Saturday, 11 May 2024
วีระศักดิ์_โควสุรัตน์

‘วีระศักดิ์’ ชี้ ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อม’ จะล้อมเราทุกคน หากยังไม่เริ่มเปลี่ยนที่ตัวเราเอง

เมื่อไม่นานมานี้ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวในช่วงหนึ่งของรายการ คนบันดาลไฟ ตอน ‘คนดลใจ’ ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่า…

“…อย่าปล่อยให้ทุกอย่างสายเกินแก้… เพราะโลกอยู่ในมือเราทุกคน
…ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะล้อมเราทุกคน ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนในใจของเรา…”

'สว.วีระศักดิ์' แบ่งปัน!! บรรยายพิเศษ 'ภาวะโลกเดือด' 'ปลูกฝังเยาวชน-แลกเปลี่ยน' ปัจจัยบวก-ลบ กระทบสิ่งแวดล้อม

เมื่อไม่นานมานี้ คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเรื่อง ‘ภาวะโลกเดือด’ ให้กับกลุ่มนักเรียนและเยาวชน ค่ายเยาวชนผู้นำโรตารี่ ภาค 3350 ปี 2566 - 2567 Create Hope for the Future (สรรค์สร้างความหวังให้โลกอนาคต ณ บ้านผู้หว่าน (Pastoral Training Center : ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล) โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 

เยาวชนที่เข้าร่วมในค่ายในครั้งนี้ประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา จำนวน 200 คนจาก 140 โรงเรียนในเขตภาคกลาง ร่วมกับนักเรียนแลกเปลี่ยนโรตารี่ต่างประเทศ จำนวน 28 คน 

กิจกรรมค่ายอบรมลักษณะนี้ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้เด็กเยาวชนจากหลากระดับชั้นการศึกษา และหลากพื้นฐาน ให้มาร่วมกิจกรรมผ่านกลุ่มวิทยากรและพี่เลี้ยง (รุ่นพี่อาสาสมัคร) ที่จะช่วยสร้างพลังการแบ่งปันประสบการณ์ การคิดบวก การเป็นผู้ให้ การรู้จักบริหารเวลา อารมณ์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายในตนเองและที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก สถานการณ์รอบข้างที่มีความหลากหลายและแตกต่าง

'สว.วีระศักดิ์' ชี้ นโยบาย Soft Power ต้องขับเคลื่อนในระยะยาว เพราะมีหลายมิติทับซ้อนกันอยู่

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 66 ที่โรงแรม S31 กรุงเทพฯ SPACEBAR ได้จัดงานเสวนา SOFT POWER ฝันไกลไปได้แค่ไหน? เปิดเวทีระดมความคิดเห็นบุคลากรหลากหลายวงการ มาร่วมสะท้อนมุมมอง กับแนวคิดนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ที่จะผลักดัน SOFT POWER ไทย ให้มีศักยภาพส่งต่อไปถึงความยั่งยืน เพื่อนำไปสู่สายตาชาวโลก

โดยในเวทีดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า...

ความเป็นไปได้ในการผลักดันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ว่า นับเป็นครั้งแรกที่ นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ถูกหยิบยกเป็นนโยบายระดับชาติ จากทั้งทางพรรคเพื่อไทยเอง และทุกพรรคที่หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากอ้างอิงจากนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวถึง Roadmap ก็ประเมินว่า อาจจะใช้เวลาถึง 3 ปี ถึงจะเริ่มเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ตามแผน

“นโยบายนี้อาจจะไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนในระยะยาว รวมถึงนโยบายนี้มีมิติ 3 ด้านสำคัญ คือ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทับซ้อนกันอยู่ อย่างประเทศที่ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์สำเร็จอย่าง เกาหลีใต้ สำเร็จได้จากนโยบายการเมืองที่แข็งแรงและต่อเนื่อง” วีระศักดิ์ กล่าว

‘สว.วีระศักดิ์’ บรรยายพิเศษ นักศึกษานิติฯ ป.โท มธ. ในหัวข้อ ‘ข้อพิพาทสิ่งแวดล้อมกับการนิติบัญญัติ’

เมื่อวานนี้ (13 พ.ย. 66) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เชิญนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปบรรยายในหัวข้อเรื่อง ‘ข้อพิพาทสิ่งแวดล้อมกับการนิติบัญญัติ’ ระหว่างเวลา 17.30 - 20.30 น. ให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาโท ของคณะนิติศาสตร์ ซึ่งกำลังศึกษาในวิชา น.784 ปัญหาการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม ภาค 1 

โดยนอกจากที่ได้บรรยายถึงร่างกฎหมายอากาศสะอาด ปัญหาการเผาในที่โล่ง ไฟในป่าและในแปลงเพาะปลูกแล้ว วิทยากรยังได้อธิบายถึงปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และผลกระทบทั้งทางบก ในทะเล ที่ล้วนกำลังเคลื่อนไปสู่จุด tipping points ต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้นักศึกษาสามารถเห็นความเชื่อมโยงอันซับซ้อนของระบบในธรรมชาติของโลกอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ป้าหมาย ‘ท่องเที่ยวไทยเชิงคุณภาพ’ ผ่านมุมมอง ‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ | CONTRIBUTOR EP.30

เมืองไทยมีดี มีจุดขายที่งดงามในภาคการท่องเที่ยว แต่จะพอใจเพียงเท่านี้ พอใจเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ลูกเดียว อาจจะไม่ยั่งยืน

มิติใหม่ของการท่องเที่ยวไทย ต้องปรับประยุกต์ เพื่อสร้างการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
กระตุ้นให้เกิดความหลากหลายในแต่ละเขตแดน เมือง จังหวัด ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องร้อยห่วงโซ่ของ ‘ความยิ้มแย้ม-ความยืดหยุ่น-ไม่หย่อนยาน’ 
รวมถึงปรับแนวทางสู่ความยั่งยืน ด้วยการพัฒนาระบบการท่องเที่ยวใต้วิธีคิดที่ทันโลก

เพราะนี่คือวาระสำคัญของอนาคตการท่องเที่ยวไทยในวันข้างหน้า 
ในวันที่ ‘หินก้อนใหญ่’ ยังกดทับ ‘หญ้าสีเขียว’ ในบางพื้นที่อยู่

ปลดล็อกร่างทอง ‘ท่องเที่ยวไทยเชิงคุณภาพ’ ไปด้วยกันกับ Contributor EP นี้ กับผู้ที่เข้าใจระบบนิเวศการท่องเที่ยวยั่งยืนแบบถ่องแท้ได้จาก... คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

‘สว.วีระศักดิ์’ เผยความรู้สึก หลังพา นทท.ตาบอดทัวร์กรุงเทพฯ ปลื้มใจ!! คนไทยหลายคนหยิบยื่นน้ำใจ-ต้อนรับกันอย่างอบอุ่น

