Friday, 18 April 2025
สมาชิกวุฒิสภา

‘กกต.’ เคาะกฎระเบียบแนะนำตัวผู้สมัคร ‘สว.’ กำชับ!! ห้ามออกสื่อ-ยอมให้นักการเมืองหนุน

(26 เม.ย.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงนามในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2567 แล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับ

โดยสาระสำคัญ กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกสามารถแนะนำตัวได้นับแต่วันที่ระเบียบฉบับนี้มีผลใช้บังคับ โดยผู้สมัครสามารถมีผู้ช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัวได้

และได้กำหนดวิธีการแนะนำตัวว่า กรณีใช้เอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร เอกสารต้องมีขนาดไม่เกินเอ 4 หรือขนาด 210 มิลลิเมตร X 297 มิลลิเมตร ระบุข้อความเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ใส่รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงานในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น ไม่เกิน 2 หน้า และการแจกเอกสารแนะนำตัวตาม จะกระทำในสถานที่เลือกไม่ได้

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครและเผยแพร่แก่ผู้สมัครอื่นในการเลือกเท่านั้น

ส่วนการมีผู้ช่วยเหลือผู้สมัครนั้น ให้ผู้สมัครแจ้งชื่อผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร หรือแจ้งการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร เป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก่อนวันดำเนินการ ยกเว้น สามี ภรรยาหรือบุตร

ระเบียบดังกล่าวยังกำหนดข้อห้ามในการแนะนำตัวที่สำคัญไว้ อาทิ

1.ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว

2.นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา มีผลใช้บังคับการแนะนำตัวไปจนถึงวันที่ กกต.ประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัวอันเป็นการกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

3.ห้ามผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ ในการแนะนำตัว

4.ห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวางโปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ

5.แนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่

6.ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

7.ห้ามจงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบนี้

8.ห้ามผู้สมัครยินยอมให้ผู้สมัครอื่น กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใด ในพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใด ๆ 

เจ้าพ่อเพลงละคร ‘ปิงปอง ศิรศักดิ์’ อด สมัคร ‘สว.’ เผย!! ถูกตัดสิทธิ์ เพราะไม่ได้ไปเลือกตั้งซ่อมฯ

(18 พ.ค. 67) จากกรณี อดีตนักร้องดัง ปิงปอง ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ ที่เพิ่งเปิดตัวว่ามีความประสงค์ จะลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. เมื่อไม่นานมานี้ ล่าสุดวันนี้ ปิงปอง ศิรศักดิ์ ได้โพสต์แจ้งข่าวร้ายทางเฟซบุ๊ก ‘Sirasak Ittipholpanich’ ว่าตนเองนั้น ไม่สามารถลงสมัคร สว.ได้แล้ว โดยระบุข้อความว่า ...

ผมไม่ได้ลงสมัคร สว. แล้วครับ ต้องขอโทษทุกคนเป็นอย่างยิ่ง สาเหตุที่ไม่สามารถลงสมัครได้ เป็นเพราะว่าผมไม่ได้ไปเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาเทศบาลนนทบุรี เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ครับ (ก่อนวันเลือกตั้งใหญ่ในปีที่แล้วหนึ่งสัปดาห์) ซึ่งผมเพิ่งมารู้นี่แหละครับว่ามันมีการเลือกตั้งในวันนั้น

คงต้องโทษตัวเองครับที่เพิ่งมารู้เรื่องเอาตอนนี้ แม้สัปดาห์ที่แล้วจะมีการเลือกตั้งซ่อมอีกครั้ง (ครั้งนี้ผมได้ไปใช้สิทธิ์) ก็ยังไม่สามารถคืนสิทธิ์การสมัคร สว. กลับมาได้ (ในช่วงที่ผ่านมาได้ตรวจเช็กข้อกฎหมายทุกทางแล้วครับ)

ขอโทษทุกคนที่ฝากความหวังไว้กับผม ขอบคุณหลายคนที่เสียเวลาวิ่งหาข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผมและขอโทษที่ทำให้เสียเวลาเปล่า ฝากพี่ๆ เพื่อนๆ ผู้สมัคร สว. ที่เหลือด้วยครับ และหลายคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด ลองเช็กดูด้วยนะครับว่า เคยมีการแจ้งอะไรไปที่บ้านหรือเปล่า อาจจะมีหลายคนที่ไม่รู้เรื่องนี้เพราะมันไม่ใช่การเลือกตั้งใหญ่

‘บิ๊กโจ๊ก’ ขอเดินหน้าทำเพื่อประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน ยัน!! ไม่สมัคร ‘สว.’ เพราะตนเองยังถือว่าเป็น ‘ข้าราชการตำรวจ’ อยู่

