Friday, 10 May 2024
ศาลฎีกา

ออกหมายจับ ‘ธาริต' หลังเบี้ยวศาลนัดอ่านฎีกาครั้งที่ 7 อ้างพักฟื้นผ่าตัด แต่อาจหลบหนีศาลคดีสลายชุมนุมปี 53

(2 ก.พ. 66) ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำสั่ง/ คำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 7 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐาน "เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่ โจทก์ ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์ แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับ ให้จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 3 ปี ลดโทษให้1ใน3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี

จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา อ้างว่า มีพยานหลักฐานใหม่ในคดี ขอให้ศาลฎีกา พิจารณา พิพากษาใหม่ และนายธาริต จำเลยที่ 1 มอบหมายให้ทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อนโดยให้เหตุผลต่างกันหลายครั้ง โดยครั้งหลังสุด ขอเลื่อนโดยให้เหตุผลเนื่องจากต้องผ่านิ่วในไตทั้ง 2 ข้าง ใช้เวลารักษานานราว 4 เดือน รวมทั้ง นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมล หรือน้องเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตที่วัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 และญาติผู้เสียชีวิตราย อื่นๆ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความที่สามในคดีด้วย

ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้ส่งคำร้องทั้งหมดให้ศาลฎีกา พิจารณาเพื่อมีคำสั่งคำร้อง โดยองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาจะพิจารณาผ่านระบบจอภาพผ่านศาลอาญา

นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาวันนี้ ทนายโจทก์ที่ 1-2 จำเลยที่ 2-4 ทนายจำเลยที่ 1 พนักงานอัยการในฐานะทนายจำเลยที่ 3,4 ผู้รับมอบอำนาจนายประกันจำเลยทั้ง4มาศาล ส่วนจำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา

ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าตามที่ได้แถลงต่อศาลในนัดที่แล้วว่า จำเลยที่ 1 เจ็บป่วยเป็นโรคนิ่วในไตทางด้านซ้ายและด้านขวา ต่อมาในวันที่ 29 มกราคม 2566 จำเลยที่ 1 ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ โดยแพทย์ได้ทำการผ่าตัดส่องกล้องผ่านท่อไตและใส่สายระบายเลือดไว้ในท่อไตทั้งสองข้าง จำเลยที่ 1 จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อพักฟื้นและต้องติดตามอาการเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อประเมินสภาพไตและก้อนนิ่วอีกครั้ง รายละเอียดตามคำร้องขอเลื่อนคดี ฉบับลงวันที่ 1 ก.พ.66 พร้อมเอกสารแนบท้าย

‘ศาลฎีกา’ ออกหมายจับ 'จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ' คดีรับตั๋วเครื่องบินจากอีสท์ วอเตอร์

(7 ก.พ.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.65 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) ได้มีคำสั่งออกหมายจับ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในคดี อม. 14/2565 ที่โจทก์ ยื่นฟ้องกล่าวหาว่ารับตั๋วเครื่องบินเป็นของขวัญมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท

โดยคดีดังกล่าว ศาลฎีกา อม. นัดพิจารณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 65 ซึ่งจำเลยไม่มาศาลในวันนัดดังกล่าว ศาลจึงออกหมายจับจำเลย ส่วนการพิจารณาคดีจำเลยได้แต่งทนายความเข้ามาต่อสู้คดี

สำหรับคดีดังกล่าวเป็นกรณีที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกับพวก กรณีรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อันไม่ควรได้ตามกฎหมาย

โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปี 2555 นายจารุพงศ์ กับพวก เดินทางไป-กลับ กทม.-ปักกิ่ง ประเทศจีน ด้วยสายการบินไชน่าแอร์ไลน์ ชั้นธุรกิจ ตกราคาที่นั่งละ 39,000 บาท ต่อมาปี 2556 เดินทางไป-กลับ กทม.-กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ด้วยสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ชั้นธุรกิจ ตกราคาที่นั่งละ 20,000 บาทเศษ รวมมูลค่าที่ได้รับไปเกือบ 6 หมื่นบาท

เลื่อนอ่านฎีกาครั้งที่ 8 หลัง ‘ธาริต’ กลับคำรับสารภาพ คดีมาตรา 157 แจ้งข้อหา ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งฆ่า ปชช.

