Sunday, 6 April 2025
ศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นสั่งเรียกคืน มาสด้า 2 ดีเซล ปี 2014-2018 ทุกคัน หลังพบปัญหาการใช้งาน ซึ่งอาจเกิดอันตรายกับผู้ขับขี่

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัทมาสด้า เรียกคืนรถยนต์มาสด้า 2 เครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซล (Mazda 2 Skyactiv D 1.5) ที่ผลิตในปี 2014-2018 ทุกคัน พร้อมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภค หลังผู้บริโภค 9 คน รวมตัวฟ้องบริษัทเป็นคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากพบปัญหาการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสั่น หรือเครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น ซึ่งอาจเกิดอันตรายกับผู้ขับขี่ได้

(29 มี.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (28 มี.ค.) นางสาวจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความผู้ดูแลคดีการฟ้องร้อง มาสด้า 2 เปิดเผยว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เรียกคืนรถยนต์มาสด้า 2 เครื่องยนต์เชื้อเพลิงดีเซล (Mazda 2 Skyactiv D 1.5) ทุกคันที่ผลิตในปี 2014-2018 (ปี พ.ศ. 2557-2561) เข้ามาซ่อมแซม

เนื่องจากเป็นสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเป็นสินค้าไม่ปลอดภัยที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ขับขี่ได้ นอกจากนั้นยังได้กำหนดให้บริษัทต้องชดใช้ราคาค่าซ่อมตามจริง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถวันละ 1,800 บาท รวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจรายละ 30,000 บาท

อีกทั้งบริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง หลังจากที่ผ่านมาผู้บริโภคจำนวน 9 คน ได้ยื่นฟ้องบริษัทมาสด้าเป็นคดีแบบกลุ่ม ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เนื่องจากพบปัญหาเรื่องการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเครื่องสั่น หรือปัญหาเครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์จากคำพิพากษาของศาลที่ออกมานั้นเป็นเรื่องที่ดีและเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้ประกอบการรายอื่นที่จะต้องรับผิดชอบกับผู้บริโภคหรือลูกค้าของตัวเอง เพราะที่ผ่านมาเมื่อไม่มีสภาพบังคับที่ชัดเจน ผู้ประกอบการจะพยายามหลีกเลี่ยงและหลบหลีกความรับผิดชอบ

“ในหลาย ๆ คดี เมื่อเกิดสภาพบังคับโดยคำพิพากษาของศาลขึ้นและหากผู้ประกอบการหรือบริษัทไม่น้อมรับหรือไม่ปฏิบัติตาม อาจส่งผลให้ศาลชั้นสูงมองว่าเอาเปรียบผู้บริโภคและอาจมีคำสั่งลงโทษ โดยเพิ่มค่าเสียหายเชิงลงโทษโดยบริษัทจะต้องจ่ายให้กับผู้บริโภคอีก ซึ่งหลังจากนี้ผู้บริโภคต้องการเห็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง” น.ส.จิณณะ ระบุ

สั่งทีวีจากร้านออนไลน์ เจอจอแตก ทักไปขอเปลี่ยนเครื่อง แอดมินถามหา คลิปตอนแกะ ‘ทนายเกิดผล’ ชี้!! ไม่เป็นธรรม ร้านต้องรับเปลี่ยน แล้วค่อยเรียกค่าเสียหายจาก ‘ผู้ขนส่ง’

(17 ส.ค.67) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ข้อความลงในกลุ่ม ‘พวกเราคือผู้บริโภค’ หลังสั่งซื้อทีวีจากออนไลน์มาแล้วปรากฏว่าทีวีจอแตกใช้ไม่ได้ ความว่า ซื้อทีวีจากแพลตฟอร์มออนไลน์ สภาพคือแตก กล่องมีรอยเล็กน้อย ทักไปทางร้านไม่เปลี่ยนเครื่องถ้าไม่มีวิดีโอตอนแกะกล่อง ปล.2 คนแกะก็ลำบากแล้ว ใครจะตั้งกล้องถ่ายไว้

เมื่อผู้โพสต์ทักไปพูดคุยกับแอดมินร้านค้า และแจ้งว่าไม่ได้ถ่ายวิดีโอไว้ตอนแกะกล่อง โดยแอดมิน แนะนำว่า ให้คนอื่นช่วยถ่ายได้ หรือมีขาตั้งกล้อง หรือสถานที่ที่สามารถวางโทรศัพท์ได้หรือไม่

หลังโพสต์มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยแนะนำให้ผู้โพสต์ทำเรื่องคืนสินค้ากับแพลตฟอร์มออนไลน์ บางส่วนให้ถามกลับว่าตอนแพ็กสินค้า ได้ถ่ายคลิปไว้หรือไม่

ทั้งนี้สำหรับประเด็นถ่ายวิดีโอตอนแกะกล่องนั้น ‘ทนายเกิดผล แก้วเกิด’ เคยให้ข้อมูล โดยยกคดีที่ ‘ศาลจังหวัดอุดรธานี’ คดีหนึ่ง ผู้ซื้อสินค้า รับสินค้าไว้ แต่ไม่ได้ถ่ายคลิปวิดีโอ ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อเปิดกล่องพัสดุ ผลคือ สินค้าแตกหัก ขอคืนสินค้า แต่ผู้ขายปฏิเสธ เพราะผู้ซื้อไม่ได้ถ่ายคลิปเป็นหลักฐานในขณะรับสินค้า ลูกค้าจึงนำคดีมาฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค

ซึ่ง ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดอุดรธานี ) พิพากษาว่า “…ข้อความดังกล่าวนี้ถือเป็น ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม สัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินสมควร ประกอบกับคู่สัญญาไม่ได้รับความยินยอมในสัญญาตั้งแต่ต้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 11 สิ่งที่ควรกระทำผู้จัดส่งควรถ่ายวิดีโอขณะแพ็กสินค้า ผู้รับควรถ่ายวิดีโอขณะแกะสินค้า เมื่อมีการชำรุด แตกหัก ร้านค้าต้องรับผิดชอบในเบื้องต้น และเรียกค่าเสียหายจากผู้ขนส่งมิใช่เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคฝ่ายเดียว…”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top