Thursday, 16 May 2024
วิกฤตการเงินโลก

‘กรณ์’ ชี้ Evergrande ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ สัญญาณวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ จี้ ทีมเศรษฐกิจไทยจัดทัพรับมือด่วน 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความเป็นห่วง ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจจาก บ.อสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ Evergrande ว่า กำลังจะส่งผลกระทบไม่ใช่แค่กับเศรษฐกิจจีน แต่สะเก็ดระเบิดนี้จะกระจายมาโดนเมืองไทยด้วยเหมือนสมัยวิกฤตแฮมเบอเกอร์ เมื่อสมัยที่ตนเป็นรมว.คลัง 

โดยในช่วงนั้นเราทำงานจับตาเรื่องซับไพรม์ใกล้ชิดตั้งแต่ต้น ทำงานเชิงลึกและทำความเข้าใจตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตจนจัดการได้อยู่ และแก้ไขจนไทยฟื้นตัวไวเป็นอันดับ 2 โลก แต่ครั้งนี้หนักกว่า เพราะความพึ่งพาที่ใกล้ชิดในหลายมิติระหว่างไทย-จีน มากกว่า ไทย-อเมริกา คำถามคือ วันนี้ไทยเตรียมรับมือกับประเด็น Evergrande หรือยัง 

ทั้งนี้ ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไทยเรารับมือกับเรื่องน้ำท่วมเป็นหลัก แต่ประเด็นนี้ต้องคอยจับตาให้ดี สื่อและนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจต่างชาติยังคงเกาะติดไม่หยุดกับประเด็นดังกล่าว

“Evergrande ใช้ยุทธศาสตร์ 3 สูง 1 ต่ำ คือหนี้สูง หนี้ต่อทุนสูง และยอดขายสูง ส่วน 1 ตํ่าคือ ต้นทุนต่ำ ยุทธศาสตร์นี้ทำให้ Evergrande เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี แต่แล้วสุดท้ายการเสพติดหนี้ทำให้บริษัทล่มและสะเทือนไปถึงระบบธนาคารและแม้แต่การเมืองจีน ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้พยายามลดความเสี่ยงในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยการประกาศมาตรการ ‘3 เส้นแดง’ ที่ทุกบริษัทต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นการกำหนด 1.) สัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน 2.) สัดส่วนหนี้ต่อทุน 3.) สัดส่วนเงินสดต่อหนี้ระยะสั้น” อดีต รมว.คลัง กล่าว

สหรัฐฯ หวั่น!! ธนาคารหลายแห่งกำลังเจอวิกฤต คาด!! อาจรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ครั้งวิกฤตการเงินโลก

(11 มี.ค. 66) World Maker ได้รายงานเรื่องของ Bank Run ในธนาคารบางแห่ง ซึ่งก็คือ SVB Financial Group, First Republic และ PacWest Bancorp ที่ราคาหุ้นร่วงหนักกว่า -50% ภายในวันเดียว ขณะที่ลูกค้าของ SVB แห่ถอนเงินออกไปเป็นจำนวนมากเกือบ -1.5 ล้านล้านบาทเมื่อวาน จนทำให้ต้องโดนสั่งปิดธนาคารไปแล้วชั่วคราว

เรื่องนี้เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่าจำนวนเงินดังกล่าวมีมูลค่าเกือบเท่ากับ AOT + PTT ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของไทย 2 แห่งรวมกัน !!! แล้วคิดดูว่าจำนวนเงินดังกล่าวกำลังโดนสั่งถอนภายในวันเดียว มันคือวิกฤตที่รุนแรงแค่ไหน ?

