Saturday, 18 May 2024
ศรีลังกา

ศรีลังกา - ชาวบ้านศรีลังกา โวย!! โครงการถนนใน Higurakgoda สร้างผลกระทบในชีวิตประจำวัน หลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อสร้างไม่มาตรฐานและไม่มีการมาเก็บงานซ่อมแซม!!

(Higurakgoda / ศรีลังกา) ชาวบ้านจำนวนมากในพื้นที่ Higurakgoda กำลังเจอผลกระทบจากสภาพทรุดโทรมของถนนสายหลักที่เชื่อมต่อไปสู่หมู่บ้านจากโครงการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

โดยประชาชนในหมู่บ้านดังกล่าวประสบปัญหาในการเดินทางไปทำงานในเมือง หรือแม้แต่การไปทำธุระต่างๆ จากเหตุปัญหาถนนทรุดโทรมทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก โดยเด็กนักเรียนในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด บางคนไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ เพราะถนนดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน

แม้จะมีการแจ้งตัวแทนทางสายการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อมาดูแล แต่ก็ยังไม่มีใครเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นจริงเป็นจัง พร้อมทั้งปล่อยให้ถนนสายดังกล่าว ซึ่งมีการซ่อมแซมแบบขอไปทีตลอดช่วง 2-3 ปีมานี้ค้างคา และบรรดาชาวบ้านต้องทนทำใจใช้ถนนที่ไม่ได้มาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งไปกว่านั้น บางส่วนของพื้นถนนก็เริ่มผุกร่อนพังทลาย กลายเป็นแอ่งหลุมบ่อ กลายเป็นแหล่งเพาะยุงและไข้เลือดออก แพร่กระจายกระทบสุขภาพชาวบ้านหลายคนให้เจ็บป่วย

แม้จะมีผู้อยู่อาศัยและชาวบ้านโดยละแวกร้องขอให้มีการเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง แต่คำขอเหล่านั้นก็ดูเหมือนจะถูกละเลยจากผู้เกี่ยวข้อง

‘นักเรียนศรีลังกา’ หลายล้านอดสอบ เหตุวิกฤตศก.ครั้งใหญ่ ทำกระดาษขาดแคลน

ศรีลังกาประกาศยกเลิกการสอบของนักเรียนหลายล้านคน หลังประเทศประสบปัญหาไม่มีกระดาษพิมพ์ เพราะไม่มีเงินดอลลาร์ที่จะนำไปจ่ายในการนำเข้ากระดาษ

หน่วยงานด้านการศึกษาของศรีลังกาเผยว่า การสอบของนักเรียนซึ่งจะเริ่มต้นในวันจันทร์ที่กำลังจะมาถึงต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนกระดาษอย่างฉับพลัน หลังศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2491

‘รัฐมนตรีศรีลังกา’ ลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ หลังปชช. ลุกฮือประท้วงวิกฤตข้าวยากหมากแพง

บรรดารัฐมนตรีของศรีลังกา ยกเว้นประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพี่ชายของเขา ลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะในวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) ขณะที่กลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาลพยายามหาทางคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังหนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเทศเอเชียใต้แห่งนี้กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิงและข้าวของที่จำเป็นอย่างรุนแรง เงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์และถูกตัดไฟ ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1948

คณะรัฐมนตรีทั้ง 26 คนในรัฐบาล ยกเว้นประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา และพี่ชายของเขา นายกรัฐมนตรีมาฮินดา ราชปักษา ยื่นหนังสือลาออกในที่ประชุมช่วงกลางดึก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยกับพวกผู้สื่อข่าว

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เปิดทางให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในวันจันทร์ (4 เม.ย.) และบางคนที่ลาออกจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งกลับมาใหม่

การลาออกของคณะรัฐมนตรี มีขึ้นในขณะที่ประเทศแห่งนี้อยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังฝูงชนพยายามบุกบ้านประธานาธิบดีในกรุงโคลอมโบ เมืองหลวงของประเทศ และประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศมีผลบังคับใช้ไปจนถึงช่วงเช้าวันจันทร์ (4 เม.ย.)