(21 พ.ย. 66) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘นักท่องเที่ยวยุโรปตาบอดกับปากคลองตลาด’ ระบุว่า…

วันก่อน

ในกิจกรรมที่คุณนัตตี้ ด้วยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำคณะนักท่องเที่ยวตาบอดจากยุโรป 10 คนที่ซื้อตั๋วซื้อทัวร์เดินทางมาไทยและกำลังจะออกไปเที่ยวที่ปากคลองตลาด ตลาดดอกไม้ชื่อดังของกรุงเทพ

ผมจึงอาสาเดินทางไปทำหน้าที่ผู้ช่วยไกด์กิตติมศักดิ์ รับคณะเดินทางจากด้านหลังตลาด ซึ่งจะมีพื้นที่ให้รถตู้ 3 คันจอดส่งผู้โดยสารตาบอดลงรวมตัวกันใต้เงาอาคารได้อย่างสะดวก และปลอดภัย

การพาเดินเข้าตลาดจากด้านหลังจะมีคนน้อยกว่า สามารถพาเดินผ่านช่องต่าง ๆ ผ่านชั้นวางชั้นแขวนดอกไม้สารพัดอย่าง 

เดินลึกเข้าไปเจอเข่งตะกร้าหลายใบใส่ใบเตย เราจึงหยุดให้แขกต่างชาติของเราได้สูดกลิ่นของใบเตย (pandan leaf) ที่พ่อค้ามัดรวมไว้รอจำหน่าย ใบเตยใช้ต้มทำเครื่องดื่ม ใช้คั้นเอาน้ำไปผสมในอาหารและของหวาน ทำขนม สรรพคุณของใบเตยช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ดื่มดับกระหาย คลายอ่อนเพลีย 

ผอ.นรินท์ ทิจะยัง จากสำนักงานใหญ่ททท. ซึ่งมาสังเกตการณ์ด้วย รู้เทคนิค จึงเดินจ้ำล่วงหน้าไปกระซิบบอกพ่อค้าแม่ค้าให้ทราบว่า นี่คือกลุ่มนักท่องเที่ยวพิเศษ สายตามองไม่เห็น และตั้งใจมาขอเยี่ยมสัมผัสกับตลาดที่นี่ พ่อค้าแม่ค้ายิ้มพยักหน้ารับทราบ

ว่าแล้วพ่อค้าก็ยื่นช่อกล้วยไม้มาให้ผมส่งให้แหม่มชาวอังกฤษผมทองที่ตาบอดสนิทได้สัมผัส เธอยิ้มตื่นเต้นดีใจ

กล้วยไม้อาจดูเป็นพืชพื้น ๆ ของบ้านเรา แต่กับชาวตะวันตกเมืองหนาว เขาจะตื่นเต้นกับกล้วยไม้กัน ถือเป็นพืชหายาก ในยุโรปมีราคาแพงเพราะต้องเอาขึ้นเครื่องบินส่งเข้าไปจำหน่าย

เราเดินผ่านแผงขายกระทง แม่ค้าสาวอายุน้อยยิ้มรับ พยักหน้าอนุญาต ผมจึงหยิบกระทงขึ้นมาให้กลุ่มนักท่องเที่ยวตาบอดของเราได้สัมผัสกระทง ทุกคนต่างลูบคลำกระทงด้วยความสนใจ แม่ค้าฝากผมแปลว่ากระทงนี้ประดิษฐ์จากต้นข้าวโพดแห้ง และอธิบายประกอบเพิ่มถึงประเพณีลอยกระทงปลายฤดูฝนของเรา ที่น้ำจะเต็มตามตลิ่ง แขกต่างชาติอมยิ้มนึกภาพตามด้วยความสุข

การใช้กระทงวัสดุธรรมชาติเหล่านี้นับว่าได้ประโยชน์หลายต่อ ในแง่ที่เก็บขึ้นจากน้ำได้ง่าย และอย่างน้อยก็ดีกว่าจะถูกจุดไฟเผาทิ้งในไร่ที่ปลูกให้กลายเป็นฝุ่นควันรบกวนสิ่งแวดล้อมเปล่า ๆ

แม่ค้าอีกฝั่งใจดี ยื่นพวงมาลัยแช่น้ำแข็งพวงเล็ก ๆ ให้นักท่องเที่ยวตาบอดได้ดมกลิ่นมะลิ (jasmine) หอมสดชื่น 

เราเลยขอซื้อมาลัยมะลิพวงเล็ก ๆ แจกให้ทั้งคณะได้ติดข้อมือไป อยากถือดมไปนานแค่ไหนก็ได้ แม่ค้าติดราคาไว้แค่พวงละ 10 บาท แต่แม่ค้าบอกว่าขอไม่รับเงิน แต่เรายืนยันว่าไม่ขอรบกวน แค่อนุญาตให้คณะได้ยืนมุงบังหน้าร้านนานอย่างนี้ก็ขอบคุณยิ่งแล้ว

ที่จริงสรรพคุณของดอกมะลิที่คนไม่ค่อยทราบคือ มะลิที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงในการปลูกนั้น สามารถใช้เป็นยาสารพัดได้ตามตำรา ทั้งบำรุงครรภ์ สมานแผล แก้ไข้ แก้ท้องเสีย กลิ่นของมะลิมีผลช่วยคลายเครียด

ผ่านไปเจอโต๊ะที่วางขายกุหลาบห่อใหญ่ ๆ หลาย ๆ มัด แม่ค้าชี้ไปที่ถุงพลาสติกใบใกล้ ๆ เรา เราจึงยกถุงมาส่อง มันเป็นดอกกุหลาบตูมล้วน ๆ จึงส่งถุงให้นักท่องเที่ยวของเราได้พากันสูดดมกลิ่นกุหลาบที่แม่ค้าเด็ดไว้สำหรับแยกจำหน่าย 

ผู้ซื้อบางกลุ่มนำกุหลาบตูมพวกนี้ไปสกัดน้ำมันหอมระเหย บางกลุ่มนำไปทำชากุหลาบ บางกลุ่มนำไปผสมในยาแผนโบราณ รักษาสิว สมานแผล งานวิจัยบอกว่ากุหลาบมีสารต้านอนุมูลอิสระ

สักพักเดินไปเห็นถุงที่เต็มไปด้วยดอกจำปี คงมีไว้ร้อยกับมาลัย เราเลยพาแขกของเราลองดม ดอกจำปี(champaka) ซึ่งให้กลิ่นหอมกรุ่นปะทะจมูกจัง ๆ นักท่องเที่ยวต่างชาติสื่อสารส่งเสียงกันเองไปมาให้ลั่นไปหมด เพราะจมูกเค้าคงไม่คุ้นกับกลิ่นใหม่นี้   

ผมซื้อยกถุงขนาดเล็กมาแจกให้ทุกคนมีดอกจำปีสดไว้ติดในกระเป๋าสะพาย เวลากลับเข้านั่งในรถจะได้มีกลิ่นหอม ๆ เย็น ๆ ในรถต่อ ราคาไม่แพงเลย 40 บาท ได้มาน่าจะเกือบร้อยดอก!!

