Saturday, 18 May 2024
สมุทรสงคราม

สมุทรสงคราม - ศรชล.รับเรื่องร้องเรียนแจกจ่ายวัคซีนไม่เป็นธรรม จากชาวประมง

วันที่ 27 พ.ค.64 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม (ศรชล.จว.สส.) โดย นายชรัส บุญณสะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม/ผวจ.สมุทรสงคราม

(ผอ.ศรชล.จว.สส./ผวจ.สส.) พร้อมด้วย น.อ.นิคม  แจ่มยิ่ง รอง ผอ.ศรชล.จว.สส. และคณกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับเรื่องร้องเรียน จากสมาคมประสมุทรสงคราม, สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม และสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด กรณีไม่พอใจการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากกรมควบคุมโรคติดต่อ เพื่อจ่ายให้กับ จว.สส. ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงมาก เพราะอยู่ท่ามกลางระหว่างจังหวัดพื้นที่สีแดงและพื้นที่สีแดงเข้ม ทำให้โอกาสแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีโอกาสสูงมาก โดยตลาดปลาสหกรณ์แม่กลองเป็นตลาดกลางซื้อสัตว์น้ำที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ เปิดทำการซื้อขายสัตว์น้ำทุกวันจากชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ซึ่ง จว.สส. ตามแผนที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะได้รับวัคซีนมากสุดช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.64 โดยเกรงว่าจะไม่ทันกับการระบาดของโรคโควิด-19      

ผอ.ศรชล.จว.สส./ผวจ.สส. ได้ชี้แจง พร้อมนำหนังสือที่ได้ทำเรื่องเสนอกรมควบคุมโรคติดต่อ ด่วนที่สุด ที่ สส.0017.1/7098 ลง 26 พ.ค.64 เรื่องขอรับการสนับสนุนการปรับแผนการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับจังหวัดสมุทรสงคราม ให้ผู้ที่มาร้องเรียนได้ดูและรับทราบ ทำให้ผู้ที่มาร้องเรียนเข้าใจและพึงพอใจ จึงได้สลายการรวมตัวในครั้งนี้

 


ภาพ/ข่าว ปชส.ศรชล.ภาค 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

สมุทรสงคราม - ผอ.ศรชล.ภาค 1/ผบ.ทรภ.1 ตรวจเยียมหน่วยงาน ศรชล.จังหวัด และหารือข้อราชการ

พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 และผู้บัญชาการทัพเรือภาค 1 (ผอ.ศรชล.ภาค 1/ผบ.ทรภ.1) พร้อมคณะฯ เข้าเยี่ยมพบปะและหารือข้อราชการกับ นายชรัส บุญณสะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม/ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม (ผอ.ศรชล.จว.สส./ผวจ.สส.) เพื่อหารือข้อราชการ พร้อมตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ ศรชล.จว.สส.และศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดสมุทรสงคราม (ศคท.จว.สส.) ศคท.จว.สส.เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกับกำลังพล ตลอดจนให้แนวทางในการปฏิบัติราชการในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานและยกระดับการให้บริการในด้านต่าง ๆ กับประชาชนและพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ ในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย


ภาพ/ข่าว ปชส.ศรชล.ภาค 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

‘แรงงานสมุทรสงคราม’ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด   อาสาสมัครแรงงาน 'ปลูกต้นไม้' ถวายเป็นพระราชกุศล 

ที่บริเวณสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสงคราม ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม นางรภัสสา พานิกุล แรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564 และวันดินโลก ปี 2564 โดยมีนางรภัสสา พานิกุล แรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม นางอัจฉรา  เราจุติธรรม  จัดหางานจังหวัดสมุทรสงคราม นายพูลโชค  โตประเสิรฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสงคราม นางระพีพรรณ รัตนบริหาร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม และนายวิชัย  จันทร์บุญ  ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

