Tuesday, 22 April 2025
ศุภมาสอิศรภักดี

‘ศุภมาส’ ฝากถึงผู้ปกครองหาครูสอนพิเศษ แต่ไม่เอาเด็กราชภัฏ ชี้!! ไม่ควรตั้งแง่จากสถาบันการศึกษา เพราะทุกที่มีศักดิ์ศรีเท่ากัน

(14 ธ.ค.66) กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านกลุ่ม หาครูสอนพิเศษเด็กตามบ้าน โดยระบุข้อความว่า “หาครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษ เด็ก 7 ขวบครับ พิกัดศรีราชา ขอคนที่ไม่จบจากราชภัฏนะครับ นอกนั้นได้หมด”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในฐานะผู้บริหารของ อว.นั้น อยากจะบอกไปถึงผู้เขียนข้อความดังกล่าว รวมไปถึงบางคนที่ยังมีความรู้สึกแบบนี้ว่า ต้องเข้าใจใหม่กันว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้วสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอุดมศึกษานั้น ไม่มีการแบ่งแยกความสามารถ ไม่แบ่งชนชั้น มีแต่จะโอบอุ้มซึ่งกันและกัน โดยถ้าจะแบ่งแยก ก็แยกแค่ความถนัดของแต่ละที่เท่านั้น ที่สำคัญคือเมื่อจบการศึกษาออกไปแล้วมีศักดิ์ศรีเท่ากัน และสำคัญไปกว่านั้นคือ การประสบความสำเร็จในชีวิตของแต่ละคน ไม่ได้ขึ้นกับว่าจบการศึกษาจากที่ไหน แต่ขึ้นกับว่าเลือกใช้ชีวิตอย่างไรมากกว่า

“ก็ไม่ได้มาการันตีว่า คนที่จบจากสถาบันอื่นๆ ที่ไม่ใช่ราชภัฏแล้ว จะสามารถสอนให้ลูกของตัวเองเก่งขึ้นมาได้ เด็กราชภัฏจำนวนมากที่ดิฉันรู้จัก มีความรู้ความสามารถ ไม่แพ้สถาบันอื่นใดเลย อยากให้ผู้ปกครองท่านนั้น และท่านอื่นๆ โปรดทำความเข้าใจในเรื่องนี้ใหม่” น.ส.ศุภมาสกล่าว

ครม. ไฟเขียวหนุนสร้าง ‘อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ’ ส่งไปติดตั้งยานอวกาศฉางเอ๋อ 7 ก่อนขึ้นสู่วงโคจรดวงจันทร์ปี 69

‘ศุภมาส’ เผย ครม.ไฟเขียวมีมติหนุนกระทรวง อว. สร้าง ‘อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ’ ฝีมือคนไทย เพื่อนำไปติดตั้งกับยานสำรวจอวกาศฉางเอ๋อ 7 ก่อนนำส่งขึ้นสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในปี 2569 เผยเป็นก้าวสำคัญ รวมทั้งเป็นการประกาศให้โลกรับรู้ศักยภาพและความพร้อมของไทยในการเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจอวกาศ 

เมื่อวันที่ (4 ก.พ. 68) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวง อว.แห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนา “อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ” (Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope – MATCH) ที่จะร่วมติดตั้งไปกับยานสำรวจอวกาศฉางเอ๋อ 7 สำหรับสำรวจสภาพอวกาศโดยรอบของดวงจันทร์ ภายใต้โครงการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (International Lunar Research Station: ILRS) ตามที่กระทรวง อว.โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) และมหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอ

รมว.กระทรวง อว.กล่าวต่อว่า  ทั้งนี้  “อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ” (Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope – MATCH) ที่จะร่วมติดตั้งไปกับยานสำรวจอวกาศฉางเอ๋อ 7 สำหรับสำรวจสภาพอวกาศโดยรอบของดวงจันทร์ มีแผนจะนำส่งขึ้นสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในปี 2569 และจะลงจอด ณ บริเวณแอ่งขั้วใต้เอตเคน (South Pole-Aitken) ของดวงจันทร์ เพื่อตรวจวัดรังสีคอสมิกจากกาแล็กซีและอิเล็กตรอนจากดาวพฤหัสบดี รวมถึงศึกษาเชิงกลไกของอนุภาคพลังงานสูงระหว่าง โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ที่สำคัญนับเป็นครั้งแรกที่อุปกรณ์สำรวจอวกาศของไทย จะถูกนำไปใช้งานในภารกิจการสำรวจอวกาศห้วงลึก (Deep Space Exploration) และมีผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยมนุษยชาติในภารกิจการสำรวจอวกาศในอนาคต เป็นก้าวแรกของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรวิจัยของไทย ทั้งจาก สดร.และ มหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการความร่วมมือด้านอวกาศในระดับโลก ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกระทรวง อว. ในการพัฒนาคน และ องค์ความรู้ของประเทศไทย ให้ทัดเทียมนานาประเทศ

