‘ดร.สุวินัย’ โพสต์ข้อความ แลกเปลี่ยนกับ ‘สมภพ พอดี’ เรื่อง!! ‘วิกฤตการศึกษาของเด็กไทย และคนไทย’
(4 ม.ค. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า …
แลกเปลี่ยนกับคุณสมภพ พอดี เรื่องวิกฤตการศึกษาของเด็กไทยและคนไทย
ผมเขียน :
ในยุค post-post modern และเป็นยุค dataism อย่างในยุคปัจจุบัน การศึกษาสายสังคมศาสตร์ในมหาลัยกำลังถูกดิสรัป และเผชิญวิกฤตของการดำรงอยู่ ... มาทำความเข้าใจตรงกันในประเด็นนี้ก่อนดีมั้ยเอ่ย
ขอให้กำลังใจคุณสมภพ พอดีที่เปิดประเด็นเรื่องวิกฤตการศึกษาของเด็กไทยและคนไทยครับ
คุณสมภพ พอดี ตอบ :
ถ้าผมตรงเกินไป ขออภัยด้วยนะครับ
การศึกษาสายสังคมปัจจุบันเป็นความสิ้นเปลือง เป็นภาระของสังคมมากครับ
เด็กนักเรียนใช้เวลาที่ดีที่สุดของชีวิต 4 ปี ใช้เงินทอง เรียนในสิ่งที่เอาไปใช้ทำอะไรในโลกปัจจุบันและอนาคตแทบจะไม่ได้ ใช้ทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดๆไม่ได้ ใช้ทำมาหากินสร้างตัว สร้างชีวิต ไม่ได้ แถมไม่สอน ไม่ฝึกฝนให้คนเรียนรู้จักคิดด้วยตรรกะ วิเคราะห์ด้วยเหตุผล
วันนึงในอนาคต หากมนุษยชาติยังคงอยู่ เขาจะตั้งคำถามว่า ทำไมคนในอดีตจำนวนมากมายถึงเสียเวลากับเรื่องพวกนี้
ผมตอบ :
ผมเข้าใจประเด็นของคุณสมภพดีครับ อย่างไรก็ตามไม่ว่ายุคสมัยไหน สังคมย่อมต้องการ ‘นักปราชญ์’ มาพัฒนา ‘ความคิด’ อยู่ดี เพื่อตอบปัญหา ‘ความหมายของชีวิต’ (ikigai) ... เพราะในการพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ มันต้องการองค์ความรู้ที่กว้างกว่าและลึกกว่าวิชาทำมาหากิน
สั้น ๆ คนเราต้องการเสพทั้ง 'ความจริง ความดี และความงาม' เพื่อบรรลุความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง (ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สังกัดอยู่ใน 'ความจริง', ความรู้ทางศาสนาสังกัดอยู่ใน 'ความดี' และความรู้ทางศิลปะ-วัฒนธรรมสังกัดอยู่ใน 'ความงาม')
‘นักปราชญ์’ หรือ ผู้นำความคิด/ ผู้ผลิตความคิดที่เป็น ‘ความจริง ความดี ความงาม’ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในทุกยุคทุกสมัย เพื่อวิวัฒน์อารยธรรมของมนุษยชาติให้รุดหน้า
แต่ในความเป็นจริงก็คือ ยุคสมัยไม่ได้ต้องการ 'นักปราชญ์หรือผู้นำความคิด' จำนวนมากมายเลย แต่มันต้องมีและต้อง 'ผลิตซ้ำ' ออกมาอย่างต่อเนื่องในระดับหัวกะทิ เพราะคนพวกนี้เปรียบเหมือน นักกีฬาโอลิมปิคในวงการความคิด
ปัญหาของสังคม Mass Society ที่ผุดขึ้นมาพร้อมกับระบบ Mass Production ของเศรษฐกิจระบบทุนนิยม คือ มันสร้างระบบมหาลัย และคณะสังคมศาสตร์ ที่ผลิตนักศึกษาสายสังคมศาสตร์ออกมาในระดับ mass เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นความสิ้นเปลืองของสังคมจริง ๆ เพราะ 99.9% ของนักศึกษาเหล่านี้ ไม่สามารถแสดงบทบาทหน้าที่ของ ‘นักปราชญ์’ หรือ ‘ผู้นำความคิด’ ที่สังคมต้องการได้