นางรภัสสา กล่าวว่า เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564 และเนื่องในวันรู้รักสามัคคี 4 ธันวาคม 2564 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือให้แต่ละหน่วยงานจัด กิจกรรมจิตอาสา “รู้รักสามัคคี รักษ์สิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิต” เช่น การปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่เหมาะสมและสามารถบำรุงรักษาได้ต่อเนื่อง เป็นต้น ประกอบกับ องค์การสหประชาชาติ ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ประกาศรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันดินโลก และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสมุทรสงครามเป็นส่วนราชการที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยนำศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนาที่ดินรวมทั้ง วันดินโลก เผยแพร่ให้เป็นที่รับทราบ และเกิดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวทางการจัดการดินที่ได้ทรงพระราชทานไว้ไปสู่การปฏิบัติสร้างประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ 

“ในวันนี้ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ขึ้น ซึ่งต้องขอขอบคุณสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสงคราม ที่ให้การสนับสนุนพื้นที่และช่วยดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต รวมทั้งขอบคุณกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้การสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้ ได้แก่ ต้นรวงผึ้ง มะฮอกกานี ราชพฤกษ์ และนนทรี 

'แรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม' เปิดฝึกอบรมทำเทียนแฟนซี! ช่วยผู้มีรายได้น้อย - มีอาชีพ - มีงานทำในชุมชน

นางรภัสสา พานิกุล แรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ จังหวัดสมุทรสงครามประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือ หลักสูตรการฝึกเสริมทักษะ กลุ่มอุตสาหกรรมศิลป์ สาขาการทำเทียนแฟนซี ณ ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลบางช้าง หมู่ที่ 1 ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมี นางระพีพรรณ รัตนบริหาร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม นายวิชัย จันทร์บุญ ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

ซึ่งนางรภัสสา กล่าวว่า การฝึกอบรมโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพจังหวัดสมุทรสงคราม โครงการเป็นการบูรณาการทำงานการร่วมกัน ระหว่างสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสงครามและหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานในจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม ได้จัดโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือ หลักสูตรการฝึกเสริมทักษะ กลุ่มอุตสาหกรรมศิลป์ สาขาการทำเทียนแฟนซี ระยะเวลาฝึกจำนวน 3 วัน 18 ชั่วโมง เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน ผู้ว่างงานและไม่มีรายได้ รวมทั้งผู้ที่มีความเดือดร้อนด้านอาชีพ รวมทั้งได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 และเพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน จากการฝึกทำเทียนแฟนซีในรูปแบบชนิดต่าง ๆ   

โดยได้รับการประสานงานวิทยากรจากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพ และนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดจากอาชีพเดิม ตลอดจนการรวมกลุ่มสมาชิกผู้เข้ารับการฝึกจาก นายอำพล ลอยมา อาสาสมัครแรงงานตำบลบางช้างและผู้ใหญ่บ้านตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

โอกาสเดียวกันนี้ ได้มีวิทยากรจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสงคราม มาบรรยายเรื่องการประกันสังคมมาตรา 40 และขั้นตอนการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 กับสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ประกอบอาชีพอิสระในครั้งนี้ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนให้ครบทุกคน เป็นการเข้าถึงสวัสดิการและเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต ตลอดจนเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนต่อไป

 

'นายกฯ' เตรียมลงพื้นที่ ติดตามโครงการรถไฟ-ระบบระบายน้ำ ตรวจเยี่ยมเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ชาวสมุทรสงคราม

(2 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดสมุทรสงคราม ในวันที่ 3 ก.พ. 66 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และพบปะประชาชน

โดยเวลา 10.00 น. นายกรัฐมนตรีออกเดินทางจากสนามเฮลิคอปเตอร์ พล.ม. 2 รอ. เขตพญาไท กรุงเทพฯ ไปสนามกีฬาจังหวัดสมุทรสงคราม ต.แม่กลอง อ.เมืองสมุทรสงคราม จ.สมุทรสงคราม และเดินทางไปสถานีรถไฟลาดใหญ่ ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม ด้วยรถไฟขบวนที่ 4383 (สถานีรถไฟลาดใหญ่ - สถานีรถไฟแม่กลอง) ไปยังสถานีรถไฟแม่กลอง เพื่อตรวจติดตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ชวนเที่ยว ‘งานตักบาตรขนมครก’ 22 ก.ย.นี้ สืบสานประเพณีเก่าแก่ มีเพียงแห่งเดียวที่วัดแก่นจันทร์เจริญ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม

สมุทรสงคราม แห่งเดียวของไทย อบจ.แม่กลอง ชวนเที่ยวงานตักบาตรขนมครก ‘ขนมคู่รักกัน’ 22 ก.ย. นี้ เพื่อสืบสานประเพณีเก่าแก่เกือบร้อยปี

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 น.ส.กาญจน์สุดา ปานะสุทธะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ) สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ประเพณีตักบาตรขนมครก เป็นประเพณีที่เก่าแก่ของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2473 ปัจจุบันมีเพียงแห่งเดียวที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที

โดยจัดกันในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยเลียนแบบการจัดงานมาจากขนมเบื้องของพระราชพิธีในวัง ที่สืบทอดกันมาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี

โดยญาติโยมที่มาร่วมทำบุญ จะซื้อขนมครก และน้ำตาลทราย จากพ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาขายหน้าวัดแก่นจันทร์เจริญ ถวายพระสงฆ์ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ชาวบ้านจึงเกรงว่าประเพณีตักบาตรขนมครกจะสูญหายไปด้วย

จึงได้ช่วยกันลงแรงและร่วมกันบริจาคเงินซื้อข้าวสารมาหมักค้างคืนไว้ พอเช้าตรู่ของวันใหม่ก็ไปรวมตัวกันที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ช่วยกันโม่แป้ง คั้นกะทิ ทำขนมครก เพื่อนำไปตักบาตรถวายพระสงฆ์ พร้อมกับน้ำตาลทรายถวายคู่กัน เนื่องจากพระบางรูปชอบหวาน จึงมีน้ำตาลทรายให้มาด้วย

นายก อบจ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ตามตำนานบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า ประเพณีตักบาตรขนมครกนั้น เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชายหญิงคู่หนึ่งชอบพอกัน ฝ่ายชายชื่อ ‘กะทิ’ ส่วนฝ่ายหญิงชื่อ ‘แป้ง’ แต่พ่อของแป้ง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่ชอบกะทิ จึงหาทางขัดขวางไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับลูกสาว และยังยกลูกสาวให้แต่งงานกับปลัดอำเภอหนุ่มจากกรุงเทพฯ

เมื่อพ่อของแป้ง รู้ว่ากะทิ จะมาขัดขวางงานแต่งงานลูกสาว จึงขุดหลุมพรางไว้เพื่อดักฝังกะทิทั้งเป็น จนกลางคืนกะทิกับแป้งได้นัดพบกัน และเกิดพลัดตกลงไปในหลุมพรางของพ่อแป้งทั้งคู่ ลูกน้องของผู้ใหญ่บ้านนึกว่ากะทิตกหลุมพรางคนเดียว จึงนำดินมาฝังกลบทั้งคู่จนตายทั้งเป็น รุ่งเช้าผู้ใหญ่บ้านรู้เข้าจึงเกิดความเศร้าโศกเสียใจ จึงสร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์แด่คนทั้งสอง

ต่อมาชาวบ้านรู้ข่าวจึงเห็นใจในชะตาชีวิตของหนุ่มสาวคู่นี้ จึงนำขนมที่ทำจากกะทิและแป้ง และเรียกว่า ‘ขนมคู่รักกัน’ มาเซ่นไหว้ ต่อมาได้มีผู้เห็นว่าชื่อเรียกยาก จึงตัดเอาตัวอักษรแต่ละคำคือเอาตัว ค.ควาย, ร.เรือ และ ก.ไก่ มารวมกันจึงอ่านว่า ‘ครก’ หรือ ‘ขนมครก’ นั่นเอง

และเพื่ออนุรักษ์ประเพณีตักบาตรขนมครก ที่สืบทอดกันมานานเกือบ 100 ปี อบจ.สมุทรสงคราม จึงร่วมกับ จ.สมุทรสงคราม, อบต.บางพรม, ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม, สำนักงานวัฒนธรรม จ.สมุทรสงคราม และชาวตำบลบางพรม จัดงานตักบาตรขนมครกขึ้นที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566

