Sunday, 20 April 2025
วลาดิเมียร์ปูติน

ยูเครนจับ 2 ทหารเกาหลีเหนือกลางเคิร์สก์ ท้าคิม-รัสเซียแลกตัวสะเทือนสงคราม

(13 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีแห่งยูเครนเปิดเผยว่า ยูเครนสามารถจับกุมตัวทหารเกาหลีเหนือจำนวน 2 นายในพื้นที่สู้รบในภูมิภาคเคิร์สก์ โดยทหารทั้งสองถูกนำตัวมายังกรุงเคียฟเพื่อสอบปากคำและให้ข้อมูลกับสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติยูเครน (SBU)  

“เชลยศึกทุกคน รวมถึงทหารเกาหลีเหนือทั้งสองนาย จะได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่จำเป็น” เซเลนสกีกล่าว พร้อมระบุว่าสื่อมวลชนจะได้รับโอกาสสัมภาษณ์พวกเขาในอนาคต  

ทั้งนี้ ยูเครนระบุว่าทหารเกาหลีเหนือมีบทบาทสนับสนุนการสู้รบในภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งยูเครนเริ่มการบุกโจมตีเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และยังคงควบคุมพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตรในบริเวณนี้  

ทหารเกาหลีเหนือนายหนึ่งระบุว่าตนเกิดในปี 2548 และเข้าร่วมกองทัพเกาหลีเหนือในปี 2564 อีกนายหนึ่งเกิดในปี 2542 และเข้าร่วมกองทัพตั้งแต่ปี 2559 โดยมีตำแหน่งเป็นพลซุ่มยิง พวกเขาอ้างว่าไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าว่าจะต้องเข้าสู่สมรภูมิในยูเครน โดยผู้บังคับบัญชาบอกเพียงว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นการฝึกยุทธวิธี  

หนึ่งในทหารกล่าวว่า ต้องการกลับเกาหลีเหนือ ขณะที่อีกนายกล่าวว่า หากมีโอกาส เขาอยากอาศัยอยู่ในยูเครน  

เซเลนสกีเสนอว่า ยูเครนพร้อมพิจารณาแลกเปลี่ยนตัวเชลยเกาหลีเหนือ หากผู้นำคิม จอง-อึน ยินยอมจัดการแลกเปลี่ยนดังกล่าวกับทหารยูเครนที่ถูกรัสเซียควบคุมตัว  

สำนักงานความมั่นคงของยูเครนและสำนักข่าวกรองเกาหลีใต้ (NIS) ยืนยันการจับกุมตัวทหารเกาหลีเหนือทั้งสองราย ระหว่างการสู้รบในเคิร์สก์เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา  

รายงานจากสำนักงานคณะเสนาธิการทหารร่วมเกาหลีใต้ระบุว่า ตั้งแต่ทหารเกาหลีเหนือเข้าร่วมการสู้รบในสงครามรัสเซีย-ยูเครนเมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว มีทหารเกาหลีเหนือเสียชีวิตประมาณ 1,100 นาย ขณะที่ยูเครนประเมินตัวเลขไว้สูงกว่า คือประมาณ 3,000 นาย  

ยูเครนยืนยันว่าปฏิบัติต่อเชลยศึกตามหลักมนุษยธรรมและกรอบอนุสัญญาเวียนนา โดยการสอบปากคำเชลยศึกดำเนินการผ่านล่ามที่ได้รับการรับรองเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม  

จนถึงขณะนี้ รัสเซียและเกาหลีเหนือยังไม่มีการแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์นี้ ขณะที่ยูเครนเตรียมพร้อมรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะสามารถจับกุมตัวทหารเกาหลีเหนือเพิ่มเติมในอนาคต

คนยูเครนเกินครึ่งเบื่อสงคราม หนุนถกรัสเซีย ปูตินเปิดช่องสันติภาพ แต่ไม่ขอคุยกับเซเลนสกี