สำหรับ อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ หรือ MATCH ดำเนินการโดย สดร.และมหาวิทยาลัยมหิดล มีเป้าหมายเพื่อตรวจวัดอนุภาคมีประจุพลังงานสูง ศึกษาปริมาณของรังสีคอสมิกในอวกาศ ทั้งด้านที่มาจากพื้นผิวของดวงจันทร์ และด้านที่หันออกจากพื้นผิวของดวงจันทร์  ขณะนี้อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอวกาศ  MATCH อยู่ในขั้นตอนการบูรณาการ ประกอบและทดสอบความเข้ากันได้ทางไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงระบบโครงสร้างเชิงกลในระดับต้นแบบวิศวกรรม(Engineering model) ที่ขึ้นรูปด้วยวัสดุพิเศษแมกนีเซียมอัลลอย (MB-15) ภายในห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานเชิงกลขั้นสูงของ NARIT แมกนีเซียมอัลลอยเป็นวัสดุวิศวกรรมด้านอวกาศที่มีน้ำหนักเบากว่าอลูมิเนียมถึง 40% กระบวนการขึ้นรูปชิ้นงานมีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้ความระมัดระวัง แม้สะเก็ดเพียงเล็กน้อยก็อาจลุกติดไฟได้  ปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานรัฐใดในประเทศไทยเคยขึ้นรูปด้วยวัสดุชนิดนี้มาก่อน และท้ายที่สุดชิ้นส่วนเหล่านี้ จะถูกนำไปประกอบเป็นอุปกรณ์วิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทยที่จะส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์กับโครงการฉางเอ๋อ 7 ในปี 2569” น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า

การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจดวงจันทร์ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญยิ่งของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอวกาศ ที่จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เทคโนโลยีอวกาศระหว่างไทยกับนานาชาติ เป็นความท้าทายทางวิศวกรรม อันนำมาซึ่งโอกาสการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะ และสมรรถนะสูงทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ยกระดับขีดความสามารถของวิศวกรไทย ในฐานะผู้ออกแบบ ผลิต ค้นคว้า และวิจัย หนึ่งในอุปกรณ์ที่จะไปสำรวจดวงจันทร์ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ได้จากโครงการนี้ จะเป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้า ซึ่งยังไม่เคยศึกษาและค้นพบมาก่อน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์ท้าทายและเป็นบททดสอบสำคัญ ที่จะประกาศให้โลกทราบถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจอวกาศ

‘อว.’ ร่วมกับ ‘มจพ.’ ประยุกต์ใช้ ‘เทคโนโลยี’ ในยามเกิดวิกฤติ ส่ง ‘iRAP Robot-ยานไร้คนขับ’ ช่วยผู้ประสบภัยตึกถล่ม

เมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 68) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) นำทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. แชมป์โลก 10 สมัย เข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ กรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง โครงการอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง บริเวณ ถ.กำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. เกิดถล่มลงมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมาก

น.ส.ศุภมาส กล่าวต่อว่า ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. ควบคุมโดย รศ.ดร.กิตติชัย ธนทรัพย์สิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. จะนำหุ่นยนต์ฯ สำรวจภารกิจในพื้นที่อาคารถล่มร่วมกับเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและภาคเอกชน โดยนำหุ่นยนต์สำรวจ จำนวน 3 ตัว เข้าร่วมภารกิจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติซ้ำซ้อน มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยกู้ภัย และเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงผู้ประสบภัยในสถานการณ์วิกฤติ ได้แก่…

หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัยและหุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถสร้างแผนที่สามมิติของพื้นที่ และเคลื่อนที่ผ่านสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน เช่น อาคารที่ถล่มหรือพื้นที่จำกัดการเข้าถึง ข้อมูลที่หุ่นยนต์เก็บรวบรวมได้จะช่วยให้หน่วยกู้ภัยสามารถประเมินสถานการณ์และวางแผนการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

หุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก มีจุดเด่นที่ความคล่องตัวสูง เหมาะสำหรับการเข้าถึงพื้นที่แคบหรือซอกมุมต่าง ๆ พร้อมติดตั้งเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดระดับออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปปฏิบัติงาน 

ในขณะที่ หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัย มาพร้อมแขนกลสำหรับหยิบจับหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของ และมีความสามารถในการเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ต่างระดับ รวมถึงการขึ้นบันไดได้อย่างมีเสถียรภาพ พร้อมทั้งติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิเพื่อใช้ประเมินสภาวะความร้อนในพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อการวางแผนและตัดสินใจของเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ร่วมปฏิบัติงาน

น.ส.ศุภมาส กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวง อว.จะนำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) จำนวน 2 ตัว เพื่อสนับสนุนภารกิจการสำรวจในครั้งนี้ด้วย โดยอากาศยานไร้คนขับ DJI Mavic 3 Enterprise ซึ่งเป็นโดรนที่มีศักยภาพสูง มีกล้องที่ให้ความละเอียดสูงและฟังก์ชันการซูมระยะไกล เพื่อใช้ในการสำรวจขอบเขตของความเสียหายจากแผ่นดินไหว ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะถูกนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อค้นหาผู้ประสบภัย และสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความเสียหายของโครงสร้างอาคาร รวมถึงแนวทางการบูรณะและซ่อมแซมต่อไป

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มุ่งมั่นในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤต และพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง และร่วมกันส่งกำลังใจให้กับทุกท่านที่ประสบภัยในครั้งนี้

สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรใดต้องการให้ มจพ. นำหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าไปให้ความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.กิตติชัย ธนทรัพย์สิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. โทร. 096-829-5353 และ ผศ.ดร.จิรพันธ์ อินเทียม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสนับสนุนเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. โทร.099-023-6920


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top