โดยจะมีเตาขนมครกซึ่งส่วนใหญ่เป็นเตาถ่านกว่า 20 เตา มีการสาธิตการขูดมะพร้าวจากกระต่ายแบบโบราณ การโม่แป้งด้วยโม่หินแบบโบราณ การหยอดและการแคะขนมครกจากเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดแก่นจันทร์เจริญ เริ่มงานตั้งแต่เวลา 07.00 น.เป็นต้นไป

โดยเวลา 09.30 น. มีพิธีเปิดงานโดยนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นเป็นการตักบาตรขนมครก โดยมีพระสงฆ์วัดแก่นจันทร์ทุกรูปมารับบาตร

ส่วนขนมครกที่เหลือจากพระฉันแล้ว ทางวัดจะแจกจ่ายให้นักท่องเที่ยวและชาวบ้านนำกลับบ้านฝากญาติพี่น้องรับประทาน เพื่อความเป็นสิริมงคล จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจไปร่วมงานดังกล่าวได้ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ตามวันและเวลาดังกล่าว

‘Fight Club แม่กลอง’ เตรียมจัดเวทีชกมวยข้างถนน 27 ม.ค.นี้ จุดพีก!! จับคู่กรณีทะเลาะวิวาทมาชกกันในเกมกีฬา หวังหย่าศึก

(15 ม.ค. 67) นายประพันธ์ พลอยสุวรรณ โปรโมเตอร์มวยนอกสังเวียน หรือมวยข้างถนน สมาคม Fight Club แม่กลอง ชาวจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า สมาคม Fight Club แม่กลอง เป็นสาขาที่ 2 ใน 6 สาขาของสมาคม Fight Club Thailand ที่ก่อตั้งมาแล้วกว่า 10 ปี ประกอบด้วย แม่กลอง สมุทรสงคราม ปทุมธานี พระประแดง North Side เชียงราย และลพบุรี

โดย Fight Club แม่กลองได้จัดให้มีการชกมวยข้างถนน หรือมวยนอกสังเวียนมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 27 ม.ค.นี้ ณ เวทีมวยชั่วคราวใต้สะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง) เขตเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม สาเหตุที่จัดใต้สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองเพราะได้บรรยากาศสังเวียนมวยข้างถนน ขณะนี้มีคู่ชกแล้วจำนวน 21 คู่ 1 ในนั้นเป็นวินรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ทะเลาะวิวาทกันเรื่องแย่งผู้โดยสาร ส่วนที่เหลือเป็นการชกกันระหว่างคนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดอื่นๆ 

นายประพันธ์ เผยว่า วัตถุประสงค์การจัดชกมวยนอกสังเวียน เพื่อสร้างสังเวียนให้คู่กรณีที่ทะเลาะวิวาทกันโดยเฉพาะวัยรุ่นที่มีปัญหากันจะได้ไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหากันเอง จึงจัดให้มาต่อสู้กันในกติกาเกมกีฬาแทน โดยชกกันมือเปล่าใช้ใจใช้แรงใช้สมองปราศจากอาวุธใดๆ ลดปัญหาทะเลาะวิวาทยกพวกตีกันที่อาจมีการใช้อาวุธทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจนเป็นคดีความ

นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวแล้ว ยังอาจทำให้ประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องถูกลูกหลงดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีให้ผู้ที่สนใจ ชื่นชอบ หรือมุ่งหวังจะเข้าสู่เส้นทางชกมวยเป็นอาชีพได้กล้าแสดงออก และได้ฝึกฝนหาประสบการณ์อีกด้วย             