(29 ม.ค. 68) ผลสำรวจล่าสุดเผย ชาวยูเครนครึ่งหนึ่งสนับสนุนแนวทางการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติให้ยุติสงครามที่ดำเนินมากว่า 3 ปี

ผลสำรวจของ Socis สำนักโพลของยูเครนที่เมื่อไม่นานมานี้  แสดงให้เห็นว่าประชากรยูเครน 50.6% สนับสนุนแนวทางการเจรจาสันติภาพ โดยมีตัวกลางจากนานาชาติเข้ามามีบทบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 36.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 สะท้อนถึงความรู้สึกที่เปลี่ยนไปของชาวยูเครน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นในสมรภูมิรบ

ในขณะเดียวกัน อัตราการสนับสนุนให้เดินหน้าต่อสู้เพื่อทวงคืนชายแดนสู่แนวเดิมในปี 1991 ลดลงจาก 33.5% ในช่วงต้นปี 2024 เหลือเพียง 14.7% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่แนวคิดการตรึงสมรภูมิไว้ในแนวปัจจุบันก็ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจาก 8.2% เป็น 19.5%

ด้านประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย แสดงท่าทีว่าพร้อมพิจารณาการเจรจาสันติภาพ แต่ปฏิเสธการพูดคุยโดยตรงกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ซึ่งเขามองว่าเป็นผู้นำที่ "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" เนื่องจากหมดวาระไปแล้วในช่วงกฎอัยการศึก อย่างไรก็ตาม ปูตินเปิดทางให้มีการเจรจาผ่านตัวแทนจากทั้งสองฝ่าย

เซเลนสกี ตอบโต้ท่าทีของปูติน โดยระบุว่ารัสเซียพยายามยื้อเวลาและกลัวการเจรจาจริงจัง เขาย้ำว่าแนวทางเดียวที่ยอมรับได้คือสันติภาพที่รักษาอธิปไตยของยูเครน พร้อมเรียกร้องให้พันธมิตรตะวันตกเดินหน้าสนับสนุนเคียฟต่อไป

ด้านสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเพิ่มแรงกดดันต่อทั้งสองฝ่ายให้บรรลุข้อตกลงโดยเร็ว ทรัมป์เตือนว่าหากรัสเซียไม่ยอมรับการเจรจา อาจเผชิญมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม นอกจากนี้ เขายังแต่งตั้งคีธ เคลลอกก์ ทูตพิเศษด้านยูเครนคนใหม่ พร้อมกำหนดระยะเวลา 100 วันให้ดำเนินการหาข้อตกลงสันติภาพให้ได้

มอสโกยังคงยืนยันจุดยืนว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อยูเครนละทิ้งความต้องการเข้าร่วมนาโต รวมถึงยอมรับสถานะใหม่ของดินแดนที่ถูกรัสเซียผนวกไปก่อนหน้านี้ ขณะที่เคียฟยืนกรานว่าการเจรจาต้องนำไปสู่การฟื้นฟูอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมด รวมถึงไครเมียที่ถูกยึดไปตั้งแต่ปี 2014

แม้ว่าทั้งสองฝ่ายยังคงมีจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่แรงกดดันจากประชาคมโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ อาจทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ทั้งสองประเทศจะต้องหันหน้าสู่โต๊ะเจรจาในอนาคตอันใกล้

ทหาร 1 แสนนายหนีทัพ รัสเซียเผยสูญเสียหนัก เซเลนสกีไม่มีทางเลือก แก้กม.ดึงเด็ก 18 ปีสู้ศึกแทน

(30 ม.ค.68) กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีทหารยูเครนราว 100,000 นาย ละทิ้งหน้าที่จากหน่วยของตนเองและหลบหนีไป โดยกรณีการหนีทัพดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในเวลานี้

รายงานระบุว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กองทัพยูเครนสูญเสียกำลังพลโดยเฉลี่ยประมาณ 50,000 คนต่อเดือน