(18 พ.ค. 67) ที่จังหวัดสงขลา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เปิดเผยถึง กรณีเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา ว่าส่วนตัวแล้วยืนยันได้เลยว่า ตนไม่ขอลงสมัคร สว. แต่จะเดินหน้าทำเพื่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ประกาศชัดมีโอกาส จะดูแลประชาชนในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านกฎหมาย สำหรับการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อกล่าวหาถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. ที่ต้องสงสัย ทุจริตต่อหน้าที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ภายใต้หัวข้อ ปฏิบัติการกวาดบ้าน ให้ ป.ป.ช. พื้นที่แรกที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา โดยมีประชาชนเดินทางมาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยต่างนำบัตรประชาชน มาแสดงเจตจำนง เพื่อขอร่วมลงชื่อตามสิทธิ์รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 236 เพื่อขอกล่าวหาตรวจสอบกรรมการ ป.ป.ช.

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่าตั้งแต่หลังยื่นหนังสือจนถึงวันนี้ผ่านไปไม่ถึง 48 ชั่วโมงมีประชาชนมาร่วมลงชื่อแล้วกว่า 6,000 ราย ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการล่าลายรายชื่อเพื่อกล่าวหาตรวจสอบ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้าราชการของรัฐ และจากนี้ไปจะไปต่อในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดพัทลุง และ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนที่จะไปต่อในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดชลบุรี ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นในช่วงสัปดาห์ต่อไป พื้นที่จังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี และปิดท้ายในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ 

ยืนยันว่าปฏิบัติการครั้งนี้ จะใช้เวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์ ก็จะได้รายชื่อกว่า 20,000 รายชื่อตามเงื่อนไข โดยจะรวบรวมรายชื่อทั้งหมด เพื่อยื่นให้กับประธานรัฐสภา ตามหลักเกณฑ์และหากไต่สวนแล้ว มีเหตุให้เชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามที่มีการกล่าวหาประธานรัฐสภาก็จะส่งเรื่องไปให้ประธานศาลฎีกา เพื่อพิจารณาถอดถอน

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวยืนยันว่า ยังไม่มีแนวคิดที่จะลงสมัคร สว. เนื่องจากคุณสมบัติยังไม่ครบ เพราะจนถึงวันนี้ยังคงทำหน้าที่เป็นตำรวจ ถือเป็นข้าราชการของรัฐ ดังนั้นการออกมารณรงค์ครั้งนี้ก็เป็นเพราะ ประชาชนเรียกร้องให้ออกมาในฐานะนายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผมถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน 

ที่สำคัญไปกว่านั้นจะเห็นได้ว่าทันทีที่เปิดโครงการปฏิบัติการกวาดบ้านให้  ป.ป.ช. แทบไม่มีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. หรือฝ่ายบริหารของ ป.ป.ช. ออกมาร้องคัดค้านหรือเรียกร้องให้เรายุติ แต่กลับส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง กับการทำหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่า ทุจริตต่อหน้าที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ของกรรมการ ป.ป.ช.คนดังกล่าวมาเพิ่มเติมให้อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนไม่ว่าท่านจะอยู่ภูมิภาคใดของประเทศ  ท่านก็มีสิทธิ์ที่จะใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ในการช่วยกันปกป้อง ไม่ให้เกิดการกระทำผิด ทุจริตคอรัปชัน ในทุกองค์กรของรัฐ 

‘หมอเหรียญทอง’ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก จะลงสมัคร ‘สว.’ ชี้!! มีคนจำนวนมาก อยากให้เป็น เพื่อเข้าไป ‘ปกป้องรัฐธรรมนูญ’

(18 พ.ค. 67) พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ...

นี่คือคำประกาศของ 'ตาแป๊ะหลักสี่' ทหารหมอผู้ไม่มีวันตายไปจากความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ความสั้น ๆ ว่า ‘ผมจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว.ในปี พ.ศ.2567’

ผมขอเรียนว่าผมไม่เคยมีความคิดที่จะลงสมัครเป็น สว. เพราะการเลือกตั้ง สว. นั้นเป็นระบบที่ผู้สมัคร สว. เลือกกันเอง ดังนั้นจะมีการจัดตั้งผู้สมัคร สว. เพื่อเลือกพวกเดียวกัน หากผมสมัครเป็น สว. ผมก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้สมัคร สว. ที่มีการจัดตั้งกันมาล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว ผมก็จะสอบตกตั้งแต่การเลือก สว. ในระดับอำเภอ

แต่มีประชาชนจำนวนมากอยากให้ผมเป็น สว. เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ปกป้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 112 , การออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และการร่าง พ.ร.บ. ฯลฯ ทั้งทำหน้าที่ลงมติรับรองผู้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) , ผู้ตรวจการแผ่นดิน , คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) , ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน , คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)

ตลอดจนการมีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ ของรัฐ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น อัยการสูงสุด , ตุลาการศาลปกครองสูงสุด , เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา , เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ปปง.)

