Sunday, 20 April 2025
สทนช

‘บิ๊กป้อม’ พอใจ บริหารจัดการน้ำคืบหน้า ย้ำ ทุกฝ่ายต้องตื่นตัว สั่งเร่งพัฒนาแหล่งเก็บน้ำทุกพื้นที่ รองรับสภาพอากาศผกผัน

(16 มี.ค. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/66 มีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ หลังจากลงตรวจกำกับในหลายพื้นที่

โดยที่ประชุมเห็นชอบร่างมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 66 และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ปี 66 โดยใช้แนวทางปี 65 ไปพลางก่อน ซึ่งให้ความสำคัญกับหน่วยรับผิดชอบหลัก และหน่วยสนับสนุนการจัดเตรียมและการใช้ประโยชน์ข้อมูล, การบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากภาวะน้ำท่วม, การจัดทำระบบเตือนภัยและการเผยแพร่ข้อมูลกับประชาชน, วิธีการระบายน้ำที่รวดเร็วและถูกต้องตามหลักวิชาการ, การกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ และการประสานงานระหว่างหน่วยงาน

‘สทนช.’ คาด ‘เอลนีโญ’ ส่งผลกระทบทำไทยแล้งนาน 2 ปี ห่วงภาคกลางต้นทุนน้ำเหลืออยู่เพียงร้อยละ​ 17​ เท่านั้น

เมื่อวานนี้ (4 ก.ค. 66) นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการรับมือกับภาวะภัยแล้ง-น้ำท่วม โดยวิเคราะห์ว่า ปีนี้ ไทยต้องเผชิญกับภัยแล้งและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ สิ่งที่เป็นกังงวลคือเรื่องของภัยแล้ง เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันปริมาณฝนตกทั่วประเทศเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติ คือ ร้อยละ 25 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างลงมาลุ่มเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร ไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่กลุ่มฝนจะไปตกทางภาคใต้และลุ่มแม่น้ำมูลของภาคอีสาน การบริหารจัดการน้ำจึงต้องประหยัดและทำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีน้ำอยู่ร้อยละ 29 หรือ 1 หมื่น 5 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรปล่อยน้ำให้ประชาชนใช้ไปแล้วร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสิ่งที่ศุนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นกังวล คือการทำเกษตร เพราะหากประชาชนยังเพาะปลูกต่อเนื่อง โอกาสภัยแล้งมีโอกาสจะกระทบไปถึงปีหน้า

นอกจากบริหารจัดการการใช้น้ำแล้ว ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ยังประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธณี เพื่อวางแนวทางร่วมกัน คือ การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ปรับแผนขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีแหล่งน้ำบาดาลสำรองสำหรับใช้อุปโภคบริโภค 200 แห่ง แหล่งน้ำบาดาลเพื่อทำเกษตรขนาดใหญ่ 200 แห่ง และยังมีแหล่งน้ำบาดาลที่ยังใช้งานไม่ได้จะต้องซ่อมแซมปรับปรุงอีก 1 พันกว่าแห่ง

ส่วนพื้นที่รับน้ำแก้มลิง มีทุ่งบางระกำและทุ่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ปัจจุบันยังจัดสรรน้ำให้ประชาชนในการเพาะปลูกอยู่เพื่อพร่องน้ำไว้รับมือกับน้ำหลากน้ำท่วมหากฝนตก คาดว่าการทำเกษตรของประชาชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม

ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติเน้นย้ำว่าผลกระทบจากเอลนีโญ่จะส่งผลให้เกิดภัยแล้งไปอีก 2 ปี ทุกหน่วยงานจึงต้องมีความพร้อมรับมือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน จะพยายามไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด หากพื้นที่ไหนเช่นนอกเขตชลประทาน น้ำอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอก็จะจัดหาน้ำเข้่ไปช่วย ทั้งนี้มีความกังวลในพื้นที่ภาคกลางมากสุด โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ แควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากมีการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในปริมาณมาก โดยปัจจุบันภาคกลางเหลือน้ำต้นทุนอยู่เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น

‘บิ๊กป้อม’ สั่ง!! กอนช.รับมือ ‘เอลนีโญ’ ลดพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมรณรงค์ทุกภาคส่วนบริหารจัดการน้ำอย่างประหยัด-คุ้มค่า

(16 ส.ค. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 2/2566

โดยที่ประชุมเห็นชอบ ร่างมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์ ‘เอลนีโญ’ ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการที่สำคัญ ได้แก่

มาตรการที่ 1 การจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เกี่ยวกับการวางแผนการระบายน้ำ

มาตรการที่ 2 ให้ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง (ตลอดช่วงฤดูฝน) และให้มีการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร

มาตรการที่ 3 ให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (ตลอดช่วงฤดูฝน) ได้แก่การใช้น้ำภาคการเกษตร เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย การปรับปรุงระบบการให้น้ำพืช และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

รวมถึงการประหยัดน้ำของทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งต่างๆ และการลดการสูญเสียน้ำในระบบประปา และระบบชลประทาน