ก่อนหน้านี้ ซามากี จายา บาลาวีกายา พันธมิตรฝ่ายค้ายหลักของศรีลังกา ประณามการตัดสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีเป้าหมายสยบการประท้วงของประชาชนที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และบอกว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องลาออก

อิรัน วิกรัมมารัตน์ (Eran Wickramaratne) ส.ส.คนหนึ่ของพรรคซามากี จายา บาลาวีกายา ประณามการประกาศภาวะฉุกเฉินและการสั่งทหารเข้าประจำการบนท้องถนนสายต่างๆ "เราไม่อาจปล่อยให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ" เขากล่าว "พวกเขาควรรู้ว่าเรายังคงเป็นประชาธิปไตย"

บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับคำสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊ก WhatsApp ทวิตเตอร์ และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ แต่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถขัดขวางการชุมนุมขนาดเล็กอีกหลายจุดตามเมืองอื่นๆ ในศรีลังกา

ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยในเมืองเปราดินิยา ทางภาคกลาง แต่การประท้วงในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศยุติลงโดยปราศจากเหตุการณ์ใดๆ

สื่อมวลชนรายงานว่า ประธานคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบอินเทอร์เน็ตของศรีลังกาตัดสินใจลาออก หลังคำสั่งแบนมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม มาตรการปิดกั้นเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ถูกยกเลิกในเวลาต่อมา หลังคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ตัดสินว่ากระทรวงกลาโหมไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการเช่นนั้น

ท้องถนนสายต่างๆ ของกรุงโคลอมโบ ส่วนใหญ่แล้วยังคงว่างเปล่าในวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) นอกเหนือจากการประท้วงของฝ่ายค้านขนาดเล็กๆ และยานยนต์ที่ต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอเติมน้ำมัน

เดิมทีพวกผู้ชุมนุมมีแผนประท้วงใหญ่ในวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) ก่อนมาตรการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มีผลบังคับใช้ แต่แกนนำตัดสินใจเลื่อนการชุมนุม โดยรอให้ประกาศเคอร์ฟิวถูกยกเลิกไปก่อนในวันจันทร์ (4 เม.ย.)

‘กอบศักดิ์’ มองวิกฤต ‘ศรีลังกา’ เป็นหนังตัวอย่างที่เจอปัญหาหนี้รัฐบาล-ครัวเรือนทะลุเพดาน ชี้ ประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องเจอในไม่ช้า หลังผลกระทบโควิด 

.
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า 

จากวิกฤตสู่วิกฤต

ศรีลังกาเป็นเพียงประเทศแรกๆ ใน Emerging markets ที่เข้าสู่วิกฤตในรอบนี้ 

เป็นเพียงหนังตัวอย่าง ที่ยังมีอีกหลายประเทศ ที่จะประสบปัญหาเศรษฐกิจ (แต่คงใช้เวลาอีกระยะ)

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า ระหว่างสองปีที่ผ่านมา ทุกประเทศทั่วโลกต้องต่อสู้กับการแก้ไขปัญหาโควิด 

รัฐบาลใช้เงินไปมากในการเยียวยา ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการจัดซื้อวัคซีน และการให้บริการสาธารณสุขกับประชาชนของตนเอง 

ระดับหนี้ของรัฐบาลจึงเพิ่ม ทะลุเพดานหนี้ที่เหมาะสม

ด้านเอกชน  SME ก็ลำบากกันทั่ว จากยอดขายที่ลดลง จากหนี้ที่ต้องก่อ เพื่อหาสภาพคล่องมาประคองธุรกิจ

ส่วนประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ก็มีหนี้เพิ่มพูน จนระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ทำให้ Emerging Markets หลายๆ ประเทศ สะสมความเปราะบางเพิ่มขึ้น เข้าสู่จุดคับขัน 

ที่น่าหนักใจที่สุด ก็คือ ปกติแล้วหลังวิกฤต เราจะมีช่วงดีๆ อย่างน้อย 2-3 ปี  ให้เคลียร์ปัญหาต่างๆ ที่สะสมขึ้น เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ ร้านค้าค้าขายดี รัฐบาลเก็บภาษีได้ 