(24 มี.ค. 66) ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 8 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการ โดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง” กรณีดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ซึ่งจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี

คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษพวกจำเลย โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา

จำเลยทั้ง 4 คน ยื่นฎีกา ต่อมาวันที่ 2 ก.พ. 66 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนี้อีกครั้ง แต่นายธาริต มอบหมายให้ทนายความ ยื่นคำร้องพร้อมใบรับรองแพทย์ ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน เนื่องจากต้องเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดนิ่วในไต โดยแพทย์ให้รักษาและรอดูอาการเป็นเวลา 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาฎีกาโดยอ้างว่าป่วยมาแล้วหลายครั้งนานกว่า 1 ปี มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า และมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับนายธาริตเพื่อมาฟังคำพิพากษาฎีกา โดยวันนี้นัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา ทนายโจทก์ จำเลยที่ 1 – 4 ทนายจำเลย นายประกันจำเลยที่ 1 พนักงานอัยการ ในฐานะทนายจำเลย เดินทางมาศาล

ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา เพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรับปรามการทุจริต มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคแรก มาตรา 26, 27, 29 วรรคแรก ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับกับคดีไม่ได้ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มี.ค. 2566

จําเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การฉบับเดิมและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกา ในการลงโทษจําเลยที่ 1 สถานเบา หรือรอการลงโทษจำเลยที่ 1

ทนายโจทก์ที่ 1 – 2 แถลงคัดค้านร่วมกันว่า คดีนี้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกามาแล้วหลายครั้งเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี จำเลยที่ 1 เป็นนักกฎหมายประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยใช้วิชากฎหมายมาโดยตลอด ย่อมต้องทราบดีว่าเมื่อ มีการนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องขอส่งสำนวนกลับคืนศาลฎีกาโดยอ้างเหตุที่ไม่เป็นสาระสำคัญแก่คดี การที่จำเลยที่ 1 ขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา จึงเป็นการประวิงคดีให้ล่าช้า ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลใช้บังคับ แต่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200

ดังนั้น มาตรา 157 จึงไม่ใช่กฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี อันจะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาของโจทก์ทั้งสอง เป็นการถอนคำให้การและให้การใหม่ หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จึงล่วงเลยระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรค 2 แล้ว

นอกจากนี้ ยังเป็นการให้การไปโดยจำนนต่อหลักฐานและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จึงไม่ควรมีเหตุที่จะบรรเทาโทษให้จำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้การดำเนินกระบวนพิจารณาล่าช้า และป้องกันการประวิงคดีโดยการยื่นคำร้องต่าง ๆ ที่ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาสั่ง เข้ามาก่อนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา ทนายโจทก์ที่ 1 – 2 จึงขอให้ศาลฎีกาเป็นผู้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้เอง

ศาลฎีกาฯ พิพากษายืนยกฟ้อง 'สุเทพ-พวก 6 คน' คดีก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ 396 แห่ง

(22 ส.ค.66) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลนัดอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมพวก 6 คน ในคดีร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก หรือแฟลตตำรวจ จำนวน 396 แห่ง

สำหรับจำเลย 6 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด ชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน แต่ต่อมา ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์คดีต่อ นำไปสู่การนัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้

ล่าสุดเมื่อ 11.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายืนยกฟ้องนายสุเทพ กับพวก 6 คน

ศาลฎีกาฯ มติเอกฉันท์ ยกฟ้อง-ถอนหมายจับ 'ยิ่งลักษณ์' พร้อมพวก ปมคดีจัดอีเวนต์โรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย งบ 240 ล้านบาท

(4 มี.ค. 67) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเป็นเอกฉันท์ 9:0 พิพากษายกฟ้องคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 6 คน ประกอบไปด้วย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน), บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และ นายระวิ โหลทอง จำเลยที่

