Saturday, 19 April 2025
วีริศอัมระปาล

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สั่งเข้มนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จับตาสถานการณ์น้ำท่วมใกล้ชิด พร้อมทั้งติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการงานร่วมกันหากเกิดกรณีฉุกเฉิน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่แบบละเอียด ติดตามข้อมูลปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนบริเวณใกล้เคียงนิคมฯ และติดตามข้อมูลระดับน้ำทะเลหนุนในกรณีที่นิคมฯ อยู่ใกล้ทะเลด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันขอให้เร่งขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำ รวมถึงหากเป็นไปได้ ก็ขอให้ร่วมกับชุมชนในการขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำโดยรอบของนิคมฯ ด้วย

“สำหรับนิคมฯ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีนิคมฯ 3 แห่ง คือ บางปะอิน บ้านหว้า และนครหลวง โดยมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง มีการขุดลอกคูคลองรอบนิคมฯ สำรวจและเสริมความมั่นคงแข็งแรงของคันดินป้องกันน้ำท่วม เตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบายน้ำและเครื่องจักรอุปกรณ์ จัดหาเครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กระสอบทราย และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน พร้อมทั้งติดตามข้อมูล ข่าวสาร และพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายวีริศ กล่าว

'นิคมฯ อุดรธานี' วอนรัฐ หนุนเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เชื่อ!! เปิดประตู 'เศรษฐกิจ-การลงทุน' สู่พื้นที่ 'CLMVT-จีนตอนใต้'

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี วอนภาครัฐขยายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายครอบคลุมถึงพื้นที่นิคมฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์เทียบเท่า ชงส่งเสริม Logistics Park ในนิคมฯ ให้เป็น One Stop Service เชื่อมโยงการบริการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ และพิธีศุลกากรในจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หวังจูงใจการลงทุนในพื้นที่ CLMVT

(11 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การประชุมหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนนำเสนอปัญหาและอุปสรรคในการประกอบกิจการ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย 

ทั้งนี้ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ได้ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้ยกระดับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นประตูสู่ประเทศ CLMVT และจีนตอนใต้อีกด้วย

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการ A4 (กิจการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย) ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI ตามประเภทกิจการ ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากได้รับการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก 5 ปี รวมเป็น 8 ปี 

นอกจากนี้ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่กว่า 400 ไร่ ที่อยู่ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ Logistic Park ในระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า และขออนุญาตจัดตั้งโรงพักสินค้าพร้อมลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (CY) เพื่อบรรจุและตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและขาออก 

ระยะที่ 2 ขออนุญาตจัดตั้งเขตศุลกากร พร้อมลานฝากตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ Inland Container Depot : ICD ที่สามารถเชื่อมระบบรางเข้ามาภายในพื้นที่เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางรางเต็มรูปแบบ

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีสะอาด สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

นอกจากนี้ ยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน จึงเป็นโอกาสดึงดูดนักลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในนิคมฯ มากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างเป็นรูปธรรม

"ข้อเสนอที่บริษัทฯ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะนวัตกรรม ICD Logistic Park ที่น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง กนอ.จะประสานกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกรมศุลกากรให้ ขณะที่เรื่องการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เพื่อเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้เป็นแรงจูงใจในการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่นั้น คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ต่อไป" นายวีริศ กล่าว

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ ดำเนินการโดย บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันมีลูกค้า 8 ราย พื้นที่ประมาณ 145 ไร่ ประเภทกิจการ ได้แก่ 1.ผลิตอาหารแปรรูป (ไตปลา,ปลาร้าต้มสุก) 2.คลังสินค้า คลังสินค้าแช่เย็น 3.ศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้า 4.โรงพักสินค้า (Warehouse) 5.สร้างโรงงานมาตรฐานให้เช่า และ 6.ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ รวมถึงชิ้นส่วนโลหะและผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือเคลือบด้วยพลาสติก

'รมว.ปุ้ย' กำชับทุกนิคมฯ 'ควบคุม-ติดตาม' ฝุ่น PM 2.5 วอน!! ต้อง 'จริงจัง-ต่อเนื่อง' เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กำชับควบคุม/ติดตามตรวจสอบฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง-จริงจัง เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม อยู่เคียงคู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

(21 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการเพิ่มสำหรับ การลดฝุ่น PM 2.5 ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนนั้น ที่ผ่านมา กนอ. มีการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อควบคุมติดตามตรวจสอบ ในการลด PM 2.5 ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง คือ...