ทั้งหมดช่วยให้ระดับหนี้ของภาครัฐ เอกชน ประชาชน ลดลง ทำให้ทุกคนฐานะการเงินเข้มแข็งขึ้น สามารถสะสมเงินออมอีกรอบ พร้อมรับกับวิกฤตรอบถัดไป

อย่างไรก็ตาม ที่บอกว่าน่าหนักใจมากรอบนี้ ก็เพราะเรากำลังจะออกจากวิกฤตหนึ่ง แต่จะเข้าสู่อีกวิกฤตทันที 

ช่วงเวลาดีดี ไม่ได้มาอย่างเคย!!! 

ไม่มีเวลาหายใจ

ทำให้ทุกประเทศเข้าสู่อีกช่วงของความท้าทาย โดยที่ทุกคนมีความเปราะบางทางการเงินอย่างยิ่ง 

ยิ่งเงินเฟ้อสูงเป็นพิเศษจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งเฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ผลกระทบต่อ Emerging Markets ก็จะยิ่งแรงกว่าปกติ 

หลายคนที่ปริ่มน้ำอยู่แล้ว อาจจมน้ำได้

ศรีลังกาจึงเป็นกรณีศึกษา ที่เป็นบทเรียนให้กับทุกคน

ก่อนโควิดระบาด ศรีลังกาได้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ที่ชอบเรียกกันว่า "โครงการช้างเผือก" ได้สร้างหนี้ให้กับรัฐบาล ทำให้ฐานะของรัฐบาลอ่อนแอลง ทั้งในเรื่องของท่าเรือ สนามบิน โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ

‘ศรีลังกา’ ตัดสินใจกะทันหัน หนีซบ IMF แทนพึ่งเงินกู้จากจีน

รัฐบาลจีนแสดงทีท่าไม่ค่อยพอใจนัก เมื่อรัฐบาลศรีลังกามีแผนที่จะรับเงินกู้ก้อนใหม่จาก IMF เพื่อฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบต่อปัญหาปากท้องของชาวศรีลังกากว่า 22 ล้านคนในตอนนี้

ด้วยสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกาในขณะนี้ ที่ขาดสภาพคล่อง และเงินสำรองต่างประเทศอย่างหนัก ถึงกับต้องประกาศพักชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมด เพื่อสำรองเงินต่างประเทศไว้นำเข้าสินค้าอุปโภคที่จำเป็น เวชภัณฑ์และพลังงานไว้ใช้ในประเทศเท่านั้น นับเป็นวิกฤติด้านเศรษฐกิจที่หนักที่สุดของศรีลังกา นับตั้งแต่เป็นประเทศเอกราชในปี 1948 

และนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศ เนื่องจากประชาชนหลายล้านคนกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าอุปโภค บริโภคราคาสูงขึ้นมาก หลายชุมชนมีปัญหาขาดไฟฟ้า/น้ำประปานานนับสัปดาห์ และภาคสาธารณสุขดำดิ่งสู่วิกฤติที่ใกล้ถึงจุดพังทลาย

รัฐบาลศรีลังกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา จึงต้องหาวิธีผ่าตันด้วยการขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนระหว่างประเทศ หรือ IMF อีกครั้ง 

ศรีลังกาเคยขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุน IMF มานานเกือบ 20 ปี ครั้งล่าสุดที่ IMF เข้ามาดูแลปัญหาการเงินของศรีลังกา อยู่ในช่วงปี 2019 ที่ทำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งจนถึงปีนี้ 2022 ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ และหากต้องการเสริมสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจให้พอต่อลมหายใจได้อีกครั้ง รัฐบาลศรีลังกาต้องการวงเงินกู้เพิ่มไม่น้อยกว่า 3 พันล้านเหรียญ