"จากข้อมูลทางการ ทหารยูเครนประมาณ 100,000 คน ได้ละทิ้งหน่วยทหารของตนโดยพลการและหลบหนีไป" กระทรวงฯ กล่าวในแถลงการณ์ นอกจากนี้ ยังเสริมว่า อัตราการระดมพลในยูเครนไม่สามารถชดเชยการสูญเสียได้ ส่งผลให้จำนวนกำลังพลของยูเครนลดลงอย่างต่อเนื่อง

กลาโหมรัสเซียยังเผยอีกว่า ด้วยสภาพดังกล่าวทำให้รัฐบาลเคียฟมีทางเลือกไม่มาก โดยอาจใช้วิธีการแก้ไขกฎหมายลดอายุเกณฑ์การระดมพลจาก 25 ปีเหลือ 18 ปี ซึ่งเป็นเพียงวิธีเดียวที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี จะสามารถทำได้เพื่อยืดเวลาการรบในแนวหน้าโดยเฉพาะที่ภูมิภาคดอนบาสออกไปอีกไม่กี่เดือน แต่นั่นก็ทำให้ยูเครนถูกบรรดาชาติตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์

ทรัมป์ยกหูคุยปูติน เล็งหารือด่วนสหรัฐฯ-รัสเซีย เผยคุยตรงไปตรงมาหวังหยุดสงครามยูเครน

(13 ก.พ.68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เปิดเผยผ่านแพลตฟอร์มทรูธ โซเชียล (Truth Social) ว่าเขาและวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ตกลงกันในการสนทนาทางโทรศัพท์ที่จะเริ่มการเจรจาโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย เพื่อหาทางยุติสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตจำนวนมาก

ทรัมป์กล่าวว่า การสนทนาของเขากับปูตินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและใช้เวลานาน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าการยุติความขัดแย้งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อหยุดการสูญเสียชีวิตของประชาชนหลายล้านคนที่เกิดจากสงครามนี้

ทั้งนี้ ทรัมป์และปูตินได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเยือนประเทศของกันและกัน และยังเห็นพ้องให้คณะผู้แทนจากทั้งสองฝ่ายเริ่มการเจรจาทันที โดยเริ่มจากการติดต่อกับโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เพื่อแจ้งความคืบหน้าของการสนทนา

ทรัมป์ยังได้มอบหมายให้มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ, จอห์น แรตคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (CIA), ไมเคิล วอลซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ และสตีฟ วิตคอฟฟ์ ทูตพิเศษประจำตะวันออกกลาง เป็นผู้นำทีมเจรจาของสหรัฐฯ

ทรัมป์ได้แสดงความมั่นใจว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียจะสามารถประสบความสำเร็จและนำไปสู่การยุติสงครามได้

เซเลนสกีตกบัลลังก์ลูกรักสหรัฐฯ หมดสิทธิ์อ้อนวอชิงตัน หลังพ้นยุคไบเดน

(21 ก.พ.68) เพียงหนึ่งเดือนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับสู่ทำเนียบขาว ท่าทีของเขาที่มีต่อโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กลับแตกต่างจากอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างสิ้นเชิง

หากย้อนไปในยุคของโจ ไบเดน เขามักหยอดคำหวานซึ่งกันและกันหลายครั้ง โดยเมื่อปลายปี 2022 ไบเดนเคยกล่าวกับเซเลนสกีว่า "เป็นเกียรติที่ได้ยืนเคียงข้างคุณ" พร้อมยกย่องเขาว่าเป็น 'บุคคลแห่งปี'

ขณะที่ในปี 2023 ไบเดนกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงวอร์ซออย่างดุดันราวกับฉากในภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยกล่าวว่าเซเลนสกีเป็น "บุรุษผู้มีความกล้าหาญที่ถูกหล่อหลอมจากไฟและเหล็กกล้า" และเป็นผู้นำของ "รัฐบาลที่ได้รับเลือกตามระบอบประชาธิปไตยและเป็นตัวแทนของประชาชนยูเครน"