นักท่องเที่ยวของเรายังตื่นเต้นที่ได้สัมผัส ลูบคลำ ผลแก้วมังกร (dragon fruit) ซึ่งคนไทยนิยมทานหลังมื้ออาหาร มีคุณสมบัติ ช่วยลดท้องผูก บำรุงฟันและกระดูก คลายร้อน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

นักท่องเที่ยวถามผมว่าแก้วมังกรมีสีอะไร ผมตอบว่าสีชมพู เธอยิ่งสนใจใหญ่

แม่ค้าผลไม้อมยิ้มอย่างเมตตา ว่าแล้วแม่ค้าก็ยกโทรศัพท์ขึ้นถ่ายรูปนักท่องเที่ยวตาบอดเก็บไว้เป็นที่ระลึก

จากนั้นเราถามหาร้านขายดอกบัว แม่ค้าชี้ส่งไปที่แผงดอกบัว เราซื้อบัวสัตตบงกชมา 3 ห่อ แบ่งให้หนุ่ม ๆ สาว ๆ ตาบอดได้ถือเดินชมตลาดต่อ

แขกชาวต่างชาติหลาย ๆ คนที่ก็มาเดินตลาดสนใจถามผมว่าทำไมจึงนิยมนำดอกบัวไปบูชาพระ คำตอบที่ผมให้ไปก็คือ ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของจิตบริสุทธิ์ เพราะแม้บัวจะงอกมาจากใต้ตมใต้โคลน แต่เมื่อขึ้นชูรับแสงสว่างเหนือน้ำแล้ว เราจะไม่เจอเศษโคลนติดขึ้นมาด้วย และแม้จะมีเศษตมใด ๆ กระเด็นมาเปื้อนในภายหลัง เพียงไม่นานผิวของดอกบัวก็จะทำให้สิ่งปนเปื้อนร่วงหลุดออกไปได้เอง เป็นดั่งความบริสุทธิ์แห่งศีล สมาธิและปัญญา ตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง

แขกต่างชาติพยักหน้ากันหงึกหงัก จากนั้นก็เล่าให้เราฟังเรื่องกรรม (karma) แบ่งเป็นกรรมดีกรรมชั่ว ซึ่งพวกเขาก็เชื่ออย่างนั้นหลายคน

จะว่าไป การพานักท่องเที่ยวต่างชาติเดินตลาดสดของไทย ช่วยให้พวกเขาเข้าใจถึงความหลากหลายทางชีวภาพต่าง ๆ ในไทย ช่วยสร้างหัวข้อการสนทนาซักถาม แถมช่วยให้เรื่องพื้น ๆ ของชาวบ้าน กลายเป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่ดีของชาวต่างชาติที่จะไปเล่าต่อในต่างแดน

สำหรับคนตาบอดแล้ว ความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสทางกลิ่น การใช้นิ้วลูบสัมผัสของนุ่ม ๆ เย็น ๆ มือ ช่วยให้เขาตื่นตัวรับรู้และสดชื่น ตลาดสดของไทยเป็นแหล่งเดินเที่ยวที่ชาวต่างชาติชื่นชอบได้เสมอ เพราะได้รับรู้ว่าของสด ของท้องถิ่น และอาหารพื้นที่ของที่นั่น มีอะไรเป็นส่วนผสม และแน่นอนว่าแตกต่างจากบ้านเขามาก

การนำผู้พิการทางการมองเห็นเดินในสถานที่ทั่วไปนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือให้คนตาบอดจับไหล่เรา เขาจะสามารถเดินตามได้ปลอดภัย เพราะว่าเราจะบิดหรือยกขึ้นลงโดยไม่ทำให้คนตาบอดสับสน ต่างจากการจูงข้อมือ ซึ่งบิดไปมาสร้างความงุนงงให้ผู้ถูกจูงที่ตามองไม่เห็นได้บางตำราบอกว่าให้เค้าใช้มือทาบกลางหลังเราก็ได้เช่นกัน

แต่นั่นคือเหมาะสำหรับอัตราหนึ่งต่อหนึ่งคือตาดีหนึ่งคนนำคนตาบอดหนึ่งคน หรือจะแตะหลังหรือจับไหล่เดินตามกันเป็นแถวก็ได้  

แต่ในกรณีนี้ 2 สาวนักท่องเที่ยวตาบอดจากสโลวีเนียขอเดินคล้องแขนผมทั้งสองฝั่ง บวกกับอีกคนเป็นสาวอังกฤษซึ่งแม้สายตาจะไม่บอดสนิท เธอรับรู้แสงและรับสีได้แต่จะไม่เห็นเส้นรอบรูป กล่าวคือเห็นเพียงเบลอ ๆ มัว ๆ เธอจึงขอเลือกที่จะใช้มือเกาะเป้สะพายหลังของคนตาบอดด้านหน้าแล้วขยับตามก็เพียงพอ ทั้งสามอยากได้ยินการอธิบายเรื่องดอกไม้ผลไม้ต่าง ๆ ได้โดยใกล้ชิดด้วยความสนใจ

แขกตาบอดของเราทุกคนถือไม้เท้าขาวที่พับเก็บหดสั้นได้ รวมทั้งเมื่อยืดออก จะมีลูกกลิ้งพลาสติกสีขาวที่สุดปลายเพื่อใช้ถูกวาดไปข้างหน้า ทำให้คนตาบอดรับรู้สภาพผิวพื้นที่กำลังจะผ่านเข้าไป ว่าขรุขระ เปลี่ยนแปลงระดับ หรือมีร่องหรือไม่ สีขาวของลูกกลิ้งช่วยให้คนตาดีมองเห็นได้ง่ายขึ้นว่า มีไม้เท้าของคนตาบอดกำลังกวาดไปมา จะได้ระวังระยะให้กันและกันได้

การพานักท่องเที่ยวตาบอดชาวยุโรปเดินเที่ยวปากคลองตลาดและซื้อดอกบัวไปบูชาหลวงพ่อพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนที่วัดโพธิ์คราวนี้ สร้างความชื่นใจให้ทั้งคนตาบอด และคนตาดีที่ได้พบเห็น

ผมแอบเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของหลายต่อหลายคนที่เราเดินผ่านไป

นักท่องเที่ยวปกติที่เป็นชาวต่างชาติต่างก็พลอยปลื้มใจ ที่เค้าเห็นประเทศไทยมีศักยภาพในการดูแลและให้บริการนำเที่ยวแก่แขกต่างประเทศที่ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งห้องน้ำ ที่จอดส่ง ทางลาด และบุคลากรที่พยายามเข้าใจและรู้จักการให้บริการ