คำตอบก็คือ มันคือวิกฤตที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2008 หรือที่เรารู้จักกันในชื่ออื่นๆ ว่า Hamburger Crisis ที่ทำให้ธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Lehman Brothers ล้มละลาย

ทั้งนี้ ธนาคาร SVB นั้น ไม่ใช่ธนาคารหน้าใหม่ที่มีขนาดเล็กแต่อย่างใด เพราะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1983 และมีอิทธิพลสำคัญต่อบริษัท Startup หลายแห่ง ! สาเหตุที่ทำให้หุ้นของธนาคารเหล่านี้ร่วงลงนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาสะสมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ! โดยเฉพาะเมื่อโลกเกิด COVID และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในขณะที่ภาคการเงินตึงตัวจากการขึ้นดอกเบี้ยของ FED จึงอธิบายได้เป็นลำดับดังนี้

1.) โดยส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มธนาคารจะมีการถือครองพันธบัตรเอาไว้เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งเมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ย หมายความว่าราคาพันธบัตรเก่า ๆ จะลดลง เนื่องจากพันธบัตรใหม่ที่ออกมาจะให้ Bond Yield สูงกว่า จึงทำให้มูลค่าและการประเมินราคาของพันธบัตรเก่า ๆ ที่สามารถนำไปขายใน Secondary Market จะลดลงนั่นเอง

2.) เมื่อ FED ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดเงินเฟ้อ กลุ่มธนาคารที่ถือพันธบัตรอยู่มากมายจึงเริ่มขาดทุนเงินในพอร์ตอย่างมหาศาลมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ที่ปัญหายังไม่เกิด เพราะว่ายังไม่มี Panic Sell จนลูกค้าแห่ถอนเงิน ซึ่งทำให้ก่อนหน้านี้เป็นการขาดทุนเชิงตัวเลขในพอร์ตที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงเท่านั้น

3.) อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาสภาพคล่องต่าง ๆ เริ่มลุกลาม กลายเป็นว่าลูกค้าแห่ถอนเงินออก จนทำให้ธนาคารขาดแคลนเงินสด และต้องเทขายพันธบัตรเหล่านี้ออกไปในราคาขาดทุน กลายเป็นว่าธนาคารได้บันทึกผลขาดทุนไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และนั่นกลายเป็น Reflexivity Effect ตามทฤษฎีของ George Soros หรือจะเรียกว่า Painful Vortex ก็ได้ กล่าวคือลูกค้ายิ่งเห็นการขาดทุนก็ยิ่ง Panic Sell หรือแห่ถอนเงินออกมา ทำให้กลายเป็นโดมิโนต่อไปเรื่อย ๆ

4.) ตอนนี้ SVB สาขาอังกฤษก็จะถูกประกาศล้มละลายแล้ว แม้ว่า SVB ในจีนจะยันว่าสภาพคล่องอยู่ในสถานะดีก็ตาม ขณะที่การร่วงลงของ First Republic และ PacWest Bancorp ก็ได้เกิดขึ้นด้วยปัญหาคล้าย ๆ กัน นั่นทำให้หลายคนกังวลว่า Domino Effect จะไม่จบลงแค่นี้ !

5.) โดยเฉพาะเมื่อ FED ยังยืนยันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก !!! นั่นยิ่งทำให้ความตึงเครียดหลาย ๆ อย่างมีอยู่สูงมาก และเราจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดเลยว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นกับ SVB และอีกหลายธนาคารในช่วงสัปดาห์นี้ จะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของ FED เรื่องดอกเบี้ยได้หรือไม่ ? เพราะถ้า FED กล่าวว่าไม่สนและจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เราอาจได้เห็น Recession ของจริง แต่ถ้า FED ยอมผ่อนคลายนโยบายการเงิน และเข้าอุ้ม เราก็อาจได้เห็นการบรรเทาลงด้วยความเสียหายบางส่วน

ประเด็นสำคัญก็คือหลายคนยังไม่รู้ว่าธนาคารต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ 3 แห่งที่กล่าวมา แต่รวมไปถึงธนาคารยักษ์ใหญ่ใน Wall Street กำลังขาดทุนค้างพอร์ตอยู่ถึง -21.5 ล้านล้านบาทหรือ -6.2 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งอย่างที่บอกไปว่ามันคือการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เพราะธนาคารยังไม่ได้ขายหลักทรัพย์ที่มูลค่าร่วงออกมา

