Monday, 13 May 2024
ศิลปินแห่งชาติ

สิ้นแล้ว!! 'ครูเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ' ศิลปินแห่งชาติ ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ในวัย 104 ปี

วันที่ 6 สิงหาคม 2565 นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า นางเบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2541 ได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม  2565 เวลา 19.00 น. ที่บ้านพักเลขที่ 437/ 377 บ้านแก้วิลล่า ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร สิริรวมอายุ 104 ปี โดยทายาทได้ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2565 เวลา 17.00 น. และมีกำหนดสวดพระอภิธรรมศพระหว่างวันที่ 6 -10 สิงหาคม 2565 เวลา 19.00 น. ณ ศาลา 3 วัดบางไผ่ พระอารามหลวง ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี จากนั้นทายาทจะเก็บศพไว้สำหรับบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพให้ หลังจากบำเพ็ญกุศลศพเป็นเวลา 100 วัน เป็นลำดับต่อไป

โอกาสนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000  บาท 

วธ.จัดงานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ๒๕๖๖ เชิญชวนประชาชนร่วม “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจสู่สากล” เผยแพร่ความงามอัตลักษณ์ความเป็นไทย รองรับการขึ้นมรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารวธ. พร้อมเครือข่าย เข้าร่วมแสดงมุทิตาจิตในกิจกรรม “รดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖” เพื่อสืบสานอัตลักษณ์ความงดงามของประเพณีวัฒนธรรมไทย ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวแสดงมุทิตาจิตในกิจกรรม “รดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมและผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๖” ด้วยกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี เสริมสร้างค่านิยมและความเป็นไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ ถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทย โดยในประเพณีนี้มีพิธีสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เพื่อแสดงออกถึงความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้ใหญ่ และบุคคลที่เคารพรัก เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความสมานฉันท์ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งยังถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแด่ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงเป็นแบบอย่างของการจัดกิจกรรมรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ให้แก่องค์กรและประชาชนทั่วไป อีกด้วย 

“ปี ๒๕๖๖ นี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่องค์การยูเนสโก ได้รับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของไทย "สงกรานต์ในประเทศไทย" (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๖ นี้  ถือเป็นมรดกวัฒนธรรมฯ รายการที่ ๔ ของประเทศ ต่อจาก โขน นวดไทย และโนรา จึงเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่คุณค่าสาระ อัตลักษณ์ความงามของสงกรานต์ ประเพณีที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความนิยม ได้เกิดการรับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องในคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีวัฒนธรรมของไทย” นายอิทธิพล กล่าว
 
นายคเณศ เค้ามูลคดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) พุทธศักราช ๒๕๖๐ ผู้แทนศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวอวยพรเนื่องในประเพณีสงกรานต์ ว่า ในนามของศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม และผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้มีโอกาสมาร่วมให้พรในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ระลึกถึงและมาร่วมกันแสดงมุทิตาจิตในวันนี้ รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่คนรุ่นหลังให้ความสำคัญ และระลึกถึงผู้อาวุโส โดยการจัดกิจกรรมรดน้ำขอพรศิลปินฯ นี้ เป็นการแสดงออกถึงความรัก ความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อผู้ใหญ่ และครูอาจารย์ ทำให้เกิดความรู้สึกปลาบปลื้มและมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง “ในวาระสงกรานต์ปีใหม่ไทย จึงขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก และขออำนาจคุณพระศรี-รัตนตรัย จงดลบันดาลให้ทุกท่าน จงประสบแต่ความสุข ความเจริญ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความรักความสามัคคีให้แก่กัน และร่วมกันสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ สืบไป” นายคเณศ กล่าว
 