ในการเลือกตั้ง สว.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้า ขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 112 หรือขบวนการสามานย์จึงมีการจัดตั้งผู้สมัคร สว. เพื่อเลือกกันเองให้เข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง สว. มีหลายคนกลัวว่าผมจะสมัครเป็น สว. ถึงกับต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ผมต้องถูกคุมขังโดยหมายของศาลจากกรณีตบไอ้กุ๊ยส้นตีนที่สูบบุหรี่ใน รพ.มงกุฎวัฒนะ

ผมขอเรียนว่าจากอดีตที่ผมไม่เคยคิดที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว. หรือตำแหน่งในทางการเมืองหรือตำแหน่งใด ๆ แต่สัปดาห์หน้าผมจะไปลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ แล้วมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว. ถึงแม้จะต้องสอบตก ผมก็ไม่กลัว แต่ถ้าผมได้เป็น สว. ขึ้นมาจริง ๆ สาธารณชนจะได้เห็นสมาชิกวุฒิสภาที่มีความรู้ ความสามารถ ชัดเจน กล้าหาญ เด็ดขาด ยุติธรรม ซื่อสัตย์ และจงรักภักดีในระดับมากที่สุดคนหนึ่งของชาติ

ผมจะใช้ความรู้ความสามารถในการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อให้คนในชาติได้รับประโยชน์สูงสุดในทุกๆสถานการณ์ ผมจะใช้ความรู้ความสามารถในการปกป้องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะมาตรา 112 และจะพัฒนากฎหมายในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นความมั่นคงของชาติ

คนอย่างผมไม่เคยกลัวอะไรอยู่แล้ว การสอบตกเป็นเรื่องปกติของผมมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน แล้วคนอย่างผมจะไปกลัวอะไรกับการสอบตกในการสมัคร สว. กันล่ะครับ

ผมจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว.ในสัปดาห์หน้า

พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา
ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ
18 พ.ค.67 เวลา 11.49 น.

‘ศาลปกครอง’ สั่งเพิกถอน ‘ระเบียบกกต.’ ให้ผู้สมัคร สว.ติดประกาศแนะนำตัวออกสื่อได้

(24 พ.ค. 67) ที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย. 67 - 15 พ.ค. 67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ ในคดีที่ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ยื่นฟ้อง กกต. และคดีที่ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และพวก รวม 6 ราย ยื่นฟ้อง กกต.และประธาน กกต.ร้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 เนื่องจากเห็นว่าระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

โดยศาล ให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ สว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยมีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การทำหน้าที่ของ สว. ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แม้ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.2561 กำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก สว. แต่รัฐธรรมนูญได้มีการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเห็น การคิด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่น ๆ การที่ระเบียบ กกต. การที่ กกต.ออกระเบียบดังกล่าวด้วยการจำกัดข้อมูลประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สมัคร สว. สามารถแนะนำตัวเฉพาะกับผู้สมัคร สว. ด้วยกันเท่านั้น และการห้ามผู้สมัครในสายอาชีพสื่อมวลชน และศิลปินนักแสดง ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเอง เพื่อประโยชน์ในการแนะนำนั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร สว. เกินกว่าเหตุ และถือว่าไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบพิพาทนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ส่วนระเบียบข้อ 11 (5) ที่กำหนดห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนนั้น ศาลเห็นว่าระเบียบข้อนี้เป็นการห้ามเฉพาะผู้สมัคร สว. ไม่ได้เป็นการห้ามสื่อมวลชน จึงไม่อาจมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารแต่อย่างใด จึงพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย. 67 - 15 พ.ค. 67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ 

‘กกต.’ เผยตัวเลขยอดผู้สมัคร ‘สว.’ ทั่วประเทศ 4 หมื่นกว่าคน วันสุดท้ายมีผู้สนใจสมัครมากที่สุด ‘ศรีสะเกษ’ ครองแชมป์สูงสุด

(25 พ.ค. 67) ยอดผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา 2567 หรือ สว. ตั้งแต่วันที่ 20-24 พ.ค.2567 รวม 5 วัน มีผู้สมัครรวม 48,117 คน โดยแบ่งเป็นวันแรกมีผู้สมัคร 4,642 คน วันที่สองมีผู้สมัคร 6,607 คน วันที่สามมีผู้สมัคร 9,434 คน วันที่สี่มีผู้สมัคร 13,486 คน และวันที่ห้ามีผู้สมัคร 13,948 คน   

จังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุด คือจังหวัดศรีสะเกษ 2,764 คน อันดับที่สอง คือกรุงเทพมหานคร 2,489 คน อันดับที่สามเชียงใหม่ 2,000 คน อันดับที่สี่บุรีรัมย์ 1,836  คน และอันดับที่ห้านครศรีธรรมราช 1,798 คน  

ส่วนจังหวัดที่มีผู้สมัครน้อยที่สุด คือ จังหวัดน่าน 98 คน อันดับสอง ตาก 102 คน อันดับสาม สมุทรสงคราม 128 คน อันดับสี่ พังงา 134 คน และอันดับห้า อุตรดิตถ์และนครพนม จังหวัดละ 150 คน

‘สว.วันชัย’ จี้ ‘รัฐบาล’ ควรเร่งออก กฎหมายนิรโทษกรรม ชี้!! ควรอภัยให้ ‘ทุกสี-ทุกฝ่าย’ ให้ถือว่าเป็น เพื่อนร่วมชาติ

(8 มิ.ย.67) นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง นิรโทษกรรม….ควรทำโดยเร็ว โดยระบุว่า 

การให้อภัยต่อกันเป็นการดีที่สุด จบได้ควรจบ เลิกได้ควรเลิก บ้านเมืองจะได้เดินต่อไปได้ ด้วยความปรองดองสมานฉันท์ เกือบ 20 ปี เราทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน แล้วได้อะไร มีแต่ความย่อยยับเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นแสนล้าน คนบาดเจ็บล้มตายพิกลพิการเป็นจำนวนมาก เข่นฆ่าทุบตีทำร้ายกันทั้งเผาทำลายอาคารสถานที่ มีการชุมนุมประท้วงเดินขบวนปฏิวัติรัฐประหารผ่านกันมาหมดแล้ว เสียหายก็เสียไปแล้ว คนเจ็บก็เจ็บไปแล้ว คนตายก็ตายไปแล้ว คนติดคุกก็ติดไปแล้ว ปฏิวัติก็ปฏิวัติไปแล้ว ทั้งหมดมาจากการเมืองทั้งสิ้น แล้วเราจะปล่อยให้ความขัดแย้งนี้มีอยู่ทำไม ดีที่สุดก็คือ เลิกแล้วต่อกัน เริ่มต้นกันใหม่ไม่ดีกว่าหรือ

1. รัฐบาลเศรษฐาควรรีบออกกฎหมายนิรโทษกรรม กรณีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองโดยเร็ว ไม่ต้องไปรออะไร สถานการณ์นี้เหมาะสมที่สุดแล้ว

2. การนิรโทษกรรมคือการให้อภัยกันทุกฝ่าย ทุกสี ทุกกลุ่ม ทุกเหตุการณ์ และควรเปิดกว้างอย่าไปมองว่าใครได้ใครเสีย ใครเป็นกลุ่มของใคร ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ใหญ่เยาวชนหนุ่มสาว ให้ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติ

3. ควรมีคณะกรรมการซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทำหน้าที่พิจารณาว่ากรณีใด ควรได้รับการนิรโทษหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะ ม.112 กรรมการชุดนี้และผู้มีอำนาจก็ควรจะรู้ได้ว่า ควรจะทำด้วยประการใดอย่างไรหรือไม่ จึงจะมีความเหมาะสมและสมควร

4. ควรมีการออกกฎหมายล้างมลทินประกอบไปด้วยก็จะดี

ผมเห็นตั้งท่ากันมานานแล้วแต่ก็ไปไม่ถึงไหน รัฐบาลเศรษฐารีบทำเสียเถอะ จะเป็นมหากุศลกับทุกฝ่าย และที่สำคัญจะเป็นมหากุศลที่ยิ่งใหญ่กับประเทศไทย….แล้วมาทำบุญที่วัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน กันนะครับ

เปิดบันทึก ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ต้นคิดที่มา ‘สว.’ มุ่งหวังให้ ‘ภาค ปชช.’ มีส่วนร่วมทางการเมือง

การเลือกตั้ง สว. ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่วันข้างหน้า พร้อมด้วยกติกาใหม่ที่หลายคนงง และออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างรุนแรง แต่จะรู้หรือไม่ว่ากติกาที่ว่ามาจากไหน และใครเป็นผู้เสนอ ถ้าไม่ใช่ มีชัย ฤชุพันธ์ุ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนบทความชื่อว่า ‘บันทึกไว้กันลืม’ ในหนังสือ ‘ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560’ โดยกล่าวถึงที่มาที่ไปของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยมีการกล่าวถึงเรื่อง ‘ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา’ และเชื่อว่าเป็นแนวคิด ‘ฮ้อแร่ด’ หมายถึง ที่สมบูรณ์และยอดเยี่ยม อีกทั้งยังยอมรับว่าคนวิพากษ์วิจารณ์เพราะสร้างความเข้าใจไม่มากพอ

