Sunday, 19 May 2024
สธ

'บิ๊กป้อม' ปลื้ม!! 'คิวบา' หนุนเด็กไทยเรียนแพทย์ 1,000 โควตา เพาะต้นกล้าใหม่ เติม สธ.ไทย ในวาระฉลองมิตร 65 ปี

(8 ก.พ. 66) เวลา 10.35 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ นายเอกเตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบา เข้าเยี่ยมคำนับ โดยทั้งสองฝ่ายได้ชื่นชมความสัมพันธ์ และความก้าวหน้าของความร่วมมือทั้งสองประเทศด้านต่าง ๆ เช่น สาธารณสุขและการวิจัยทางการแพทย์, กีฬา, วิชาการ โดยเฉพาะเฉพาะมิติด้านสาธารณสุข และเห็นพ้องร่วมกันที่จะสานต่อและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิด และครอบคลุมหลายมิติมากขึ้น

พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อเนื่องที่ผ่านมา ส่งผลให้เด็กและเยาวชน ขาดโอกาสทางด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุขและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนแก้ปัญหาดังกล่าวต่อเนื่องมา และยินดีอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลคิวบาโดย สถาบัน อิก-ร่า เข้ามาร่วมพิจารณาสนับสนุนทุนการศึกษาด้านการแพทย์แก่นักเรียนไทยที่เรียนดีทั่วประเทศ จำนวน 3,000 ทุน โดยเร่งนำร่องกับเด็กเรียนดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 5 จังหวัด รวม 1,000 ทุน เพื่อให้มีแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำบลในพื้นที่

‘ดีอี - สธ.’ จับมือพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข เชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพประชาชนไว้บนระบบเดียวกัน ยกระดับ 30 บาท

เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันเปิดโครงการ ‘พัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย’ ภายใต้กิจกรรมที่ 1 ‘การพัฒนาบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ’ โดยมีนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วยนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงดีอีและกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยภายในงานได้มีการเสวนา ในหัวข้อ ‘ความเป็นมาของโครงการ เป้าหมาย การใช้บริการ Cloud การ Exchange ข้อมูล’ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงสาธารณสุข

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญและมุ่งมั่นให้บริการแก่ประชาชน โดยจัดให้มีระบบคลาวด์กลาง GDCC เพื่อให้บริการด้านการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยสำหรับหน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนบริการภาครัฐตามยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ การพัฒนาระบบสารสนเทศแพลตฟอร์มกลางบนคลาวด์มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ รพ.สต.ทั่วประเทศ ที่ขาดแคลนบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์และงบประมาณ ซึ่งระบบนี้จะได้รับการดูแล ปรับปรุงและพัฒนาจากหน่วยงานส่วนกลางแบบออนไลน์ เป็นการลงทุน สำหรับการพัฒนาและดูแลระบบที่มีต้นทุนต่ำ แต่สามารถเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพทุกระดับ ระบบสารสนเทศจะมีระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing) ในรูปแบบ Private Cloud ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน มีการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ช่วยลดงบประมาณให้กับภาครัฐ ในระยะยาวได้ โดยกระทรวงดีอีจะดำเนินการจัดหา พัฒนา ดูแลระบบคลาวด์กลางสำหรับข้อมูลสุขภาพที่มีความปลอดภัย พร้อมกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

“สดช. และ สธ. ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ดำเนินงานให้บริการโครงการคลาวด์กลาง เชื่อมั่นว่าระบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน และเป็นการขับเคลื่อนสู่ Health 4.0 อย่างเป็นระบบ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแค่เป็นการปรับปรุงการบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนที่สำคัญในการเดินหน้าของประเทศไทยสู่ Health 4.0 ที่จะช่วยสร้างพื้นที่ในการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมในด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวย้ำ 

ขณะที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายเร่งผลักดันการพัฒนาระบบสุขภาพระดับชาติ เพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุข สร้างบทบาทของนวัตกรรมด้านสุขภาพ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่ มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ‘แอปพลิเคชันหมอพร้อม’ แพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานกว่า 25.4 ล้านคน รวมถึงการพัฒนาโรงพยาบาลในสังกัดให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ มีการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของประชาชนบนฐานข้อมูลที่มีความปลอดภัย ช่วยให้ประชาชนเข้ารับบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็วลดการรอคอยและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้

“สำหรับโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ กระทรวงดีอี โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 เป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และส่วนกลาง ให้อยู่บนระบบเดียวกัน รวมทั้งยกระดับการทำงานหน่วยงานรัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย พร้อมระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ตามมาตรฐานสากล ISO 27001 ช่วยป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลหรือถูกโจรกรรม และสามารถนำข้อมูลสำคัญมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนในการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งยังรองรับการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่ต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ร้านยา ร้านแล็บที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ทราบข้อมูลสุขภาพชุดเดียวกัน เช่น ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร การรักษาที่ผ่านมา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top