สำหรับผมแล้ว การที่คนตาบอดตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบิน ซื้อทัวร์ จองที่พัก แล้วออกเดินทางข้ามทวีปมาเยือนเรา แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจที่เขามีให้สังคมเราอย่างสำคัญยิ่ง

เขาได้เอาสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในทุกด้านมาวางไว้ในมือของสังคมเรา 

ประเทศไทยประกาศนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (tourism for all)  การที่เรารับนักท่องเที่ยวพิการได้ ย่อมแม่นยำวางใจได้ว่า เราจะรับกลุ่มอื่น ๆ ได้  

มีสิ่งที่เรายังควรปรับปรุงให้ดีกว่านี้ได้อีกเยอะ และเมื่อปรับปรุงให้ถูกต้อง ดี มีมาตรฐานแล้ว คนไทยของเราทุกคนก็จะสะดวก และได้ใช้กันถ้วนทั่วเช่นกัน

ในโลกเรามีคนพิการกว่า 600 ล้านคน (ข้อมูลขององค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ UNWTO) และโลกกำลังมีประชากรสูงอายุเพิ่มเร็วมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

รวมทั้งไทยด้วย

นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ไม่ใช่กลุ่มที่จะไปเมาอาละวาด ทะเลาะกัน ไม่ใช่กลุ่มที่จะเที่ยวเขียนกำแพงทำความเลอะเทอะ ไม่ยุ่งกับการเสพสารเสพติดใด ๆ แน่ มีเพียงปัญหาว่าพวกเขาจะนำเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต ไปให้รางวัลสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่ตัวเองได้ที่ไหน ที่จะมีเอกลักษณ์ หลากหลาย สะอาด ปลอดภัย เข้าใจเขา ทำให้เข้าถึงได้ และเท่าเทียม

วันนี้ นักท่องเที่ยวคณะนี้เดินทางต่อ ออกจากกรุงเทพไปแล้ว และกำลังมุ่งไปอยุธยา เชียงใหม่ พะเยา แล้วจะบินลงใต้ไปพัทลุง ตรัง และจบการเดินทางท่องเที่ยวที่สนามบินภูเก็ต ทริปนี้ของพวกเขายาว 10 วันในไทย จะได้ทำทั้งสัมผัสกับช้าง นั่งรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง สานตะกร้า นั่งสมาธิ ทานอาหารท้องถิ่น และแม้แต่เดินชายหาด นวดแผนไทย ทำกลอง และตีกลองหนังของไทย

อีกไม่นาน พวกเขาก็จะบินกลับยุโรปและอเมริกา กลับบ้านไปเล่าถึงในสิ่งที่ตามองไม่เห็น แต่สัมผัสได้ถึง ‘ความงาม’ ที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทยให้โลกรอบตัวของพวกเขาได้รับรู้

ผมมั่นใจว่าพวกเขาแต่ละคน จะได้รับเชิญให้ไปขึ้นเวทีกล่าวเล่าประสบการณ์ชีวิตตามที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ

ผมต้องขอขอบคุณผู้ทำแพคเกจทัวร์ ขอบคุณทีมสนับสนุน ขอบคุณคนขับรถตู้ ที่ช่วยดูแลแขกพิเศษเหล่านี้อย่างมีความรู้ ผ่านการฝึกกันมา ขอบคุณในน้ำใจของพ่อค้าแม่ค้า คนขนของ คนเข็นผักและเพื่อนนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่น ๆ ที่เมื่อเจอกลุ่มนักท่องเที่ยวตาบอดของเรา ทุกคนจะเอื้อเฟื้อ หลีกทางให้บ้าง หรืออนุญาตให้เราหยิบสินค้าของร้านของเขามาให้แขกของพวกเราได้สัมผัส แล้วส่งยิ้มอย่างอบอุ่นให้

นี่แหละครับ ความน่ารักของสังคมที่เห็น ‘ใจ’ กันและกัน แม้ไม่ต้องส่งเสียงอะไรออกมาเลยก็ตาม

นี่คือสังคมที่จะพัฒนาได้ด้วย ‘สปริตที่ยั่งยืน’

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา
อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

'วีระศักดิ์' เปิดความประทับใจ 'บุคคลในโลกมืด' ใต้การดูแล 'สุดละเอียดอ่อน' 'ทุกสัมผัส-คำอธิบาย' จากใจ ช่วยเติมไฟให้ท่องเที่ยวเชิงไทยทรงคุณค่า

(29 พ.ย. 66) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ได้โพสต์เนื้อหาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ 'โลกที่คนตาดี ยังมองไม่เห็น' (ตอนที่ 2) ระบุว่า...

เมื่อผมและคุณกฤษณะ ละไลไปกันถึงอาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ

เราได้ให้การต้อนรับ Miss Martine Williamson สตรีตาบอดทั้งสองข้างอย่างสนิท ชาวนิวซีแลนด์ เธอเป็นประธานสหภาพคนตาบอดโลก มีประสบการณ์เดินทางไปครบทุกทวีปทั่วโลก เพื่อขึ้นกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับการกระตุ้นให้กำลังใจแก่ประชาคมต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมร่วมกับคนตาบอด

วันนี้ Miss Martine เดินทางมากล่าวปาฐกถาในการประชุมสหภาพคนตาบอดโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกที่ภูเก็ต เธอออกบินจาก นิวซีแลนด์บ้านเกิด โดยใช้เวลาบิน 10 ชั่วโมงครึ่งแล้วแวะเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ จากนั้นบินต่ออีกเกือบ 2 ชั่วโ*-+มงเข้าถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ต

เครื่องถึงสนามบินภูเก็ตช่วงเช้าตรู่ ตรงเวลากับที่ผมและ คุณกฤษณะ ละไล บินจากดอนเมืองไปถึงสนามบินภูเก็ตเช่นกัน

ปรากฏว่ากระเป๋าเดินทางใบใหญ่ของ Miss Martine ไม่ตามมาจากสิงคโปร์ แม้เธอจะไม่แสดงความกังวลออกมามากนัก แต่เราก็สัมผัสได้ว่าเธอต้องไม่สบายใจแน่นอน สอบถามแล้ว ในกระเป๋าที่พลัดหลงไปนั้นมีทั้งเสื้อผ้าและยาประจำตัวที่เธอจำเป็นต้องใช้ทุกวัน

เราจึงขอรบกวนให้ทีมเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ที่มาทำหน้าที่ฝ่ายต้อนรับคณะเดินทางของคนตาบอดจากนานาประเทศที่สนามบินภูเก็ต ให้ช่วยติดตามกระเป๋าของ Miss Martine จากสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ให้