1.กำหนดค่ามาตรฐานของการระบายมลพิษทางอากาศในรูปแบบ Loading โดยคำนึงถึงความสามารถหรือรูปแบบในการรองรับมลพิษทางอากาศ ตามประกาศ กนอ. ที่ 79/2549 เรื่อง กำหนดอัตราการปล่อยมลสารทางอากาศจากปล่องของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และนำค่า Emission Loading ที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของนิคมอุตสาหกรรมใช้ในการอนุมัติจัดตั้งโรงงานในอนาคต ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมายังคงเป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด 

2.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม จัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อการป้องกัน แก้ไข และลดปัญหาฝุ่นละอองรวม และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และ 3.กำหนดให้มีการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตามวิธีการตรวจวัดที่เป็นไปตามหลักวิชาการในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. กำกับดูแล จำนวน 14 แห่ง และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม โดยผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตั้งแต่ปี 2563-2565 นั้น มีค่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน

"กนอ. ยังคงมุ่งมั่นในการควบคุม ดูแล และแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนและครอบคลุมทุกด้าน มั่นใจว่าสามารถช่วยให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และสามารถประกอบกิจการควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน" นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 (19 ธ.ค.66) พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาพรวมนั้นปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบพื้นที่เกินค่ามาตรฐานหลายแห่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 สูง และควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคอื่นๆ พบว่า ภาคเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ภาคกลางและตะวันตก อยู่ในเกณฑ์ดี และ ภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์ดี

‘รมว.ปุ้ย’ กำชับคุมเข้มมาตรการความปลอดภัยหยุดยาวปีใหม่ ‘กนอ.’ รับลูก!! ย้ำ '68 นิคมฯ - 1 ท่าเรือฯ’ เฝ้าระวัง 24 ชม.

(25 ธ.ค.66) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีความห่วงใยในความปลอดภัยและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2567 ตามประกาศของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 1 มกราคม 2567 จึงสั่งการให้ กนอ.กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 68 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัด ให้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเวลาดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กนอ.จึงขอความร่วมมือไปยังนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม ให้เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมีอันตรายร้ายแรง (Highly Hazardous Chemicals) หรือมีปริมาณครอบครองของเหลวไวไฟหรือก๊าซไวไฟตามปริมาณที่กำหนด ตามระบบ ‘การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management : PSM)’ เพื่อป้องกัน ควบคุม และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ

“ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ผมจึงกำชับให้ทุกนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม มอบหมายให้พนักงานปฏิบัติงานนอกเวลาทำการในช่วงวันหยุดยาวตลอด 24 ชั่วโมง กำหนดมาตรการกำกับดูแล เฝ้าระวังต่างๆ และหากเกิดกรณีฉุกเฉินให้รีบประสานงานกับศูนย์เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ศสป.) กนอ. สำนักงานใหญ่ รวมถึงต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กนอ.ในเรื่องของการรายงานข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุ และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรายงานเหตุการณ์ให้ผู้อำนวยการสำนักนิคมฯ / ท่าเรือฯ ทราบโดยเร็วที่สุด เพื่อประเมินระดับความรุนแรงและผลกระทบได้อย่างทันท่วงที” นายวีริศ กล่าว

ทั้งนี้ กนอ. ยังขอความร่วมมือจากผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม ให้จัดเตรียมบุคลากร อุปกรณ์ / เครื่องมือ ระบบสาธารณูปโภค การบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ / อุบัติภัยด้วย รวมถึงช่องทางประสานขอความช่วยเหลือจากผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม หรือผู้ดูแลระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม และหน่วยงานภายนอก อาทิ หน่วยงานป้องกันสาธารณภัย หน่วยงานท้องถิ่น และปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนป้องกันและบรรเทาภัยระดับนิคมอุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ต้องสร้างความตระหนักกับผู้ประกอบการในการให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังอุบัติเหตุและอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงนั้น ให้ปฏิบัติตามกฎหมายโรงงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย พร้อมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำเพื่อให้มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรมทุกแห่งปฏิบัติการตามคำสั่ง กนอ. ที่ 285/2565 เรื่อง การรายงานข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม โดยสามารถประสานแจ้ง ศสป. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม / ท่าเรืออุตสาหกรรม ต้องเตรียมพร้อมรองรับกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุเพลิงไหม้ และต้องสามารถติดต่อสื่อสารประสานงานได้ตลอดเวลาด้วย
“ปัจจุบันอยู่ในช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศอาจจะแห้งแล้ง และยิ่งเป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง มีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน กนอ. จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอัคคีภัยและอุบัติเหตุอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทุกท่าน” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top