ทั้งนี้ ภายในงานมีศิลปินแห่งชาติ ทั้ง ๓ สาขา ร่วมพิธี อาทิ นายคเณศ เค้ามูลคดี  นางรัตติยะ วิกสิตพงศ์  นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์  นายเสวต เทศน์ธรรม  นายสมเศียร พานทอง  นายบุญเลิศ นาจพินิจ  นายชัยชนะ บุญนะโชติ  นางสาววนิดา พึ่งสุนทร  นายเผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี  นายสุประวัติ ปัทมสูต  นางพิสมัย วิไลศักดิ์  นางรัจนา พวงประยงค์  นายนคร ถนอมทรัพย์  ศ.พิเศษ อารี สุทธิพันธุ์  นางสาวทัศนีย์ ขุนทอง  นายปัญญา วิจินธนสาร นางชมัยภร บางคมบาง  ศ.เกียรติคุณ วิชัย สิทธิรัตน์  นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี  นายวินัย พันธุรักษ์  นายปี๊บ คงลายทอง  นางสุดา ชื่นบาน  ศ.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร  นายนพพล โกมารชุน  นายวิโรจน์ วีระวัฒนานนท์  นางผ่องศรี วรนุช  นายสิงห์คม บริสุทธิ์  นายวิรัช อยู่ถาวร  นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ  นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง  นายธงชัย รักปทุม และ พันโทวิชิต โห้ไทย  โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม  ทายาทศิลปินแห่งชาติ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เครือข่ายศิลปวัฒนธรรม เข้าร่วมสรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ รวมถึงผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม  เพื่อร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันงดงาม เสริมสร้างค่านิยมและความเป็นไทย  ซึ่งการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ เป็นพิธีกรรมที่แสดงออกถึงความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้ใหญ่ และบุคคลที่เคารพรัก อันจะช่วยสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแด่ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงเป็นแบบอย่างของการจัดกิจกรรมรดน้ำขอพรผู้อาวุโสให้แก่องค์กรและประชาชนทั่วไป  และ บริเวณหน้างานยังมีนิทรรศการให้ความรู้ คุณค่า สาระ แนวทางปฏิบัติเนื่องในประเพณีสงกรานต์ อีกด้วย 

‘ชลธี ธารทอง’ ศิลปินแห่งชาติ บรมครูเพลงลูกทุ่งไทย เสียชีวิตอย่างสงบ ในวัย 85 ปี วงการลูกทุ่งไทยร่วมอาลัย

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 66 หลังถูกส่งตัวแอดมิตเป็นการด่วน ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดมีรายงานว่าครูเพลงชื่อดัง ศิลปินแห่งชาติ ‘ชลธี ธารทอง’ ได้เสียชีวิตแล้วรวมอายุ 85 ปี ในเวลา 17.57 น. เมื่อวันที่ 21 ก.ค.66 โดยการแจ้งข่าวร้ายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ‘ครูปุ้ม ศศิวิมล รัตนอำพันธุ์’ คู่ชีวิต

‘ชลธี ธารทอง’ มีชื่อจริงว่า ‘สมนึก ทองมา’ เกิดเมื่อ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ที่จังหวัดชลบุรี เรียนชั้นประถม 1 ที่โรงเรียนวัดแก้วศิลาราม ที่ชลบุรี มาต่อชั้นประถม 4 ที่โรงเรียนวัดโคกขี้หนอน ที่ชลบุรี และจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนประชาสงเคราะห์ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ กว่าจะมาเป็นครูเพลงชื่อดังที่ได้รับการยอมรับนั้นเจ้าตัวผ่านการทำงานมาแล้วมากมาย ทั้งทำนา ทำไร่ ขุดดิน เผาถ่าน ช่างไม้ ก่อสร้าง นักมวย ลิเกนักพากย์หนัง หางเครื่อง กรรมกร นักร้องฯ

โดยครูชลธีนั้นมีความสนใจการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก เคยอยู่กับวงดนตรีหลากหลายวง ทั้งวงรำวงดาวทอง, วงดนตรีของสุรพล สมบัติเจริญ​, วงเทียนชัย สมญาประเสริฐฯ

เจ้าตัวเริ่มฉายแววของการเป็นนักแต่งเพลงตั้งแต่เมื่อครั้งสมัครประกวดร้องเพลงที่จัดโดยวงรวมดาวกระจายของครูสำเนียง ม่วงทองโดยใช้เพลงที่แต่งขึ้นเอง ก่อนที่ครูสำเนียงจะรับให้มาอยู่ร่วมคณะพร้อมกับตั้งชื่อให้เขาว่า ‘ชลธี ธารทอง’

ที่ผ่านมาแม้จะมีโอกาสขึ้นเวทีในฐานะนักร้องและได้บันทึกเสียงรวม 4 เพลง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนเจ้าตัวหันมาเอาดีในการแต่งเพลง โดยระหว่างที่อยู่วงรวมดาวนี้เขามีโอกาสได้แต่งเพลง ‘พอหรือยัง’ ให้ ‘ศรคีรี ศรีประจวบ’ ร้องจนประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่มีใครเชื่อว่าเขาเป็นคนแต่ง

