Friday, 17 May 2024
วันนอร์

'วันนอร์' ขอคนภาคใต้ดุอาอ์ให้พรรคประชาชาติชนะเลือกตั้ง หวังเป็นรัฐบาล ขณะที่ 'พ.ต.อ.ทวี' ปลุกคนพื้นที่ต้อง 'ญิฮาด' กับความอยุติธรรมชายแดนใต้ ขอ ส.ส. 12 ที่นั่ง เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคต

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการเลือกตั้งเขต 1 ปัตตานี โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ พร้อมคณะผู้บริหารพรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ รวมถึง นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี, นายธนาวิทย์ ไชยานุพงศ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองนราธิวาส, นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เข้าร่วมพิธี 
 
โอกาสนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของพรรคประชาชาติ ตั้งอยู่หน้าซุ้มประตูชัย ทางเข้าเมืองฟาฏอนี หมายถึงชัยชนะของพรรคประชาชาติ และประวัติการเกิดของพรรคประชาชาติเกิดที่ปัตตานี เพราะพี่น้องต้องการมีบ้านของตัวเอง อยากมีพรรคการเมืองของตัวเอง จึงเกิดพรรคประชาชาติ เพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้อง 

“ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีใครรู้ดีกว่าคนในสามจังหวัด พรรคประชาชาติพร้อมเป็นรัฐบาล และในการเลือกตั้ง ถ้าจะเลือกพรรคประชาชาติ จำเป็นต้องเลือก ส.ส.เขต และเลือกพรรค เพราะชัยชนะอยู่ที่พวกเราทุกคน ถ้าพี่น้องประชาชนไม่ทิ้งพรรคประชาชาติ พรรคประชาชาติก็จะไม่ทิ้งพี่น้องประชาชน ขอทุกคนร่วมดุอาอ์ให้พรรคประชาชาติชนะการเลือกตั้ง และได้มาเป็นรัฐบาลเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว 
 
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า เราต้องญิฮาดกับความอยุติธรรม พรรคประชาชาติเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน สร้างสันติภาพและความสงบสุข คืนสิทธิ คืนอำนาจให้ประชาชน และกระจายอำนาจให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความพร้อม

‘วันนอร์’ เผย ไม่กังวลหากประธานสภาอายุน้อย-อ่อนพรรษา เชื่อ!! ‘ก้าวไกล-พท.’ คัดคนมีความสามารถนั่ง ปธ.สภา ได้

วันที่ (20 มิ.ย. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ เข้ารับหนังสือรับรอง ส.ส.จาก กกต. พร้อมกล่าวว่า ขอบคุณ กกต.ที่เร่งประกาศรับรอง ส.ส.ก่อน 60 วัน สำหรับการทำงานของ 8 พรรคร่วม ขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการต่างๆ นั้น ได้เตรียมการในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไปมากแล้ว เพื่อเตรียมกำหนดนโยบายร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหลายด้าน ส่วนการเลือกประธานสภาและรองประธานสภานั้น เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่จะต้องไปตกลงกัน หลังจากนั้น จึงจะต้องพูดคุยกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเพื่อรับทราบต่อไป

ส่วนพรรคไหนจะได้เป็นประธานสภาและรองประธานสภานั้น ทั้ง 2 พรรคคงมีตัวบุคคลแล้ว และเชื่อมั่นว่าจะคัดคนที่เข้ามาทำงานเป็นอย่างดี เพราะประธานสภาต้องเป็นประมุขในฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งประธานสภาเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและมีความรู้ความสามารถ ก็จะทำให้งานของสภาคืบหน้าไปด้วยดี ซึ่งมีงานอีกมากมายในการแก้ไขกฎหมายต่างๆ รวมถึงการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของประธานสภาที่เป็นผู้นำ จะดำเนินการให้รวดเร็วได้อย่างไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นประชาธิปไตยตามที่ประชาชนต้องการ เชื่อว่าทั้งสองพรรคคงจะคุยเพื่อหาคนที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่จะนำฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป