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไบเดนต่างยกย่องเซเลนสกีอย่างต่อเนื่อง อาทิ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่ยกให้เซเลนสกีเป็นผู้นำที่มี "ความกล้าหาญและความสำเร็จอย่างไม่ธรรมดา" ขณะที่ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวในปี 2023 ว่า "การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของยูเครนเป็นหนึ่งในภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา"

นอกจากคำชมแล้ว รัฐบาลไบเดนยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยูเครนอย่างไม่ลดละ โดยในเดือนมิถุนายน 2024 ไบเดนกล่าวว่า "เราจะยืนเคียงข้างยูเครนจนกว่าพวกเขาจะได้รับชัยชนะ"

ถึงขนาดที่บลิงเคนเคยไปเยือนสถานีรถไฟใต้ดินในเคียฟเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 และเล่นเพลง Rockin' in the Free World ของนีล ยัง พร้อมประกาศว่า "เราจะอยู่เคียงข้างคุณ และจะยืนหยัดจนกว่ายูเครนจะมีความมั่นคงและอธิปไตยที่ได้รับการรับรอง"

ตรงข้ามกับแนวทางของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเขามักโพสต์ลง Truth Social กล่าวหาว่าเซเลนสกีติดอยู่ใน 'วงจรข้อมูลเท็จ' ของรัสเซีย "ลองคิดดูให้ดี นักแสดงตลกที่พอไปวัดไปวาได้อย่างเซเลนสกี สามารถโน้มน้าวให้สหรัฐใช้เงินกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าสู่สงครามที่ไม่มีวันชนะ สงครามที่ไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก" 

"แถมเซเลนสกียังยอมรับเองว่า เงินครึ่งหนึ่งที่เราส่งไปให้ ‘หายไป’ เขาปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้ง คะแนนนิยมในยูเครนต่ำเตี้ย และสิ่งเดียวที่เขาทำได้ดีคือหลอกใช้ไบเดนได้อย่างแยบยล" ทรัมป์ระบุ 

"เผด็จการที่ไม่มีการเลือกตั้ง เซเลนสกีควรรีบจัดการตัวเองก่อนที่เขาจะไม่มีประเทศเหลือให้ปกครองอีกต่อไป" ทรัมป์เตือน

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยประชดประชันเซเลนสกีในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2024 ว่า "เป็นนักขายที่เก่งที่สุดในบรรดานักการเมือง" แต่ครั้งนี้ภายหลังทรัมป์กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย เขากล่าวหาเซเลนสกีอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นนักต้มตุ๋นและจอมเผด็จการ

ทรัมป์ยังส่งสัญญาณถึงแนวทางใหม่ของรัฐบาลสหรัฐที่มีต่อยูเครน โดยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เขายืนยันว่าเซเลนสกีจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างสหรัฐและรัสเซียที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย และกล่าวว่า "ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องจริงจัง" ที่ยูเครนจะเข้าร่วม NATO ซึ่งเป็นจุดยืนที่รัสเซียถือเป็นเส้นตายมาโดยตลอด

ก่อนหน้านั้นเพียงสองวัน ทรัมป์ได้เสนอข้อตกลงให้ยูเครน โดยระบุว่าสหรัฐอาจให้ความช่วยเหลือหากยูเครนมอบทรัพยากรแร่หายากมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งแน่นอนว่าเซเลนสกีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

จากที่เคยได้รับการเชิดชูในยุคไบเดน เซเลนสกีกลับต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผู้นำสหรัฐคนใหม่ที่มองว่าเขาเป็นภาระและอุปสรรคของนโยบายใหม่ของอเมริกา ขณะที่ความช่วยเหลือจากวอชิงตันก็เริ่มไม่แน่นอนเช่นกัน

ในช่วงเวลาที่ยูเครนกำลังต้องการความช่วยเหลือจากพันธมิตรอย่างยิ่ง คำถามสำคัญคือ เซเลนสกีจะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐได้หรือไม่ ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top