หลังถูกไล่ออกจากวง ได้มีนายทุนออกเงินตั้งวงให้ในชื่อ ‘สุรพัฒน์’ แต่ก็ไปไม่รอด ขณะที่เพลงของเขาก็ขายไม่ค่อยได้เพราะคนไม่รู้จักชื่อเสียง ก็พอดีกับศรคีรีมาขอให้ช่วยแต่งเพลงให้ แต่พอเขาแต่งเพลงชุดนั้นเสร็จ ศรคีรีก็มาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน

ในขณะที่คิดจะหันหลังให้กับวงการ ครูชลธีบังเอิญไปพบกับเด็กล้างรถที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวบุคคโล ซึ่งมีเสียงถูกใจ เขาจึงได้มอบเพลง 2 เพลงที่แต่งให้ศรคีรีกับเด็กคนนั้นไปโดยไม่คิดเงิน ก่อนที่เด็กคนนั้นจะมีชื่อเสียงโด่งดังจากเพลงของเขา อย่าง ‘ลูกสาวผู้การ’ และ ‘แหม่มปลาร้า’ ในนามของ ‘สายัณห์ สัญญา’

ทั้งนี้ จุดเด่นในการแต่งเพลงของครูชลธี ก็คือการเลือกสรรถ้อยคำในลักษณะของกวีนิพนธ์ มีการใช้ฉันทลักษณ์หลายรูปแบบ โดยผลงานของเจ้าตัวนั้นว่ากันว่ามีมากกว่าพันเพลง และสร้างชื่อเสียงให้กับนักร้องหลากลายคน ทั้ง ผ่องศรี วรนุช, ไพรวัลย์ ลูกเพชร, สายัณห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ, ศรเพชร ศรสุพรรณ, สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, เสรีย์ รุ่งสว่าง, เอกพจน์ วงศ์นาค, สุนารี ราชสีมา, จินตหรา พูนลาภ ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นเพลง ล่องเรือหารัก, ไอ้หนุ่มตังเก, พบรักปากน้ำโพ, ทหารอากาศขาดรัก, เทพธิดาผ้าซิ่น, หนุ่มทุ่งกระโจมทอง, เรียกพี่ได้ไหม, ไอ้หนุ่ม ต.ช.ด., แฟนฉันไม่ต้องหล่อ, จดหมายจากแม่ ฯลฯ

‘ครูชลธี ธารทอง’ ได้รับรางวัล ศิลปินแห่งชาติปี พ.ศ. 2542 ในสาขาศิลปะการแสดง อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังๆ นั้น เจ้าตัวต้องตกเป็นข่าวดังในเรื่องส่วนตัว แยกทางกับครูปุ้ม ถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลฟ้องร้องกัน ก่อนสุดท้ายกลับมาครองคู่กันอีกครั้งในบั้นปลายสุดท้ายของชีวิต

‘เบิร์ด ธงไชย’ ได้รับเลือกเป็น ‘ศิลปินแห่งชาติ’ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2565

(23 ส.ค.66) นับเป็นเรื่องยินดีอย่างยิ่ง หลังกรมส่งเสริมวัฒนธรรม แถลงข่าวประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2565 ผ่านเพจ ‘กรมส่งเสริมวัฒนธรรม’ ซึ่งมีบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 12 คน

โดยหนึ่งในนั้นมีรายชื่อซูเปอร์สตาร์เมืองไทย ‘เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์’ ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)

ทั้งนี้ ‘เบิร์ด ธงไชย’ ได้ออกมาเผยความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊กว่า “พี่เบิร์ดขอขอบคุณ สำหรับการได้รับเกียรติยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๕ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) รางวัลนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้เพราะแฟนเพลง ที่สนับสนุนผลงานของพี่เบิร์ดมาตลอดด้วยครับ พี่เบิร์ดขอบคุณมาก ๆ ครับ”

‘เบิร์ด ธงไชย’ เผย ‘เคล็ดลับหน้าเด็ก’ แนะ!! ‘น้ำมะนาว-ออกกำลังกาย’ ช่วยได้

เมื่อไม่นานมานี้ เบิร์ด ธงไชย นักร้องรุ่นใหญ่ขวัญใจประชาชน และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2565 ได้เปิดเผยถึง ‘เคล็ดลับหน้าเด็กโกงอายุ’ ว่าตนนั้นมีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง ให้หน้ายังดูเด็กจนถึงทุกวันนี้ โดยระบุว่า…

