ปี ดังนี้

1.  หลวงพ่อสะอาด วัดเขาแก้ว อ.พยุหคิรี จังหวัดนครสวรรค์

2.  หลวงพ่อแถม วัดช้างแทงกระจาด อ.ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

3.  หลวงพ่ออวยพร วัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม

4.  หลวงพ่อพระปลัดตรีพรหม วัดพิชัยสงคราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระบูชาและพระเครื่องไต้ฮงกงทุกรุ่น จัดให้มีพิธีเททอง และ พิธีมหาพุทธาภิเษก โดยเกจิอาจารย์ผู้ทรงพุทธคุณ พระเถระชั้นสมเด็จ ฯลฯ มานั่งปรกอธิษฐานจิตเพื่อปลุกเสก พระเครื่องหรือเหรียญไต้ฮงกงนั้น ศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตศรัทธามีความเชื่อว่า เมื่อนำหลวงปู่ไต้ฮงไปบูชาที่บ้านหรือพกติดตัว จะคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย และ ดลบันดาลให้สมปรารถนา และ ร่วมทำบุญกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในวาระครบรอบ 110 ปี

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566

"มนุษย์ที่หมดบุญ มีสองอย่างด้วยกัน อย่างแรกคือหมดอายุขัย อย่างที่สองคือมนุษย์ ที่กำลังมีลมหายใจอยู่ แต่ไม่คิดที่จะแสวงหาบุญกุศล 

นั่นก็เรียกว่ากำลังจะหมดบุญ...ประมาทในบุญกุศล"

- สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) -

'สุวัจน์' เป็นประธานถวายหุ่นขี้ผึ้งเสมือน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ปางปัญญาบารมี ณ วัดอินทรวิหาร พร้อมเปิดให้ 'ปชช.-นทท.' เข้าชมทุกวัน

เมื่อวานนี้ (16 ม.ค. 67) พระโสภณธรรมวงศ์ (เจ้าคุณน้อย) เจ้าคณะแขวงสามพระยา เจ้าอาวาสวัดอินทรวิหารฯ กรุงเทพ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีสมโภชบวงสรวงรูปเหมือนเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ปางปัญญาบารมี ณ มณฑลพิธีศักดิ์สิทธิ์ หน้าหลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง (บางขุนพรหม) กทม. 

โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาสและเจ้าภาพ 'ปอ' นายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ ผู้บริหารเครือ TNP Group บริษัทนำเข้ารถรายใหญ่ของไทย ร่วมกับแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ปางปัญญาบารมี องค์นี้ ... เป็นหุ่นขี้ผึ้ง ขนาดสูง 178 ซม. ดำเนินการจัดสร้างโดย 'สันติ พิเชฐชัยกุล' ประติมากรเอกระดับโลก

สำหรับหลวงปู่โตองค์นี้เป็นไฟเบอร์กลาส ไม่ได้เป็นหุ่นขี้ผึ้งเบอร์กลาส ทนความร้อนได้ รายละเอียดเส้นจะเก็บได้คมชัดกว่า ซึ่งอาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล ท่านนี้คือคนเดียวกับที่ปั้นรูปหล่อเหมือนในหลวง ร.9

สำหรับ สมเด็จฯ โต องค์นี้ จะตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ปางปัญญาบารมี ณ ศาลาสังฆานุสรณ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ซึ่งภายในจัดให้มีบรรยากาศแบบย้อนยุค สมัยรัชกาลที่ 4 พร้อมกับการรับชมชีวประวัติ โดยสมเด็จฯ โต 'อิ่มบุญ อิ่มใจ' เปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว เข้าชมได้ทุกวัน ณ วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง 

ทั้งนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มีความผูกพันกับวัดอินทรวิหารฯ มาตั้งแต่เยาว์วัย กล่าวคือ ตั้งแต่เริ่มหัดเดินจนได้บวชเรียนเป็นสามเณรหลวง จากนั้นท่านได้มาสร้าง หลวงพ่อโต (พระพุทธศรีอริยเมตไตรย) เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร ขนาดใหญ่ สูง 32 เมตร เมื่อ พ.ศ.2410 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ท่านได้มรณภาพลงขณะที่สร้างไปได้ถึงบริเวณพระนาภี (สะดือ) การก่อสร้างจึงหยุดชะงักลง และได้มีการก่อสร้างต่อจนสำเร็จในปี พ.ศ.2467 สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้จัดให้มีงานสมโภชเป็นครั้งแรกเป็นเวลาสามวัน คือวันที่ 4-6 มีนาคม พ.ศ.2471 

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567

‘สมเด็จเกี่ยว’ หรือ ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 หนึ่งในคำสอนของ ‘สมเด็จเกี่ยว’ ที่เตือนสติชาวพุทธได้อย่างดี คือ…

“เมื่อได้ยินอะไรในทางที่เสีย ก็อย่าเพิ่งตัดสินใจว่าเสีย เพราะเพียงแต่เขาพูดกัน ต้องใคร่ครวญพิจารณาให้ดี ในลักษณะฟังหูไว้หู ถ้ายังไม่เห็นที่ประจักษ์ด้วยตนเอง ก็อย่าเพิ่งไปต่อหรือไปเสริม ให้เกิดความเสียหาย”

17 เมษายน พ.ศ. 2331 วันคล้ายวันเกิด ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ หรือ ‘สมเด็จโต’ พระเกจิเถราจารย์ผู้มีความประพฤติอันน่าเลื่อมใส

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือนามที่นิยมเรียก สมเด็จโต, หลวงปู่โต หรือ สมเด็จวัดระฆัง เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี) ซึ่งก็คือเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นพระภิกษุมหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5

นอกจากนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน และนอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล ‘พระสมเด็จ’ ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทย และมีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top