Monday, 20 May 2024
ลิขสิทธิ์เพลง

‘กรมทรัพย์สินฯ’ ประสานเกาหลีใต้ แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องลิขสิทธิ์เพลง หวังยกระดับอุตฯ เพลงไทยรอบด้าน ดันเป็นหนึ่งใน Soft Power ไทย

(22 ก.ย. 66) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงไทยควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ใช้งานเพลง ให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากงานเพลง ซึ่งเป็นงานลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยให้วัฒนธรรมไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมโลก”

นายวุฒิไกร ให้ข้อมูลว่า “จากการศึกษาของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศพบว่า ในปี 2565 อุตสาหกรรมสิ่งบันทึกเสียงของไทยมีมูลค่า 3,689 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอันดับที่ 24 ของโลก และมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 20.01 จึงถือได้ว่าอุตสาหกรรมเพลงของไทยเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดประเภทหนึ่ง”

นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทยให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น สามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนากรอบกฎหมาย กฎกติกา เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนการเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพลงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ลิขสิทธิ์เพลงในเชิงพาณิชย์ การใช้งานลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ในทางการค้า”

“ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเห็นว่า เกาหลี เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ที่เป็นประโยชน์ และตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนในประเด็นดังกล่าวอย่างแท้จริง จึงได้ร่วมกันจัดการสัมมนาลิขสิทธิ์ไทย - เกาหลี ประจำปี 2566 ในหัวข้อ ‘เจาะลึกบทบาทลิขสิทธิ์กับธุรกิจเพลง’ เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ เจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ใช้ผลงานเพลง ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายการใช้ลิขสิทธิ์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี บทบาทขององค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ตลอดจนแนวทางการบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และค่าสิทธิของนักแสดง เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานในบริบทของประเทศไทยต่อไป”

“กรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมั่นว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเพลงไทย ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคงต่อไป” นายวุฒิไกร กล่าวทิ้งท้าย

‘ค่าย UMG’ สั่งถอนเพลงออกจาก ‘TikTok’ แล้ว หลังไม่สามารถตกลงเรื่องค่าตอบแทนกันได้

(2 ก.พ.67) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เพลงของเทย์เลอร์ สวิฟต์, อารีอานา กรานเด, จัสติน บีเบอร์, เดอะบีทเทิลส์ และศิลปินอื่นๆ อีกจำนวนมาก จะไม่ปรากฏให้ได้ยินกันในติ๊กต็อกอีกต่อไป หลังจากที่ติ๊กต็อก กับ ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค กรุ๊ป หรือยูเอ็มจี (UMG) ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ที่มีเพลง 1 ใน 3 ของโลกอยู่ในมือ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องค่าตอบแทนได้

ข่าวระบุว่า เพลงของยูเอ็มจีทั้งหมดได้ถูกถอดออกจากคลังเพลงของติ๊กต็อก ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ และวิดีโอที่มีเพลงของยูเอ็มจีทั้งหมด จะถูกปิดเสียงเอาไว้

ทั้งนี้ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licensing agreement) ระหว่างยูเอ็มจี กับติ๊กต็อก ได้หมดไปเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา

รายงานแจ้งว่า หลังการเจรจาเพื่อต่อสัญญาพังลงระหว่างสองบริษัท เมื่อวันที่ 30 มกราคม ทางยูเอ็มจี ได้กล่าวหาติ๊กต็อกว่า พยายามที่จะสร้างธุรกิจเกี่ยวกับเพลง โดยไม่ยอมจ่ายค่าตอบแทนที่ยุติธรรมให้กับเพลง

ยูเอ็มจี ระบุด้วยว่า หนึ่งในประเด็นของการเจรจา คือเรื่องของการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมใหักับศิลปิน และนักเขียนเพลง รวมถึงเรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ของผู้ใช้ และการปกป้องศิลปินจากอันตรายที่เกิดจากปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)

ด้านติ๊กต็อก ซึ่งเป็นของบริษัท ไบท์แดนซ์ จากจีน ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าและน่าผิดหวัง ที่ยูเอ็มจี ได้เอาความโลภของตัวเองอยู่เหนือผลประโยชน์ของศิลปินในบริษัท

ทั้งนี้ แม้ว่าติ๊กต็อกจะมีผู้ใช้งานจำนวนมากคือกว่า 1,000 ล้านบัญชี แต่ก็สร้างรายได้ให้ยูเอ็มจีได้แค่ราว 1 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดของยูเอ็มจี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top