“เคล็ดลับหน้าเด็ก คือ กินน้ำมะนาว แล้วออกกำลังกายให้เหงื่อออกเยอะ ๆ เพราะถ้าออกเยอะ ๆ หน้าก็จะคลายสารพิษออกมา โดยเฉพาะ PM 2.5 ตอนพี่อยู่เมืองนอกไม่เคยหยอดตาเลยนะ แต่พอพี่อยู่เมืองไทยกลับรู้สึกว่าตามันคัน เพราะฉะนั้นพวกเราต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด กินน้ำเยอะ ๆ ฉี่ออกมาเยอะ ๆ น้ำมะนาวช่วยได้หมด อย่างข้างนอกเราสามารถฟอกสบู่ได้ ส่วนข้างในเราก็ให้น้ำมะนาวมันล้าง…”

‘เบิร์ด ธงไชย’ แชร์เทคนิคดูแลสุขภาพในวัยใกล้ 70 ชี้ ‘นอนให้เยอะ-กินเท่าที่ไหว’ ไม่ฝืนตัวเองเกินไป

(19 ต.ค.66) ซูเปอร์สตาร์ตลอดกาล ‘เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์’ เปิดห้องซ้อมตึกแกรมมี่ ชั้น 26 โชว์สเตปแดนซ์เกินร้อย กับคอนเสิร์ต ‘แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 12 (BABB BIRD BIRD SHOW #12/2023) ตอน MULTIBIRD จักรวาลธงไชย’ ต่อหน้าสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก โดยนำเพลงเด็ด ‘เรามา SING’ หนึ่งในเพลงไฮไลต์ พร้อมทีมแดนเซอร์หลายสิบชีวิต มาโชว์ความสนุกเรียกน้ำย่อยก่อนถึงวันจริง ซึ่งนับถอยหลังเหลืออีกเพียง 30 วัน บนเวที อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ในเดือนพฤศจิกายนนี้

หลังจากนั้น ‘พี่เบิร์ด’ ได้ให้สัมภาษณ์เปิดใจกับสื่อมวลชน ถึงความพร้อมในการขึ้นคอนเสิร์ตครั้งนี้ จัดเต็มความอลังการ ซ้อมวันละ 6 ชม. จนแดนเซอร์เหนื่อย พร้อมแชร์เทคนิคดูแลตัวเองในวัยใกล้ 70 ไม่เคยกินหมูกระทะ ชาบู หม่าล่า หมูสามชั้น และเผยถึงความรู้สึกหลังได้รับเกียรติยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)

แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ MULTIBIRD ครั้งนี้เป็นอย่างไร? “ซ้อมเมื่อกี้แค่เสี้ยวเดียวเอง 1 เพลง ทั้งหมดมี 36 ยูนิตครับ นี่เพียง 1 ยูนิตเท่านั้นเอง ทุกวันนี้พี่ซ้อมอย่างน้อยที่ตึกแกรมมี่วันละ 6 ชั่วโมง ตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป ทีนี้ก็ต้องเห็นใจแดนเซอร์ซึ่งตอนนี้งานเยอะมาก มีคอนเสิร์ตเกือบทุกอาทิตย์เลยเพราะฉะนั้นก็ต้องแบ่งๆ กันไปครับ ส่วนพี่เบิร์ดก็ได้แค่วันละ 6 ชั่วโมงเท่านั้นเอง แต่ไปซ้อมต่อที่บ้านอีกครับ”

พาร์ตไหนที่ต้องโชว์ยาวสุด? “สบายมากครับ เล่นพรุ่งนี้ก็ได้ครับ (ยิ้ม)”

แดนเซอร์มีบ่นเหนื่อยบ้างมั้ย? “มีครับ พี่สงสัยว่าเขาเหนื่อยทำไม เราไม่มีเวลาเหนื่อยแล้วน้อง พี่เบิร์ดไม่เหนื่อยเหรอคะ ไม่ค่ะ ไม่เหนื่อย เสร็จงานแล้วค่อยว่ากัน (หัวเราะ)”

พอพูดถึงคอนเสิร์ต MULTIBIRD ต้องมีหลายพาร์ตมารวมกัน? “ใช่ครับ ตั้งแต่การทำงานเลยนะ มัน multi เหมือนเป็นจิ๊กซอว์ อย่างที่บอกงานเราเยอะช่วงนี้ คนไทยผ่านอะไรมากมายแล้ว ผ่านเรื่องวุ่นวายเต็มไปหมด พอถึงวันเวลาที่เขาจะมีความสุข เราต้องอัดให้เต็มที่ พอมันมีหลายส่วนมารวมกัน เราถึงต้องแยกเป็นจิ๊กซอว์กัน พี่ก็จะไปปรากฏตามที่ต่างๆ ในคอนเสิร์ตครับ อุ้ย ไม่เอา ไม่พูดครับ (หัวเราะ)”