เมื่อถามว่า ถ้าคนที่จะเป็นประธานสภาอ่อนพรรษาจะเป็นปัญหาในการควบคุมที่ประชุมหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า อ่อนพรรษาหรือแก่พรรษา ประธานสภาคงจะมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก เพราะอยู่ที่บุคลิกของคนนั้นๆ ที่จะเป็นผู้นำ ซึ่งคนที่จะเป็นประธานสภาทุกคนจะต้องศึกษาข้อบังคับกฎหมายอย่างแม่นยำ และตัดสินบนพื้นฐานในการให้โอกาสสมาชิกแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันจะต้องรักษาข้อบังคับของสภาฯ ด้วย โดยครั้งหนึ่งนายอุทัย พิมพ์ใจชน เคยเป็นประธานที่มีอายุแค่ 30 กว่าปี ก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อถามถึงโผคณะรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า คงจะต้องพูดกันเป็นขั้นตอนต่อไปหลังจากที่พูดเรื่องประธานสภาจบแล้ว ซึ่งจะต้องจัดตำแหน่งให้ลงตัวเหมาะสมกับกระทรวง และเหมาะสมกับนโยบายที่ 8 พรรคจะมีเพื่อให้ตำแหน่งนั้นทำงานได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อถามอีกว่า พรรคประชาชาติมองกระทรวงไหนไว้แล้วบ้าง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า พรรคประชาชาติเป็นพรรคเล็ก จะต้องหารือกัน ทั้งนี้ เราจะอยู่ตรงไหนก็ได้ที่เราสามารถขับเคลื่อน ในสิ่งที่เราเห็นว่ามีความสามารถที่จะทำได้ ซึ่งเราเข้าไปทำงานไม่ได้ไปหาผลประโยชน์แต่อย่างใด
 

‘วันนอร์’ เตรียมชิงตำแหน่งประธานสภา ยุติปัญหาขัดแย้ง ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’

(3 ก.ค. 66) รายงานข่าวจากที่ประชุม 8 พรรคการเมืองเสียงข้างมาก ระบุว่า ในการประชุมหัวหน้า และตัวแทน 8 พรรคการเมืองเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 66 ที่ทำการพรรคก้าวไกล ได้มีการหยิบยกปัญหาในส่วนของตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างต้องการผลักดัน ส.ส.ของตัวเองให้ดำรงตำแหน่ง ขึ้นมาพูดคุยนอกรอบ โดยตัวแทนพรรคอื่นๆ ได้พยายามโน้มน้าวให้ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ถอยคนละก้าว เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตยสามารถเดินหน้าได้ เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้เกิดความไม่ชัดเจนจนมีปัญหาในการลงมติเลือกประธานสภา ซึ่งเป็นการลงคะแนนลับ ย่อมส่งผลถึงการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในส่วนของการเจรจาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยนั้น ทางคณะเจรจาของ 2 พรรค มีการสื่อสารกันอย่างไม่เป็นทางการตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากทั้ง 2 พรรคต่างยืนกรานที่จะต้องได้ตำแหน่งประธานสภา โดยไม่สามารถถอยหรือปรับเพดานลงได้ เนื่องจากถือเป็นมติของที่ประชุมพรรคของทั้ง 2 พรรค

อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้เกิดภาพความขัดแย้ง รวมถึงหาทางลงให้กับทั้ง 2 พรรค จึงมีการเสนอให้คนกลางที่เป็นที่ยอมรับ อย่างนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่มีความอาวุโส และมีประสบการณ์เคยเป็นประธานสภา และประธานรัฐสภามาแล้ว เป็นผู้รับตำแหน่งประธานสภา เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยที่ พรรคก้าวไกล จะได้ตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 1 และพรรคเพื่อไทย จะได้ตำแหน่งรองประธานสภา คนที่ 2

เบื้องต้นคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทย ขอนำข้อเสนอดังกล่าวไปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรค ในช่วงสายของวันนี้ ก่อนจะแจ้งผลตอบรับมายัง พรรคก้าวไกล และแถลงข่าวในช่วงเที่ยงของวันเดียวกัน 

‘จุลพันธ์’ ห่วงร่าง กม.ค้างท่อถูกตีตก เหตุตั้ง รบ.ใหม่ล่าช้า เร่ง ‘วันนอร์’ หาทางแก้ ดันร่าง กม.เป็นประโยชน์ได้ไปต่อ

‘สส.เพื่อไทย’ ห่วง ร่าง กม.ค้างท่อ ถูกตีตก หลังเกินเวลาตาม รธน.กำหนด เหตุ ตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า เร่ง ‘วันนอร์’ หาทางแก้ ขณะนี้ ‘สส.ก้าวไกล’ แนะบรรจุกระทู้เรื่องเบี้ยยังชีพฯ โดยไม่ต้องรอ ครม.ใหม่