แต่ทั้งนี้ นอกเหนือจากเงินทุนช่วยเหลือจาก IMF และสถาบันการเงินของชาติตะวันตกแล้ว จีนก็เป็นหนึ่งในผู้ให้เงินกู้รายใหญ่กับรัฐบาลศรีลังกา พ่วงกับเงื่อนไขสัญญาในโครงการก่อสร้างในโปรเจกต์ Belt and Road Initiative ของจีน ซึ่งนับถึงตอนนี้รัฐบาลจีนปล่อยเงินกู้ให้ศรีลังกาไป 3.5 พันล้านเหรียญ

และทางการจีนได้เสนอที่จะให้เงินกู้ก้อนใหม่แก่ศรีลังกาอีกกว่า 1.5 พันล้านเหรียญเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ แต่ทว่าทางรัฐบาลศรีลังกาได้ตอบรับการช่วยเหลือจากกองทุน IMF อีกครั้ง ซึ่งเป็นการตัดสินใจอย่างกะทันหัน ทำให้รัฐบาลจีนไม่ค่อยพอใจเท่าใดนัก และยอมรับว่าการตัดสินใจของรัฐบาลศรีลังกา จะมีผลกับการเจรจาการให้เครดิตเงินกู้รอบใหม่กับจีนอย่างแน่นอน

‘ผู้นำศรีลังกา’ แจ้งข่าวร้ายประชาชน น้ำมันหมดประเทศ - เศรษฐกิจพังยับ

นายรานิล วิกรามาสิงหะ นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของศรีลังกา ออกมายอมรับอย่างตรงไป ตรงมา ว่า ตอนนี้ศรีลังกาไม่มีน้ำมันสำรองเหลือแล้ว ทางรัฐบาลต้องหาเงินสำรองต่างประเทศให้ได้วันละ 75 ล้านเหรียญ เพื่อมาซื้อน้ำมันใช้วันต่อวัน

นับเป็นสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจขั้นเลวร้ายที่สุดของศรีลังกา ประเทศที่เคยได้รับฉายาว่าเป็นไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย ที่วันนี้ได้กลายเป็นประเทศจวนเจียนล้มละลาย ถึงขั้นที่รัฐบาลของ นายราวิล วิกรามาสิงหะ จำเป็นต้องบอกสถานการณ์จริงให้ประชาชนได้รู้ และยอมรับความจริงว่าสถานะการเงินของประเทศนั้นเลวร้ายแค่ไหน

รัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศว่า ตอนนี้มีน้ำมันคงเหลือเพื่อใช้ในประเทศได้เฉพาะวันนี้ วันเดียวเท่านั้น (17 พ.ค.) แต่ยังมีเรือบรรทุกน้ำมันจอดรออยู่นอกท่าเรือโคลัมโบอีก 3 ลำ ซึ่งทางรัฐบาลกำลังหาเงินสำรองต่างประเทศจ่ายอยู่

หลังทราบข่าว ประชาชนชาวศรีลังกา ในกรุงโคลัมโบ ก็รีบออกมาเติมน้ำมันตามปั๊มน้ำมันคิวยาวเหยียด โดยบางคนรีบออกมาต่อคิวแต่เช้าตรู่ และต้องรอนานถึง 7 ชั่วโมงเพื่อจะเติมน้ำมัน ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่ชาวศรีลังกาใช้วิธีการสัญจรด้วยรถลากแบบโบราณ เพื่อรอต่อคิวรับบริการน้ำมันเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันไม่ได้กระทบแค่ผู้ใช้รถยนต์เท่านั้น แต่จะมีผลโดยตรงถึงระบบขนส่งในประเทศที่อาจต้องหยุดชะงัก ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศขายสายการบิน ศรีลังกา แอร์ไลน์ เพราะไม่สามารถแบกรับสภาวะขาดทุนอย่างหนักของสายการบินแห่งชาติได้อีกต่อไป 

 

'รัสเซีย' ช่วยส่งน้ำมัน 'จีน' ช่วยส่งเวชภัณฑ์-ข้าว-ดูแลหนี้ น้ำใจที่ ศรีลังกา ไม่เคยได้จากการคบตะวันตกกว่า 100 ปี