รายละเอียดถึงที่มาที่ไปของสมาชิกวุฒิสภา มีดังนี้

เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องหนึ่งนั้น เราไม่ได้คิดอย่างหลักลอย หากแต่มีที่มาจากกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 35 ที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง เราก็เคยคิดว่าทำไมเราไม่แปลงวุฒิสภาให้เป็นองค์กรที่สร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างนัยสำคัญ

แต่เดิมมานั้น การมีวุฒิสภา มักจะเกิดจากแนวคิดว่าสภาผู้แทนยังไม่พร้อม ควรมีสภาพี่เลี้ยงเพื่อประคับประคองกันไป ต่อมาก็ว่าเป็นสภากลั่นกรองเพื่อให้เกิดความสมดุล ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในตอนต้นจึงมาจากการแต่งตั้ง เพื่อให้ได้คนที่มีคุณวุฒิสูง มีประสบการณ์มาก ๆ ต่อมาก็ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากแต่ละจังหวัด โดยให้ตัดจากพรรคการเมือง จะได้เป็นอิสระในการกลั่นกรองกฎหมายโดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง แต่มาถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่าคนมีความรู้ มีปริญญาสูง ๆ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น คนที่มิได้มีปริญญาสูง ๆ ก็มีประบการณ์ที่สะสมมามากเพียงพอที่จะไม่ต้องการพี่เลี้ยงอีก

ในขณะเดียวกันในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยให้ปลอดจากการเมือง ก็เห็นได้ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะลำพังผู้สมัครเพื่อรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาถ้าไม่ไปศิโรราบกับพรรคการเมือง หรือนักการเมืองในพื้นที่ ย่อมยากที่จะได้รับเลือกตั้ง ความมุ่งหมายที่จะให้สมาชิกวุฒิสภาไม่อยู่ภายใต้พรรคการเมืองจึงเป็นไปได้ยาก

เราจึงคิดว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนวุฒิสภาให้เป็นสภาที่จะรับรู้ความตองการหรือความเดือดร้อน หรือส่วนได้เสียของคนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองอย่างแท้จริงและความต้องการของเขาได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง

นั่นจึงเป็นที่มาของวุฒิสภาที่จะมาจากประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกอาชีพ ทุกลักษณะ

อันที่จริง วุฒิสภาที่เราคิดสร้างขึ้นนั้น ก็คล้ายกับสภาสูงของอังกฤษ เพียงแต่สภาสูงของอังกฤษ เป็นการรักษาประโยชน์ของชนชั้นสูง ส่วนวุฒิสภาที่เราสร้างขึ้น เป็นการรักษาประโยชน์ของคนทุกระดับชั้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้า และแนวคิดอย่าง 360 องศา ไม่น่าเชื่อว่าพอเสนอแนวคิดนี้ขึ้น กรธ.ทั้งคณะร้องฮ้อแร่ด ขึ้นพร้อมกัน ทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าการจะทำให้คนอื่นเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการมีวุฒิสภาที่เปลี่ยนแปลงไป กับขบวนการในการจัดการเลือกที่จะไม่ให้เกิดการฮั้วกันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

ในเรื่องแรก เราออกจะประมาทอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ได้ชี้แจงซ้ำแล้วซ้ำอีกให้เห็นถึงแนวคิดของการมีวุฒิสภาที่เปลี่ยนแปลงไปว่าเราไม่ได้มุ่งหมายให้มีผู้ทรงคุณวุฒิมาคอยกลั่นแกล้งงานของสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นพี่เลี้ยงของสภาผู้แทนราษฎรอีกแล้ว เพราะสภาผู้แทนราษฎรมีขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของตนได้โดยสมบูรณ์แล้ว (เว้นแต่เป็นกรณีที่จงใจจะใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง) สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือ สภาผู้แทนราษฎรยังปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายที่มาจากพรรคการเมือง ที่อ้าง ๆ กันว่าเรามาจากประชาชน เราเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยนั้น เอาเข้าจริงบางทีก็มองข้ามความทุกข์ยากของประชาชน ทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาว เพราะหลายกรณีมุ่งแต่จะให้พรรคเป็นที่นิยม โดยไม่ได้นึกถึงอันตรายในระยะยาว หรือ ความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมหรือประเทศชาติได้ ดังที่เห็น ๆ กันอยู่แต่นั่นก็เป็นระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตย เราจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แนวคิดในเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา จึงมุ่งที่จะทำให้ จึงมุ่งที่การทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง ในขณะเดียวกันให้ทุกภาคส่วนสามารถบอกเล่าความคับแค้น อุปสรรค และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขในส่วนของเขาได้อย่างมีนัยสำคัญผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจึงมิใช่ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีประสบการณ์ล้นฟ้าอีกต่อไป หากแต่เป็นผู้ที่มาจากคนทุกหมู่เหล่าที่ประกอบอาชีพหรือมีคุณลักษณะเฉพาะ เพื่อจะได้สะท้อนถึงความต้องการของเขาอย่างแท้จริง