(16 ส.ค. 66) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ เปิดให้ สส.หารือถึงกระบวนการทำงานของสภาฯ โดยเฉพาะการยืนยันร่างกฎหมายที่ค้างในสภาฯ ชุดที่ 25 ที่อาจจะเกิดปัญหา หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังล่าช้า

โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย หารือว่า กระบวนการยืนยันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ค้างในสภาฯ ชุดที่ 25 โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 147 กำหนดกรอบให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตั้งใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ยืนยันร่างกฎหมาย ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง คือ 3 กรกฏาคม ดังนั้น จะครบกำหนด คือ 31 สิงหาคม แต่ขณะนี้กระบวนการโหวตนายกฯ ยังไม่แล้วเสร็จ หากต้องรอกระบวนการมี ครม.ใหม่อาจจะเกินกำหนดเวลาดังกล่าว ทั้งที่มีกฎหมายสำคัญหลายฉบับค้างอยู่ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ..ศ..., ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม, ร่าง พ.ร.บ.ประมง เป็นต้น

ทั้งนี้ ตนขอให้นายวันมูหะมัดนอร์ พิจารณาใช้กลไกของสภาฯ คือ นัดประชุมตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อทำหนังสือในนามความเห็นชอบจากทุกพรรคการเมือง ที่มีความจำเป็นให้ ครม.รักษาการยืนยันร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ทุกฉบับ โดยไม่ปัดตก ซึ่งตนมองว่าจะเป็นทางออกที่ดีและร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์จะเดินหน้าได้

ขณะที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารือขอให้สภาฯ เร่งรัดการตั้งกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) 35 คณะ เพื่อให้เป็นช่องทางการทำงานของสภาฯ โดยไม่ต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เนื่องจากมีปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่รอเวลาไม่ได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของร่างกฎหมายที่รอการยืนยัน พบว่ามีร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อสภาฯ เช่น ร่างกฎหมายชนเผ่า

ทั้งนี้ ตามระเบียบทราบว่าภาคประชาชนไม่ต้องเข้าชื่อเพื่อเสนอใหม่ แต่ผู้เสนอร่างกฎหมายนั้นต้องยืนยันต่อการเสนอต่อสภาฯ จึงขอให้ประธานสภาฯ พิจารณาทำหนังสือส่งถึงประชาชนที่ริเริ่มส่งร่างกฎหมายต่อสภาฯทุกคน เพื่อให้มายืนยันต่อสภาฯ ตามกรอบที่กำหนด

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม มาตรา 1448 และมีเพิ่มอีก 68 มาตรา ต่อสภาฯ ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนจำนวนมาก เพราะไม่ต้องการรอการยืนยันจาก ครม.ชุดใหม่ ดังนั้น ขอให้พิจารณาเร่งรัดการตรวจสอบและบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาฯ โดยเร็ว

ด้านนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารือให้สภาฯ พิจารณาบรรจุวาระกระทู้ถามสด โดยไม่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีประเด็นที่เป็นปัญหาของประชาชนที่ต้องการคำชี้แจงจากรัฐบาลชุดรักษาการ เช่นเบี้ยงยังชีพผู้สูงอายุที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ อยากให้เชิญรัฐมนตรีมาชี้แจง ดังนั้นขอให้พิจารณาดำเนินการในการประชุมคราวหน้าโดยทันที

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน ตนเห็นด้วยและจะรับไปพิจารณา

สภาไฟเขียว!! แถลงนโยบาย 2 วัน รวม 30 ชั่วโมง ด้าน ‘วันนอร์’ เผย ‘ก้าวไกล’ รับปากไม่ใช้เป็นเวทีซักฟอก

(7 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย (วิป 3 ฝ่าย) โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม และมีตัวแทนจากวุฒิสภา (สว.) สส. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาทิ นายสมคิด เชื้อคง ตัวแทน ครม. นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ นายประมวล พงษ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ และประธานสส.พรรคประชาธิปัตย์ นายมหรรณพ เดชพิทักษ์ สว. เป็นต้น เพื่อวางกรอบเวลาการอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา และแบ่งสัดส่วนเวลาของแต่ละฝ่าย ซึ่งใช้เวลาการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที

จากนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่าบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นผ่อนปรนไปมา เพื่อให้การประชุมเรียบร้อย โดยการประชุมเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 ก.ย.นี้ จะใช้เวลา 2 วัน รวมทั้งสิ้น 30 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น ประธานรัฐสภา 1 ชั่วโมง ฝ่าย ครม.แถลง และชี้แจง 5 ชั่วโมง ฝ่าย สว. 5 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง ซึ่งคิดว่าคงเพียงพอในการที่ทุกฝ่ายจะปรับเวลาที่ชัดเจนให้ตามจำนวนคน คาดว่าคงไม่เกินในเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้การประชุมจบด้วยดี ไม่มีใครไม่ยอม แม้ทุกฝ่ายจะอยากได้เวลา แต่เมื่อทราบข้อจำกัดของเวลา และความสนใจของพี่น้องประชาชนแล้ว จึงตกลงกันเช่นนี้

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ในวันแรกอาจจะเลิกประชุมดึก แต่คงไม่เกินเที่ยงคืน และวันที่สองคงไม่เกิน 23.00 น. แม้บางฝ่ายจะบอกว่าไม่อยากให้เกิน 21.00 น. แต่เพื่อให้การอภิปรายในวันถัดมามีคุณภาพมากขึ้น และความสนใจของพี่น้องประชาชน รวมถึงครม. แจ้งว่าในวันที่ 13 ก.ย. 66 จะมีการประชุมครม. ทุกฝ่ายจึงบอกว่าจะกลับไปเตรียมทั้งตัวบุคคลและเนื้อหาสาระให้ดี เพื่อให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

เมื่อถามว่า อยากฝากอะไรถึงฝ่ายค้านหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายค้านอยากใช้เวทีนี้ในการซักฟอกรัฐบาล? นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านยืนยันเองว่า จะอยู่ในกรอบของการอภิปรายเรื่องนโยบายและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามนโยบายนั้น แต่ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนคิดว่าฝ่ายค้านตอนนี้เป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพ มีข้อมูลพร้อมที่จะอภิปรายในกรอบกฎหมายและข้อบังคับ รวมถึงความสนใจของพี่น้องประชาชน

เมื่อถามว่า การรักษาความปลอดภัยในวันนั้น จะเป็นไปตามกฎระเบียบ หรือต้องมีการรักษาความปลอดภัยเข้มที่เป็นพิเศษหรือไม่ เนื่องจากอาจจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาในบางวัน? นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า คิดว่าคงไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุม หรือมีการกดดันสภา เพราะพี่น้องประชาชนติดตามการประชุมตลอดเวลาผ่านการถ่อยสดในหลายช่องทาง เนื่องจากทุกฝ่ายคงอยากให้การอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีคุณภาพ ไม่มีแรงกดดันใดๆ นอกจากเนื้อหาที่จะพูดอย่างเต็มที่ หากมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาที่สภาคงไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ได้หมายความสภาจะรังเกียจ การมีผู้ชุมนุมหรือผู้สนับสนุนก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ช่วงอภิปรายต้องใช้เวลา หากมาคงเสียงทั้งค่าใช้จ่าย และเวลามาก

‘วันนอร์’ จ่อนัดเคลียร์ปัญหา จัดสรรอาหาร สส.ใหม่ ชี้!! ต้องยึดหลักความเหมาะสม และไม่ฟุ่มเฟือย

(8 ก.ย.66) ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีสส.นำอาหารที่ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดให้ระหว่างการประชุมสภาฯ ไปรับประทานนอกสถานที่ ว่า เบื้องต้นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รายงานเรื่องดังกล่าวมาที่ตนเอง ซึ่งคาดว่าภายหลังจากรัฐสภาพิจารณานโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเสร็จ จะหารือกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนแนวทางเกี่ยวกับการบริการอาหารให้กับสส.นั้น ส่วนตัวคิดว่าจะต้องยึดหลักความเหมาะสม และไม่ฟุ่มเฟือย พร้อมทั้งต้องให้สส.ได้รับการบริการที่ดีด้วย แต่ในอนาตจะมีการปรับลดงบประมาณในเรื่องนี้หรือไม่ คงต้องพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับรองประธานสภาฯ ทั้งสองคนอีกครั้ง

ถามว่าที่ผ่านมาการจัดสรรอาหารให้กับสส.ระหว่างประชุมสภาฯ ปรากฏว่ามีปริมาณอาหารเหลือเป็นจำนวนมาก ทางสภาฯ จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ยอมรับว่ามีปริมาณอาหารเหลือ แต่ในทางปฏิบัติที่ต้องเข้าใจว่าบางครั้งมีจำนวนสส.มาประชุมมาก หรือบางครั้งก็มีสส.เดินทางกลับไปก่อน ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต้องร่วมหารือกันทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความสมดุล

