Sunday, 12 May 2024
ลงทุนในไทย

'บิ๊กทุนจีน' ทุ่ม!! 10,000 ล้านบาท ลงทุนในพื้นที่ EEC ลุย 'มอเตอร์ไซค์อีวี-แบตเตอรี่-ตู้เปลี่ยนแบตฯ-ลิซซิ่ง'

เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.66) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี (EEC) พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สกพอ. ได้เข้าร่วมประชุมและหารือกับ บริษัท SMOGO Holding Co.,Ltd. ภายใต้ชื่อ ‘SMOGO’ ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะในยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ชั้นนำจากประเทศจีน

นำโดยนายหวัง หย่ง เจีย ประธานกรรมการ (Mr. Huang Yongjie) Chairman of SMOGO และคณะ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในกลุ่มคลัสเตอร์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

การผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือมอเตอร์ไซค์อีวี ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดยานยนต์เพิ่มขึ้นในทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย สร้างโอกาสให้พื้นที่อีอีซีเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์อีวีในภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการลงทุนนี้เริ่มต้นโดย บริษัท Suzhou Harmontronics Automation Technology Co., Ltd. ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศจีนได้ตัดสินใจร่วมมือกับ บริษัท GI New Energy Co.,Ltd. ขยายการลงทุนมายังประเทศไทย ภายใต้ชื่อ ‘SMOGO’ 

โดยเบื้องต้นจะเลือกฐานการผลิตและลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี โดยจะขยายการลงทุนครอบคลุมธุรกิจการผลิตและประกอบ มอเตอร์ไซค์อีวี การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตและติดตั้งตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์อีวี (Swap Battery) และการให้บริการทางการเงิน (Leasing) ควบคู่ไปด้วย

โดยจะเริ่มทำการตลาดในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในช่วงแรก และจะขยายการจัดจำหน่ายไปยังประเทศอื่นๆ โดยคาดว่าทาง SMOGO จะมีกำลังผลิตมอเตอร์ไซค์อีวี ได้ประมาณ 150,000 คันต่อปี และคาดว่าจะเกิดการลงทุนโครงการ ฯ เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ในกรอบวงเงินรวมสูงถึง 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ช่วงปี 2566 – 2571)

พร้อมกันนี้ ทางอีอีซี และ SMOGO ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางเพื่อสนับสนุนการลงทุน อาทิ ด้านการขอรับสิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการอำนวยความสะดวกขอรับบริการลงทุน การขอใบอนุมัติ อนุญาตต่างๆ และการประสานความร่วมมือการพัฒนาทักษะบุคลากร

โดยเฉพาะในด้านการฝึกอบรม และการศึกษาถึงนวัตกรรมด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผู้ประกอบการจากจีนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการเตรียมสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการต่อยอดการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

‘นายกฯ เศรษฐา’ ร่วมเวที APEC 2023 ดึง 15 บริษัทยักษ์ใหญ่ ‘ลงทุนในไทย’

เมื่อวานนี้ (20 พ.ย. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘พรรคเพื่อไทย’ โพสต์ข้อความระบุว่า… นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งปฏิบัติภารกิจเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) ระหว่างวันที่ 12-17 พฤศจิกายน 2566 ได้เดินสายเชิญชวนและดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกากว่า 15 บริษัท เพื่อมาลงทุนยกระดับเศรษฐกิจไทยและส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ไปพร้อมกัน

บริษัทต่าง ๆ แสดงความสนใจในการขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้เผยผลสำเร็จการเจรจาดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่เกิดขึ้นแล้ว 3 บริษัทคือ Google, Microsoft และ AWS (Amazon Web Services) รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท รวมถึง Western Digital ผู้ผลิต Hard Disk Drive (HDD) ยักษ์ใหญ่ของโลกได้ยืนยันจะขยายการผลิตชิ้นส่วนในไทยแล้ว

15 บริษัทที่นายกรัฐมนตรีได้พบหารือ ได้แก่

1. Tesla ได้พานายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมบริษัท ณ เมืองเฟรมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด นายกรัฐมนตรีหวังว่าความร่วมมือในวันนี้จะตอกย้ำถึงความเป็นศูนย์กลาง EV และพลังงานทดแทนของไทยในอนาคต พร้อมเชิญชวน Tesla ลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยมากยิ่งขึ้น

2. HP - โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนบริษัทขยายการลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิต และตั้งสำนักงานภูมิภาค ซึ่งไทยมีความพร้อมในด้านระบบสาธารณูปโภคและมีมาตรการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

