Monday, 7 April 2025
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตัดสินให้ ‘ปราสาทพระวิหาร’ เป็นของกัมพูชา

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พิพากษาชี้ขาด คดีปราสาทเขาพระวิหาร ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศกัมพูชา 

ปราสาทหินแห่งนี้เป็นศิลปะขอม สร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ราวปี 1545-1593 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของขอม ภาษาเขมรเรียกว่า ‘เปรี๊ยะ วิเฮียร์’ (Phrea vihear) ตัวปราสาทสูง 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่บนทิวเขาพมนดงรักซึ่งกั้นระหว่างประเทศกัมพูชากับไทย ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศเหนือ ด้านหน้าและทางขึ้นอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ตัวปราสาทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกัมพูชา 

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ค้นพบปราสาทแห่งนี้เมื่อปี 2442 แล้วทรงจารึกพระนามของพระองค์และปีที่ค้นพบไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า ‘118 สรรพสิทธิ์’ เนื่องจากเขาพระวิหารตั้งอยู่ตรงรอยต่อของไทยกับกัมพูชา ซึ่งผลัดกันยึดครองดินแดนแถบนี้

จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยได้ส่งทหารเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณเขาพระวิหาร เจ้านโรดม สีหนุ จึงยื่นฟ้องต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 การไต่สวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง จนในที่สุด ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา นับเป็นการเสียดินแดนครั้งล่าสุดของประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์ เสียพื้นที่ไปทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ 

หลังจากแพ้คดี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสิน และปิดทางขึ้นปราสาทซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย เป็นการตอบโต้กัมพูชา เหลือเพียงทางขึ้นเป็นช่องเขาแคบ ๆ สูงชันและอันตราย ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของกัมพูชา เขาพระวิหารก็ถูกสั่งปิด-เปิดให้เข้าชมอยู่หลายครั้งตามสถานการณ์ภายในประเทศ ก่อนจะเกิดความร่วมมือกันอีกครั้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันนี้ เขาพระวิหารนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ. ศรีสะเกษ
 

‘อียู’ ลั่น!! ‘อิสราเอล’ ต้องทำตามคำสั่งศาลโลก พร้อมยุติปฏิบัติการทางทหารในเมืองราฟาห์

(27 พ.ค.67) นายโจเซฟ บอเรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป (อียู) ออกมายืนยันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ว่า อิสราเอลจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก และยุติปฏิบัติการทางทหารในเมืองราฟาห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

ทั้งนี้ บอเรลล์ ยังตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่อิสราเอลที่เกี่ยวข้องกับผู้ตั้งถิ่นฐานได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงค์ที่ถูกยึดครอง

บอเรลล์ยังยืนยันว่า อิสราเอลได้ผลักดันชาวปาเลสไตน์ให้ไปสู่หายนะ เพราะสถานการณ์ในฉนวนกาซาขณะนี้ถือได้ว่าเกินกว่าที่จะบรรยายได้ ขณะที่เวสแบงค์ซึ่งเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองก็เหมือนอยู่ที่ปากเหว และเสี่ยงต่อการเกิดระเบิดได้ทุกเมื่อ

การออกมาให้ความเห็นของผู้ดูแลด้านนโยบายต่างประเทศของอียูมีขึ้นในวันเดียวกับที่นายโมฮัมหมัด มุสตฟา นายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ ได้รับการรับรองสถานภาพของรัฐปาเลสไตน์จากสองประเทศในอียูและนอร์เวย์ บอเรลล์ยังกดดันให้อิสราเอลทำให้แน่ใจว่ารายได้ทางภาษีที่จัดให้เพื่อช่วยเหลือทางการปาเลสสไตล์จะไม่ถูกระงับอีกต่อไป

แม้ว่าขณะนี้ความสนใจส่วนใหญ่ของโลกจะพุ่งไปยังฉนวนกาซา แต่บอเรลล์ระบุว่าเราต้องไม่ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่หน่วยงานของทางการปาเลสไตน์ตั้งอยู่เช่นกัน

“ที่นั่นเราเห็นความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีการโจมตีตามอำเภอใจเพื่อลงโทษโดยผู้ตั้งถิ่นฐานหัวรุนแรง และมีการมุ่งเป้าไปที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มุงหน้าไปสู่ฉนวนกาซามากขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาก็ติดอาวุธหนัก คำถามคือใครเป็นคนติดอาวุธให้พวกเขา และใครบ้างที่ขัดขวางไม่ให้มีการป้องกันการโจมตีที่เกิดขึ้น” บอเรลล์กล่าว และว่า ความรุนแรงของผู้ตั้งถิ่นฐานดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการขยายการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลและการยึดครองที่ดินอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

บอเรลล์ยังตอบโต้ภัยคุกคามของอิสราเอลที่จะโจมตีชาวปาเลสไตน์ทางด้านการเงิน หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐมนตรีคลังอิสราเอลระบุว่า จะหยุดโอนรายได้จากภาษีที่จัดสรรให้กับทางการปาเลสไตน์ ซึ่งอาจคุกคามความสามารถในการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานหลายพันคน โดยเขาเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดของรายได้ที่ถูกระงับซึ่งเขาเห็นว่ามากเกินไป

การออกออกมาแสดงท่าทีดังกล่าวของบอเรลล์มีขึ้นขณะที่นอร์เวย์ได้ส่งมอบเอกสารทางการทูตเพื่อรับรองรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้อิสราเอลโกรธเคือง

นอร์เวย์ สเปน และไอร์แลนด์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทั้งยังให้การสนับสนุนปาเลสไตน์มาอย่างยาวนาน ได้ประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการซึ่งทำให้อิสราเอลโกรธเคือง แม้ว่ามันจะเป็นเพียงการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม

ด้านมุสตาฟากล่าวว่า การรับรองนี้มีความหมายมากสำหรับเรา นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ใคร ๆ ก็ทำได้เพื่อชาวปาเลสไตน์ เพราะมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเรา

ทั้งนี้ ราว 140 ประเทศหรือมากกว่าสองในสามของชาติสมาชิกสหประชาชาติได้ยอมรับรัฐปาเลสไตน์ แต่ประเทศส่วนใหญ่ในอียูทั้ง 27 ประเทศยังคงไม่ให้การยอมรับ และตั้งเงื่อนไขว่าพวกเขาจะให้การยอมรับต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขที่ต้องการเท่านั้น

เบลเยียมซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอียูในขณะนี้ระบุว่า ตัวประกันชาวอิสราเอลกลุ่มแรกที่ฮามาสจับไปต้องได้รับการปล่อยตัว และการสู้รบในฉนวนกาซาจะต้องยุติลงขณะที่รัฐบาลอื่น ๆ บางแห่งสนับสนุนข้อริเริ่มใหม่ในการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top