***(ได้ทราบต่อมาว่ากระเป๋าเดินทางของเธอถูกพบว่ายังตกค้างอยู่ที่สนามบินสิงคโปร์ และสายการบินรับว่าจะรีบส่งขึ้นเครื่องบินลำถัดไปที่จะออกจากสิงคโปร์มาที่ภูเก็ต คาดว่ากระเป๋าควรจะมาถึงที่สนามบินภูเก็ตในช่วงเย็นวันเดียวกัน)

***(ในเวลาที่ผมเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ กระเป๋าเดินทางถูกนำส่งไปถึงห้องพักของ Martine เรียบร้อย)

ด้วยเหตุนี้ ผมและคุณกฤษณะจึงตัดสินใจขึ้นรถตู้ที่จะนำ Miss Martine จากสนามบินภูเก็ตไปส่งยังโรงแรมที่พักเพื่อจะได้ดูแลเป็นเพื่อนเธอไปด้วย

การนั่งรถตู้จากสนามบินภูเก็ตไปยังโรงแรมดวงจิตรีสอร์ท ย่านหาดป่าตอง สถานที่จัดการประชุมสหภาพคนตาบอดโลก เอเชียแปซิฟิก ยังไง ๆ ก็ต้องใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์นานราวหนึ่งชั่วโมงเศษ

ฝนตกเบา ๆ และตกยาว ๆ ทำเอารถติดตลอดทาง การจราจรเคลื่อนตัวช้า ทำให้เรามีโอกาสสอบถาม Miss Martine ว่าในการเดินทางของเธอไปประเทศต่าง ๆ นั้นอะไรคือ บริการการท่องเที่ยวที่เธออยากได้รับมากที่สุด

เธอตอบอย่างชัดเจนว่า สำคัญที่สุดคือ มิตรภาพและความมีไมตรีของคนในพื้นที่

ส่วนในแง่การบริการนั้น เธออยากได้ความปลอดภัยในการเดินเที่ยวในละแวกรอบ ๆ ที่พักแรม อยากใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ รับประสบการณ์ที่มีเสน่ห์ของเมืองนั้นๆ สิ่งที่จะช่วยได้มาก คือ การมีไกด์หรือเครื่องอุปกรณ์เช่นหูฟังอิเล็กทรอนิกส์ที่จะบอกเล่าให้ทราบถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เช่น การไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ การไปหอแสดงนิทรรศการ เธออยากรับรู้สิ่งรอบตัว และเมืองรอบข้าง เธอบอกว่าอย่างที่ผมกำลังสื่อสารอยู่กับเธอนี่แหละ...

ที่เธออยากได้รับ เนื่องจากในการพาเธอนั่งรถผ่านสวนยาง ผ่านย่านการค้า ผ่านอนุสาวรีย์ ผ่านทุ่งโล่ง ผ่านสถานศึกษา ผมก็จะสาธยายให้ข้อมูลเธอไปเรื่อย ๆ ทำให้เธอสามารถหลับตาจินตนาการตามได้เป็นระบบ

ผมใช้นิ้วชี้ของผมลองเขียนแผนที่ประเทศไทยลงบนฝ่ามือของเธอเพื่ออธิบายว่าภูเก็ตอยู่ตรงไหนของประเทศไทย วาดรูปแผนที่ขวานทอง และประเทศเพื่อนบ้านของไทยในแต่ละทิศ ลักษณะอาหารการกินและภูมิประเทศโดยง่าย ๆ ของแต่ละภาคของไทย

เหล่านี้ช่วยทำให้เธอมีความสุขกับการรับรู้ข้อมูลผ่านการสัมผัสและการลากเส้นสมมุติบนฝ่ามือของเธอ

เธอกล่าวขอบคุณอย่างพึงพอใจ ซักถามอะไรต่อไปอีกหลาย ๆ อย่างด้วยความตื่นตาตื่นใจ

ในการช่วยพยุงเธอเดินขึ้นลงรถตู้ ผมสังเกตได้ว่าขาเธอไม่มีแรง เธออธิบายว่าเธอเพิ่งประสบอุบัติเหตุหกล้มในบ้านเธอที่นิวซีแลนด์ ทำให้เธอเดินไม่ถนัด เข้าใจว่าคงมีอาการเส้นพลิกที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

ดีที่ผมยังพอจะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง จึงสามารถให้เธอถ่ายน้ำหนักมาใส่ที่แขนของผมได้เต็มที่ งานนี้ยิ่งทำให้เราตระหนักว่า ทางลาดมีประโยชน์และปลอดภัย ใช้สะดวกกว่าบันได การมีราวจับที่มั่นคงแข็งแรงจะช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า

เธอก้าวเดินด้วยความยากลำบาก ยิ่งถ้าเจอบันไดหลายขั้น ธรณีประตู พื้นเปลี่ยนระดับบ่อย ๆ ผมต้องพากษ์ให้เธอรู้ล่วงหน้าแทบทุกสองก้าว เพื่อให้เธอขยับแข้งขาให้สอดรับกับสภาพพื้นที่

คุณกฤษณะเห็นว่ารถติด และขณะนั้นเกือบเที่ยงวันแล้ว คุณกฤษณะจึงขอเชิญชวนให้เราแวะหยุดรถทานกลางวันก่อนจะฝ่าการจราจรจากด้านเหนือของเกาะภูเก็ตซึ่งเป็นย่านที่ตั้งของสนามบิน ไปสู่โรงแรมที่พักย่านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ ซึ่งต้องแล่นรถอ้อมเกาะ ผ่านภูเขาที่เส้นทางคดเคี้ยว น่าจะต้องใช้เวลาอีกนานพอควร เกรงเธอจะหิวข้าวเสียก่อน เพราะเมื่อเทียบกับเวลาที่นิวซีแลนด์แล้ว เท่ากับประมาณใกล้ทุ่มนึงของเธอแล้ว

เธอพยักหน้ารับไมตรี

เราจึงพาเธอแวะทานอาหารแบบติ่มซำภูเก็ต แม้เธอมองไม่เห็นอาหาร แต่เธอก็สามารถตักและจับอาหารรับประทานได้อย่างราบรื่น แสดงว่าเธอจดจำระยะของจาน แก้วน้ำ และกระดาษเช็ดปากที่เราจัดวางไม่ห่างจากตัวเธอ และพามือของเธอให้ไปแตะทุกอย่าง ๆ ละหนึ่งครั้งก่อนเริ่มทานอาหารเที่ยงด้วยกัน เธอทานไม่มากนักก็หยุด ปกติเธอจะทานไม่มากนัก แต่ออกปากชมว่าอาหารมีรสชาติดี อร่อย ถูกปาก

