Sunday, 12 May 2024
ลดดอกเบี้ย

'อ.พงษ์ภาณุ' เชื่อ!! Fed เตรียมลดดอกเบี้ย ส่งผลดี 'ยุโรป-ไทย' แนะ!! แบงก์ชาติไทย ลดดอกเบี้ยได้ทันที 0.50 โดยไม่ต้องรอ

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Fed เตรียมลดดอกเบี้ย เปิดทาง ธปท. ลดดอกเบี้ยไทย' เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การประชุม Fed เมื่อวัน 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่งสัญญาณการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างชัดเจน และเตรียมพร้อมที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2024 ถึงประมาณ 0.75% ส่งผลให้ดัชนีตลาดนิวยอร์กทะยานสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ วงจรดอกขาขึ้นรอบที่ผ่านมาที่ได้เริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นโยบายการเงิน

ความจริงแล้ว อาจจะเร็วไปสักนิดที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะเริ่มลดดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความร้อนแรงอยู่มาก แม้ว่าเงินเฟ้อจะลดลงค่อนข้างรวดเร็ว การลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจไปกระตุกเงินเฟ้อให้ผงกหัวขึ้นมาได้ แต่การส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะเป็นผลดีและลดแรงกดดันต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอกว่า เช่น ยุโรป และรวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

ขณะนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ย หลังจาก ธปท. โดย กนง.ตัดสินใจผิดพลาดในการประชุมที่ผ่านมาอย่างน้อย 2 ครั้ง ที่ได้มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ทั้ง ๆ ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ 

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรอให้ Fed ลดดอกเบี้ยก่อนแล้วค่อยทำตาม ธนาคารกลางประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งจีน ได้เริ่มลดดอกเบี้ยแล้ว ธปท. จึงควรเลิกดื้อรั้นไม่มีเหตุผลและประกาศลดดอกเบี้ยทันทีอย่างน้อย 0.50% ก่อนที่จะสายเกินไปเหมือนกับการขึ้นดอกเบี้ยล่าช้าเมื่อปีก่อน หากผิดพลาดอีกคราวนี้คนไทยคงไม่ยกโทษให้แน่นอน

การผ่อนคลายนโยบายการเงิน ที่จะดำเนินการไปพร้อมๆ กับมาตรการกระตุ้นทางการคลัง (Fiscal Stimulus) จะช่วยหยุดเศรษฐกิจขาลงของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคครัวเรือนจะมีภาระหนี้ลดลงและกลับมาจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจหลังจากหยุดการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาสักระยะก็จะกลับมาลงทุนและผลิตใหม่ ส่วนภาครัฐจะสามารถจัดงบประมาณที่ประหยัดได้จากภาระหนี้ที่ลดลงมาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้เพิ่มขึ้น

กองทุนรวม ESG ซึ่งเป็นการลงทุนที่ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้และรัฐบาลได้ผลักดันให้ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจให้กับประชาชนเพื่อออมเงินระยะยาว โดยผ่านกลไกกองทุนรวมที่จะเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะตราสารทุนและตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐาน ESG แม้ว่าจะหักลดหย่อนได้เพียง 100,000 บาท แต่ก็ออกมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและน่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

อำนาจละมุนหรือ Soft Power กำลังเป็นวาระแห่งชาติ การท่องเที่ยวและการกีฬาเป็นองค์ประกอบสำคัญของ อำนาจละมุน แม้ว่าการท่องเที่ยวในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ปี 2567 เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนเกิดโควิด ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงด้าน Supply อย่างขนานใหญ่ ในเรื่องความปลอดภัย ความสะดวก ความสะอาด รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เป็น Man-made Attractions ซึ่งขาดการพัฒนามานาน ไม่ว่าจะเป็น Theme Park, Casino หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และอาจใช้รูปแบบการร่วมทุนกับเอกชนในลักษณะ PPP เพื่ออาศัยความสามารถด้านการบริหารจัดการของธุรกิจเอกชน 

ส่วนด้านการกีฬานั้น ต้องปรับทัศนคติต่อการกีฬาให้มีลักษณะเชิงพาณิชย์มากขึ้น ปัจจุบันกีฬายังอาศัยเงินงบประมาณภาครัฐเป็นหลัก หากสามารถเปิดให้ทุนเอกชนเข้ามาพัฒนากีฬาในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล มวยไทย และกอล์ฟ เชื่อว่าการกีฬาจะกลายเป็น Soft Power ที่สำคัญและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น

'อ.พงษ์ภาณุ' กระตุก 'แบงก์ชาติ' ถึงเวลาลดดอกเบี้ย เตือน!! หยุดดื้อรั้น ก่อนพาเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ความเสี่ยง

(7 ม.ค. 67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นดอกเบี้ยในเมืองไทยที่ควรถึงเวลาลดลงได้แล้ว ว่า...