ที่ผ่านมาในยามศรีลังกา มีกินมีใช้ แต่ก็มักจะถูกฝ่ายระเบียบโลกเก่า สหรัฐอเมริกา และอดีตเจ้าอาณานิคมสหราชอาณาจักร ปอกลอกจนหมดตัว ผ่านนโยบายรัฐบาลที่โปรตะวันตก เห่อตามกระแสถือครองเงินดอลลาร์, ยูโร ในสัดส่วนที่สูงมากกว่าเงินตราชาติตนเอง

ส่งผลให้เกิดการละทิ้งภาคเกษตรลงไป 50% จนรายได้ลดหายไป, พิมพ์เงินตราท้องถิ่นตนเพิ่มไม่บันยะบันยังโดยไร้ทองคำค้ำประกัน, ใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อไปกับค่าพลังงานสิ้นเปลือง, ปิดโรงกลั่นน้ำมันดิบ ซื้อน้ำมันสำเร็จรูปเอาสะดวกเข้าว่า...

...ไม่นานนักอัตราเงินเฟ้อก็ทะยานกว่า 39%

พอหมดหนทาง ก็พิมพ์เงินเพิ่มไปใช้หนี้ต่างประเทศ และพันธบัตร จากนั้นจบตามสูตรด้วยการไปขอกู้ IMF กับธนาคารโลก พร้อมทั้งทำแผนขายสินทรัพย์ชาติ เช่น สายการบิน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นสูตรสำเร็จในการโจมตีค่าเงินแบบชาติตะวันตก ที่ทำกันมานานแล้วกับหลายชาติที่รัฐบาลโปรตะวันตก และรู้ไม่เท่าทัน (เฉกเช่นพิษต้มยำกุ้งทางเศรษฐกิจ)

สุดท้ายเงินคงคลังของศรีลังกาเกลี้ยง ถังแตก ไม่มีเงินชำระหนี้คงค้างค่าน้ำมันสหรัฐฯ แม้จะแค่ 53 ล้านดอลลาร์ ด้านเรือน้ำมันก็จอดจิบกาแฟ นอนตากอากาศสบายใจเฉิบอยู่นอกชายฝั่งไม่ยอมเทียบท่า ท่ามกลางปัญหาทุกข์เข็ญของคนศรีลังกาทั้งประเทศที่ขาดแคลนน้ำมัน ดับลมหายใจการเดินทางด้วยรถยนต์, เรือประมงต้องงดหาปลา, ไฟฟ้าดับแทบตลอดวัน, ขาดยารักษาโรค, อาหาร, สินค้าจำเป็นอุปโภคบริโภค ประชาชนเสียชีวิตไปหลายสิบคนเนื่องจากไม่มีน้ำมันเติมรถไปโรงพยาบาล ขณะที่อุปกรณ์การแพทย์ฉุกเฉินก็ขาดกระแสไฟฟ้าเชื่อมต่อ

ซ้ำร้าย!! รัฐบาลศรีลังกา ที่เคยรับคำสั่งมหาอำนาจจากระเบียบโลกเก่า ก็ได้ทำสิ่งที่ผิดร้ายแรง คือ ประกาศอายัดเครื่องบินโดยสารรัสเซีย แต่เมื่อจนตรอกยากจนทุกข์ยาก ชาติตะวันตกสุดโหดเหล่านั้นก็นิ่งดูดายเสีย ไม่ส่งน้ำมัน ยารักษาโรค หรือแม้จะส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไปให้ ทำให้รัฐบาลศรีลังกา ต้องดิ้นเฮือกสุดท้ายบากหน้ายอมขัดคำสั่งสหรัฐฯ โดยติดต่อขอซื้อน้ำมันจากรัสเซียโดยไม่มีเงิน ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาไม่มีความหวังเลยว่ารัสเซียจะช่วยเนื่องจากไปอายัดเครื่องบินโดยสารรัสเซียไว้