แบบเบิร์ดเบิร์ดครั้งนี้มีหลายจักรวาลด้วย? “ใช่ครับ หลายจักรวาล ที่เห็นง่ายๆ คือจักรวาลของโกโบริ โกโบริยังไม่ตายครับ ยังอยู่กับพวกเราครับ เขาจะพาอังศุมาลินมาด้วยนะ แต่ว่าเขาต้องเลือกก่อน”

หลายคนรอลุ้นแขกรับเชิญ หลายๆ ท่านอยากจะมาเป็นแขกรับเชิญให้พี่เบิร์ด? “ใช่ครับ ให้พี่เบิร์ดเลือกไม่ได้นะครับ พี่เบิร์ดเอาหมดเลยครับ (หัวเราะ) ให้พี่เล็กเป็นคนเลือก”

แล้วพาร์ตของเพลงเลือกยังไงบ้าง มีเพลงฮิตเยอะมาก? “คือเรื่องเพลงมันแล้วแต่ แต่เรื่องใจคนเนี่ยหนักกว่าเรื่องเพลง ทำไมถึงไม่มีแบบเบิร์ดเบิร์ดต่ออีกอ่ะ ผ่าน 37 ปีแล้วทำไมยังเชื่อถือผู้ชายคนนี้อยู่ อายุก็เยอะแล้วนะ ยังเต้น ไม่มีใครสงสารเวทนาพี่เบิร์ดเลย จะ 70 แล้ว บอกคนดู ฟ้องหมดทุกคนเลยครับ”

มีแต่แฟนๆ เรียกร้องอยู่ตลอด? “ใช่ครับ เพราะฉะนั้นเพลงเราเฉลี่ยๆ กัน พี่เบิร์ดเพิ่งรู้ตัวว่าตัวเองเป็นนักร้อง 80 90 เพราะฉะนั้นก็เลยดึงเอา 80 90 มา แล้วก็ดึงเยอะแยะไปหมดเลยครับ”

รู้สึกอย่างไรที่แบบเบิร์ดเบิร์ดอยู่มาทุกยุคทุกสมัย แล้วตั้งเป้ามั้ยว่าจะยืดไปถึงแค่ไหน? “พี่เบิร์ดไม่เคยตั้งเป้าเลย จะบอกกับทุกคนเลยว่า แบบเบิร์ดเบิร์ดเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งต่อไปเมื่อไหร่ยังไม่รู้เลย ไม่รู้ว่าจะได้เกิดหรือเปล่าเลย แต่เนี่ยมันดำเนินมาได้ 37 ปีแล้วครับ หลายๆ คอนเสิร์ตแล้ว พี่เบิร์ดขอบคุณตรงนี้มากๆ ครับที่อนุญาตและไว้ใจพวกเราชาวแบบเบิร์ดเบิร์ดนะครับ ขอบคุณมากๆ พี่เบิร์ดคิดว่าคราวนี้จะทำให้ถึงที่สุดเลยครับ”

มีส่วนไหนที่หนักใจที่สุดในคอนเสิร์ตครั้งนี้? “หนักใจที่สุด ไม่มี ถ้าเขาบอกว่า พี่เบิร์ดพร้อมมั้ย ได้เลยครับ ผมเล่นเลย ก็ไปอิมแพ็คเลย”

เปลี่ยนกี่ชุด? “หลายชุดเหลือเกิน แต่ละชุดของพี่เบิร์ดนะครับ อื้อหืม น้องเอ้ย รับรองว่าจะลืมไม่ลงแล้วแดนเซอร์นะครับ โอ้โห เริ่ดครับ”

เลือกเพลงเองด้วยมั้ย ว่าเพลงนี้ต้องมี? “เบิร์ดไม่เลือกเลยครับ เพราะว่าบทเพลงของเบิร์ดเนี่ย เบิร์ดร้องในห้องอัด เบิร์ดรักทุกเพลง ฉะนั้นแล้วแต่ทีมงาน ทุกอย่างแล้วแต่ทีมงานหมดเลย เพราะทีมงานเป็นคนรีเสิร์ชเขาคงไม่หาอะไรที่ไม่ดีมาให้เบิร์ดให้คนดูของเบิร์ดแน่นอน”