ธนาคารกลางเป็นสถาบันที่มีความสำคัญที่สุดสถาบันหนึ่ง ทุกคนเห็นตรงกันว่าธนาคารกลางควรจะเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองในการดำเนินนโยบายการเงิน หากธนาคารกลางมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ

วันนี้ น่าจะต้องทบทวนความคิดดังกล่าวแล้ว เพราะช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาดมาโดยตลอด ก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ในลักษณะวัฏจักรธุรกิจการเมือง (Political Business Cycle) 

เริ่มตั้งแต่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของโลกรอบที่แล้ว ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ที่ FED ปรับดอกเบี้ยขึ้นจากระดับเกือบศูนย์มาเป็น 5.5% แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับรีรอไม่ยอมปรับดอกเบี้ยในประเทศ ด้วยความเกรงใจรัฐบาลที่แล้ว จนเงินเฟ้อของไทยพุ่งสูงขึ้นเป็นกว่า 6% ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก พอการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นและมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบและหลุดกรอบล่างของ Inflation Targeting ไปเสียแล้ว ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2566 ก็น่าจะติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เป็นการสร้างความผันผวนทางการเงินและต้นทุนทางเศรษฐกิจแก่ประเทศอย่างไม่จำเป็น

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.5% เงินเฟ้อติดลบส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest) ของไทยสูงเป็นประวัติการณ์และสูงกว่าประเทศอื่นๆ เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น ระบบธนาคารในประเทศตึงตัวและสินเชื่อหดตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ประกอบกับดอกเบี้ยตลาดพันธบัตรก็ปรับตัวลดลง 

ภายใต้ภาวะเช่นนี้ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดึงดันคงดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง เพราะจะเป็นการสร้างความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นแก่เศรษฐกิจไทย และนโยบายของรัฐบาลที่กำลังประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ขอชื่นชมท่านนายกรัฐมนตรีที่ออกมาเตือนแบงก์ชาติให้พิจารณาความเสี่ยงต่างๆ อย่างรอบคอบ ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน, การชะลอตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ธปท. อย่ามัวแต่ไปด่าคนอื่น เอาเรื่องเงินเฟ้อเงินฝืดของตัวเองให้รอดเสียก่อน แล้วก็หยุดดื้อรั้นเถิดครับ หันกลับมาทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมืออาชีพ ก่อนที่ประชาชนจะทวงคืนความเป็นอิสระของท่าน

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! 3 ตัวแปร ที่ทำให้ 'แบงก์ชาติ' ยังไม่ยอมลดดอกเบี้ย 'เข้าใจบทบาทตนเองผิด-เกรงใจสถาบันการเงิน-กฎหมายล้าหลัง'

(3 มี.ค.67) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้กล่าวถึงประเด็นที่แบงก์ชาติยังไม่ลดดอกเบี้ย ไว้ว่า...

หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมแบงก์ชาติจึงดื้อรั้นไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีเงินฝืด (Deflation) ติดต่อกันมา 5 เดือน และเศรษฐกิจไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในไม่ช้า 

ประเด็นนี้ได้ลุกลามใหญ่โตเป็นวิวาทะทางการเมืองระดับชาติระหว่างรัฐบาล ซึ่งรับผิดชอบนโยบายการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทยและลิ่วล้อที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์แบงก์ชาติ 

วิวาทะหรือความขัดแย้งเช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเลย และน่าจะมีข้อยุติได้หากเราเข้าใจธรรมชาติของธนาคารกลางและบทบาทที่ควรจะเป็น

ในโลกปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่าธนาคารกลางมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคา (Price Stability) แต่บางทีรัฐบาลบางประเทศก็มอบหน้าที่รองให้ ซึ่งรวมถึง การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของสถาบันการเงิน การสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาระดับการจ้างงาน เป็นต้น

