Tuesday, 30 April 2024
สถานีกลันตัน

เหตุใดจึงตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้า ‘กลันตัน-มักกะสัน’ เหมือนชื่อรัฐของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

‘สถานีกลันตัน - สถานีมักกะสัน’ ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร?

ตอนนี้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใน กทม. หลายสาย เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่มีชื่อสถานที่น่าสนใจสถานีหนึ่ง คือ ‘สถานีกลันตัน’ ที่มีชื่อสถานีดันไปเหมือนกับชื่อรัฐหนึ่งในมาเลเซีย นั่นคือ ‘รัฐกลันตัน’ หลายคนสงสัยว่าเป็นความบังเอิญหรือเปล่า ที่จริงไม่ได้เป็นความบังเอิญ แต่ชื่อ ‘สถานีกลันตัน’ กับ ‘รัฐกลันตัน’ มีความเกี่ยวข้องในแง่ประวัติศาสตร์จริง ๆ 

สยามในอดีตและปัจจุบันมีหลายชาติพันธุ์ และในกรุงเทพฯ เองก็มีหลายชุมชนของหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น ชุมชนชาวญวน ชาวลาว ชาวเขมร ชาวโปรตุเกส ชาวมลายู ฯลฯ ที่จะพูดถึง คือ ‘ชุมชนชาวมลายู’ ซึ่งมาจากการเทครัวในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 - 3 แล้วมาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ เช่น ชุมชนบ้านแขก ชุมชนมุสลิมมหานาค ชุมชนมุสลิมพระประแดง ชุมชนมุสลิมย่านรามคำแหง ชุมชนมุสลิมคลองแสนแสบ ฯลฯ 

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 - 3 เกิดสงครามกับหัวเมืองมลายูขึ้นหลายครั้ง และเมื่อมีการทำสงครามสิ่งหนึ่งที่แถบอุษาคเนย์มักจะทำ คือ ‘การเทครัว (กวาดต้อนเชลยศึก)’ เพราะสมัยนั้นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด คือ ‘คน’ ช่วงเวลานั้นจึงมีการกวาดต้อนเชลยศึกชาวมลายูมายังกรุงเทพฯ และไม่ได้มาพร้อมกันแต่มาหลายรอบ

สมัยรัชกาลที่ 1 ปี 2329 กวาดต้อนเชลยศึกชาวปัตตานี (ปัจจุบันอยู่แถวแยกบ้านแขก และพระประแดง)
สมัยรัชกาลที่ 2 ปี 2364 กวาดต้อนเชลยศึกชาวปัตตานีและชาวไทรบุรี (เคดะห์) 
สมัยรัชกาลที่ 3 ปี 2381 กวาดต้อนเชลยศึกชาวกลันตัน ตรังกานู และหัวเมืองปักษ์ใต้อื่น ๆ

‘ชาวกลันตัน’ ที่ถูกกวาดต้อนมานี้ ไม่ได้มาจากเมืองกลันตันแต่อย่างใด แต่มาจากเมืองปัตตานี เพราะสมัยนั้นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองเมืองปัตตานี คือ ‘ราชวงศ์กลันตัน’ จึงมีชาวกลันตันที่อาศัยอยู่ในเมืองปัตตานีด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top