ผมอนุมานว่าเธอออกเดินทางจากบ้านที่นิวซีแลนด์มาตั้งแต่เกือบ 21 ชั่วโมง มาแล้ว เชื่อว่าน่าจะอ่อนเพลียพอควร คงอยากพักผ่อนมากกว่าสิ่งใดละ

คุณกฤษณะและคณะแยกตัวไปถ่ายทำรายการที่จุดอื่น ๆ ผมกับคุณมน ผู้ช่วยคนตาบอดประจำ สว.มณเทียร บุญตัน จึงพาเธอขึ้นรถมุ่งไปยังที่พักโรงแรมกันต่อ

กว่าจะได้กุญแจห้อง พาเปลี่ยนเป็นรถกอล์ฟไฟฟ้าของโรงแรม พาขึ้นลงอาคารหลักที่ล็อบบี้โรงแรมจนไปถึงบันไดขั้นสุดท้ายก่อนไขกุญแจประตูเข้าห้องก็ล่วงไปอีกเกือบ 30 นาที

แต่เมื่อเราส่งเธอเข้าถึงห้องนอนในโรงแรมที่พักแล้ว ผมไม่ลืมที่จะถามเธอว่า เธอจะประสงค์ให้พาเธอเดินคลำทุกฝาผนังของห้องพักหรือไม่ เธอบอกทันทีว่า เป็นคำถามที่ดีมาก เพราะนั่นจะช่วยให้เธอจดจำได้ ว่าห้องนอนมีรูปร่างอย่างไร อะไรอยู่ทิศทางไหนจากทางเข้าและเตียงนอน พาเธอเดินไปเหยียบให้ถึงส่วนของห้องน้ำ ที่ยืนอาบน้ำ สัมผัสให้รู้ตำแหน่งชักโครก แตะคันโยกเปิดปิดฝักบัวน้ำอุ่น แตะอ่างล้างมือ และย้ายผ้าเช็ดตัว ให้มาวางกองบนเตียงนอน

เธอต้องการจะพยายามจดจำว่ามีพื้นเปลี่ยนระดับภายในห้องนอนอยู่จุดไหนบ้างมือจับประตูทางเข้าออกอยู่ตรงไหน ล็อคอย่างไร และสอบถามเธอว่าต้องการให้ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่กี่องศา และเธอขอทราบที่เสียบแผ่นพลาสติกแข็งหรือกุญแจห้องเพื่อทำให้ระบบไฟฟ้าต่างๆของห้องทำงาน ว่าติดอยู่ที่ตำแหน่งใดจากบานประตูเข้าห้อง

ละเอียดอ่อนใช่มั้ยครับ?

หมดเวลาไปกว่า 15 นาทีเพื่อการพาให้คลำทำความรู้จักห้อง

เราอาจไม่ต้องทำอย่างนี้บริการคนตาบอดทุกคนที่เดินทางมา ถ้าเค้ายังแข็งแรง กระเป๋าเดินทางไม่หาย หรือมีเพื่อนร่วมเดินทางไว้สนทนาปลอบโยน ให้กำลังใจกันและกันในยามไม่สบายตัว

แต่ผมเลือกทำในระดับเกินมาตรฐาน เพราะเห็นแล้วว่าเธอน่าจะกำลังไม่สู้จะสบายตัวและไม่สู้จะสบายใจ

สิ่งใดที่เราพอเข้าใจได้ ลองเอ่ยปากถามว่าอยากให้เราช่วยพาทำอย่างนั้นอย่างนี้ไหม ถ้าเธอบอกว่าอยากได้ เราก็เพียงแต่ต้อง 'ทำเป็น'

ถ้าทำไม่เป็น ย่อมไม่ทันนึกถาม เมื่อไม่ทันนึกถาม เราก็คงส่งเธอถึงห้องพักแบบบังกาโล ไร้กระเป๋าที่จะผลัดผ้า ไร้หยูกยา ไร้ ชุดนอน ไร้ครีมทา ไร้กรรไกรตัดเล็บ หรืออะไร ๆ ที่ปกติมีใช้ในฐานะข้าวของประจำติดตัวติดกระเป๋า

ถ้าเราทำจนแน่ใจว่าเมื่อปิดประตูแยกย้ายกันไปแล้ว เธอจะอยู่เองตามลำพัง ทำกิจส่วนตัวได้

และในวันถัดมาเห็นเธอขึ้นกล่าวต้อนรับมวลสมาชิกและนั่งเคียงข้างรัฐมนตรีพัฒนาสังคมฯ ของไทยด้วยชุดเสื้อผ้าของเธอ ใบหน้าสดใส เราก็สบายใจ

สิ่งเหล่านี้นี่แหละครับ คือปัจจัยและความเข้าถึงใจที่สำคัญยิ่ง

ทักษะความละเอียดอย่างนี้ ผมเองก็ได้รับถ่ายทอดมาจากมัคคุเทศก์ไทย คุณนัตตี้ นิธิ สืบพงษ์สังข์ ว่าเวลาที่คุณนัตตี้พานักท่องเที่ยวยุโรปที่ตาบอดเดินทางเป็นคณะนับ 10 คนไปเที่ยวทั่วไทยนั้น คุณนัตตี้ต้องจัดผู้ช่วยไกด์ฝ่ายไทยมาประกบพาแขกฝรั่งเช็คอินเข้าแต่ละโรงแรมในแต่ละจังหวัดในอัตรา ผู้ช่วยหนึ่งคนประกบแขกนักท่องเที่ยวตาบอด 2 คน

ไม่งั้นถ้าจัดลูกทีมมาน้อยไป แปลว่าแขกจะต้องนั่งคอยจนกว่าจะถึงคิวของตัวในการพาสำรวจทำความรู้จักห้อง

ในบ่ายนั้น ผมออกมาเดินสำรวจดูกิจกรรมที่เจ้าของงานเตรียมสำหรับคนตาบอดนานาชาติที่มาถึงได้มีกิจกรรมทำไปพลาง ก่อนการประชุมในวันรุ่งขึ้น

มีการแสดงผลงานและสิ่งประดิษฐ์ที่คนพิการทำขึ้น งานเครื่องมืออ่านและผลิตอักษรหรือภาพนูนต่ำที่สามารถให้คนตาบอดลูบจับ สัมผัสใช้ เครื่องแลปท้อปของคนตาบอด แทบเลตคนตาบอด มีกิจกรรมให้คนตาบอดร้อยลูกปัด พันผ้าหุ้มสายหิ้วกระเป๋าถือ มีจำหน่ายเสื้อผ้าท้องถิ่นภาคใต้ อาหาร ขนมจากกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน โดยมีทีมอาสาสมัครวัยเยาว์จากโรงเรียนนานาชาติที่กรุงเทพบินตามเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนตาบอดนานาชาติ

และแน่นอน มีน้องแอนนี่ นางฟ้ากู่เจิ้งตาบอดชาวภูเก็ตมาเล่นดนตรีให้ฟังในวันประชุม ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ตสนับสนุนและดูแลน้องแอนนี่เป็นอย่างดี

นับเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์อย่างดี เป็นบรรยากาศที่น่ารัก

สำหรับการทำนโยบายการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพสำหรับประเทศไทยนั้น

การได้แขกกระเป๋าหนักและดูแลง่ายๆ นั้น ใครๆ ก็ปรารถนา

แต่แขกที่มีกำลังจ่ายนั้น ก็ย่อมคาดหวังความเป็นมืออาชีพของเราที่สูงขึ้น รอบรู้ และลุ่มลึก สามารถให้ประสบการณ์ที่เขาไว้วางใจ

ความสามารถในการรับนักเดินทางต่างชาติที่ตาบอด คาดน่าจะเป็นความท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งของระบบการท่องเที่ยวเดินทาง ถ้าไม่นับการขนย้ายผู้ป่วยเข้ามารับรักษานะครับ

ถ้าเราสามารถพัฒนาบุคลากรประจำเมือง ประจำพื้นที่ให้ดูแลแขกต่างชาติและคนไทยที่มีความเป็นพิเศษได้เป็น สถาปนิกวิศวกรท้องถิ่นก็ออกแบบห้องพัก โรงแรม ทางเดินเข้าออกสนามบิน อาคารสาธารณะ ฟุตบาททางเท้า ห้องน้ำ ลานจอดรถ ที่คำนึงถึงผู้พิการจากต่างภาษาได้ เราก็จะสามารถมั่นใจได้ว่า เราย่อมพร้อมรับใครๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะคนไทยและคนต่างชาติจากต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมจากทั่วโลก

ทางลาด ห้องน้ำ ราวจับ ทางข้ามถนน ป้ายสัญลักษณ์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ดี จะทำให้ทุกคนใช้งานสะดวกและปลอดภัย ไม่ว่าจะเด็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง รถเข็นทารก คนที่ลากกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ นักกีฬาใส่เฝือก

ทำแล้วแม้ยังไม่มีแขกต่างชาติมาใช้ แต่ก็คนไทยเราเองนั่นแหละ ได้ประโยชน์

ที่เหลือก็คงเป็นเรื่องผู้จัดบริการ การใส่ใจ อธิบาย ให้ความอบอุ่น ให้ความมั่นใจ ให้ความปลอดภัย ให้ความสะอาดถูกหลักอนามัย และเสน่ห์จากวัฒนธรรมต่างๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของไทย ให้กันและกัน

เท่านั้นเอง

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อดีตเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย

‘สว.วีระศักดิ์’ ปลุกพลังทุกภาคส่วนในเชียงใหม่ ร่วมป้องกัน - หยุดเผา คืนอากาศบริสุทธิ์ให้ชาวเชียงใหม่

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษในเวทีการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ ‘อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม’ ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดเชียงใหม่ 

โดยมีผู้บริหารและตัวแทนหน่วยงานของรัฐ เครือข่ายอากาศสะอาด สภาลมหายใจ และสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนนักวิชาการต่างๆเข้าร่วมอย่างคับคั่ง กว่าหนึ่งพันคน

การจัดการประชุมระดับชาตินี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ และสภาลมหายใจเชียงใหม่ พร้อมกับอีกกว่า 50 ภาคีเครือข่ายร่วมจัด

นายวีระศักดิ์ ชี้ว่า แม้จะกำลังมีร่างกฎหมายอากาศสะอาดเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยประชุมที่จะมาถึงนี้ แต่ฤดูเผา ฤดูฝุ่นก็กำลังจะเกิดก่อน รวมทั้งเป็นปีแล้งจากผลของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ป่าจะแห้ง เชื้อเพลิงใบไม้และทุ่งหญ้าจะเป็นเชื้อเพลิงที่อ่อนไหวมาก การร่วมมือทำความเข้าใจเหตุที่ทำให้เกิดการเผาทั้งในแปลงเกษตรและในพื้นที่ตามกฎหมายป่าไม้จึงต้องเร่งใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในการป้องกันหรืออย่างน้อยก็ลดการจุดเผาลงให้ได้มากที่สุด การทำความเข้าใจเพื่อสร้างความรู้ในการวิเคราะห์จากข้อมูลดาวเทียม จะช่วยให้แต่ละพื้นที่จับทิศทางลม และที่ตั้งจุดเริ่มการเผาได้จากสถิติที่ดาวเทียมบันทึกไว้มาตลอด 20 ปีย้อนหลัง 

นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมควรสื่อสารร่วมกับรัฐไปยังผู้ประกอบการนำเข้าเมล็ดข้าวโพดและอ้อยที่มาจากประเทศข้างเคียง ให้เร่งใช้มาตรการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อปฏิเสธการรับซื้อผลผลิตที่มาจากพื้นที่เผา เพราะในหลายปีที่ผ่านมา จุดความร้อนในไทยลดลงเป็นลำดับแต่ในประเทศข้างเคียง ยังมีอัตราการพบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นสวนทางกัน

“เราทุกฝ่ายควรเดินหน้าแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะปอดของเราก็รอไม่ได้ อัตราตายจากโรคทางเดินหายใจทะยานสูงขึ้นมาก รอบบ้านทั้งภูมิภาคก็มีอัตราเร่งเผาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การบูรณาการใช้พลังหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคชุมชน ภาคท้องถิ่น ภาควิชาการที่มีฐานทางวิทยาศาสตร์ และพลังสื่อสารที่เข้าถึงทั้งคนทั่วไป และลึกถึงกลุ่มที่ไม่ใช้ภาษาไทยจะมาจากไหน และจะไปถึงกลุ่มชายป่า ในไร่ ในโรงกลั่น และในรถยนต์ รถเก่า ตลอดถึงคนข้ามชายแดนกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างไร ผมคาดหวังว่า งานประชุมระดับชาติครั้งนี้ จะช่วยหาคำตอบ และแบ่งบทบาทการต่อสู่เพื่อสิทธิในอากาศสะอาดของเรา ที่ต้องใช้ความรู้รอบ และตอบสนอง อย่างมีระบบและทุ่มเท เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จให้ได้ครับ”

สำหรับการประชุมระดับชาติ เรื่องมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 นี้ จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคมนี้ โดยจะมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มารับข้อสรุปข้อเสนอจากการประชุมระดมข้อคิดที่มาจากกลุ่มผู้ติดตามสถานการณ์เรื่องฝุ่นในวันที่ 4 ธันวาคมเพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

'วีระศักดิ์' ส่งมอบหนังสือรับรอง 'GBAC STAR' สู่ 6 สุดยอดผู้บริหารไทย หลังได้รับการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากลจากสหรัฐฯ

