Friday, 11 April 2025
วีริศ_อัมระปาล

กนอ. ตั้งนิคมฯ ‘ฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้’ เล็งดูดเม็ดเงินลงทุนเพิ่มในพื้นที่อีอีซี

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ เม็ดเงินพัฒนาโครงการ 4,856 ล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในขณะนี้มีสัญญาณบวกชัดเจนขึ้น เห็นได้จากหลายอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับมีความสนใจการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมองว่าประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และเหมาะกับการตั้งฐานธุรกิจในระยะยาว เห็นได้จากการย้ายฐานการผลิตที่เป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (จีน-สหรัฐฯ) ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการจากจีนและไต้หวัน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาย้ายฐานเข้ามาแล้ว 250 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI ) 

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและเตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) กนอ.จึงลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน กับ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ S-Curve และ New S-Curve ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการดำเนินงานในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็น ผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 67 โดยใช้ระยะเวลาพัฒนาโครงการประมาณ 2 ปี และจะเปิดขายพื้นที่/ให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 4 ปี   

กนอ.- GPSC - TTM ลงนามศึกษาโรงไฟฟ้า เล็งใช้พลังงานสะอาด หนุนภาคการผลิต

กนอ. ลงนามร่วม GPSC - TTM ศึกษาและวิจัยพัฒนาโรงไฟฟ้าป้อนภาคการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เล็งสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า หนุนพลังงานสะอาด มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ดึงความเชื่อมั่นการลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเสถียรภาพทางพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่ออุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ระหว่าง กนอ. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และบริษัท  ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย ) จำกัด หรือ TTM เพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนาโครงการสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติให้กับภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนของในพื้นที่ภาคใต้ โดยโครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (ปี 2565 - ปี 2566) 

ทั้งนี้ กนอ. เลือกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความเหมาะสมต่อการพัฒนาด้านพลังงานหลากหลายรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ และมีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งเป็นต้นแบบการพัฒนาระบบไฟฟ้าและพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถขยายไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่น ๆ ได้

“ความร่วมมือครั้งนี้ กนอ. จะจัดหาข้อมูลรายละเอียดเชิงพื้นที่ เกี่ยวกับความต้องการไฟฟ้าทั้งในปัจจุบันและแผนในอนาคต รวมถึงกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ในการพัฒนาโครงการเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่ และรองรับการขยายการลงทุนสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตในอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงในระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะเกษตรกรสวนยางพาราของไทย ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางของประเทศในอนาคต” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าว

'กนอ.' เปิดรับฟังความเห็น 'เอกชน' หวังกระชับความต้องการนักลงทุนตรงจุด ก่อนเปิดรับการลงทุนระลอกใหม่ ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ช่วงที่ 2 ในปี 69

(4 ก.ค. 67) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การจัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนในโครงการทบทวนรายงานการศึกษา และวิเคราะห์โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดย กนอ. เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน นำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน เพื่อเสริมสร้างการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และเกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ 

ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ ที่ กนอ. จัดทำไว้แล้ว ให้เหมาะสมกับความต้องการในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ก่อนเสนอให้ กนอ. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการนำเสนอหลักการที่ต้องการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงต่อหลักการเดิมของโครงการฯ ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไว้ต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

ตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจหรือกิจการของภาคเอกชนในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และลักษณะทางกายภาพของสภาพพื้นที่ของโครงการฯ

นายคณพศ ขุนทอง รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 3) กล่าวว่า การจัดสัมมนา Market Sounding ครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็น และเสนอแนะความต้องการที่จะพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย พื้นที่หลังท่าเทียบเรือ 350 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร ซึ่งหลังจากได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว จะนำไปวิเคราะห์รูปแบบการประกอบธุรกิจ รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมยื่นข้อเสนอการลงทุนโครงการอย่างเหมาะสมต่อไป

นายปมุข เตพละกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายปฏิบัติการ 3 กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งการพัฒนาโครงการเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยงานขุดลอกร่องน้ำ งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ และลงทุนธุรกิจท่าเทียบเรือก๊าซ 200 ไร่ กนอ. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด หรือ GMTP เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2562 ระยะเวลาสัมปทานทั้งสิ้น 35 ปี