แต่มันจะกลายเป็นการขาดทุนจริง ๆ ทันทีหากวิกฤตนี้ลุกลามต่อไปเรื่อย ๆ และมีผู้คนแห่ถอนเงินออกจากธนาคารต่าง ๆ เนื่องจากการแห่ถอนเงินนี้ เป็นลักษณะคล้าย ๆ กับตอนเกิดวิกฤตการเงินในทุก ๆ ครั้ง จนทำให้ธนาคารมีเงินสดไม่เพียงพอจะรองรับการถอนของลูกค้า และสุดท้ายก็ต้องจำใจขายหลักทรัพย์ในพอร์ตออกมาแบบขาดทุนจนเกิดเป็น Reflexivity กันไปในเชิงระบบ

และมันอาจไม่ใช่แค่ในตลาดตราสารหนี้ขนาดใหญ่ !!! เพราะอย่างที่ World Maker อธิบายไปในบทความเมื่อวานนี้ (ใครยังไม่อ่านลองเลื่อนอ่านดูได้หน้าเพจ) ว่าตลาดการเงินโลกล้วนมีการเชื่อมต่อกันไปเรื่อย ๆ ในหลายสินทรัพย์อย่างแยกกันไม่ออก !

โดยล่าสุดพบว่า Circle บริษัทผู้ออกเหรียญ Stablecoin อย่าง USDC มีเงินสำรองฝากอยู่ที่ SVB ราว 1.15 แสนล้านบาท ! จากทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท ! หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของปริมาณเงินสำรองที่ติดอยู่ใน SVB

ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นสัดส่วนที่สูง แต่เรื่องของ Panic Sell อาจมี Effect มากกว่านั้น เพราะทันทีที่ข่าวออกมา พบว่ามูลค่าของเหรียญ USDC ร่วงยับหลุด Peg กับค่าเงินดอลลาร์ไปแล้ว ! จาก 1:1 ดอลลาร์ตอนนี้ร่วงยับมา 0.89:1 ดอลลาร์ หรือพูดง่าย ๆ ว่าใครถือ USDC จะขาดทุนทันที -11% เมื่อแลกกลับเป็นดอลลาร์ !!!

ปัญหาคือ พวกเราคิดว่าเมื่อเป็นเช่นนี้จะเกิดการ Panic Selling หรือไม่ ? ความหนักหน่วงของมันอยู่ที่ว่า ในเมื่อ Stablecoin คือเหรียญที่สร้างมาเพื่อผูกกับดอลลาร์ในอัตรา 1 ต่อ 1 แต่เมื่อมันรักษามูลค่าไว้ไม่ได้ มันจะออกทรงแบบวิกฤต TerraUSD จนลุกลามไปใหญ่โตเหมือนวิกฤต FTX อีกหรือไม่ ? นั่นคือความเสี่ยงที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ !!!

และเมื่อเรากลับมาพูดถึงการขาดทุนค้างพอร์ตอีก -21.5 ล้านล้านบาท (-6.2 แสนล้านดอลลาร์) นั้น แปลว่าหากมีลูกค้าถอนเงินจนธนาคารขาดสภาพคล่อง แปลว่าจะต้องมีการเทขายหลักทรัพย์ เช่น พันธบัตร หุ้น หรืออื่น ๆ ออกมาอีกในราคาขาดทุน และอาจกระตุ้นให้พันธบัตรหรือราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ร่วงลงได้อีกในระยะสั้น

ทั้งหมดนี้จะเป็นไปตาม Reflexivity Theory ทันทีหากไม่มีใครเข้ามาอุ้มและมีการ Panic Sell ต่อ ๆ ไป จนสุดท้ายอาจลุกลามเป็น Financial Crisis เหมือนในปี 2008 ได้ !!! แม้ว่าปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งจะมีประสบการณ์แล้วจากช่วงแฮมเบอร์เกอร์ทำให้มีความระมัดระวังและรัดกุมมากกว่าเดิม แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าวิกฤตจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ !

