Thursday, 16 May 2024
สมณะโพธิรักษ์

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 14 เม.ย. 2567

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 67 เพจเฟซบุ๊ก ‘บุญนิยมทีวี’ ซึ่งเป็นสื่อหลักของ สันติอโศก ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “แจ้งข่าว พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ มรณภาพ ด้วยโรคชรา เวลา 06.40.10 น. วันพฤหัสบดี 11 เมษายน 2567” สิริอายุ 89 ปี 10 เดือน 6 วัน 

ทั้งนี้ ‘สมณะโพธิรักษ์’ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งสำนักสันติอโศก เป็นผู้ก่อกำเนิดคณะกลุ่มชาวอโศก ก่อตั้งชุมชนบุญนิยม ‘พุทธสถานสันติอโศก’ ย่านนวมินทร์ ก่อนจะขยายชุมชนบุญนิยม-เครือข่ายพึ่งตนเอง ในอีกหลายจังหวัด รวมทั้งราชธานีอโศก ที่อุบลราชธานี

สมณะโพธิรักษ์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยอาการปอดอักเสบ กระทั่งออกจากโรงพยาบาล กลับราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะมีอาการทรุดลงและต้องกลับเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง กระทั่งมรณภาพอย่างสงบ

สำหรับประวัติสมณะโพธิรักษ์ มีชื่อเดิมว่า มงคล รักพงษ์ เกิดวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดศรีสะเกษ

ในวัยเด็กอาศัยอยู่กับมารดาที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังได้เข้ามาศึกษาชั้นมัธยมที่กรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบมัธยมปลายก็ได้เข้าศึกษาต่อ ที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘รัก รักพงษ์’

ขณะที่กำลังเรียนอยู่ได้เข้าทำงานที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นผู้จัดรายการ เป็นรายการเกี่ยวกับเด็ก, การศึกษา และวิชาการ นอกจากงานทางสถานีโทรทัศน์แล้ว ก็ยังทำงานเป็น ครูพิเศษ สอนศิลปะตามโรงเรียน นักแต่งเพลง และทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ไปด้วย

สมัยยังทำงานในวงการบันเทิง ท่านมีผลงานเพลงที่แต่งในนาม ‘รัก รักพงษ์’ ออกมาประสบความสำเร็จ เป็นเพลงยอดนิยมจำนวนมาก รวมทั้งเพลง ‘ผู้แพ้’ ‘กระต่ายเพ้อ’ และเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘โทน’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ทำเงิน ออกฉายในปี พ.ศ. 2513 เพลงฮิตจากภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ประพันธ์โดย ‘รัก รักพงษ์’ ได้แก่ ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ และ ‘ชื่นรัก’ เป็นต้น

ต่อมา ท่านได้หันมาศึกษา พุทธศาสนาและได้อุปสมบทในคณะธรรมยุติกนิกาย ณ วัดอโศการาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ได้รับฉายาว่า ‘โพธิรกฺขิโต’ มีพระราชวรคุณ (สำรอง คุณวุฑฺโฒ) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระโพธิรักษ์เป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัด สงบสำรวม เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใส มีผู้มาขอศึกษาปฏิบัติตามทั้งฆราวาสและนักบวช จากคณะธรรมยุต และมหานิกาย ต่อมาพระราชวรคุณ ไม่ต้องการให้พระฝ่ายมหานิกายมาศึกษาอยู่ร่วมด้วย พระโพธิรักษ์ จึงเข้ารับการสวดญัตติฯ เป็นพระของคณะมหานิกายอีกคณะหนึ่ง โดยมิได้สึกจากคณะธรรมยุต ที่วัดหนองกระทุ่ม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยมีพระครูสถิตวุฒิคุณ เป็นอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2516