ประเทศที่พัฒนาแล้วยึดถือเป็นหลักการว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคา ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยึดหลัก Inflation Targeting ซึ่งมีความเป็นอิสระในเชิงเครื่องมือ (Instrumental Independence) แต่ต้องอยู่ในกรอบอัตราเงินเฟ้อที่ตกลงกับรัฐบาล หากเงินเฟ้อจริงเบี่ยงเบนไปจากกรอบนี้ ต้องถือว่าความเป็นอิสระนั้นจบลง

ส่วนบทบาทอื่น โดยเฉพาะการกำกับดูแลและพัฒนาสถาบันการเงินนั้น หลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น มีหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบ และอยู่นอกบทบาทหลักตามกฎหมายของธนาคารกลาง 

ดังนั้นความเป็นอิสระของธนาคารกลาง จึงจำกัดอยู่ที่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา การแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ดังกล่าวได้ช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และป้องกันความขัดแย้งกับนโยบายการคลังได้เป็นอย่างดี

ฉะนั้น จึงสามารถตอบคำถามว่าทำไมแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ยได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ...

ประการแรก แบงก์ชาติกลัวหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นจนเป็นฟองสบู่ ในหลายประเทศการแก้ไขปัญหาหนี้ไม่ใช่เป็นหน้าที่ธนาคารกลาง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงิน

ประการที่สอง การที่แบงก์ชาติทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ทำให้เกิดความสนิทสนมในฐานะผู้กำกับและผู้ถูกกำกับ ความสนิทสนมดังกล่าวนานเข้าจะนำไปสู่ความเกรงใจเจ้าของและผู้บริหารของสถาบันการเงินนั้น ๆ แน่นอนการลดดอกเบี้ยนโยบายย่อมนำไปสู่การลดดอกเบี้ยแบงก์ ซึ่งจะทำให้แบงก์มีกำไรลดลง

ประการสุดท้าย กฏหมายธนาคารแห่งประเทศไทย แก้ไขครั้งสุดท้ายกว่า 20 ปีมาแล้วภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงได้มีการนำเป้าหมายทางการเงินหลายอย่างมากระจุกรวมไว้ในบทบาทหน้าที่ของแบงก์ชาติ ดังนั้น การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่มีอยู่จำกัดไปรับใช้เป้าหมายหลาย ๆ เป้าหมาย ย่อมทำให้งานหลักของธนาคารกลางขาดประสิทธิภาพ และนำมาซึ่งความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ดังกล่าว

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างรีบด่วน โดยลดบทบาทของแบงก์ชาติ และให้มุ่งเน้นในเรื่องนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาเพียงเรื่องเดียว จนกว่าจะแก้กฎหมายเสร็จในระหว่างนี้ก็ขอให้แบงก์ชาติและลิ่วล้อยุติการเรียกร้องความเป็นอิสระ และหยุดการโยนความผิดของตนไปให้ผู้อื่น รวมทั้งหยุดวิวาทะที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย

'เศรษฐา' เล่นบทขุนคลัง กล่อม 4 แบงก์ใหญ่ ลดดอกเบี้ย  หวังช่วยกลุ่มเปราะบาง ไม่จี้ตีกรอบเวลาให้คำตอบ

(23 เม.ย.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยก่อนเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้เชิญธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาพูดคุยปัญหาเศรษฐกิจ สถาบันการเงินแข็งแกร่งมากจากผลประกอบการที่ออกมา ตนจึงได้ขอร้องให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารทั้ง 4 แห่งรับปากจะไปพูดคุยกัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี รายย่อย ที่มีปัญหาเรื่องดอกเบี้ยสูง

“รัฐบาลเห็นความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องดอกเบี้ย จึงได้เชิญไปตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เพิ่งได้คิวพร้อมกันวันนี้ ก็อยากจะพูดพร้อมกันให้มีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ใช่เป็นเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจ ชิงดีชิงเด่นกัน ใครลดมากลดน้อยไม่ใช่ ผมอยากให้ทุกท่านน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดูว่าจะช่วยกันได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งก็คงจะมีอะไรออกมาหลังจากนี้ ไม่ได้กำหนดเวลา ให้เกียรติกัน มองตาก็รู้ใจ ทำได้แค่ไหนแค่นั้น ผมก็ได้มีการขอร้อง พูดคุย แบบคนที่เคยรู้จักกันมา 10-20 ปี ก็ขอร้องให้ท่านช่วยดูแลเรื่องดอกเบี้ยบ้าง ท่านก็รับปากว่าจะไปพูดคุยกัน” นายเศรษฐา กล่าว