โดย กนอ. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 12,900 ล้านบาท และให้บริษัท GMTP ลงทุนท่าเทียบเรือก๊าซ 35,000 ล้านบาท ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าการดำเนินงานไปแล้วกว่า 84% พร้อมเปิดให้บริการในปี 2569 ส่วนการดำเนินงานในช่วงที่ 2 กำลังอยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาสำหรับการพัฒนาพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ประกอบด้วยพื้นที่หลังท่าเทียบเรือ 350 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร 

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการรวมที่ 6.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 5.2 หมื่นล้านบาท และภาครัฐ 1.2 หมื่นล้านบาท

‘วีริศ อัมระปาล’ จ่อนั่งผู้ว่าการรถไฟคนที่ 30 หลัง 'บอร์ด ร.ฟ.ท.' ไฟเขียว ชูงานด่วน ดัน'ไฮสปีด 3 สนามบิน-รถไฟไทยจีน-รถไฟทางคู่' ให้แล้วเสร็จ

(26 ก.ค. 67) รายงานข่าวระบุว่า นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.67) คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ที่มีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย บอร์ด ร.ฟ.ท.เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ได้เสนอผลการพิจารณาผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.

หลังให้ผู้สมัคร 2 รายเข้าแสดงวิสัยทัศน์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2567 ซึ่งผลปรากฏว่า นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้มีคะแนนคัดเลือกสูงสุด และพบว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามประกาศของ ร.ฟ.ท.

สำหรับขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาผลตอบแทน จะเป็นผู้เจรจาอัตราผลตอบแทน และนำกลับมาเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท. พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง ก่อนเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติโดยละเอียด

ทั้งนี้ หากพบว่าไม่มีคุณสมบัติขัดต่อข้อกำหนด ก็จะเสนอมายัง ร.ฟ.ท. เพื่อรายงานผลไปกระทรวงคมนาคม และนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้นประเมินว่ากระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาราว 1 เดือน คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติในต้นเดือนก.ย.2567

สำหรับการสรรหาผู้ว่าการรถไฟฯ ครั้งนี้ นับเป็นผู้ว่าการคนที่ 30 โดยนายวีริศ อัมระปาล เปิดเผยภายหลังเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) สรรหาผู้ว่าฯ โดยระบุว่า ไม่หนักใจกับการเป็นคนนอกเข้ามาสมัคร เพราะมั่นใจว่ามีประสบการณ์บริหารองค์กรใหญ่อย่าง กนอ. ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี

อีกทั้งไม่หนักใจเกี่ยวกับกระแสข่าวที่ตนอาจขัดต่อข้อกำหนดด้านคุณสมบัติ เพราะมาจากหน่วยงานที่เป็นคู่สัญญากับ ร.ฟ.ท. โดยประเด็นนี้ได้ศึกษาข้อกำหนดมาอย่างรอบคอบแล้ว จึงเดินหน้าเข้าสมัครตำแหน่งนี้ 

อย่างไรก็ดี การแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ ได้นำเสนอไอเดียเกี่ยวกับการผลักดันแผนฟื้นฟูกิจการของ ร.ฟ.ท.ให้สัมฤทธิผล โดยเชื่อว่าไอเดียนี้สามารถทำได้ และจะทำให้อนาคตของการรถไฟฯ จะเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีความสำคัญ และมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องหนี้สะสมของ ร.ฟ.ท. ที่มีมูลค่าหลักแสนล้าน ส่วนตัวไม่มีความกังวล เพราะทุกองค์กรก็จะมีอุปสรรคอยู่แล้ว โดยตนมองว่าหากผลักดันแผนฟื้นฟูให้เป็นรูปธรรม จะแก้ปัญหาหนี้สะสม

“เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ คือ การดำเนินงานโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุน โครงการพีพีพีต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็นโครงการระดับประเทศที่ต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งรถไฟไทยจีน รถไฟทางคู่ เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ” นายวีริศ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top