3. Analog Devices, Inc. (ADI) เป็นบริษัทผลิตวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) รายใหญ่ระดับโลก โดยนายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ ADI ขยายการลงทุนในไทย ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาดพร้อมการอำนวยความสะดวกแก่บริษัท อีกทั้งสถาบันการศึกษาในไทยพร้อมที่จะทำงานกับบริษัทเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะกับทักษะความสามารถที่เกี่ยวกับการออกแบบวงจรที่ ADI ต้องการ

4. Google ได้พิจารณาจัดตั้ง Data Center ที่ไทยเป็นประเทศที่ 11 จากทั่วโลกแล้ว และได้มีการลงนามใน MOU ระหว่าง Google และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

5. Microsoft ศึกษาแผนการลงทุน Data Center กับไทยและได้มีการลงนามใน MOU ระหว่าง Microsoft และรัฐบาลเพื่อร่วมกันปรับปรุงการให้บริการสาธารณะของรัฐด้วยเทคโนโลยีและการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย

6. Amazon Web Services กำลังจะลงทุนเทคโนโลยีเกี่ยวกับคลาวด์ ผ่านการตั้ง Data Center ที่ไทยหรือ AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในไทย ด้วยงบประมาณกว่า 1.9 แสนล้านบาท (US$5 พันล้านบาท)

7. Walmart บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของโลก มองไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบที่มีศักยภาพ โดยคาดว่าจะเดินทางมาเพื่อหาวัตถุดิบใหม่ต่อไป นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนพิจารณาตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย

8. Western Digital ผู้ผลิต Hard Disk Drive (HDD) รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกซึ่งมีฐานการผลิตหลักที่ไทย จะย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมที่ไทย พร้อมแสดงความเชื่อมั่นที่จะขยายการลงทุนในไทยและพิจารณาที่จะย้าย Headquarter มาตั้งที่ไทย

9. Open AI เจ้าของ ChatGPT ได้พานายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมบริษัท พร้อมโน้มน้าวให้เข้ามาตั้งศูนย์วิจัยในไทย โดยมองว่าทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมคือจังหวัดเชียงใหม่หรือภูเก็ต

10. Apple ได้ชื่นชมโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่พร้อมในการขยายการผลิตสินค้าและเปิดเผยว่ากำลังพยายามจะลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ในปี 2030 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าไทยมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและเชิญชวนให้เดินหน้าขยายฐานการผลิตในไทย ทั้งสองฝ่ายยังได้พิจารณาศูนย์พัฒนาบุคลากรในไทยสำหรับการสร้างแอปพลิเคชันร่วมกันที่จะเดินหน้าโดยเร็ว

11. TikTok พบนายกรัฐมนตรี พร้อมหารือเกี่ยวกับการโปรโมตบริการของไทยและส่งเสริมการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเมืองรองของทุกภูมิภาคของไทยที่มีสินค้าท้องถิ่น (OTOP) ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด นายกรัฐมนตรีเชิญชวน TikTok สร้างศูนย์ฝึกอบรมในไทยและเสนอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจด้วย

12. Booking.com เจ้าของแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิ booking.com และ Agoda ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในไทย พร้อมร่วมมือกับไทยอย่างเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองและนโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็น World Festival Destination ที่สามารถมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

13. Citi บริษัทด้านการเงินยักษ์ใหญ่ของโลก ชื่นชมนโยบาย EV และแบตเตอรี่ของรัฐบาลและพร้อมร่วมกับไทยจัด Roadshow โครงการ Landbridge เพื่อชักชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในโครงการ อีกทั้งยังจะสนับสนุนการออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-linked bond)

14. Meta ยินดีร่วมมือกับรัฐบาลในการดูแลเนื้อหามิจฉาชีพ (scam) ต่าง ๆ พร้อมร่วมมือกับภาครัฐในการสนับสนุน ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย

15. Nvidia ต้อนรับและพานายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ นายกรัฐมนตรีมองว่าเทคโนโลยี AI ของบริษัทนั้นทรงพลัง โดยหวังว่าจะสามารถร่วมมือกับบริษัทในการประยุกต์เทคโนโลยี AI ในการให้บริการภาครัฐสำหรับประชาชน

‘4 ค่ายยักษ์จากญี่ปุ่น’ จ่อลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าใน ‘ไทย’ รวมมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หลัง ‘นายกฯ’ ลุยหารือ