>> แต่โลกไม่ได้เลวร้าย และ 'รัสเซีย' ก็ไม่ได้โหดร้ายตามที่ชาติตะวันตกปั้นภาพให้น่ากลัว เมื่อรัฐบาลศรีลังกา กล้าอ่อนน้อมมาขอ ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียก็กล้าให้ ตามสไตล์ 'นักเลงโบราณ ใจถึงพึ่งได้' โดยปูตินสั่งบริษัทพลังงานรัฐวิสาหกิจของรัฐ ขนน้ำมันดิบใส่เรือมาเทียบท่าศรีลังกาในเวลาไม่กี่อึดใจเท่านั้น 

ส่วนเรื่องเงินค่าน้ำมันน่ะหรอ!! สำหรับรัสเซียแล้วเล็กน้อยมาก ให้ติดหนี้ไว้ก่อนมีเมื่อไรค่อยมาใช้ คนจะอดตายอยู่แล้วไม่ใช่เวลามาขูดเลือดกับปู 

เรื่องนี้แม้แต่รัฐบาลศรีลังกา ยังแทบไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมาคบกับชาติตะวันตกมาเป็นร้อยปี มีแต่ถูกเอาเปรียบกดขี่เอาแต่ได้แถมยังถูกปอกลอกมาตลอด ขณะที่รัสเซียไม่เพียงแค่ช่วยขนน้ำมันมาให้ถึงท่า แต่ยังส่งทีมงานมาช่วยเดินเครื่องโรงกลั่นน้ำมันอีกด้วย ส่งผลให้เกิดผลผลิตพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันดิบตามมามากมาย เช่น ก๊าซเหลวหุงต้ม, น้ำมันหล่อลื่น, น้ำมันเตา, ยางมะตอย ฯลฯ

งานนี้ส่งผลให้ศรีลังกา ละอายใจมากแพ้ใจนักเลงรัสเซีย จนต้องรีบปล่อยอายัดเครื่องบินโดยสารทันที

>> ล่าสุดมิตรแท้ ก็โผล่มายามยากจนข้นแค้นอีกราย คือ 'จีน' ที่ได้ขนส่งเวชภัณฑ์ ข้าว และสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อมนุษยธรรมฉุกเฉินล็อตแรก 500 ล้านหยวน ถึงศรีลังกาเป้นที่เรียบร้อย และที่คาดไม่ถึงคือ นายจ้าว ลี่เจี้ยน (Zhao Lijian) โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน แถลงว่า "จีนจะช่วยศรีลังกาจัดการกับภาระหนี้สินที่มีต่อจีน และหนี้กับประเทศอื่น รวมทั้งหนี้กับองค์กรระหว่างประเทศ (IMF, World bank) อีกด้วย"

...เพื่อนกินหาง่ายยามเรามีกินมีใช้ แต่พวกเขาจะพากันหายหัวไปเมื่อเราตกยาก แต่เพื่อนแท้จริงใจจะมาช่วยเหลือในยามที่เราไม่เหลืออะไรเลย แค่อาหาร เวชภัณฑ์ พลังงาน ให้ชีวิตรอดมีแรงเดินต่อได้ และยังช่วยดูแลหนี้ต่างๆ แค่นี้ก็ซึ้งใจ

‘กอบศักดิ์’ เตือน!! วิกฤติ ‘ศรีลังกา’ แค่หนังตัวอย่าง อาจเกิดแบบนี้กับอีกหลายประเทศใน 2 ปีข้างหน้า

วิกฤติเศรษฐกิจในศรีลังกา ดูท่าจะเป็นหนังตัวอย่างให้อีกหลายประเทศที่เริ่มแสดงอาการในลักษณะคล้ายคลึงกันต้องวางแผนให้รัดกุมขึ้น โดยล่าสุด นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kobsak Pootrakool หัวข้อ ‘บทเรียนจากศรีลังกา’ ระบว่า...