ส่วนกติกาการชกมวยนอกสังเวียน หรือมวยข้างถนนนั้น เป็นการชกกันยกเดียวใช้เวลา 3 นาที ห้ามใช้ศอก ห้ามทุบท้ายทอย ห้ามชกข้างหลัง และเมื่อคู่ต่อสู้ล้มห้ามซ้ำ ผู้ชกต้องสมัครใจ มีใบรับรองแพทย์ อายุ 18 ปีขึ้นไป หากต่ำกว่า 18  ปีต้องมีใบอนุญาตจากผู้ปกครอง น้ำหนักต้องใกล้เคียงกันบวกลบไม่เกิน 3 กิโลกรัม ทั้งคู่สามารถจะตกลงกันเองได้ว่าจะเลือกชกกันแบบกติกามวยไทยหรือมวยสากล ใช้นวมมาตรฐาน 10 ออนซ์ หรือนวม MMA ต้องใส่ฟันยาง และในการชกจะมีการเซฟความปลอดภัยทั้งนักชกและผู้ชมโดยมีการตรวจค้นอาวุธทุกคนที่เข้าร่วมงาน มีแพทย์สนาม มีรถพยาบาล รถกู้ชีพคอยแสตนด์บาย และเนื่องจากเวทีเป็นพื้นยางปูกับพื้นดินไม่มีเชือกสังเวียน นอกจากจะมีกรรมการห้ามบนเวที 1 คนแล้ว ทั้ง 4 มุม ยังมีกรรมการ Safety Man อีกมุมละ 1 คน รวมเป็น 5 คน คอยดูแลความปลอดภัยช่วยเซฟนักมวยหากมีการเสียหลักล้มป้องกันศีรษะกระแทกพื้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นักชกทั้งหมดไม่มีค่าตัว มีใบสมัครเหมือนมวยอาชีพ ชกเสร็จมีเหรียญกล้าหาญมอบให้ทุกคน และเนื่องจากไม่ได้ชกกันเพื่อเอาผลแพ้ชนะแต่เป็นการชกกันเพื่อชนะใจตัวเอง และหากเป็นคู่วิวาทเน้นการเคลียร์ใจด้วยกติกากีฬาที่ถูกต้องไม่ใช้กำลังแบบวิถีนักเลง เมื่อชกกันจบแล้วเรื่องวิวาทต้องจบด้วย ไม่มีการแก้แค้นกันต่อ นอกจากนี้ ผู้ที่จะขึ้นชกต้องบอกด้วยว่าเคยผ่านสังเวียนชกมวยมาก่อนหรือไม่เพื่อจะได้จับคู่ชกที่สมน้ำสมเนื้อไม่ได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกันมาก

จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจชมการชกมวยนอกสังเวียน หรือมวยข้างถนนทั้ง 21 คู่ ฟรี ณ เวทีมวยชั่วคราวใต้สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าสะพานยาว เขตเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม วันที่ 27 ม.ค. เริ่มตั้งเวลา 19.00 น.เป็นต้นไป หรือหากท่านใดต้องการจะชกมวยนอกสังเวียน ยังสมัครได้ที่แฟนเพจสมาคม Fight Club Thailand ทุกวัน

‘Pluembangkontee’ ที่พักสไตล์ชนบท จ.สมุทรสงคราม สถานที่เติมพลังกาย เพิ่มพลังใจ ท่ามกลางธรรมชาติสุดสงบ

แม้จะเพิ่งเริ่มปี 2567 มาได้ไม่กี่สัปดาห์ หลังจากได้หยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันไป แต่เชื่อว่าหลาย ๆ คนยังคงโหยหาช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนกันอยู่ และอาจมีหลาย ๆ คนที่กำลังมองหาสถานที่พักผ่อน พักใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม สดชื่น เป็นการเติมพลังให้กับชีวิตในช่วงสุดสัปดาห์ ก่อนกลับมาลุยงานกันอีกครั้ง

และเมื่อพูดถึงการพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติที่สดชื่น หลายคนก็คิดว่าจะต้องเดินทางออกต่างจังหวัด ขับรถหลายชั่วโมง เสี่ยงเจอรถติด และอาจจะกลับมาไม่ทันวันทำงานปกติ เงื่อนไขเหล่านี้อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจออกไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือในช่วงวันหยุดยาวได้

วันนี้ THE STATES TIMES จึงขอนำเสนอสถานที่พักผ่อนหย่อนใจใกล้กรุงเทพฯ แถมยังห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงามนั่นก็คือ Pluembangkontee Thecountrylife จังหวัดสมุทรสงคราม นั่นเอง

Pluembangkontee Thecountrylife เป็นรีสอร์ทที่ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีต้นมะพร้าว และไร่สวนล้อมรอบ รองรับผู้เข้าพักได้จำนวนมาก หากจะมาเที่ยวเป็นกลุ่มเป็นแก๊ง ‘Pluembangkontee Thecountrylife’ ก็ตอบโจทย์สุดๆ 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การปั่นจักรยานชมสวน ดื่มด่ำบรรยากาศรอบๆ รีสอร์ท แถมยังได้เห็นวิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย ที่หาดูได้ยากในกรุงเทพฯ อีกด้วย หลังจากปั่นจักรยานจนหนำใจแล้ว ก็สามารถว่ายน้ำที่สระน้ำกลางรีสอร์ท เป็นการผ่อนคลายร่างกายและจิตใจได้อีกด้วย

