Wednesday, 26 June 2024
ศาลแพ่ง

‘ศุภชัย’ เผยศาลสั่งห้าม ‘ชูวิทย์’ ยุ่งเรื่องกัญชาพรรค ‘ภท.’ ชี้!! มีเจตนาบิดเบือนความเข้าใจของประชาชน

‘ศุภชัย’ เผยศาลสั่งห้าม ‘ชูวิทย์’ จ้อ-แสดงการกระทำด้วยวิธีใด ๆ เกี่ยวกับปม ‘กัญชา’ ที่เกี่ยวข้อง ‘พรรคภูมิใจไทย’ อีก

(5 เม.ย.66) นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า วานนี้ (4 เม.ย.66) พรรคภูมิใจไทย มอบอำนาจให้ตนยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่ง กรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กระทำละเมิดต่อ พรรคภูมิใจไทย ในการแพร่ข่าว ไขข่าว ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงทำให้พรรคเสียหาย เป็นการฟ้องละเมิดและเรียกค่าเสียหาย และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว และไต่สวนฉุกเฉิน ห้ามมิให้นายชูวิทย์ ดำเนินการตามที่ถูกฟ้อง คือ การกล่าวหาบิดเบือน กับพรรคภูมิใจไทย 

ทั้งนี้ เมื่อวาน (4 เม.ย.66) หลังจากคณะตุลาการพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องเป็นการร้อง ห้ามมิให้พูด อาจจะเป็นการฟ้อง ซึ่งอาจจะเป็นผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำร้องไม่เป็นการเฉพาะเจาะจง เป็นการยื่นคำร้องทั่วไป จึงยกคำร้อง แต่วันนี้พรรคภูมิใจไทย ได้ไปยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ขอไต่สวนฉุกเฉิน อีก และมีการไต่สวนจนเสร็จสิ้นเมื่อช่วงบ่าย ออกมา

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า โดยเนื้อหามีดังนี้ วิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน หลายสาขา ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งใช้เครื่องกระจายเสียงประกาศข้อเท็จจริงต่างๆ ตามคำฟ้องในที่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า โจทก์มีนโยบายที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสมาชิกของโจทก์ไม่เหมาะสมที่จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งข้อเท็จจริง ตามที่จําเลยกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายต่อบุคคลทั่วไปนั้น ยังมิได้มีการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงตามที่จําเลยกล่าวอ้างหรือไม่ จึงเป็นการกระทําซ้ำ และกระทําต่อไป ซึ่งการที่โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจําเลยกระทําละเมิด

‘ศาลแพ่ง’ พิพากษา ‘ตร.ซิ่งบิ๊กไบค์’ ชน ‘หมอกระต่าย’ เสียชีวิต เตรียมชดใช้ค่าเสียหายให้พ่อแม่ผู้ตายรวม 27.3 ล้านบาท

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 67) ศาลแพ่ง อ่านคำพิพากษาคดีที่ นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล และนางรัชนี สุภวัตรจริยากุล เป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก เป็นจำเลย 1-2 โดยโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีละเมิด

คำฟ้องสรุปว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ผู้ตาย, จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547, จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการตำรวจ สังกัดจำเลยที่ 1 ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1บก.อคฝ)

โดยเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 เวลาประมาณ 15.00-16.00 น. จำเลยที่ 2 ขณะปฏิบัติหน้าที่รับเอกสารราชการ ไปส่งให้แก่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานในสังกัด จำเลยที่ 1 ได้ขับรถจักรยานยนต์ออกจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ด้วยความเร็วประมาณ 108-128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แซงขึ้นหน้ารถคันอื่นในระยะไม่ถึง 30 เมตรก่อนถึงทางม้าลาย โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง พุ่งชนผู้ตาย ขณะเดินข้ามทางม้าลายบริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ไม่ให้การช่วยเหลือ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุประมาณ 30-60 นาที 

จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมดูแล กำกับการปฏิบัติงาน และธำรงวินัยของข้าราชการตำรวจ ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์ที่ผิดกฎหมายในการปฏิบัติงาน ขับรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และไม่จัดให้จำเลยที่ 2 เข้ารับการฝึกอบรมขับรถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานจราจร ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนท้องถนน ละเลยไม่จัดทำมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุตรงทางม้าลาย อันเป็นผลโดยตรงทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนั้นจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าว 

คำร้องของโจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสอง ร่วมกันหรือแทนกัน ชดใช้ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพเป็นเงินจำนวน 539,493 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 537,505 บาท ค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวน 72,266,301 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 72,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง 

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง กำหนดให้จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการ มีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้… (2) ดูแล ควบคุม และกำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ ซึ่งปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น และ มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 แบ่งส่วนราชการออกเป็นส่วนต่าง ๆ 

ดังนั้นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงหน้าที่โดยทั่วไป ที่จะควบคุม กำกับดูแล บังคับบัญชาส่วนราชการและข้าราชการตำรวจในสังกัดจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และนโยบายของจำเลยที่ 1 ในภาพรวม โดยมีผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นควบคุม กำกับดูแล บังคับบัญชาให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตนธำรงไว้ซึ่งวินัยของข้าราชการ 

การที่จำเลยที่ 2 ไม่ประพฤติตนธำรงวินัยของข้าราชการตำรวจ ใช้รถจักรยานยนต์ผิดกฎหมายไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ไม่มีประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ไม่เสียภาษีประจำปี ไม่ติดกระจกมองข้างและขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการทางวินัย และพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 ได้ความจาก พ.ต.ท. มนตรี ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 ว่า ภายหลังเกิดเหตุ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ต้นสังกัดจำเลยที่ 2 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการทางวินัย และได้พิจารณาลงโทษกักขัง 30 วัน ตามสำเนาคำสั่งกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ที่ 10/2565 และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมว่าขับรถจักรยานยนต์ไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย ขับรถไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง (ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย) นำรถจักรยานยนต์ที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทาง นำรถที่ยังไม่ได้เสียภาษีประจำปีมาใช้ในทาง นำรถจักรยานยนต์ที่ไม่จัดให้มีประกันความเสียหายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาใช้ในทาง ใช้รถที่มีส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน (ไม่มีกระจกมองข้าง) ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น และขับรถจักรยานยนต์ในทางเดินรถในเขตกรุงเทพมหานครโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

พนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลอาญา ศาลอาญามีคำพิพากษาเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1049/2565 ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง 

เมื่อพฤติกรรมการขับขี่และใช้รถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 ที่ขาดความสำนึกรู้ผิดชอบ ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาวินัยจราจรและปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ควบคุม เสริมสร้างความประพฤติ และวินัยข้าราชการตำรวจ ซึ่งจำเลยที่ 2 เคยเข้าร่วมอบรมประชุมกวดขันระเบียบวินัยเกี่ยวกับความประพฤติและระเบียบข้าราชการตำรวจที่หน่วยงานต้นสังกัดจัดขึ้นตามคำสั่งจำเลยที่ 1 , จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจโดยลำพังในการจัดระเบียบจราจร ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการจัดการระบบจราจร โดยมีกระบวนการและขั้นตอนดำเนินงานร่วมกันหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดังนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานจราจร มีหน้าที่ดูแลการจราจร รักษาความปลอดภัยบนท้องถนนให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และนโยบายเป็นหน้าที่โดยทั่วไป หาใช่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยเฉพาะของจำเลยที่ 1 เพียงหน่วยงานเดียว เมื่อเหตุคดีนี้เกิดจากที่จำเลยที่ 2 กระทำละเมิด ขับรถจักรยานยนต์ชนผู้ตายถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นนิติเหตุอันเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่อาจให้สัตยาบันเข้ารับเอาผลการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ได้ ดังนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ทั้งสอง

ในประเด็นว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดั่งที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง เหตุคดีนี้เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 โดยลำพัง จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 บัญญัติให้ผู้กระทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพ รวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย ในกรณีทำให้เขาถึงตาย ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าว ศาลจะต้องพิเคราะห์ถึงค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายตามจารีตประเพณีตามความจำเป็นและเหมาะสม ตลอดจนฐานานุรูปของผู้ตายและโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดา

เมื่อพิจารณาตารางสรุปยอดค่าใช้จ่าย รายละเอียดค่าใช้จ่าย บิลเงินสด หลักฐานการชำระเงิน และภาพถ่ายงานศพซึ่งมีแขกร่วมงานจำนวนมาก ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้บริหารระดับประเทศ ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่นๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 331,230 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว กำหนดให้ตามขอ 

ส่วนค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย เงินบริจาคมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ค่าไอแพด กระเป๋า รองเท้า และเสื้อผ้าของผู้ตาย ไม่ใช่ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตามคำขอโจทก์ทั้งสอง จึงไม่กำหนดให้ 

ส่วนค่าเรือลอยอังคาร โจทก์ทั้งสองไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นเรือของตำรวจน้ำ ไม่คิดค่าใช้จ่าย จึงไม่กำหนดให้ 

สำหรับค่าขาดไร้อุปการะ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคท้าย การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ จะต้องพิจารณาตามฐานานุรูปของผู้ตายและโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ตลอดจนรายได้ของผู้ตาย และระยะเวลาในการให้ความอุปการะเลี้ยงดูหากผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ขณะเกิดเหตุ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 มีอายุ 64 ปีเท่ากัน มีโอกาสได้รับการอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 15 ปี ผู้ตายอายุ 33 ปี ประกอบวิชาชีพจักษุแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทาง 2 สาขา อนุสาขาโรคจอตาและวุ้นตา และอนุสาขาโรคภูมิคุ้มกันและการอักเสบ ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งนายแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 21,000 บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข (พ.ต.ส.) เดือนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 31,000 บาท หากอยู่เวรนอกเวลาจะได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 1,200 บาท ตามเอกสารหมาย จ.58 หรือ ล.73 และเอกสารหมาย จ.59 หรือ ล.74 

ได้ความจาก พ.ต.ท. โกมินทร์ สว่างจิตต์ ตำแหน่งสารวัตรฝ่ายธุรการกำลังพล กองบังคับการอำนวยการโรงพยาบาลตำรวจว่า หากผู้ตายได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการตำรวจในสังกัดโรงพยาบาลตำรวจในฐานะผู้มีคุณวุฒิ พบ.วว. สาขาจักษุวิทยา และอนุสาขาจักษุวิทยาภูมิคุ้มกันและการอักเสบ จะได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งนายแพทย์ (สบ.1)  ชั้นยศว่าที่ร้อยตำรวจตรี และจะได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือนสูงขึ้นตามลำดับ 

นอกจากนั้นผู้ตายทำงานนอกเวลาที่โรงพยาบาลเอกชนอีก 3 แห่ง มีรายได้เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 1,800,000 บาท ถึง 2,400,000 บาท เมื่อมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากขึ้นก็จะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นเป็น 3 ถึง 5 เท่า ซึ่งสอดรับกับคำเบิกความของ นพ.อดิศัย วราดิศัย จักษุแพทย์ด้านจอประสาทตาว่า หากแพทย์มีอายุการทำงานมากขึ้น มีชื่อเสียง ทำงานหลายแห่ง จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 300,000 ถึง 500,000 บาท หรือมากกว่านั้น จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานหักล้างเป็นอย่างอื่น 

ดังนั้น หากผู้ตายมีชีวิตอยู่ จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามประสบการณ์และอายุการทำงาน เมื่อคำนึงถึงโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ แม้จะมีรายได้จากเงินเดือน แต่อยู่ในวัยชรา มีปัญหาสุขภาพต้องไปพบแพทย์และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง มีภาระค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวต่อเดือนจำนวนค่อนข้างสูง เห็นสมควรกำหนดค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คนละ 13,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงิน 331,230 บาท 13,500,000 บาท และ 13,500,000 บาท ตามลำดับ นับแต่วันทำละเมิดวันที่ 21 มกราคม 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 331,230 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง ชำระเงิน 13,500,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 13,500,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top