Wednesday, 15 May 2024
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

10 มกราคม พ.ศ. 2489 ‘สหประชาชาติ’ จัดประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน มีสมาชิกเข้าร่วม 51 ประเทศ

10 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ‘สหประชาชาติ’ ได้จัดการประชุมสมัชชาใหญ่เป็นครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน 

ซึ่ง สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) เป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดและเป็นหนึ่งในเสาหลักของสหประชาชาติ เป็นเพียงองค์กรเดียวของสหประชาชาติที่ตัวแทนของแต่ละประเทศสมาชิกมีสิทธิและฐานะเท่าเทียมกัน สมัชชาใหญ่มีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณและการใช้จ่ายในโครงการของสหประชาชาติ แต่งตั้งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเพื่ออภิปรายและให้ความเห็น ตลอดจนจัดตั้งองค์กรลูกต่าง ๆ มากมายของสหประชาชาติ

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ที่ศาลากลางนครเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน โดยในขณะนั้นมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งสิ้น 51 ประเทศ โดยสมัชชาใหญ่จะมีวาระการประชุมตามที่ประธานที่ประชุมหรือเลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกประชุมตามขั้นตอนปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งโดยมักจะเริ่มเปิดวาระการประชุมตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งจะหารือกันในหัวข้อหลักต่าง ๆ ไปจนถึงราวเดือนธันวาคม และหารือกันในหัวข้อย่อยตั้งแต่เดือนมกราคมไปจนกระทั่งสิ้นสุดทุกประเด็นตามที่ได้แถลงไว้

นอกจากนี้ อาจมีเปิดวาระการประชุมในกรณีพิเศษหรือกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการประชุม กลไก อำนาจหน้าที่ และการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่นั้น เป็นไปตามมาตรา 5 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ โดยการลงคะแนนของสมัชชาใหญ่เพื่อออกเป็นมติสมัชชาใหญ่ในหัวข้อสำคัญ ข้อแนะนำด้านสันติภาพและความมั่นคง ข้องบประมาณ การเข้าร่วมสหประชาชาติ การระงับหรือเพิกถอนสมาชิกภาพ จะต้องได้รับคะแนนเสียงในที่ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในที่ประชุม

ส่วนหัวข้อย่อยอื่น ๆ นั้นใช้เพียงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกในที่ประชุม โดยที่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศมีเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น สมัชชาใหญ่อาจให้ข้อแนะนำเรื่องใด ๆ ก็ตามที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของสหประชาชาติ ยกเว้นอำนาจในการดำเนินการรักษาสันติภาพและความมั่นคงซึ่งเป็นอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ปัจจุบัน สมัชชาใหญ่มีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ซึ่งกว่าสองในสามเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีผู้สังเกตการณ์ 2 ประเทศ คือ นครรัฐวาติกัน กับ รัฐปาเลสไตน์

143 ชาติโหวตหนุน ‘ปาเลสไตน์’ ได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นในเวทียูเอ็น ย่างก้าวสำคัญสู่การพิจารณาให้สมาชิกภาพเต็มรูปแบบ

(11 พ.ค.67) ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเพิ่มสิทธิพิเศษให้แก่ปาเลสไตน์ ในเวทียูเอ็นเมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) ซึ่งถือเป็นย่างก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การพิจารณาให้สมาชิกภาพเต็มรูปแบบ

กีลาด เออร์ดัน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำยูเอ็น แสดงท่าทีไม่พอใจภายหลังการโหวตซึ่งมีผลในเชิงสัญลักษณ์ ขณะที่ ริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำยูเอ็น ชี้ว่านี่คือการลงมติครั้งประวัติศาสตร์

รัฐสมาชิกยูเอ็นจำนวน 143 ประเทศ รวมถึง 'ไทย' ได้ให้การรับรองมติดังกล่าว โดยมี 9 ประเทศคัดค้าน และอีก 25 ประเทศงดออกเสียง

มติดังกล่าวมีการระบุชัดเจนว่า ปาเลสไตน์จะไม่สามารถถูกเลือกเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น (UNSC) หรือลงคะแนนโหวตในที่ประชุม UNGA ได้ ทว่าจะมีสิทธิยื่นข้อเสนอและแก้ไขข้อเสนอได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านประเทศอื่น ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

มตินี้ยังให้สิทธิแก่ผู้แทนปาเลสไตน์ในการนั่งอยู่ท่ามกลางรัฐสมาชิกยูเอ็น โดยเรียงตามลำดับตัวอักษรด้วย

ริชาร์ด โกวาน นักวิเคราะห์จาก International Crisis Group ชี้ว่าความเคลื่อนไหวของยูเอ็นในครั้งนี้กำลังสร้างวงจรความล้มเหลวทางการทูต เพราะในขณะที่ UNGA เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ UNSC รับรองสมาชิกภาพเต็มรูปแบบแก่ปาเลสไตน์ แต่ถูกสหรัฐฯ ใช้สิทธิวีโต ตีตกทุกครั้งอีกเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี โกวาน ระบุว่า ผลโหวตในเชิงสัญลักษณ์นี้ มีความสำคัญ เพราะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังสหรัฐฯ และอิสราเอลว่า ประชาคมโลกเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องผลักดันการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์อย่างจริงจังเสียที

ปาเลสไตน์ได้ยื่นคำร้องซ้ำในเดือน เม.ย. เพื่อขอเข้าเป็นรัฐสมาชิกยูเอ็นเต็มรูปแบบ จากปัจจุบันที่มีฐานะเป็นเพียง ‘รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก’ (nonmember observer state)

กระบวนการดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องได้รับไฟเขียวจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น รวมถึงได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสมาชิก UNGA ถึง 2 ใน 3

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง และเป็นชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอิสราเอล ได้ใช้สิทธิ ‘วีโต’ ความพยายามของปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 18 เม.ย.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top