บทเรียนจากศรีลังกา 

สิ่งที่เกิดที่ศรีลังกา อาจเกิดได้กับอีกหลายๆ ประเทศในช่วง 2 ปีข้างหน้า

บ่อยครั้งที่วิกฤตเศรษฐกิจ ลุกลามเป็นวิกฤตทางสังคมและการเมือง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ 

เมื่อคนอดอยาก ตกงาน ไม่มีรายได้ อย่างกว้างขวาง

ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคมต่างๆ จะตามมา

ยิ่งไปกว่านั้น 

ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ลำบากขึ้นเรื่อยๆ 

จากราคาอาหาร พลังงาน น้ำมัน สิ่งของต่างๆ ที่พุ่งขึ้นสูง 

 จะนำไปสู่ความไม่พอใจในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และความไม่พอใจในรัฐบาลในที่สุด

ยิ่งประเทศไหนมีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อย 

ปัญหาก็สามารถลุกลามรุนแรงขึ้นไปอีกขั้น 

เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศที่น้อย หมายความว่าประเทศจะไม่สามารถดูแลค่าเงินของตนเองได้ 

ทำให้ค่าเงินอ่อนฮวบลง 

ยิ่งหากเป็นเป้าของการถูกโจมตีเก็งกำไรค่าเงินด้วยแล้ว ก็จะยิ่งลำบากมากขึ้นเท่าทวีคูณ เพราะประเทศในกลุ่ม Emerging Market จำนวนมากมีเงินสำรองเพียงหยิบมือเดียว 

รัฐสภา ‘ศรีลังกา’ ไม่สนใจเสียงม็อบ เทคะแนนเลือก ‘วิกรมสิงเห’ นั่งผู้นำคนใหม่

รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรี 6 สมัย ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของศรีลังกาเมื่อวันพุธ (20 ก.ค.) โดยมีพรรคการเมืองของโกตาภยา ราชปักษา อดีตผู้นำที่บินหนีออกนอกประเทศให้การสนับสนุน

ก่อนการโหวตของสภา รานิล วิกรมสิงเห แถลงออกตัวว่า ตอนที่เข้าร่วมรัฐบาลของราชปักษาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจศรีลังกาพังครืนไปแล้ว แต่นับจากนั้นเขาดำเนินการจนกระทั่งสามารถลดเวลาการดับไฟฟ้าเนื่องจากขาดแคลนเชื้อเพลิงในการผลิต จากวันละ 5 ชั่วโมง เหลือ 3 ชั่วโมง รวมทั้งสามารถแจกจ่ายปุ๋ยให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแบนซึ่งบังคับใช้อยู่ก่อนหน้านั้น

สำหรับผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการของรัฐสภา ปรากฏว่า วิกรมสิงเหได้คะแนนจากสมาชิกสภา 134 เสียง ขณะที่คู่แข่งสำคัญคือ ดัลลัส อลาฮัปเปอรูมา ได้ 82 เสียง และตัวแทนจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย อนุรา ดิษนายาเก ได้แค่ 3 เสียง เท่ากับว่า วิกรมสิงเหได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง และชนะแบบขาดลอยไปตั้งแต่การโหวตรอบแรก ทั้งนี้ศรีลังกาเป็นประเทศที่รัฐสภามีเพียงสภาเดียว

หลังจากนั้น วิกรมสิงเห ที่เคยล้มเหลวในการสมัครลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมา 2 ครั้ง 2 ครา กล่าวสั้น ๆ ว่า ขณะนี้ความแตกแยกจบลงแล้ว และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อนำประเทศพ้นจากวิกฤต พร้อมแสดงความหวังว่า จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งแบบเรียบง่ายภายในอาคารรัฐสภาที่มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดให้แล้วเสร็จภายในวันพุธเลย

ฤา.....เมียนมาจะล่มสลายเหมือนศรีลังกา

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เอยาได้ยินเสียงแว่วออกมาจากฝั่งสามนิ้วชาวเมียนมาก็ดี ชาวไทยก็ดีว่า อีกไม่นานเมียนมาจะล่มสลายแบบเดียวกับศรีลังกา เรื่องแบบนี้มันสามารถปลุกกระแสได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารของเมียนมา เอาเป็นว่าก่อนที่จะที่ทุกคนจะเชื่อหรือไม่ วันนี้เอยามาหาคำตอบให้ทุกคนได้รู้กัน