เราออกจะหย่อนในการทำความเข้าใจในเรื่องนี้ไปหน่อยเพราะเมื่อในเวลาที่เราทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แม้แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังไม่เข้าใจ ยังกังวลว่าด้วยวิธีการเลือกอย่างที่กำหนดไว้ จะทำให้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างไร

เราแบ่งกลุ่มออกเป็น 20 กลุ่ม เพื่อให้สามารถกระจายกันไปแต่ละกลุ่มจะมีหลักประกันว่าจะมีตัวแทนของคนอยู่ในวุฒิสภา มีคนตั้งข้อสงสัยว่าการกำหนดไว้ 20 กลุ่ม ไม่มีเหตุผลอะไร ทำไม่จึงไม่เป็น 25 กลุ่ม 30 กลุ่ม หรือ 40 กลุ่ม แล้วเลยเสนอให้ลดลงเหลือ 10 กลุ่ม ซึ่งว่าที่จริง การลดลงเหลือ 10 กลุ่มก็ย่อมต้องเผชิญกับปัญหาอย่างเดียวกันว่าทำไมถึง 10 กลุ่ม

การที่ กรธ. กำหนดไว้ 20 กลุ่ม ไม่ได้เกิดจากการเสี่ยงทาย หรือหยิบขึ้นมาเฉย ๆ หากแต่เกิดจากการพยายามคิดอาชีพและคุณลักษณะทั้งหมดของประชาชนทุกหมู่เหล่า (โดยใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหลัก) และจับอาชีพหรือคุณลักษณะที่ใกล้เคียงมากที่สุดเข้าไว้ในกลุ่มเดียวกัน เมื่อรวมแล้วได้ 19 กลุ่ม บวกกับกลุ่มเผื่อเหลือเผื่อขาด เพื่อให้ทุกคนมีที่ลงได้ จึงเพิ่มอีก 1 กลุ่ม คือ ‘กลุ่มอื่น ๆ’ รวมเป็น 20 กลุ่ม

ถามว่าทำไมไม่เป็น 30 หรือ 40 กลุ่ม คำตอบก็คือเราต้องคำนึงถึงจำนวนที่แต่ละอาชีพหรือแต่ละคุณลักษณะจะพึงมี เพื่อให้ได้สัดส่วนของผู้แทนของแต่ละอาชีพ หรือ คุณลักษณะจะไม่ทัดเทียมกัน ที่สำคัญในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญก็ดี เราได้ออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาทุกภาค ผลการรับฟังความคิดเห็น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการกำหนดเป็น 20 กลุ่มเป็นจำนวนที่เหมาะสมที่สุด

เรากำหนดกลุ่มสตรีแยกไว้ต่างหาก ก็เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และมาตรา 90 วรรคสาม จริงอยู่สตรีอาจสมัครเข้าในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามอาชีพ หรือคุณลักษณะอย่างอื่นของตนได้ แต่ในการเลือกย่อมยากที่จะกำหนดให้ผู้เลือกต้องเลือกสตรีเพราะจะเป็นการจำกัดสิทธิของคนอื่น การที่จะเกิดความแน่นอนว่ากลุ่มสตรีแยกไว้ต่างหาก แต่ สนช. ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ในเรื่องนี้ จึงจับสตรีไปอยู่ในกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มด้อยโอกาส ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าสตรีจะได้รับเลือกมา การกำหนดจำนวนกลุ่มน้อยเท่าไร โอกาสที่คนหลายอาชีพ หลายคุณลักษณะจะไม่มีตัวแทนในวุฒิสภาย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น

ว่าที่ ส.ว. ‘นันทนา’ ข้องใจส.ว.ชุดเก่า ‘ขยันอะไรตอนนี้-ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ทำอะไร’  ชี้!! โดยมารยาท ควรหยุดทำงานได้แล้ว จี้ กกต.เร่งประกาศรับรองโดยเร็ว