'รัดเกล้า' เผย!! 6 ธนาคาร ขานรับนโยบายรัฐ พาเหรด!! หั่นดอกเบี้ย 0.25% นาน 6 เดือน

(29 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธนาคารหลายแห่งร่วมขานรับนโยบายรัฐบาล หลังสมาคมธนาคารประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป 

โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่ม อันเป็นผลจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชิญผู้บริหารธนาคารมาพูดคุยหารือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ จากนั้นสมาคมธนาคารก็ได้มีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล โดยนายกฯ ชื่นชมสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เข้าใจถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย เป็นการช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนโดยรวม

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ธนาคาร และสถาบันการเงินที่ร่วมขานรับนโยบาย อาทิ 

1.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ปรับดอกเบี้ยลง 0.4% เหลือ 6.35% แบงก์แรกของรัฐที่ลดและลดดอกเบี้ยเหลือต่ำที่สุด มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.นี้ 

2.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ลูกค้ากู้บ้าน 1.8 ล้านราย 

3.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ 

4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% 

5.ธนาคารกรุงเทพ ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนนี้ 

และ 6.ธนาคารออมสิน ปรับลดดอกเบี้ย 0.40% เหลือ 6.95% ซึ่งต่ำสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และลดให้อัตโนมัติ ไม่ต้องติดต่อธนาคาร เป็นต้น

“ประชาชน และกลุ่ม SMEs ถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ การปรับลดดอกเบี้ยแม้เพียงแค่ 6 เดือน แต่ก็ช่วยให้สามารถเอาไปต่อยอดได้ โดยรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เดินหน้าหามาตรการ และแนวทาง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง” นางรัดเกล้า กล่าว

'อ.อุ๋ย-ปชป.' แนะรัฐบาลสั่ง 6 แบงก์รัฐ นำร่องลดดอกเบี้ย เดี๋ยวแบงก์พาณิชย์จะลดดอกเบี้ยตามเอง เพื่อไม่ให้เสียลูกค้า

เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.67) นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

ดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไป เป็นเครื่องมือหนึ่งของแบงก์ชาติ ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ไม่ให้เกินเป้าหมาย 3% ต่อปี ตามหลักเศรษฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติไม่มีอำนาจสั่งธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเพียงการส่งสัญญาณว่าธนาคารพาณิชย์ควรจะขึ้นหรือลดดอกเบี้ยเท่าใด ส่วนแต่ละธนาคารจะตัดสินอย่างไร เป็นเรื่องของแต่ละธนาคาร โดยดูจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ดังที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือจาก 4 ธนาคารใหญ่ และสมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 23 เม.ย.67 ซึ่งสุดท้ายสมาคมธนาคารไทยก็มีการปรับลดดอกเบี้ย MRR ลงร้อยละ 0.25 สำหรับผู้กู้บางส่วน ซึ่งไม่ตรงกับมติของแบงก์ชาติ (กนง.)  

ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบกับหลักความเป็นอิสระของแบงก์ชาติตามที่หลายฝ่ายกังวล รัฐบาลก็สามารถทำได้มากกว่าการขอความร่วมมือ โดยสั่งให้ธนาคารในกำกับดูแลของรัฐทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธกส., ธอส., ธอท., ธพว. และ ธนาคารกรุงไทย ให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ โดยไม่ต้องไปยุ่งกับดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะเกิดผลกระทบหลายฝ่าย และรุนแรงในระยะยาว และเมื่อธนาคารของรัฐเหล่านี้ ซึ่งมีฐานลูกค้าหลายสิบล้านคน หากลดดอกเบี้ยได้มากพอและนานพอ สุดท้ายธนาคารพาณิชย์ของเอกชนก็จะต้องลดดอกเบี้ยตาม เพราะมิเช่นนั้นก็จะเสียลูกค้าไป

การทำเช่นนี้แม้จะทำให้รายได้หรือกำไรของธนาคารลดลง แต่ในภาพรวมจะทำให้ประชาชนมั่นใจในการลงทุนและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น และรัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น และเอาเงินมาช่วยธนาคารเหล่านี้ภายหลังได้ โดยไม่ต้องไปกดดันแบงก์ชาติให้กระทบกับหลักความเป็นอิสระ ตามที่หลายฝ่ายท้วงติง 

ผมจึงขอฝากให้รัฐบาลนำวิธีนี้ไปพิจารณา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหันมาร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเจริญเติบโตก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคงจะดีกว่า


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top