(25 ธ.ค.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีวิสัยทัศน์และนโยบายให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย-ญี่ปุ่น รวมทั้งร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องสันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการขยายการลงทุนในไทย และขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหลักในภูมิภาคอาเซียน 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้หารือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 7 ราย เมื่อครั้งเดินทางร่วมการประชุม ASEAN-Japan ระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2566 โดยจากการหารืออย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างนายกฯ และบริษัทยานยนต์นี้ ทำให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment (BOI) ได้ข้อสรุปว่าภายในระยะเวลา 5 ปี จะมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น 4 รายที่พร้อมขยายการลงทุนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ได้แก่ โตโยต้า 5 หมื่นล้านบาท ฮอนด้า 5 หมื่นล้านบาท อีซูซุ 3 หมื่นล้านบาท และมิตซูบิชิ 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้บางบริษัทให้ความเห็นว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตรถกระบะไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

โดยกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นทั้ง 7 ราย ยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลไทยที่จะสนับสนุนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ลดการปล่อยคาร์บอน ใช้พลังงาน EV และไฮโดรเจน ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นยังได้นำเสนอโมเดลของการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swapping) สำหรับรถเชิงพาณิชย์ ซึ่งไทยพร้อมส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนให้กับผู้ลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น โดยจะดำเนินการออกมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาคอาเซียน

ไทยจึงพร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นที่ต้องการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของทั้งสองประเทศ ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนี้สู่ความสำเร็จ และประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ” นายชัย กล่าว

'เทสลา' ตั้งเงื่อนไข ลงทุนไทย ต้องได้ที่ดิน 2 พันไร่แปลงเดียว ด้าน 'เศรษฐา' มอบ 'รมว.ปุ้ย' ถกผังเมืองอุตฯ เอื้อลงทุน

(12 มี.ค. 67) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า เมื่อไม่นานมานี้ นายเศรษฐา ได้สั่งการให้ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าหารือเพื่อแก้ปัญหาผังเมืองอุตสาหกรรมไม่เอื้อการลงทุนอย่างจริงจัง พร้อมให้หารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อปลดล็อกอุปสรรคครั้งนี้ เพราะจากตัวเลขการลงทุนปี 2566 ที่เติบโตต่อเนื่องถึงปีนี้ จากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตลอดจนยอดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และยอดเช่า/ซื้อที่ดินของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน ที่เป็นผลจากการเคลื่อนย้ายลงทุน และรัฐบาลนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐบาลออกไปชักจูงการลงทุนในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน 

ล่าสุดได้รับเสียงสะท้อนจากนักลงทุนจำนวนมากแต่ผังเมืองภาคอุตสาหกรรมของไทยที่พบปัญหาไม่เอื้อต่อการลงทุน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา

“ตัวอย่างนักลงทุนที่ร้องเรียน อาทิ ญี่ปุ่นที่มีที่ดินติดปัญหาเคยมีลำน้ำสาธารณะที่ปัจจุบันไม่มีน้ำแล้ว นักลงทุนเสนอขุดลำน้ำให้ใหม่แต่ชุมชนไม่ยอม นอกจากนี้ยังพบว่า เทสลา ต้องการที่ดินลงทุนผลิตรถอีวีจำนวนมากถึง 2,000 ไร่ แต่ผังเมืองไม่เอื้อ” รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ปลายปีที่ผ่านมา เทสลาได้เข้ามาดูพื้นที่ลงทุนในไทย หลังนายเศรษฐา โรดโชว์สหรัฐอเมริกา และได้เชิญชวนเทสลาเข้ามาลงทุน โดยเงื่อนไขการลงทุนของเทสลาคือ ต้องใช้พื้นที่ลงทุน 2,000 ไร่ เป็นผืนเดียวกัน แต่พื้นที่ลงทุนของไทยในนิคมฯ ไม่เพียงพอ ทั้งของ กนอ.และนิคมฯเอกชน เพราะปกติการจัดตั้งนิคมฯ จะใช้พื้นที่ประมาณ 1,000-2,000 ไร่ และการลงทุนจะใช้หลักร้อยไร่ต่อราย อาทิ บีวายดี ใช้ 600 ไร่จึงสามารถหาได้ทันที

รายงานข่าวระบุว่า เบื้องต้นมีรายงานเทสลากำลังพิจารณาที่ดินย่านลาดกระบัง 2,000 ไร่ แต่ไม่ใช่นิคมฯ จึงต้องดูว่าจะปิดดีลได้หรือไม่ และพื้นที่ดังกล่าวจะไม่เกิดปัญหาผังเมืองตามมา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top