“อาหารเตรียมไว้มากไปก็ไม่ดี หรือเตรียมอาหารไว้พอดี ถ้าเลิกประชุมเร็วก็ทำให้มีอาหารเหลือบ้าง จึงต้องมีมาตรการที่ทำให้เกิดความสมดุลให้ได้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพสส.นำอาหารของสภาฯ กลับไปรับประทานนอกอาคารรัฐสภา พร้อมกับมีการตอบโต้เป็นอาหารที่เหลือหลังจากการประชุมสภาฯเสร็จแล้ว นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า กรณีถ้ามีอาหารของสภาฯเหลือ เลขาธิการสภาฯแจ้งให้ทราบเบื้องต้นว่าจะนำไปบริจาคในทางสาธารณกุศล เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น

‘วันนอร์’ ลั่น!! ไม่เคยยึดติดตำแหน่ง แต่รับไม่ได้ ปรับครม.ลามเปลี่ยนปธ.สภาฯ

(19 เม.ย. 67) ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์กรณีกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีการเชื่อมโยงมาถึงการเปลี่ยนตำแหน่งประธานสภาฯ มีการส่งสัญญาณมาหรือไม่ ว่า ยังไม่มีสัญญาณอะไร แต่การปรับ ครม.กับตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นคนละเรื่องกัน การปรับ ครม.เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องมีการเสนอชื่อเพื่อเลือกในที่ประชุมสภาฯ มีผู้รับรอง แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งประธานสภาฯเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงข้อบังคับการประชุมสภาฯ

“ในส่วนตัวของผม ไม่เคยติดยึดกับตำแหน่งใด ๆ ถ้าทำได้เพื่อประโยชน์ของประชาชน ผมก็ต้องทำเต็มที่ แต่ถ้าทำไม่ได้ หรือไม่สามารถทำได้ ผมก็ไม่ติดยึด พร้อมที่จะไป แต่ผมขอเรียนว่าตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติเป็นเสาหลักประชาธิปไตย ต้องทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่สามารถมีใครมาแทรกแซงได้ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดชัดเจน ประธานและรองประธานสภาฯ ต้องไม่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใด ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความผูกพัน หรือมีการแทรกแซงจากพรรคการเมือง ยืนยันอีกครั้งว่าการปรับครม.เป็นเรื่องของนายกฯ แต่ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับฯ ผมไม่มีอะไรส่วนตัว แต่เกียรติศักดิ์ศรีสภาฯ ผมในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติต้องรักษาไว้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เมื่อถามว่าตำแหน่งประธานสภาฯ เลือกมาจากที่ประชุมฯ จึงไม่มีเหตุใดที่จะต้องเปลี่ยนกลางคัน? นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า “ประเพณีที่เคยปฏิบัติมาไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง ตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องมีความเป็นกลาง ไม่ใช่เครื่องมือของพรรคการเมืองใด”

เมื่อถามว่ายืนยันจะทำหน้าที่นี้ต่อไปหรือไม่? นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า “เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ ถ้าตนละเลย เท่ากับว่าตนไม่รักษาระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมอบให้ไว้ ยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีใครส่งสัญญาณมา ถึงส่งสัญญาณก็เป็นสัญญาณที่รับไม่ได้”

“มันไม่มีเหตุใด ๆ ที่จะต้องเปลี่ยนตำแหน่ง ถ้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ก็ต้องไปเอง ผมถือว่าต้องให้ประโยชน์ประชาชนเกียรติศักดิ์ศรีสภาฯ เดินไปให้ตรงแนวทาง จะมาบิด ๆ เบี้ยว ๆ เพื่ออย่างใดอย่างหนึ่งผมว่าไม่ถูก ถ้าถามว่าให้ประเมินว่าผมยังทำหน้าที่ได้หรือไม่ ผมประเมินเองไม่ได้ สื่อและประชาชนจะเป็นคนประเมิน” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การใช้งบประมาณของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มีใช้งบฯจำนวนมากเดินทางไปดูงานต่างประเทศ? นายวันมูหะมัดนอร์ ในฐานะประธานรัฐสภา ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวว่า “ต้องขออภัย เรื่องนี้เป็นเรื่องของวุฒิสภา ดังนั้นต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานวุฒิสภา”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top