Wednesday, 21 May 2025
ลูกพญาแร้ง

สวนสัตว์โคราชเปิดตัว!! ‘ลูกพญาแร้ง’ ตัวแรกของเอเชีย หลังพยายามเพาะขยายพันธุ์มานานกว่า 30 ปี 

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยสวนสัตว์นครราชสีมา เปิดตัว ‘ลูกพญาแร้ง’ ตัวแรกของทวีปเอเชียและของประเทศไทย หลังรอมากว่า 30 ปีภายใต้การดำเนินงานโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไทย

(10 เม.ย. 66) ที่สวนสัตว์นครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยสวนสัตว์นครราชสีมา ได้เปิดตัว ‘ลูกพญาแร้ง’ เพศเมีย ตัวแรกของทวีปเอเชีย และของประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทยเพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ของประเทศไทย โดยมีนายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และนายธนชน เคนสิงห์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว

โดยแม่พญาแร้งได้ออกไข่ใบแรก เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 และทางเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ได้นำเข้าตู้ฟัก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 โดยธรรมชาติพญาแร้งจะออกไข่ครั้งละ 1 ฟองเท่านั้นต่อฤดูการผสมพันธุ์แต่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มประชากร ทางเจ้าหน้าที่โดยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ จึงนำไข่มาฟักในตู้ฟักเพื่อเพิ่มอัตราการฟักเป็นตัวมากยิ่งขึ้นและเพื่อเพิ่มประชากรพญาแร้ง โดยให้แม่พญาแร้งออกไข่ใบที่สอง และเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยที่แม่พญาแร้ง สามารถออกไข่ใบที่สอง ซึ่งใบนี้จะปล่อยให้แม่พญาแร้งฟักเองเพื่อยังคงสัญชาตญาณตามธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าอาจได้รับข่าวดีในเร็วๆ นี้

โดยลูกพญาแร้งจากไข่ใบแรก ฟักออกมาเป็นตัว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลาการฟักในตู้ฟักประมาณ 50 วัน สำหรับลูกพญาแร้ง ซึ่งเกิดจากแม่ชื่อว่า นุ้ย และพ่อชื่อ แจ็ค หลังจากพญาแร้งน้อยลืมตาดูโลกก็ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์เป็นอย่างดี

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โลกของเรามีแร้งทั้งหมด 23 ชนิดในประเทศไทยพบ 5 ชนิด รวมถึงพญาแร้ง ซึ่งเป็นแร้งประจำถิ่นของประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทย ไม่พบแร้งประจำถิ่นอยู่ในธรรมชาติอีกเลยมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยพญาแร้งฝูงสุดท้ายพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วกว่า 30 ปี จากการโดนยาเบื่อที่พรานล่าสัตว์ป่าใส่ไว้ในซากเก้งเพื่อล่าเสือโคร่ง ซึ่งพบซากพญาแร้งครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 แร้งทุกชนิดทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะพญาแร้ง ที่มีสถานภาพเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR) ตามองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ ปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรพญาแร้งในธรรมชาติไม่ถึง 9,000 ตัว การเกิดขึ้นของลูกพญาแร้งในสถานที่เพาะเลี้ยงถือเป็นเรื่องยากมาก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีพญาแร้งแค่ในสถานที่เพาะเลี้ยง จำนวนเพียงแค่ 6 ตัวเท่านั้น

สวนสัตว์นครราชสีมา มีความพยายามเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งมากว่า 20 ปี โดยพ่อแม่พญาแร้งคู่แรก เริ่มให้ไข่ครั้งแรกเมื่อปี 2563 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไข่ไม่มีเชื้อ จึงมีความพยายามจับคู่ผสมพันธุ์ใหม่โดยใช้วิธีตามธรรมชาติ ปัจจุบันลูกพญาแร้งเกิดใหม่ในสถานที่เพาะเลี้ยงทั่วโลก มีเพียงแค่ประเทศอิตาลี และประเทศไทยนับเป็นประเทศที่สองที่สามารถเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งได้ในสถานที่เลี้ยง นับเป็นความสำเร็จขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย

‘ลูกพญาแร้ง’ จาก ‘พ่อป๊อก-แม่มิ่ง’ ลืมตาดูโลกแล้ว ถือเป็นตัวแรกในรอบ 30 ปี ของป่าห้วยขาแข้ง

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 67 นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันที่น่ายินดีและถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ต้องจดบันทึกเอาไว้ เพราะ ความพยายามของนักวิจัยพญาแร้ง ในประเทศไทย ที่พยายามฟูมฟักผสมพันธุ์พญาแร้ง หลังจากที่พญาแร้งในป่าธรรมชาติของประเทศไทยสูญพันธุ์ไปกว่า 30 ปี โดยในตอนเช้าวันนี้ ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมีย ได้เจาะไข่ หลังจากวางไข่มาได้สักพักหนึ่งแล้ว

“นักวิจัยดีใจกันสุดขีดที่มองจากกล้องวงจรปิดแล้วเห็น เจ้าลูกพญาแร้งตัวน้อยออกมาจากไข่ ถือเป็นความสำเร็จ และความหวังครั้งใหญ่ สำหรับการฟื้นฟูประชากรแร้ง โดยก่อนหน้านี้ นักวิจัยได้นำเอา ‘ป๊อก’ พญาแร้งเพศผู้จากสวนสัตว์โคราช และ ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมียจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มาใช้ชีวิตอยู่ในกรงฟื้นฟูซึ่งพยายามทำให้มีความใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุดในพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยทั้ง 2 ใช้ชีวิตร่วมกันราว 2 ปี ซึ่งนักวิจัยก็พยายามสร้างบรรยากาศ กระตุ้น และทำทุกวิถีทางให้ทั้งคู่ได้ผสมพันธุ์กัน ซึ่ง ทั้งสองได้เริ่มมีการผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 และมีการผสมพันธุ์หลังจากนั้นอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง จนถึงวันนี้ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ภาพจากกล้องวงจรปิดได้จับภาพขณะ เจ้าลูกน้อยได้กะเทาะเปลือกไข่ออกมาลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกแล้ว” นายอรรถพร กล่าว

นายอรรถพร กล่าวว่า หลังจากนี้ นักวิจัย จะปล่อยให้แม่มิ่งเลี้ยงลูกเองตามธรรมชาติ โดยไม่ไปทำอะไร แต่จะคอยสังเกตอย่างใกล้ชิดจากกล้องวงจรปิด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top