โดยที่ประชุม กอนช.รับทราบสถานการณ์จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้และรัฐบาลได้มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่กำลังประสบปัญหาเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่ และแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำจำกัดโดยเฉพาะ น้ำอุปโภคบริโภค

แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการตาม ‘12 มาตรการรับมือฤดูฝน’ อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ จึงยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงได้ และขณะเดียวกันปรากฏการณ์ ‘เอ็นโซ่’ (ENSO) อยู่ในสภาวะ
เอลนีโญ และจะมีแนวโน้มที่มีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.66  ทำให้ประเทศไทยช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.66 จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้ สทนช.และหน่วยงานต่างๆ เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้ประชาชน รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง ทันเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมและจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค อย่างเพียงพอของประชาชนเป็นอันดับแรก น้ำที่เหลือจึงใช้เพื่อการอื่นๆ รวมถึงพื้นที่ EEC ที่มีความสำคัญด้วย ต่อไป พร้อมรณรงค์ขอให้ประชาชน เกษตรกรและทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่า

‘สมศักดิ์’ ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมสุโขทัย กำชับทุกหน่วยเร่งช่วย ปชช. รับ สถานการณ์ยังน่าห่วง เตรียมเสนอแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวต่อ ครม.

(1 ต.ค. 66) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ โดยจุดแรก ได้เดินทางไปตรวจประตูระบายน้ำแม่น้ำยม บ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก ร่วมประชุมเพื่อสรุปสถานการณ์และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย กับนายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย นางสาวประภาพรทองปากน้ำ สส.สุโขทัย  นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สส.สุโขทัย และหัวหน้าส่วนราชการ

โดยนายสุชาติ กล่าวรายงานสรุปว่า สถานการณ์น้ำในจังหวัดสุโขทัย เริ่มมีความน่าเป็นห่วงตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพราะมีฝนตกเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีน้ำป่าไหลมาจากจังหวัดรอบข้าง ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในจังหวัดเวลานี้ อยู่ในจุดที่ต้องเฝ้าระวัง โดยขณะนี้ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 42 ตำบล 165 หมู่บ้าน 1,365 ครัวเรือน รวมถึงมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 2,483 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดได้เตรียมความพร้อม ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่สั่งการอย่างเร่งด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงมหาดไทย ได้เร่งลงพื้นที่แล้ว โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ได้รายงานสถานการณ์และสรุปในเบื้องต้นให้รับฟังแล้ว ซึ่งขณะนี้ มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 1,365 ครัวเรือน เป็นพื้นที่กว่า 62,000 ไร่ ส่วนเรื่องการช่วยเหลือชาวสุโขทัย ในเรื่องการอพยพนั้น ยังมีน้อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มวลน้ำ ที่ไหลมาจากจังหวัดแพร่ โดยจากรายงานปริมาณน้ำของวันนี้ เมื่อเทียบกับของเมื่อวานที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า สูงขึ้น จาก 880 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มอีก 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมวลน้ำทั้งหมด จะไหลมารวมอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทางจังหวัดสุโขทัย ก็พยายามปล่อยน้ำออกทางด้านซ้ายของแม่น้ำยมเป็นหลัก ซึ่งสามารถปล่อยได้ 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนในวันพรุ่งนี้ ตนได้รับรายงานว่า น้ำน่าจะเพิ่มขึ้นอีก 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจจะส่งผลกระทบให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในพื้นที่อำเภอเมือง ยังพบดินสไลด์ริมตลิ่ง ความยาวกว่า 100 เมตร โดยผู้ว่าฯได้นำเอาบิ๊กแบ๊คมากั้นเรียบร้อยแล้ว คาดว่า วันนี้จะสามารถหยุดการไหลของน้ำเข้าในพื้นที่ของอำเภอเมืองได้

“หลังจากนี้ ผมและคณะ จะเดินทางไปจังหวัดแพร่ เพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงมาก จึงได้กำชับให้ผมรีบลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ ผมจะกลับมาประชุมที่จังหวัดสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสรุปแนวทางทั้งหมด นำไปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยขอยืนยันว่า ผมทำงานการเมืองมา 40 ปี เห็นปัญหานี้มาโดยตลอด ซึ่งจะพยายามแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ฉะเชิงเทรา-สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำระดับลุ่มน้ำ 'ลุ่มน้ำบางปะกง' ทั้ง10 จังหวัด

วันที่ 5 -6 ส.ค.67 ณ.โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล อ.เมือง ฉะเชิงเทรา นางสาวธารทิพย์ จันทร์พิทักษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานลุ่มน้ำบางปะกง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 2 สำนักนายกรัฐมนตรี (สทนช.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนโครงการ เสริมสร้างความเข้มแข็ง ขององค์กรผู้ใช้น้ำ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ทั้ง 10 จังหวัดเข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อขับเคลื่อนผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำจากภาคเกษตรกรรม 243 องค์กร ,ภาคอุตสาหกรรม 46 องค์กร,ภาคพาณิชยกรรม 16 องค์กร ได้ร่วมหารือ สภาพปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ รวมถึงเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในระดับท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้แทนองค์กรต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนากลุ่มลุ่มน้ำบางปะกงสู่ความยั่งยืนต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top