มีเพลง รักเอ๋ย ด้วยมั้ย เพลงประกอบละคร พนมนาคา กระแสกำลังมาแรง? “เดี๋ยวพญานาคมานะ พี่มีแต่พญานาคตัวน้อยๆ (หัวเราะ) อุบไว้ก่อน พี่เบิร์ดก็เห็นกระแสเพลงนี้ครับ ประมาณ 6 ล้านวิวแล้วใช่มั้ยครับ ขอบคุณมากครับ ขอบคุณแทนนักแสดงทุกๆ คน ขอบคุณแทนคนทำงานทุกคนของละครด้วยนะครับ มันดีนะ ไปยุ่งกับใครเขาแล้วเขาเจริญ แล้วพี่เบิร์ดก็ไม่ได้มีเพลงประกอบละครมานานแล้ว พี่เบิร์ดก็อ้าปากรอครับว่าเมื่อไหร่จะได้ร้องเพลง เมื่อไหร่จะได้เจอกันอีก”

ตอนโชว์เพลง เรามา SING คอนเซปต์เป็นยังไง เพราะดูอลังการ? “ใช่ครับ คอนเซปต์ของเพลงนี้คือรวมทั้งเอเชียเลย มีทั้งจีน ลาว ไทย แขก มีหมดเลยครับ มีทั้งเอเชียของเรารวมอยู่ในเพลงนี้ มันนำมาให้พวกเราได้เห็นกันครับ”

มีเทคนิคการดูแลสุขภาพอย่างไร? “ฟังตัวเองครับ ว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ว่าอิ่มจะแย่แล้วต้องกิน เราต้องไม่กิน เราต้องฝืนตัวเอง (หัวเราะ) ที่สำคัญนอนให้เยอะๆ ครับ กินกับนอน อึด้วย”

เมนูโปรดที่ชอบ? “ช่วงนี้ไม่ค่อยได้กินครับ เขาไม่ให้กินอะไรเท่าไหร่ เขาให้กินแต่พวกผลไม้ เป็นลิงเป็นค่างหมดแล้วครับ ถามว่ามีเมนูไหนที่ไม่กินเลยมั้ย ไม่มีนะครับ กินหมดแต่กินน้อย ถ้าอันไหนที่เราคิดว่ามันไม่ดี เราก็กินน้อย ไม่เคยกินหมูกระทะ ชาบูก็ไม่เคยกิน หมูสามชั้นก็ไม่กิน หม่าล่าก็ไม่เคยกินครับ หม่าล่ามีด้วยเหรอ เออ เห็นช้างบอกเหมือนกันว่าจะพาไปกินหมาล่า และอยากให้ไปกินกุ้งถัง”

แสดงความยินดีกับการเป็นศิลปินแห่งชาติ? “พี่เบิร์ดกับความเป็นศิลปินแห่งชาติ พี่เบิร์ดว่าให้ไปเยอะแล้ว ให้หมดทั้งชีวิตแล้วสำหรับอาชีพ และสำหรับความเป็นไทย พี่เบิร์ดให้แล้วพี่เบิร์ดได้รับ สิ่งที่พี่เบิร์ดทำไปก็ยังอยู่สายตาของทุกคน พี่เบิร์ดชอบและมีความสุข ขอบคุณครับ”

วินาทีแรกที่ได้ทราบว่าได้เป็นศิลปินแห่งชาติ มีความรู้สึกอย่างไร? ”คนข้างๆ พี่เบิร์ดน่ะ มีอาการมากกว่าพี่เบิร์ดนะ พี่น้อง พี่น้อย แล้วก็พี่เล็ก กรี๊ดกันสุดฤทธิ์เลยครับ เพราะว่าเขาถ่ายทอดสดด้วยไง พี่เบิร์ดก็ซ้อมอยู่ พี่เบิร์ดก็แบบ อะไรวะๆ เพิ่งรู้ ก็ดีใจครับ”

คำว่าศิลปินแห่งชาติยิ่งใหญ่ยังไง? “ยิ่งใหญ่มากสำหรับพี่เบิร์ด ความเป็นศิลปินแห่งชาติเขายิ่งใหญ่ของเขาอยู่แล้ว เขายิ่งใหญ่ด้วยการตัดสิน เขายิ่งใหญ่ด้วยคนที่ได้ไป เขายิ่งใหญ่ด้วยกรรมการ เขาคัดกรองแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลย แล้วมีช่วงที่เผ็ด เร้าใจมากมายกว่าจะได้ตัวศิลปินแห่งชาติมา พี่เบิร์ดไม่รู้จะทำได้หรือเปล่าเพราะว่าศิลปินแห่งชาติเขาเรียบร้อยกันทั้งนั้นเลย พี่เบิร์ดเป็นลิงอยู่คนเดียว”