ก่อนจะพูดถึงว่าเกิดอะไรขึ้นกับตระกูลราชปักษาที่ทุกคนทราบกันดีว่าเหตุของการล่มสลายของศรีลังกาเราควรมาทราบก่อนว่าตระกูลราชปักษานั้นขึ้นมามีอำนาจได้อย่างไร ก่อนอื่นๆ ต้องเข้าใจก่อนว่าในอดีตศรีลังกามีคนอาศัยอยู่ 2 ชาติพันธุ์นั่นคือ ชาวสิงหลที่เป็นชาวพื้นเมือง อีกชาติพันธุ์คือชาวทมิฬที่ย้ายถิ่นฐานมาจากอินเดียใต้ และมีปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างชนชาติมาตลอดตั้งแต่สมัยก่อนยุคล่าอาณานิคม จนถึงยุคล่าอาณานิคม แม้จะมีการเปลี่ยนมือกันปกครองจากโปรตุเกสเป็นฮอลันดาและอังกฤษในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในยามที่อังกฤษปกครองเป็นช่วงเวลาที่สร้างรอยร้าวระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬมากที่สุด จนถึงวันที่ปลดปล่อยเอกราชออกจากอังกฤษ ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬมาเป็นเวลานับศตวรรษ โดยชาวทมิฬต้องการที่จะแยกดินแดนทางภาคเหนือและตะวันออกของประเทศตั้งเป็น มาตุภูมิทมิฬ จึงได้ก่อตั้งกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม หรือ LTTE เพื่อเป็นกองกำลังในการต่อสู้กับรัฐบาล โดยใช้วิธีการก่อการร้าย ระเบิดพลีชีพ และการลอบสังหาร โดยพุ่งเป้าไปที่หน่วยทหาร ผู้นำทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นชาวสิงหล จนกระทั่งนอร์เวย์เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยนำไปสู่การลงนามความตกลงหยุดยิงในปี 2545 ซึ่งตามมาด้วยการเจรจาสันติภาพที่มีการประชุมมาทั้งหมด 8 ครั้ง โดยการเจรจาฯ จัดขึ้นที่ไทย 3 ครั้ง (กันยายน/ตุลาคม 2545 และมกราคม 2546) การเจรจาฯ ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 - 29 ตุลาคม 2549 ที่นครเจนีวา ก็ไม่ปรากฏผลที่สำคัญใดๆ อาจกล่าวได้ว่า การเจรจาฯ ที่ผ่านไม่สามารถบรรลุผลใด ๆ ที่เป็นรูปธรรมได้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ตลอดจนความจริงใจที่จะยุติปัญหาทาการเมืองอย่างถาวร แม้จะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากประเทศตะวันตกก็ตาม

จนกระทั่งการเลือกตั้งประธานาธิบดี นาย Mahinda Rajapaksa ที่ปัจจุบันได้เป็นนายกรัฐมนตรีก่อนจะถูกเปลี่ยนออกในการปรับ ครม. ก่อนจะเกิดการล่มสลายของศรีลังกา โดยนาย Mahinda ได้ชูนโยบายในการกวาดล้างกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจนถูกทำลายสิ้นซากในเดือนพฤษภาคม 2009 ภายใต้การนำของ Nandasena Gotabaya Rajapaksa ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เขาได้ใจชาวสิงหลในศรีลังกาและเป็นผลให้ โคฐาภยะ ราชปักษา ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ตั้งแต่ปี 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 - 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2022

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าวันนี้ศรีลังกาได้ประกาศเป็นประเทศล้มละลายแล้วโดยชนวนเหตุมาจากการกู้หนี้ยืมสินต่างประเทศมาใช้อย่างอู้ฟู่โดยรายได้ของศรีลังกา จนเมื่อประเทศต้องผจญกับวิกฤตทับซ้อนโดยเริ่มจาก วิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้รายได้หลักของศรีลังกาขาดไป เมื่อต้องมาพบกับวิกฤตการณ์ที่ราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงเมื่อ โคฐาภยะ ราชปักษา ได้ดำเนินนโยบายการลดการเก็บภาษีในกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม ทำให้รายได้ประเทศลดลงในขณะที่รายจ่ายพุ่งสูงขึ้นจนนำมาถึงจุดที่ล้มละลายในที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top