และที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ตลาดตราสารหนี้และธนาคารของสหรัฐฯ นั้นมักจะเชื่อมโยงกับภาคการเงินและสถาบันการเงินของหลายประเทศ ดังนั้นถ้ายักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบเป็น Domino Effect ซึ่งจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ต่อโดมิโนตัวหลัง แปลว่าผู้ที่น่าห่วงที่สุดไม่ใช่ต้นสาย แต่เป็นปลายน้ำอย่างเช่นตลาดเกิดใหม่ !

โดยรวมแล้ว World Maker มองว่า วิกฤตในครั้งนี้ถือเป็นจุดที่ธนาคารและสถาบันการเงินจะต้องหยุดชะล่าใจและควรหันมาตรวจสอบความยืดหยุ่นและกลยุทธ์ทางการเงินของบริษัทโดยด่วน เพราะ Stress Test ครั้งใหญ่ดูเหมือนจะมี Timeline ที่รอเกิดขึ้นเรียงๆ กันมา ซึ่งจะเป็นบททดสอบว่าใครบ้างที่จะได้อยู่ต่อในอนาคต ซึ่งเป็นโลกที่อุตสาหกรรมจะถูกยกระดับไปอีกขั้น !

วิกฤตใหญ่รอบนี้อาจไม่ใช่สหรัฐฯ  แต่อาจเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่

(11 พ.ค. 66) แน่นอนว่าหากใครติดตามข่าวสารการเงินโลกอยู่ตอนนี้ ก็คงเห็นข่าวถล่มสหรัฐฯ กันทุกวี่ทุกวันจากฝั่งคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะข่าวที่ว่าดอลลาร์จะเสื่อมค่าหนักกลายเป็นแบงก์กงเต็กที่ไม่มีใครเอา ไม่มีใครต้องการ แต่ในความเป็นจริงแล้วระเบิดลูกใหญ่อาจซ่อนอยู่ในประเทศที่ดูดีเวอร์ ๆ และดูไม่มีความเสี่ยง มากกว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เสียอีก !

World Maker ย้ำมาตลอดหลายบทความแล้วว่าท่านควรจะระวังอะไรบ้าง ซึ่งเราไม่ได้การันตีว่าจะเกิดขึ้นแบบ 100% เนื่องจากผู้เขียนเองก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะถ้าเกิดแล้วจะสร้างความเสียหายแก่คนจำนวนมากที่กำลังประมาท “สู้ให้ผู้เขียนเป็นผู้ผิดเสียเองจะดีกว่า” แต่ถึงกระนั้นก็อยากบรรยายถึงความเสี่ยงเอาไว้ให้ท่านไม่ประมาทเกินไป โดยจะสรุปให้เป็นข้อ ๆ อีกครั้งเพื่อความชัดเจนดังนี้ (ถ้าผมผิดและมันไม่เกิดขึ้นจริงตามนี้ก็ดีแล้ว ให้ผมผิดไปเลย ผมไม่กลัวความผิด แต่ถ้ามันเกิดขึ้นจริงคนที่เดือดร้อนไม่ใช่ผมแต่จะเป็นคนส่วนใหญ่)

1. ตลาดทองคำและ Crypto ตอนนี้กำลังมีข่าวจากผู้ที่ยกตนเป็นกูรูการเงินโลก ออกมาเชียร์ให้คนซื้อทองคำและทิ้งเงินดอลลาร์-พันธบัตรอเมริกา ขณะที่หลายปีมานี้ทองคำถูกดันราคาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันเทรดอยู่ที่ระดับสูงกว่า 2,030 $/Oz และมีแรงเชียร์ซื้อมากมายจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่พยายามล้มดอลลาร์ ซึ่งแม้ว่าตลอด 5,000 ปีที่ผ่านมาทองคำจะมีประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างดูดีและสามารถรักษามูลค่ามาได้ตลอด แต่การจะบอกว่ามันคือสินทรัพย์อมตะที่จะล้มเงินดอลลาร์และราคาพุ่งทะลุเพดานนั้น ไม่แน่ด้วยซ้ำว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ? โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ทองคำแทบไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อะไรในทางเศรษฐกิจจริง นอกจากการเก็งกำไร และการซื้อเพราะหวังว่าจะสามารถขายต่อได้ที่ในราคาแพงกว่าเดิม