พอมีคำนี้มาต่อท้ายชื่อเราแล้วต้องมีการปรับอะไรมั้ย? “เห็นปั๊บ พี่ไอหยาก่อนเลย ตายแล้วจะเสียเขามั้ยเนี่ย พี่เล็กบอกให้ท่องเอาไว้ว่าเป็นศิลปินแห่งชาติ ท่องไว้ อย่าคึกมากนะเบิร์ด”

เราก็สร้างบรรทัดฐานศิลปินแห่งชาติอีกรูปแบบหนึ่ง? “ครับ อย่างหนึ่งที่ทำก็คือ ทุกครั้งที่มีโชว์พี่จะมีความเป็นไทยใส่เข้าไป ครั้งนี้ก็เหมือนกันครับ”

ย้อนกลับไปตลอดเส้นทางนี้เคยคิดไหมว่าจะมีวันนี้ได้เป็นศิลปินแห่งชาติในวันนี้? “ไม่เคยคิดเลยครับ เพราะว่าเขายิ่งใหญ่มากเลยศิลปินแห่งชาติ ครูที่ได้กับครูตัดสินให้ได้ศักดิ์สิทธิ์มากเลยนะครับ อย่างพี่หง่าวยุทธนา มุกดาสนิท ศิลปินแห่งชาติ พี่จะทำให้ดีที่สุดนะครับ ไม่ให้เสียชื่อทุกคนครับ”

คอนเสิร์ตครั้งนี้อยากบอกอะไรกับคนดู? “คนดูเนี่ย พี่เบิร์ดขอเลยนะครับ อย่าใส่ส้นสูงมา ให้ใส่รองเท้าผ้าใบมา ถ้าเกิดใส่ส้นสูงมาแล้วห่วงสวยเนี่ย จะไม่มันส์นะ นานๆ จะมีสักทีหนึ่ง แบบเบิร์ดเบิร์ด คราวนี้จะได้เห็นหมดเลยว่าพี่เบิร์ดไปตรงไหน หมั่นเขี้ยวอยากบอกครับ (เวทีนี้ออกแบบให้ไปทุกจุดของอิมแพ็ค) ถนนตัดผ่านหน้าบ้านใคร พี่ไปทุกจุดเลยครับ ครั้งนี้ไม่สลิง เพราะพี่ทำมาก่อนแล้วเว้ย เตรียมตัวมาสนุกกันได้เลย สำหรับคอนเสิร์ต แบบเบิร์ดเบิร์ด 18-19 / 25-26 พฤศจิกายน ส่วน 17 เต็มแล้ว นอกนั้นเตรียมตัวแล้วเจอกันครับ”

‘เบิร์ด ธงไชย’ ภูมิใจ!! ได้ร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ หลังเข้าชมโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอนกุมภกรรณทดน้ำ

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.66 ‘เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์’ ศิลปินแห่งชาติ ร่วมสืบสานศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย เข้าชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอนกุมภกรรณทดน้ำ ท่ามกลางผู้ชมแน่นขนัดเต็มพื้นที่บริเวณด้านหน้าหอประชุมใหญ่ ต่างพากันขอถ่ายรูป ล้อมหน้าล้อมหลัง ด้วยความดีใจอย่างไม่คาดคิดเมื่อต่างหันมาพบ ‘เบิร์ด ธงไชย’ ขวัญใจของมหาชน เดินอยู่ด้านข้าง มาร่วมชมโขนในรอบประชาชน

เพิ่งจบคอนเสิร์ตใหญ่ไปหมาดๆ ‘เบิร์ด ธงไชย’ ศิลปินแห่งชาติ จัดเวลาดูโขนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรม เป็นแบบอย่างของคนไทยที่ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของการแสดงศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ โดย ‘เบิร์ด ธงไชย’ ภูมิใจที่ได้มาชมโขน ชื่นชมนักแสดงและคณะทำงานทุกด้านที่ร่วมกันสร้างสรรค์การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอนกุมภกรรณทดน้ำ ที่วิจิตรสวยงามครบทุกองค์ประกอบและมีคุณค่ายิ่ง

