Monday, 20 May 2024
สถานการณ์น้ำมัน

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 28 พ.ย. - 2 ธ.ค. 65 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 5 - 9 ธ.ค. 65

สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 28 พ.ย. - 2 ธ.ค. 65 และแนวโน้ม 5 - 9 ธ.ค. 65

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยสัปดาห์ล่าสุดลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 จากความไม่แน่นอนของมาตรการ Zero-COVID ในจีน ของประธานาธิบดี Xi Jinping ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ดี ในวันพุธที่ 7 ธ.ค. 65 รัฐบาลจีนอาจผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ซึ่งบังคับใช้ทั่วประเทศเพื่อลดแรงกดดันจากการประท้วง

ทางด้านอุปทาน ที่ประชุม The OPEC and non-OPEC Ministerial Meeting ครั้งที่ 34 ของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) มีมติคงแผนลดการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 65 จนถึงอย่างน้อยในเดือน มิ.ย. 66 (สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า OPEC+ จะตัดสินใจลดการผลิตเพิ่มอีก 0.25 - 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) โดย OPEC+ จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 4 มิ.ย. 66 

ขณะที่กลุ่ม G7 พร้อมด้วยออสเตรเลียและสหภาพยุโรป (EU) ตกลงการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) ของน้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเลไว้ที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เริ่มบังคับใช้วันที่ 5 ธ.ค. 65 ทั้งนี้ น้ำมันดิบที่ขนจากท่าเรือรัสเซียก่อนวันที่ 5 ธ.ค. 65 และถึงท่าเรือปลายทางก่อนวันที่ 19 ม.ค. 66 ไม่อยู่ในข้อกำหนด Price Cap อย่างไรก็ดี โฆษกรัฐบาลรัสเซีย นาย Dmitry Peskov ชี้ว่ารัสเซียพร้อมที่จะตอบโต้และจะไม่ยอมรับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันดังกล่าว ที่ผ่านมารัสเซียเน้นย้ำว่าจะไม่จัดส่งน้ำมันให้กับประเทศที่ดำเนินการตามข้อตกลง Price Cap 

ผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์จาก Reuters คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในปี 65 จะเฉลี่ยที่ 100.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และในปี 66 จะเฉลี่ยที่ 95.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ สัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 80 - 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 5 - 9 ธ.ค. 65 จับตาปัจจัย ‘บวก - ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 12 - 16 ธ.ค. 65

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยสัปดาห์ล่าสุดลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 แต่ในช่วงปลายสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้น หลังจากท่อ Keystone (622,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ขนส่งน้ำมันดิบจากเมือง Hardisty รัฐ Alberta ในแคนาดาสู่แถบ Mid-West ในสหรัฐฯ ปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 65 โดยล่าสุดบริษัท TC Energy ผู้ดำเนินการท่อดังกล่าวรายงานการกู้คืนน้ำมันดิบรั่วไหลปริมาณ 2,600 บาร์เรล อย่างไรก็ตามมีการรั่วไหลทั้งหมด 14,000 บาร์เรล ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 65 และขณะนี้ท่อ Keystone ยังคงปิดดำเนินการ

จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 13-14 ธ.ค. 65 ซึ่ง Reuters Poll คาดการณ์ว่าจะมีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate: FFR) ขึ้น 0.5% อยู่ที่ 4.25-4.5% และติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 15 ธ.ค. 65 ซึ่งกรรมการ ECB นาย Gabriel Makhlouf คาดการณ์ว่าจะมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สำหรับการปล่อยสภาพคล่องให้ระบบธนาคารพาณิชย์ (Main Refinancing Operations Rate) อีก 0.5% อยู่ที่ 2.25%

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Kpler รายงานยุโรปนำเข้าน้ำมันดิบทางทะเล ในเดือน พ.ย. 65 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 300,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 8.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 12 – 16 ธ.ค. 65 จับตาปัจจัย ‘บวก - ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 19 – 23 ธ.ค. 65

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ Nymex WTI เฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นกว่า 2 เหรียญ จากสัปดาห์ก่อนหน้า จากตลาดคาดจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกจะเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 ขณะเดียวกัน ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงสนับสนุนจาก รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผนซื้อน้ำมันดิบเติมเข้าคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณ 3 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ก.พ. 66 นับเป็นการซื้อเพื่อเก็บเป็น SPR ครั้งแรกหลังระบายน้ำมันดิบปริมาณ 180 ล้านบาร์เรล ตั้งแต่เดือน มี.ค. 65  

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านเศรษฐกิจยังคงกดดันราคาน้ำมัน โดยล่าสุด S&P Global รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและการบริการ (Composite Purchasing Managers’ Index: PMI) ของสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 65 ลดลงจากเดือนก่อน 1.8 จุด  มาอยู่ที่ 44.6 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน หดตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และ PMI ต่ำกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะหดตัว 

สำหรับในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวระหว่าง $78-83/BBL ประเด็นที่ต้องจับตา ได้แก่ การตอบโต้ของรัสเซียต่อการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65 ของกลุ่ม G7 พร้อมด้วยออสเตรเลียและสหภาพยุโรป (EU) โดยรัฐบาลรัสเซียเผยว่าได้ข้อสรุปมาตรการตอบโต้ชาติตะวันตก และเตรียมที่จะเปิดเผยรายละเอียดภายในสัปดาห์นี้  และกล่าวย้ำว่ารัสเซียจะไม่จัดส่งน้ำมันให้กับประเทศที่ดำเนินการตามข้อตกลง Price Cap 

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 23 - 27 ม.ค. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 30 ม.ค - 3 ก.พ.66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น ท่ามกลางคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกฟื้นตัว จากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นำเข้าน้ำมันดิบในเดือน พ.ย.65 รวมเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 21.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเฉพาะจีนหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 และเปิดประเทศ โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) คาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนในปี 66 จะขยายตัวอยู่ที่ +4.8% จากปีก่อนหน้า

สัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 85 - 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ด้านปัจจัยเคลื่อนย้ายเงินทุนคาดว่าจะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นหลังการประชุมนโยบายการเงิน Federal Open Market Committee (FOMC) ของสหรัฐฯ วันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. 66 โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.0% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. 66 และวันที่ 15 - 16 มี.ค. 66 และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนถึงปลายปี 66

จับตามาตรการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) น้ำมันสำเร็จรูปรัสเซียซึ่งขนส่งทางทะเล วันที่ 5 ก.พ. 66 โดยกลุ่มชาติมหาอำนาจ G7 (แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ) และสหภาพยุโรป (EU) เห็นพ้องกำหนดเพดานราคา Diesel ที่ 100-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ปัจจุบันราคา Diesel รัสเซียอยู่ที่ 115-120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาตลาดยุโรปซึ่งอยู่ที่ประมาณ 125 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจส่งผลต่ออุปสงค์น้ำมันดิบ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top