🏠รายละเอียดที่พักของ Pluembangkontee Thecountrylife มีดังนี้
📌ห้องพัก 6 ห้อง เข้าพักได้จำนวน 12 ท่าน (หากเพิ่มจำนวนผู้เข้าพักจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม)
📌มีอาหารเช้า
📌สระว่ายน้ำ ขนาด 5x10 เมตร ลึก 1.4 เมตร
📌มีชุดคาราโอเกะ เหมาะแก่การปาร์ตี้ สังสรรค์ กินเลี้ยง
📌ห้องอเนกประสงค์ เหมาะแก่การสันทนาการ ทำกิจกรรมสนุกๆ
📌ห้องครัว (ตู้แช่, เตาแก๊ส, ไมโครเวฟ, อุปกรณ์ทำครัว) สามารถปรุงอาหารเองได้
📌ที่จอดรถ 6-8 คัน
📌free Wifi

นอกจากจะเป็นสถานที่พักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์แล้ว Pluembangkontee Thecountrylife ยังสามารถเป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน จัดมิตติ้งเล็ก ๆ เฉพาะกลุ่ม จัดเลี้ยงสังสรรค์ได้อีกด้วย หรือหากใครกำลังมองหาสถานที่พักผ่อนในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ก็เก็บ Pluembangkontee ไว้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกได้เลย

สำหรับใครที่สนใจมาพักผ่อน พักใจที่ Pluembangkontee Thecountrylife สมุทรสงคราม สามารถสอบถามรายละเอียดและจองที่พักได้ที่เบอร์ 064-930-1169 หรือแฟนเพจ https://www.facebook.com/profile.php?id=61552671213314 

มองหาที่พักสุดสงบ ท่ามกลางธรรมชาติ ใกล้กรุงเทพฯ ต้อง Pluembangkontee Thecountrylife สมุทรสงคราม

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือ แรงงาน จ.สมุทรสงคราม และกลุ่มไทยสมายล์ ลงพื้นที่ เติมกำลังใจ มอบรถเข็นวีลแชร์และอุปกรณ์ให้ผู้พิการและผู้ยากไร้

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วย แรงงาน จ.สมุทรสงคราม และทีมงานมวลชนสัมพันธ์ (CSR) กลุ่มไทยสมายล์ ลงพื้นที่มอบรถเข็นวีลแชร์ 
และอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ จำนวน 3 ราย ในพื้นที่ ต.บางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า ในวันนี้ดิฉันในนามประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.สมุทรสงคราม และทีมงานมวลชนสัมพันธ์ (CSR) กลุ่มไทยสมายล์ นำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการและผู้ยากไร้ ประกอบไปด้วย รถเข็นวีลแชร์ และไม้เท้าพยุงสามขาช่วยเดิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มไทยสมายล์ (รถและเรือโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า) มามอบให้กับ ผู้สูงอายุและผู้พิการ ณ ต.บางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม จำนวน 3 ราย ได้แก่ แม่ชีทองคำ ชมแช่ม (อายุ 70 ปี) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 1 นางอารมณ์ ธุระพันธ์ (อายุ 82 ปี) บ้านเลขที่ 6 และนายมานิตย์ เสมอศาสตร์ (อายุ 86 ปี) บ้านเลขที่ 11 ซึ่งทั้งสามราย เป็นกลุ่มเปราะบาง มีฐานะยากจน 

และประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม การที่มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ได้นำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ยากไร้ มามอบในครั้งนี้ เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน มอบกำลังใจ ให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิในด้านการสร้างสาธารณประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ซึ่งมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ต้องการอุปกรณ์ช่วยเหลือดังกล่าวมากกว่าบุคคลทั่วไป ทำให้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือช่วยกันจัดหาอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นลำดับแรก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top