ตัวท่านเองมุ่งสารธรรมเป็นใหญ่ ไม่ติดใจเรื่องนิกาย จึงมีพระทั้งมหานิกายและพระธรรมยุต ที่มีปฏิปทาเป็น ‘สมานสังวาส’ กัน มาร่วมศึกษาปฏิบัติอยู่ด้วย โดยยึดถือธรรมวินัยเป็นใหญ่ ซึ่งทำให้พระอุปัชฌาย์ทางฝ่ายธรรมยุตไม่พอใจ พระโพธิรักษ์จึงคืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุตไป เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2516 ถือแต่ใบสุทธิฝ่ายมหานิกายเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีพระจากทั้งสองนิกาย อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วย เพราะพระโพธิรักษ์ไม่รังเกียจนิกายใด ๆ มุ่งหมายทำงานเพื่อพระศาสนา เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ให้ผิดพระวินัยเป็นสำคัญ

วัตรปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระโพธิรักษ์ คือ การฉันอาหารมังสวิรัติ วันละ 1 มื้อ ไม่ใช้เงินทอง นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก มีชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่มีการเรี่ยไร ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์ ไม่ใช้การบูชาด้วยธูปเทียน และไม่มีไสยศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากพระสงฆ์ในมหาเถรสมาคม ทีมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ทำให้บางครั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพระนอกรีต การทำงานด้านศาสนาได้รับอุปสรรคตลอดมา พระโพธิรักษ์และคณะจึงประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. พ.ศ. 2518 แต่เมื่อถูกพิพากษาว่าไม่สามารถเรียกขานตนเองว่าเป็นพระได้ จึงเรียกตนเองว่า ‘สมณะ’ แทน แต่ยังคงปฏิบัติเคร่งครัดเหมือนเดิม

‘สมณะโพธิรักษ์’ ได้นำ ‘กลุ่มชาวอโศก’ สร้างชุมชนบุญนิยมขึ้น และก่อตั้งพุทธสถานสันติอโศกขึ้นที่ ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. พ.ศ. 2519 หลังจากนั้น ยังเกิดชุมชนเครือข่ายเป็นชุมชนพึ่งตนเองแบบครบวงจร รวมทั้งเกิดพุทธสถานและชุมชนบุญนิยม 9 แห่ง ได้แก่

-พุทธสถานสันติอโศก เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
-พุทธสถานปฐมอโศก อ.เมือง จ.นครปฐม
-พุทธสถานศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
-พุทธสถานศาลีอโศก อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
-พุทธสถานสีมาอโศก อ.เมือง จ.นครราชสีมา
-พุทธสถานราชธานีอโศก อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
-พุทธสถานลานนาอโศก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
-สังฆสถานทะเลธรรม อ.เมือง จ.ตรัง
-สังฆสถานหินผาฟ้าน้ำ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งองค์กรในชุมชนบุญนิยมสันติอโศก รวม 8 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิธรรมสันติ กองทัพธรรมมูลนิธิ สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมทัศน์สมาคม มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน สมาคมศิษญ์เก่าสัมมาสิกขา สมาคมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม และมูลนิธิบุญนิยม

'สุริยะใส' ยก 'สมณะโพธิรักษ์' ผู้บุกเบิกสังคมการเมืองแนวบุญนิยม ปลุกการเมืองที่เสียสละ จิตอาสา ถือเป็นแนวการเมืองใหม่ที่แท้จริง

(11 เม.ย. 67) นายสุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก ว่าพ่อท่านโพธิรักษ์ ผู้บุกเบิกสังคมธรรมาธิปไตย การเมืองแนวบุญนิยม

ข่าวเศร้าวันนี้เมื่อพ่อท่าน (พระครูสมณะโพธิรักษ์) ได้ละสังขารด้วยโรคชราในวัย 90 ปี ผมทราบจากชาวโศกมาสักระยะแล้วว่าพ่อท่านสุขภาพไม่ค่อยดี ผมมีโอกาสได้รับฟังเทศนาธรรมล่าสุดเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2566

ครั้งนั้นได้พาคณาจารย์ วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต จัดกิจกรรมโครงการวิจัยเชิงปฎิบัติการกับนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกกว่า 30 คน ของชาวแพทย์วิถีธรรม สันติอโศกที่ราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี เป็นโครงการวิจัยร่วมกันหลายโครงการทั้งเรื่องสุขภาพ อาหาร ดนตรี เศรษฐศาสตร์ (สาธารณโภคี) การศึกษา สังคมธรรมาธิปไตย

