มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#17 สหรัฐฯ ถอนทหารออกจาก เวียตนามใต้
หลังจากให้ความช่วยเหลือทางการทหารทางอ้อมโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเวลาสองทศวรรษ ในปี 1961 ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งสหรัฐฯ ได้ตัดสินส่งกำลังทหารสหรัฐฯ จำนวนมากชุดแรกในฐานะ “ที่ปรึกษาทางทหาร” ไปสนับสนุนระบอบเผด็จการที่ไร้ประสิทธิภาพของเวียตนามใต้ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์เหนือ สามปีต่อมา เมื่อรัฐบาลเวียตนามใต้ล่มสลาย ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสันจึงสั่งโจมตีเวียตนามเหนือด้วยการทิ้งระเบิดในจำนวนจำกัด หลังจากรัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติการใช้กำลังทหารโดย “มติอ่าวตังเกี๋ย” ในปี 1965 การรุกคืบของเวียตนามเหนือทำให้ประธานาธิบดีจอห์นสันต้องเลือกระหว่างเพิ่มจำนวนทหารสหรัฐฯ หรือถอนทัพ ประธานาธิบดีจอห์นสันตัดสินใจเลือกสั่งอย่างแรก และในไม่ช้าจำนวนกำลังทหารสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 300,000 นาย แล้วกองทัพอากาศสหรัฐฯ เริ่มต้นปฏิบัติการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ในช่วงไม่กี่ปีต่อมา สงครามเวียตนามที่ยาวนาน ทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และการเปิดเผยการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในอาชญากรรมสงคราม เช่น การสังหารหมู่ที่หมู่บ้านไมไล จึงทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านสงครามเวียตนาม กอปรกับการรุกช่วงเทศกาลตรุษญวนของฝ่านคอมมิวนิสต์ในปี 1968 ทำลายความหวังของสหรัฐฯ ที่จะยุติความขัดแย้งโดยเร็ววัน และกระตุ้นให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต่อต้านสงคราม คะแนนนิยมของประธานาธิบดีจอห์นสันลดลงจาก 48% เหลือเพียง 36% เพื่อเป็นการตอบสนองมติมหาชน ประธานาธิบดีจอห์นสันได้ประกาศในเดือนมีนาคม 1968 ว่าเขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก โดยอ้างถึงสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นความรับผิดชอบของเขาในการสร้างความแตกแยกในระดับชาติอันน่ากลัวเกี่ยวกับเวียตนาม นอกจากนี้ เขายังอนุมัติให้เริ่มการเจรจาสันติภาพอีกด้วย
ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1969 ขณะที่การประท้วงต่อต้านสงครามทวีความรุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ กำลังทหารของสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามแห่งนี้ถึงจุดสูงสุดที่เกือบ 550,000 นาย ริชาร์ด นิกสันประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จึงเริ่มสั่งให้มีการถอนทหาร และ “ทำให้เวียตนามเป็นเวียตนาม” ในความพยายามทำสงครามในปีนั้น แต่เขากลับเพิ่มการทิ้งระเบิด การถอนทหารจำนวนมากของสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เมื่อประธานาธิบดีนิกสันขยายการปฏิบัติการทางอากาศและทางบกเข้าไปในกัมพูชาและลาวเพื่อพยายามปิดกั้นเส้นทางส่งกำลังบำรุงของคอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดนเวียตนาม การขยายสงครามครั้งนี้ให้ผลเชิงบวกเพียงเล็กน้อย แต่กลับนำไปสู่การประท้วงระลอกใหม่ในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ
ในที่สุด ในเดือนมกราคม 1973 ผู้แทนของสหรัฐฯ เวียตนามใต้ เวียตนามเหนือ และเวียตกงได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีส ยุติการมีส่วนร่วมทางทหารโดยตรงของสหรัฐฯ ในสงครามเวียตนาม สานะสำคัญ ได้แก่ การหยุดยิงทั่วทั้งเวียตนาม การถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ การปล่อยเชลยศึก และการรวมเวียตนามเหนือและใต้เข้าด้วยกันโดยสันติวิธี รัฐบาลเวียตนามใต้จะคงอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ และกองกำลังของเวียตนามเหนือในเวียตนามใต้จะต้องไม่รุกคืบต่อไปหรือได้รับการเสริมกำลังอีก การยุติสงครามทำให้สหรัฐฯ สามารถถอนตัวออกจากสงคราม และนำเชลยศึกชาวอเมริกันกลับบ้าน ประธานาธิบดีนิกสันได้รับรับรองว่าจะให้การสนับสนุนเวียตนามใต้ข้อตกลงผ่านจดหมายทางการทูตหลายฉบับในกรณีที่เวียตนามเหนือละเมิดข้อตกลง
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงท่าทีเพื่อรักษาน้ำใจของรัฐบาลสหรัฐฯ เท่านั้น ก่อนที่กองทหารสหรัฐฯ ชุดสุดท้ายจะออกเดินทางในวันที่ 29 มีนาคม ฝ่ายเวียตนามทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โดยเวียตนามเหนือได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงจึงทำให้สงครามยังคงดำเนินต่อไป และในช่วงต้นปี 1974 สงครามเต็มรูปแบบก็ได้กลับมาปะทุอีกครั้ง ช่วงปลายปี 1974 ทางการเวียตนามใต้รายงานว่าทหารและพลเรือนของตนเสียชีวิตจากการสู้รบถึง 80,000 นาย ทำให้เป็นปีที่สูญเสียมากที่สุดในสงครามเวียตนาม
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 1973 หน่วยทหาร สหรัฐฯ ชุดสุดท้าย ออกจากเวียตนามเมื่อถึงเวลานั้น ฝ่ายคอมมิวนิสต์และเวียตนามใต้ได้เปิดฉากสงครามที่นักข่าวเรียกกันว่า "สงครามหลังสงคราม" โดยทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายละเมิดข้อตกลงสันติภาพอย่างต่อเนื่องสหรัฐฯ ยังคงดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เวียตนามใต้อย่างเต็มที่ แต่ความสามารถในการมีบทบาทต่อเหตุการณ์ในเวียตนามของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกจำกัดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่สถานะส่วนตัวของประธานาธิบดีนิกสันพังทลายลงจากการเปิดเผยกรณี “วอเตอร์เกต” ทำให้รัฐสภาสหรัฐฯ เคลื่อนไหวเพื่อขัดขวางความเป็นไปได้ใด ๆ ของการดำเนินการทางทหารเพิ่มเติมในเวียตนาม ในช่วงฤดูร้อนของปี 1973 รัฐสภาฯ ได้ผ่านมาตรการห้ามปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในหรือเหนืออินโดจีนหลังจากวันที่ 15 สิงหาคม รัฐสภาฯ ได้ดำเนินการอีกขั้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน 1973 เมื่อเพิกถอนการยับยั้งของประธานาธิบดีนิกสันในการผ่านรัฐบัญญัติอำนาจสงคราม ซึ่งตามทฤษฎีแล้วกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องหารือกับรัฐสภาก่อนที่จะส่งกองกำลังสหรัฐฯ ไปประจำการนอกสหรัฐฯ
วันที่ 30 เมษายน 1975 ชาวอเมริกันกลุ่มสุดท้ายที่ยังอยู่ในเวียตนามใต้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากประเทศโดยเฮลิคอปเตอร์ในขณะที่กรุงไซง่อนถูกกองกำลังคอมมิวนิสต์ยึดครองได้สำเร็จ พันเอกบุ้ยตินแห่งเวียตนามเหนือ ซึ่งยอมรับการยอมแพ้ของเวียตนามใต้ในเวลาต่อมา กล่าวว่า “คุณไม่ต้องกลัวอะไรเลย ระหว่างเวียตนามไม่มีผู้ชนะและพ่ายแพ้ มีแต่ชาวอเมริกันเท่านั้นที่พ่ายแพ้” สงครามเวียตนามเป็นสงครามต่างประเทศที่ยาวนานที่สุดและไม่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และทำให้ทหารอเมริกันเสียชีวิต 58,000 ราย ทหารและพลเรือนเวียตนามทั้งเหนือและใต้เสียชีวิตมากถึง 2 ล้านคน
หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’