โดยบรรยากาศของผู้ชมที่เข้าชมรอบนี้อย่างแน่นขนัด พร้อมภาพแห่งความอิ่มเอมใจที่ได้รับชมการแสดงโขนไปพร้อมกับศิลปินที่ชื่นชอบ และได้ถ่ายรูปกับ ‘เบิร์ด ธงไชย’ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอนกุมภกรรณทดน้ำ บัตรได้เต็มทุกที่นั่ง ยินดีกับผู้ที่จับจองบัตรได้และได้รับชมการแสดงกันไปด้วยความประทับใจ สำหรับผู้ที่พลาดชมปีหน้าพบกันใหม่ ส่วนจะเป็นตอนอะไรนั้นติดตามข่าวสารได้ทางเพจโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 สิ้น ‘พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น’ ศิลปินแห่งชาติ ผู้อยู่เบื้องหลังสร้างพระเมรุ ‘สมเด็จย่า-พระพี่นาง-เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ’

วันนี้เมื่อ 11 ปีที่แล้ว 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เวลาประมาณ 05.40 น. พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อย สถาปัตยกรรม ประจำปี 2541 ในวัย 71 ปี ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งตับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอย่างต่อเนื่อง และญาติได้นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ ศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร พร้อมทั้งขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในเย็นวันนี้ เวลา 15.00 น. 

ทั้งนี้ พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2485 ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชโอรส เมื่อ พ.ศ. 2499 ต่อมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนช่างศิลป และศึกษาสถาปัตยกรรมไทยจนได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2507 ซึ่งในสมัยนั้นยังมิได้สถาปนาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดังเช่นปัจจุบัน

เมื่อจบการศึกษาและทำงานเป็นผู้ออกแบบเล็กๆ น้อยๆ กับสถาปนิกรุ่นพี่มาระยะหนึ่ง เห็นว่าไม่ค่อยมั่นคงจึงสมัครเข้ารับราชการเป็นสถาปนิกประจำกองทัพอากาศอยู่นาน 9 ปี จนติดยศเรืออากาศเอก โดยพลอากาศตรี อาวุธ ได้เคยเล่าเกร็ดชีวิตทหารให้ฟัง ในวันงานเลี้ยงเชิดชูเกียรติ โดยสภาสถาปนิกครั้งหนึ่งว่า

เป็นโชคร้ายหรือโชคดีก็ไม่ทราบ ที่ในเช้าวันหนึ่ง เกิดมองไม่เห็นทหารชั้นนายพลผู้บังคับบัญชาที่เดินสวนมา จึงไม่ได้ยืนตรงทำความเคารพ เลยถูกสั่งขังเสียหลายวัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ได้โอนมาเป็นนายช่างศิลป์ สังกัดกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2518 

เมื่อถึงปี พ.ศ. 2521 ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบูรณปฏิสังขรณ์ ในกองสถาปัตยกรรมไทย ในกรมศิลปากรนั้นเอง และได้เจริญเติบโตเรื่อยมา จากที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณปฏิสังขรณ์ ระดับ 9 จนเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2544 และมาดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และบูรณปฏิสังขรณ์สถาปนิกระดับ 10 เมื่อ พ.ศ. 2545 และเกษียณอายุราชการในปีนั้น

พลอากาศตรี อาวุธ มีผลงานมากมาย โดยเฉพาะผลงานสำคัญ ด้านการอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ และออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมไทย เช่น

งานบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์, งานบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งได้เป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณปฏิสังขรณ์ โบราณสถานแห่งชาติที่สำคัญอีกหลายแห่ง

ส่วนงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม เช่น ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง พระที่นั่งสันติชัยปราการ ในสวนสันติชัยปราการ, พระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ฯลฯ 

และงานออกแบบด้านสถาปัตยกรรมที่ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกคนจดจำคือ เป็นผู้ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างพระเมรุมาศ ทรงปราสาทจตุรมุขยอดเกี้ยว และอาคารรายรอบที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

เป็นหัวหน้าคณะทำงานออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 

และเป็นหัวหน้าผู้ออกแบบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี 

ในด้านการเผยแพร่วิชาความรู้ ด้านสถาปัตยกรรมไทย และการอนุรักษ์ พลอากาศตรี อาวุธ ได้เป็นอาจารย์พิเศษ ที่เป็นกำลังสำคัญ ที่ภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย ให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จบการศึกษามา นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้บรรยาย และเป็นวิทยากรในกิจกรรมทางวิชาการมากมาย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ พ.ศ. 2550 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) และ พ.ศ. 2551  มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top