ส่วน Crypto นั้นก่อนหน้านี้เป็นกระแสข่าวหนักว่าจะล้มดอลลาร์และทองคำ แต่สุดท้ายก็พังไปก่อนเพื่อน และตอนนี้กำลังถูกหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐฯ-ตะวันตกตรวจสอบอย่างหนัก สวนทางกับที่จีน-รัสเซียกลับลำเปิดหน้าหันมาดันอย่างชัดเจน โดยฮ่องกงตั้งเป้าตัวเองเป็นศูนย์กลางคริปโตโลก ขณะที่รัสเซียเริ่มเชื่อม Ethereum และ Metamask เข้ากับ Sberbank ที่เป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศ แต่ Crypto เป็น 1 สินทรัพย์ที่ปู่ Warren Buffett ออกมาประจานชัดเจนว่าเป็นเหรียญเก็งกำไรไม่มีมูลค่าแท้จริงและจะพบจุดจบไม่สวยงาม (ปู่เคยกล่าวอีกว่าทองคำก็เอามาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้นอกจากเก็งกำไรเป็นหลัก)

2. อสังหาฯ-ที่ดินใน Emerging Market และอีกหลายประเทศ เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมามีกลุ่มที่กว้านซื้อหวังเก็งกำไรจนดันให้ราคาสูงเกินมูลค่าที่ควรจะเป็นไปอย่างมาก และคนทั่วไปส่วนใหญ่แทบจะเอื้อมกันไม่ถึงแล้ว ซึ่งพอมาถึงสภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้กลุ่มที่ดันราคามาตลอดหาผู้ซื้อใหม่แทบจะไม่ได้ สุดท้ายหากขาดแคลนสภาพคล่องขึ้นมา จะต้องนำอสังหาฯ-ที่ดินเหล่านี้มาขายทอดตลาดในราคา Discount อย่างมาก

3. พันธบัตร-ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ ต้องระวังเอาไว้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องของสภาพคล่อง เพราะพันธบัตรเหล่านี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมามีการออกกู้กันเยอะมากโดยพวกที่โลภและคิดจะหาเงินแบบ Easy Money แต่กลับไม่มีความสามารถในการทำกำไรมาจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นได้ ดังนั้นหากโดนกดดันจากสภาพแวดล้อมในตอนนี้ต่อไปอีกจนถึงทางตันขึ้นมา เราอาจได้เห็นการ Default เกิดขึ้นหนักกว่าในสหรัฐฯ หลายเท่า

4. ธนาคารในหลายประเทศ จะต้องจับตามองเอาไว้ โดยเฉพาะธนาคารที่มีผู้บริหารไม่ได้เรื่อง โลภมาก ใช้จ่ายเงินอย่างประมาท อย่างที่ปู่ Warren Buffett ออกมากล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่ากลุ่มธนาคารนั้นมีความล่อใจอย่างมากให้คนทำชั่วและตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวเอง แม้แต่สหรัฐฯ ที่มีการตรวจสอบโดยรวมเข้มงวดก็ยังเกิดวิกฤตเช่นนี้ขึ้นมาได้ ดังนั้นในหลายประเทศที่ไม่มีการตรวจสอบเหมือนสหรัฐฯ อาจมีวิกฤตใหญ่กว่าที่ซ่อนอยู่