(7 ก.ค.67) ที่อาคารบางซื่อจังชั่น รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่มีการประกาศรับรองส.ว.ชุดใหม่ ว่า กระบวนการเลือกและเสร็จสิ้นลงแล้ว พบว่ามีผู้ร้องคัดค้านค่อนข้างมากกับ แต่ว่าในการเลือกตั้งทุกครั้งจะพบว่าจะต้องมีผู้ร้องคัดค้าน แต่การร้องคัดค้านไม่ได้แปลว่าจะเป็นการล้มกระดานหรือโมฆะ เพราะฉะนั้นกกต.ก็ควรจะพิจารณาว่า การเลือกสิ้นสุดลงแล้ว มีผู้ผ่านการเลือกเข้ามาแล้วควรที่จะรับรองผู้ที่เข้ามาก่อน แล้วคนใดกรณีใดที่มีข้อสงสัยว่า มีการทุจริตในการเข้ามาแบบไม่ตรงกลุ่มอาชีพด้วยวิธีการใดๆ ตรงนี้กกต.สามารถที่จะแขวนเอาไว้ก่อน แต่ว่ากลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เข้ามาแบบปกติสุจริต ควรรับรองไปก่อน เพราะกระบวนการได้สิ้นสุดลงแล้ว และส.ว.ที่รักษาการอยู่ก็รักษาการมาพอสมควรแล้ว เราควรที่จะเปิดโอกาสให้คณะใหม่เข้ามา เรียกร้องไปยัง กกต.ควรที่จะรับรองไปก่อนแล้วก็สอยทีหลัง

“ไม่แน่ใจว่าส.ว.ชุดรักษาการจะเกิดมาขยันอะไรตอนนี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้พบว่าทำอะไรสักเท่าไหร่ ตอนนี้น่าจะเปิดให้เป็นเวลาของส.ว.คณะใหม่เข้ามาได้แล้ว และโดยมารยาทการเลือกได้สิ้นสุดลงแล้ว หมดวาระหน้าที่ของส.ว.ชุดปัจจุบันแล้ว ควรจะหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว เป็นหน้าที่ของชุดใหม่ ” รศ.ดร.นันทนา กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีส.ว.ชุดรักษาการจะมีการนัดประชุมโดยพุ่งเป้าไปที่ส.ว.ชุดใหม่โดยตรงในเรื่องกระบวนการเลือก ส.ว. รศ.ดร.นันทนา กล่าวว่า กระบวนการเลือก ส.ว.ไม่ใช่เรื่องของส.ว.ชุดเก่า ถ้าบุคคลใดมีข้อสงสัยต้องการร้องคัดค้าน ก็ไปร้องคัดค้านที่กกต. ไปตรวจสอบกันตรงนั้น ไม่ใช่บทบาทของส.ว.เก่าที่จะมาตรวจสอบ ตนคิดว่าผิดช่องทาง ผิดภาระหน้าที่ ส.ว.ชุดเก่าควรหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว

‘สว.อังกูร’ เดินหน้าแก้ปัญหาช้างป่ากับคน เชิญ TSPCA หาแนวทางเพื่อลดความขัดแย้งอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ (9 ก.ย. 67) ที่ห้องประชุม CA328 รัฐสภา ฝั่งสมาชิกวุฒิสภา พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ประชุมร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ กรณีช้างป่า

พล.ต.ต.อังกูร กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2567 ได้รับแจ้งเกิดเหตุช้างป่าจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ลงมายังพื้นที่ชุมชน หมู่ 3 ตำบลสาริกา อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก ก่อนจะวิ่งเข้าทำร้ายนายนิคม ซ้อนพิมพ์ อายุ 58 ปี ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

จากการสอบถามชาวบ้านทราบว่าก่อนเกิดเหตุผู้บาดเจ็บ เห็นช้างป่าเดินมา จึงใช้ไฟส่อง ช้างจึงวิ่งพุ่งมาหาและทำร้าย ต่อมาเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชุดเฝ้าระวังช้าง ตำบลสาริกา จึงออกติดตาม พบช้างอยู่ภายใต้วัดตำหนัก พื้นที่ตำบลสาริกา ซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุ 800 เมตร จึงทำการผลักดันช้างกลับขึ้นสู่พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่อยู่นอกแนวเขตชุมชน