(26 ม.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานกล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง 'มาตรฐานสุขอนามัยในกระแสการท่องเที่ยวของสากล' ที่อาคารศูนย์การประชุมบางแสนเฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุขร่วมให้การต้อนรับ

สำหรับงานดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวแนะนำโครงการและนางสาวนวลสมร อุณหะประทีป หัวหน้าโครงการ รายงานผลการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากลจบแล้ว

หลังจากนั้น นายวีระศักดิ์ ก็ได้ขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือรับรอง การเป็นผู้ได้รับการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล หรือ GBAC STAR ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ให้กับผู้บริหารของไทย 6 แห่งที่ได้รับการรับรองในปีนี้ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต, ศูนย์การประชุมบางแสนเฮอริเทจ ชลบุรี, บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซนทรัลเวิลด์, บ้านปารค์นายเลิศ, บริษัทนิกรมารีน ภูเก็ต และ บริษัทสุโข เวลเนสแอนด์ สปา จำกัด โดยเมื่อรวมกับที่ได้รับไปรุ่นแรกในปีก่อนหน้าอีก 4 แห่ง คือ ไทเกอร์มวยไทย, ป่าตองเบย์วิว, เกาะยาวใหญ่วิลเลจ และ อ่าวนางปรินซ์วิลล์ รีสอร์ตแอนด์ สปา ก็ทำให้ไทยมีสถานที่ที่ได้รับตรามาตรฐานนี้รวมแล้ว 10 แห่ง

อนึ่ง มาตรฐาน GBAC STAR ได้ถูกใช้ในสถานประกอบการมาตรฐานนับพันแห่งทั่วโลก เช่น สนามบิน JFK, สนามบินลากัวเดียร์, สนามบินนวอค์, ท่าเรือนิวยอร์ก, ท่าเรือนิวเจอร์ซีย์, ศูนย์ประชุมนานาชาติออราเคิลและสนามกีฬาที่แอตแลนตา จอร์เจีย ซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน เป็นต้น ขณะนี้มีกิจการต่างๆ รอรับการประเมินให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GBAC STAR อีกหลายพันแห่งทั่วโลก

สำหรับการขอรับรองตรามาตรฐาน GBAC STAR ของไทย เป็นการร่วมมือผ่านงานวิจัยที่นักวิจัยและวิชาการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยงบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ทำงานร่วมกับแต่ละสถานที่เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานเดิมที่สถานประกอบการหลายๆ แห่งในไทยเคยพัฒนาระบบมาตรฐานสุขอนามัยผ่านระบบ SHA และ SHA+ ที่ดำเนินการโดยททท.และกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนในช่วงรับมือโรคระบาด โควิด19  

ดังนั้น ด้วยการดำเนินการเพิ่มการบันทึกเอกสารและขั้นตอนรายละเอียดอีกเพียงไม่มาก ผู้ประกอบการก็เข้าเกณฑ์ที่จะผ่านการประเมินของ GBAC STAR ที่ตลาดสหรัฐฯ, แคนาดา, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ให้ความเชื่อถือต่อมาตรฐานนี้อย่างยิ่งได้แล้ว 

อีกทั้งผู้ประกอบการต่างพึงพอใจที่นอกจากจะมีตรารับรองที่ตลาดไว้วางใจแล้ว ยังได้มาตรฐานที่สร้างความปลอดภัยให้พนักงานหน้างานของตนเอง มีแผนรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน มีแผนประเมินความเสี่ยงที่อาจมาถึง และมีการเปลี่ยนแปลงที่กระตุ้นให้ Supply Chains และนิเวศของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยตื่นตัว และเท่ากับช่วยยกระดับมาตรฐานของการเดินทางและท่องเที่ยวไทยไปด้วย

นอกจากนี้ ผลพลอยได้ที่เกิดจากกิจกรรมคือ นักวิจัยไทยจากโครงการนี้ ซึ่งมีทั้ง มอ.ภูเก็ต และ นิด้า ได้กลายเป็นผู้มีความชำนาญในการออกแบบติดตามและประเมินมาตรฐานตามระบบของ สมาคม ISSA Worldwide Cleaning Industry Association USA และได้รับการรับรองให้เป็นบุคลากรเชี่ยวชาญในการประเมินอิสระให้ GBAC STAR ในระดับภูมิภาคด้วย

‘สว.วีระศักดิ์’ เผยเสน่ห์ท่องเที่ยวไทย คือไมตรีของคนทุกท้องถิ่น

ไม่นานมานี้ สำนักข่าว บีบีซี (ภาคภาษาเวียดนาม) ได้นำเสนอสกู๊ปพิเศษเรื่อง 'ไทย แชมป์ อาเซียนด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ : เมื่อไหร่จะถึงคิวเวียดนามบ้าง?' โดยสืบเนื่องจากปี 2023 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเวียดนามแห่ไปเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก และใช้จ่ายไปถึง 11,000 ล้านด่อง 

นักข่าวบีบีซีท่านนี้ที่ชื่อ Tran Vo ได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกับ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไทย โดยนายวีระศักดิ์ ได้กล่าวชี้ชัดสั้น ๆ ไว้ว่า “เสน่ห์ของการท่องเที่ยวไทย คือความเป็นมิตรไมตรีของคนไทยในทุกท้องถิ่น และรัฐช่วยอีกแรงด้วยการผ่อนคลายด้านวีซ่า”

ก่อนหน้านี้ เหงียน วัน มาย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเวียดนามยอมรับด้วยว่า “ไทยเป็นผู้นำด้านท่องเที่ยวแม้ไม่ต้องมีนโยบายเปิดคาสิโนอย่างที่เวียดนามทำ เพราะไทยสามารถเปลี่ยน 'เรื่องพื้น ๆ' ให้เป็นเรื่องน่าเที่ยว และเมื่อบวกกับความต้อนรับขับสู้ในการให้บริการ ก็สามารถได้ความประทับใจโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากมาย”

นอกจากนี้ ยังได้เอ่ยชื่นชม ททท.ไทย ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเติมคุณค่าให้ของพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น น้ำหวานดอกมะพร้าวให้กลายเป็นสินค้าน่าประทับใจ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการพาชมหิ่งห้อยอัมพวา การใช้ผลไม้ที่เผาเป็นถ่านใช้ไล่ยุงในรีสอร์ต ว่าทำได้อย่างน่าทึ่ง

นี่คือเสน่ห์ที่แม้แต่เพื่อนบ้านซึ่งเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจยังยอมรับแบบหมดใจ 

ท่องเที่ยวไทย เสน่ห์ที่ใคร ๆ ก็หลงใหล

สำหรับบทความเต็ม ติดตามอ่านต่อได้ใน >> https://www.bbc.com/vietnamese/articles/cxem54drekpo


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top