5. ค่าเงินของประเทศที่พยายามทำให้ดูดี เพราะแม้ว่าปัจจุบันจะมีข่าวกระหน่ำโจมตีค่าเงินดอลลาร์อย่างหนัก ทำให้ดูเหมือนดอลลาร์จะมีความเสี่ยงมากที่สุด แต่จริง ๆ แล้วประเทศที่มีปัญหาใหญ่เรื่องเศรษฐกิจ-ค่าเงินอาจกำลังปิดข่าวเงียบ ซึ่งหากใครตามข่าวสารดูดี ๆ จะเห็นว่าค่าเงินหลายประเทศกำลังเปราะบางอย่างมาก บางประเทศคิดอะไรไม่ออกก็ต้องหันไปหาทองคำเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการเสื่อมค่าของสกุลเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอจริง ๆ คือระบบบริหารและระบบสืบทอดอำนาจจากผู้ที่ไม่มีความรู้อย่างถ่องแท้ในการดำเนินเศรษฐศาสตร์-การเงินของประเทศ (และถ้าทองคำไม่ใช่คำตอบอีกก็จะยิ่งเสียหายหนัก)

📌 ตอนนี้สหรัฐฯ กำลังหารือเกี่ยวกับเพดานหนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด Joe Biden ระบุว่ามีความคืบหน้าเล็กน้อยในการเจรจาเมื่อวันอังคาร ซึ่งเรื่องของเพดานหนี้สหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนได้อย่างมาก เพราะแม้แต่ขุนคลัง Janet Yellen ก็ออกมากล่าวชัดเจนว่าหากสหรัฐฯ ผิดชำระหนี้ขึ้นมา มันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ-การเงินโลกเป็นอย่างมาก รวมถึงทำลายความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ อย่างสาหัส

และขณะเดียวกันก็จะทำให้กลุ่มคอมมิวนิสต์โหมกระหน่ำถล่มสหรัฐฯ หนักขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในแง่ของข้อมูลข่าวสาร นั่นหมายถึงการสั่นคลอนเงินดอลลาร์มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่าสหรัฐฯ จะยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้หรือไม่ ?

แต่ในทางกลับกัน วันนี้ตัวเลข CPI เทียบรายปีของสหรัฐฯ ประจำเดือนเมษายนประกาศออกมาที่ 4.9% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 5% แม้ว่า Core CPI ที่ไม่นับรวมอาหารและพลังงานจะอยู่ที่ 5.5% นั่นทำให้ FED อาจมีช่องว่างมากขึ้นในการดำเนินนโยบายทางการเงิน และบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เป็นหายนะเกินควบคุมเหมือนที่สื่อฝั่งคอมมิวนิสต์กำลังโจมตี

นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารในสหรัฐฯ ทำกำไรได้มากถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 (เพิ่มขึ้น +33% จากไตรมาส 1 ปี 2022) สวนทางอย่างสิ้นเชิงจากการกระหน่ำข่าวที่ว่าสหรัฐฯ กำลังจะเกิดวิกฤตเหมือนในปี 2008 จนพังทลายลงไป

จากธนาคารเกือบ 4,400 แห่งของสหรัฐฯ พบว่ามีเพียง 197 แห่งหรือน้อยกว่า 5% ที่ขาดทุนในไตรมาสแรก ตามข้อมูลของ BankRegData ซึ่งทำให้น่าจับตามองว่าที่กูรูฝั่งคอมมิวนิสต์กำลังพยายามโจมตีว่าสหรัฐฯ จะล่มสลายนี้ เป็นเรื่องจริงหรือแค่เรื่องแต่งขึ้นมาหวังทุบดอลลาร์แล้วครองโลกเอง ?