ความผิดเกี่ยวกับการเสนอโครงการ โรดโชว์ ที่ไม่ใช่กรณีเร่งด่วนขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใช้ดุลยพินิจบิดผันสั่งอนุมัติงบกลาง มีเจตนาร่วมกันในการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษอันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ และยังมีการร่วมกันดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวดทั้งที่ไม่ได้เข้าเงื่อนไข เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจำนวนเงิน 239,700,000 บาท

โดยศาลชี้ว่าจำเลยที่ 1-3 ไม่มีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 157 และไม่มีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 2561 มาตรา 192 และมาตรา 123 /1 รวมถึงไม่มีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ ปี 2542 มาตรา 12 และ 13 และชี้ว่าจำเลยที่ 4-6 ไม่มีความผิดตามคำฟ้องเช่นกัน โดยยังไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86

จากการไต่สวนพยานและหลักฐานศาลชี้ว่า การที่จำเลย 1-3 ดำเนินนำงบกลางจำนวน 40 ล้านบาท มาจัดดำเนินโครงการโรดโชว์ เป็นการดำเนินนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งศาลมีอำนาจวินิจฉัยถึงการใช้งบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐและตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจของนางสาวยิ่งลักษณ์ และไม่ได้กำหนดเวลากระชั้นชิดเพียงเพื่อเป็นเหตุอ้างในการใช้งบกลาง ประกอบกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีความเห็นว่าสมควรที่นายกรัฐมนตรีจะอนุมัติงบกลางนี้ได้ จึงเป็นดุลยพินิจที่กระทำไปบนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นอีกทั้งการจัดโครงการโรดโชว์ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กระชั้นชิด

และยังกล่าวถึงพฤติการณ์ของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ว่าไม่ปรากฏว่ามีส่วนร่วมหรือแนะนำโดยมิชอบ ในกระบวนการเสนออนุมัติงงบกลาง ในการดำเนินการ และไม่ปรากฏพฤติการณ์ในการร่วมกันแทรกแซงหรือมีคำสั่งให้ เลือกบริษัทมติชนและบริษัทสยามสปอร์ตเป็นผู้รับจ้างโครงการไว้ล่วงหน้าก่อนเริ่มการจัดจ้าง หรือไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะอย่างใดเพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์หรือเลือกเฉพาะเจาะจงหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น

ขณะเดียวกัน จากการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า เห็นว่านายสุรนันทน์ไม่ได้กระทำการ ในลักษณะที่เป็นการชี้นำหรือจูงใจหรือให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ และไม่ได้มีบุคคลใดสั่งให้เลือกบริษัทเอกชนทั้งสองเป็นผู้รับจ้าง ซึ่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เป็นไปภายใต้เงื่อนไขการดำเนินโครงการที่กระชั้นชิด ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำได้ตามระเบียบกฎหมาย จึงไม่ได้ใช้วิธีการประกวดราคา ตามข้อกล่าวหาจึงขาดเรื่องเจตนาพิเศษ ในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติจัดโครงการ เพื่อทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

โดยประการสำคัญที่สุดหลังเกิดเหตุรัฐประหารเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโครงการดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าโครงการโรดโชว์ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุจึงอนุมัติเบิกจ่าย สอดคล้องกับการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดพบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานรัฐ ดังนั้นจึงฟังได้ว่านายสุรนันทน์ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติ

สำหรับโครงการอีก 10 จังหวัดในวงเงิน 200 ล้านบาท เป็นการดำเนินการที่กระชั้นชิดไม่มีเวลาเพียงพอที่จะใช้วิธีการประกวดราคา และเข้าเงื่อนไขตามระเบียบสำนักนายกฯรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุเช่นเดียวกัน

ส่วนจำเลย 4-6 จากข้อเท็จจริงทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดซึ่งกรณีการแบ่งจังหวัดของบริษัทมติชนและบริษัทสยามสปอร์ตนั้นเป็นไปตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและเพื่อจัดทำงานนำเสนอจึงไม่ถือว่าเป็นการตกลงร่วมกันฮั้วประมูลจึงไม่ผิดตามคำฟ้อง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top