‘รศ.ดร.สมพงษ์’ มอง ‘แลนด์บริดจ์’ อาจเป็นได้แค่ทางผ่าน หากมองข้ามการยกระดับเป็น ‘ศูนย์กลางการค้า’ ใต้แผนนี้
จากรายการ THE TOMORROW ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อาจารย์พิเศษหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'แลนด์บริดจ์ หรือจะเป็นได้แค่ทางผ่าน?' เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.66 โดยจากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทย ที่ได้ศึกษาให้กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) ซึ่ง รศ.ดร.สมพงษ์ เป็นหนึ่งในทีมงานการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ด้วยนั้น ได้เปิดเผยว่า...
การศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่มีการศึกษามาแล้วอย่างน้อย 2-3 ครั้ง โดยโครงการนี้จะมีการสร้างท่าเรือในฝั่งชุมพร และระนอง ประกอบไปด้วยการสร้างรถไฟและทางมอเตอร์เวย์เชื่อมโยงกัน พร้อมกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC ควบคู่
ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์มีการคาดการณ์เรือที่จะมาใช้บริการ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าของไทยเรามากที่สุด คือ การถ่ายลำ (Transshipment) 78% กลุ่มสินค้าไทย 18% กลุ่มสินค้าจีน 4%
ถ้าพิจารณาจากข้อมูลตรงนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามว่ากลุ่มสายเรือที่ต้องถ่ายลำที่คาดหวังสูงถึง 78% นั้น จะมาใช้แลนด์บริดจ์จริงหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะต้องเปลี่ยนเส้นทางมาจากช่องแคบมะละกา และถ้าเรือขนาดใหญ่ไม่เทียบท่าขนถ่าย ท่าเรือที่ออกแบบไว้ก็จะไม่คุ้มค่าในการลงทุน
รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า จากงานวิจัยที่ได้ศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบเบื้องต้นและความเหมาะสมในการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทั้งสองฝั่งทะเล อ่าวไทยกับอันดามัน ซึ่งมีด้วยกันหลักๆ 3 โครงการ คือ การขุดคลองไทย, แลนด์บริดจ์ และ การเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายในฝั่งพม่า โดยงานวิจัยได้ศึกษา 3 ทางเลือกพร้อมกัน
“ทว่าจากการศึกษาทั้ง 3 โครงการผลการศึกษา สะท้อนถึงความไม่คุ้มค่า ทั้งในด้านในมิติเศรษฐกิจ รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม ที่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะชายฝั่งทะเลหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ยังมีมิติของความมั่นคง ซึ่งน่ากังวลอยู่ ขณะเดียวกันถ้ามองในแง่การสนับสนุน ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) แน่นอนว่าเราก็จะสามารถเพิ่มศักยภาพท่าเรือที่มีอยู่ได้ แต่ก็ต้องตอบให้ได้ว่ามีเป้าหมายในการพัฒนาเรื่องใด และมีความจำเป็นในการใช้ท่าเรือหรือไม่ หรือจะส่งเสริมในเชิงท่องเที่ยวสุขภาพ เน้นบริการด้านสุขภาพ ก็สามารถพัฒนาได้ในอนาคต”
เมื่อถามว่า แล้วโดยสรุปโครงการแลนด์บริดจ์จะคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปหรือไม่? รศ.ดร.สมพงษ์ มองว่า “ด้วยงบประมาณที่มากถึง 1 ล้านล้านบาท ถ้าเกิดไม่มีลูกค้าสายเดินเรือมาถ่ายลำตามคาดการณ์จริงๆ จะทำอย่างไร ตรงนี้เป็นคำถามที่ต้องพิจารณา ซึ่งไทยเองก็ยังไม่เคยทำโครงการที่มีการลงทุนมากขนาดนี้ อีกอย่างถ้ามาดูประโยชน์จริงๆ แล้วเหมือนไทยได้เก็บเพียงค่าผ่านทางเท่านั้น อาจไม่คุ้มค่า โดยแบ่งเป็น การขนถ่ายสินค้าไทย 20% อีก 80% คือสินค้าผ่านทาง หมายความว่าเราจะได้เพียงค่าผ่านทาง กลับกันสิงค์โปร์เองไม่ได้เก็บเพียงค่าผ่านทาง แต่เขามองตนเองเป็นศูนย์กลางการค้า ขณะที่ไทยไม่ได้มองเป็นศูนย์กลางการค้า เราจะเน้นแต่การผลิตเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นไทยควรสร้างความสามารถทางการค้าเพิ่มขึ้นควบคู่ … แลนด์บริดจ์ จึงจะไม่เป็นเพียงแค่ทางผ่านเท่านั้น”