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐฯ อาจไม่ได้น่าเป็นห่วงเหมือนระเบิดที่ซ่อนอยู่ในประเทศอื่น ๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะประมาทได้ เพราะปู่ Warren Buffett และคู่หูอย่างปู่ Charlie Munger ก็กล่าวเองชัดเจนว่ายังมีธนาคารอีกหลายแห่งที่ต้องได้รับบทเรียนจากการบริหารเงินอย่างไม่ได้เรื่อง ในขณะที่สหรัฐฯ จะยกเลิกการผ่อนคลายกฎหมายที่เกิดขึ้นในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ (ซึ่งเป็นรัฐบาลที่สัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัสเซีย) ที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก-กลางไม่ต้องโดนตรวจสอบความปลอดภัยด้านการเงินโดยการเข้ารับ Stress Test เหมือนบริษัทใหญ่ ๆ

นั่นหมายความว่านับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ผลประกอบการของธุรกิจหลายแห่งในสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลง หรือในบางแห่งที่มีปัญหาก็อาจจะเริ่มทรุดตัวอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นแม้ว่าโดยภาพรวมจะไม่ใช่จุดที่เป็นความเสียหายครั้งใหญ่เหมือนในปี 2008 แต่ผู้ที่ลงทุนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับภาคการเงินของสหรัฐฯ ก็จะต้องรัดเข็มขัดเอาไว้อย่างไม่ประมาท

ทั้งนี้ อย่างที่บอกว่าเราที่ควรกังวลจริง ๆ อาจยังไม่เป็นข่าวในตอนนี้และไม่ได้อยู่ในสหรัฐฯ แต่เป็นกลุ่มประเทศที่คนปลอยปะละเลยไม่สนใจ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจระดับมหภาคจะมีความตึงเครียดสูงขึ้นอย่างเงียบ ๆ แต่เป็นแบบทวีคูณ โดยเฉพาะเรื่องของฟองสบู่สินทรัพย์ที่ถูกเก็งกำไรดันราคาโดยกลุ่มคนโลภในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้

ตลาดอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ถือว่าน่าจับตามองในช่วงต่อจากนี้ โดยเริ่มจากในสหรัฐฯ ที่ตอนนี้ราคาบ้านในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ ได้ลดลงแล้ว -14.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า พร้อมกับยอดขายที่ลดลง แม้ว่าในหลายพื้นที่ราคาจะยังเพิ่มขึ้นสวนทางปัจจัยพื้นฐาน แต่ที่สำคัญคือภาพที่อาจตามมาในประเทศอื่น ๆ หลังจากนี้ ซึ่งภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเป็นแรงกดดันต่ออสังหาฯ มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกเก็งกำไรดันราคาขึ้นไปจนเวอร์สูงลิ่วในหลาย 10 ปีที่ผ่านมา หากไปจนถึงจุดที่สูงเกินไป สุดท้ายจะเกิดภาวะฟองสบู่แตกและต้องปรับฐานลงมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยสรุปก็คือ สิ่งที่ World Maker สรุปมา 5 ข้อรวมถึงเรื่องเพดานหนี้และอสังหาฯ นี้ อยากให้จับตามองเอาไว้ให้ดีและระมัดระวังเอาไว้อย่างไม่ประมาท ใครจะทุ่มเงินซื้อบ้าน ซื้อทอง ซื้อรถ ก็อย่าพึ่งมั่นใจนัก อย่าพึ่งรีบร้อนเกินไปกับราคาในปัจจุบัน อย่ามั่นใจ 100% ว่าราคาจะพุ่งทะลุเพดานไปอีกหลาย % ในเร็ว ๆ นี้

ซึ่งแม้ว่าผู้เขียนจะไม่สามารถการันตีได้ 100% ว่าจะเกิดขึ้นจริง และจะอยากให้ตัวเองผิดเสียด้วยซ้ำไป แต่ถ้าผู้เขียนเกิดถูกขึ้นมา คนเสียหายก็คือคนที่โลภมากในก่อนหน้านี้ (ซึ่งกลุ่มนี้ควรได้รับบทเรียนอยู่แล้ว) แต่คนที่ไม่ได้มีเป้าประสงค์ไม่ดี เพียงแต่ว่าขาดความรู้ทางการเงินในการบริหารความเสี่ยง อาจตัดสินใจผิดได้และเสียหายหนักไม่ต่างกัน หากไม่ได้รับรู้ข้อมูลตรงนี้


เรื่อง: World Maker


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top