ด้าน รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวว่า ปัญหาช้างป่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ต้องการการแก้ไขที่ยั่งยืน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่กลัวช้างป่าจนเกินไป ควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างสันติ การเลี้ยงช้างเพื่อการท่องเที่ยวเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการฆ่าทิ้งหรือควบคุมประชากรด้วยวิธีรุนแรง ช่วยสร้างรายได้ให้กับควาญช้างและชุมชนควรมีการจัดการอย่างถูกต้องและมีระบบ  การหาแนวทางเยียวยาผู้เสียหายจากปัญหาช้างป่า เป็นเรื่องที่สำคัญ ปัญหาช้างป่าเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ประชากรช้างป่าเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าลดลง ทำให้ช้างออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรม เกิดปัญหาความขัดแย้ง ช้างทำลายพืชผล ชาวบ้านได้รับผลกระทบ มีการเปรียบเทียบกับประเทศอินเดีย ศรีลังกา ที่มีจำนวนช้างตายจากคนเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยยังมีระดับความขัดแย้งที่ต่ำกว่า แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ประเด็นหลัก การลดความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและมนุษย์ ควรนำเทคโนโลยีที่ช่วยติดตามช้างป่าและแจ้งเตือนชาวบ้าน การศึกษาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับช้างป่าและประชากร การจัดการพื้นที่ป่าเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่าและมนุษย์  ที่สำคัญพบว่า ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ถูกช้างป่าไล่บ่อยขึ้น จำเป็นต้องให้ความรู้แก่ชาวบ้านเกี่ยวกับพฤติกรรมช้างป่า ใช้เทคโนโลยี AI สามารถช่วยจำแนกช้างแต่ละตัวและติดตามความเคลื่อนไหว จำเป็นต้องมีระบบแจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์ การเชื่อมต่อพื้นที่ป่าช่วยลดการเผชิญหน้าระหว่างช้างป่าและมนุษย์ ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประชากรช้างป่าและผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร โดยต้องหาและจัดสมดุลระหว่างการปกป้องช้างป่าและการสร้างพื้นที่ด้านความปลอดภัยของมนุษย์ด้วย

ทางด้าน ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวว่า  จากการสรุปสถานการณ์ช้างป่า ข้อมูลจาก ศ.(ปฏิบัติ) น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าจำนวนประชากรช้างป่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากรายงานของ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ประมาณการว่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 93 แห่งทั่วประเทศ ในปีพ.ศ. 2566 มีช้างป่าจำนวน 4,013-4,422 ตัว ในปี พ.ศ. 2566 พบคนเสียชีวิตจากช้างป่า จำนวน 21 ราย และได้รับบาดเจ็บจากช้างป่าจำนวน 29 ราย และช้างป่าล้ม (ตาย) จากความขัดแย้งนี้จำนวน 24 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปัญหาช้างออกนอกพื้นที่นี้พบได้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 70 แห่ง จาก 93 แห่ง (75%) ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มป่าตะวันออก สำหรับสถานการณ์ช้างเลี้ยง ในประเทศไทย มีจำนวนประมาณ 3,800-4,000 เชือก

สำหรับสถานการณ์ด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับช้างไทย เช่น

1.ควรแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับช้างเลี้ยง หรือระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายในเรื่องการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เช่น การออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ (เพิ่มเติม) ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ให้ครอบคลุมถึงช้างป่า และเสนอแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม ตามมาตราดังกล่าว ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการดูแลเฉพาะสัตว์ป่า
2. เร่งรัดผลักดัน  (ร่าง) พระราชบัญญัติช้าง พ.ศ. .... ให้ครอบคลุมถึงช้างป่า ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพ รวมทั้งการป้องกันมิให้มีการนำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้านโดยมิชอบ การลักลอบค้าช้างป่า การค้างาช้าง การค้าซากและผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำมาจากช้างป่า การมีกองทุนในการช่วยเหลือและพัฒนาช้างป่าและการตั้งคณะกรรมการช้างแห่งช้าง ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาช้างโดยเฉพาะ เป็นต้น
3. ควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ หรือกำหนดแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะในมาตรา 12 และ มาตรา 13 สำหรับในส่วนของการกระทำ ด้วยความจำเป็นและเหตุสุดวิสัยจากการบุกรุกของช้างป่าภายใต้เงื่อนไข เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากอันตราย หรือเพื่อสงวนหรือรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่นนั้น ควรดำเนินการตามแนวทางสันติวิธี มีมาตรการแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องตามสภาพบริบทแต่ละพื้นที่และเหตุการณ์ต่างๆ  โดยควรใช้มาตรการแนวทางที่ต่ำสุดเท่าที่จำเป็นในการกระทำเพื่อให้พ้นภัย หรือควรพิจารณาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมมีสัดส่วนของการกระทำต่อช้างป่า ไม่เกินความเสียหายที่ได้รับ โดยการกระทำต่อช้างป่านั้น ต้องเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุอย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการสงวนอนุรักษ์และการคุ้มครองสัตว์ป่านั้น เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top