โดยเฉพาะหลักการสาธารณโภคี เป็นความ ภาคภูมิใจและความ สำเร็จของพ่อท่านเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหลักการของ การกินร่วมกันการใช้ร่วมกัน เพื่อรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ท่านพ่อนำมาใช้ในที่ชุมนุมทุกครั้งซึ่งหลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับครัวกลางนั่นเอง

แม้ทราบดีว่าพ่อท่าน ไม่สบายชราภาพตามอายุขัยใกล้วัย 90 ปี แต่การเดิน การนั่ง การเทศนาธรรมยังคงสัมผัสได้ถึงพลังแห่งปัญญา น้ำเสียงสดใส หน้าตายิ้มแย้มเบิกบาน ทักทายสนทนากับพวกเรา โดยไม่คิดมาก่อนว่าพ่อท่านจะจากไปเร็วแบบนี้ แม้เข้าใจได้ว่าท่านอายุมากแล้วก็ตาม

สำหรับพ่อท่านผมเริ่มรู้จักตั้งแต่มีข้อพิพาทกับมหาเถรสมาคม เพราะเป็นคดีความที่สังคมสนใจ จากนั้นมาผมก็เข้าใกล้และรู้จักมากขึ้นผ่านบทบาทของลุงจำลอง ศรีเมืองและพรรคพลังธรรม ที่พยายามสร้างนวัตกรรมการเมือง จนสามารถสร้างผลสะเทือนทางการเมืองในช่วงหลังปี 2535 ต่อมาก็คุ้นเคยร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องชาวกองทัพธรรมในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

จนมาใกล้มากขึ้นและได้สนทนากับพ่อท่านบ่อยขึ้น ในช่วงที่มีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อเนื่องมาแม้กระทั่งขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะพ่อท่านถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วยกันแต่ศาลยกฟ้องในที่สุด

สำหรับพ่อท่านถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่มีลูกศิษย์ลูกหา ผู้ศรัทธานับถือจำนวนมากทั้งในไทยและต่างประเทศ สมัยการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพูดเรื่องการเมืองสะอาด การเมืองใหม่ผมจำได้ว่า พ่อท่านบอกกับผมว่า

“จริงๆ แล้วการเมืองใหม่ที่เราพูดกันอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่ไปประดิษฐ์ประดอยเสกสรรค์ปั้นแต่งกลไกใหม่ๆ หรือออกกฎหมายมากมายอย่างที่เข้าใจ แต่มันคือการเมืองเก่าหรือการเมืองดั้งเดิม คือการเมืองที่เป็นเรื่องของส่วนรวม การเมืองที่เสียสละ จิตอาสา นี่แหละสร้างแบบนี้ให้ได้นี่แหละคือการเมืองใหม่ที่แท้จริง”

ด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นบทบาทและวัตรปฎิบัติของพ่อท่านและชาวอโศกที่ผสมผสานทั้งทางโลกและทางธรรมเข้าด้วยกันยึดสัจจะ ความดี ซื่อสัตย์เสียสละ ความถูกต้องชอบธรรม เพราะความชอบธรรมคืออำนาจ อำนาจมิใช่ความชอบธรรม หรือที่เรียกกันว่า “วิถีสังคมธรรมาธิปไตย” ที่ไม่ใช่โลกาธิปไตย (เสียงข้างมากเบ็ดเสร็จ และอัตตาธิปไตย (ตนคือศูนย์กลางจักรวาลความถูกต้อง)

วันนี้ถือว่าสังคมไทยเราสูญเสียท่านผู้มีคุณูปการแก่ประเทศชาติสังคมไทย ตลอดจนสังคมโลกผู้หนึ่ง ชีวิตและผลงานของพ่อท่านน่าจะเป็นบทเรียนและจดจำเพื่อดำเนินชีวิตในแนวทางที่พ่อท่านได้แสดงเป็นตัวอย่างไว้มากมาย ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเปิดโลกบุญนิยมสู้กับโลกทุนนิยมแบบลงมือค้นคว้า ลงมือทำ ลงมือพิสูจน์อย่างจริงจัง

ในวาระโอกาสนี้ขอน้อมกราบส่งพ่อครูสมณะโพธิรักษ์สู่สรวงสวรรค์ครับ🙏


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top