Monday, 17 June 2024
ร่างกฎหมาย

‘จุลพันธ์’ ห่วงร่าง กม.ค้างท่อถูกตีตก เหตุตั้ง รบ.ใหม่ล่าช้า เร่ง ‘วันนอร์’ หาทางแก้ ดันร่าง กม.เป็นประโยชน์ได้ไปต่อ

‘สส.เพื่อไทย’ ห่วง ร่าง กม.ค้างท่อ ถูกตีตก หลังเกินเวลาตาม รธน.กำหนด เหตุ ตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า เร่ง ‘วันนอร์’ หาทางแก้ ขณะนี้ ‘สส.ก้าวไกล’ แนะบรรจุกระทู้เรื่องเบี้ยยังชีพฯ โดยไม่ต้องรอ ครม.ใหม่

(16 ส.ค. 66) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ เปิดให้ สส.หารือถึงกระบวนการทำงานของสภาฯ โดยเฉพาะการยืนยันร่างกฎหมายที่ค้างในสภาฯ ชุดที่ 25 ที่อาจจะเกิดปัญหา หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังล่าช้า

โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย หารือว่า กระบวนการยืนยันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ค้างในสภาฯ ชุดที่ 25 โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 147 กำหนดกรอบให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตั้งใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง ยืนยันร่างกฎหมาย ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง คือ 3 กรกฏาคม ดังนั้น จะครบกำหนด คือ 31 สิงหาคม แต่ขณะนี้กระบวนการโหวตนายกฯ ยังไม่แล้วเสร็จ หากต้องรอกระบวนการมี ครม.ใหม่อาจจะเกินกำหนดเวลาดังกล่าว ทั้งที่มีกฎหมายสำคัญหลายฉบับค้างอยู่ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ..ศ..., ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม, ร่าง พ.ร.บ.ประมง เป็นต้น

ทั้งนี้ ตนขอให้นายวันมูหะมัดนอร์ พิจารณาใช้กลไกของสภาฯ คือ นัดประชุมตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อทำหนังสือในนามความเห็นชอบจากทุกพรรคการเมือง ที่มีความจำเป็นให้ ครม.รักษาการยืนยันร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ทุกฉบับ โดยไม่ปัดตก ซึ่งตนมองว่าจะเป็นทางออกที่ดีและร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์จะเดินหน้าได้

ขณะที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารือขอให้สภาฯ เร่งรัดการตั้งกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) 35 คณะ เพื่อให้เป็นช่องทางการทำงานของสภาฯ โดยไม่ต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เนื่องจากมีปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่รอเวลาไม่ได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของร่างกฎหมายที่รอการยืนยัน พบว่ามีร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อสภาฯ เช่น ร่างกฎหมายชนเผ่า

ทั้งนี้ ตามระเบียบทราบว่าภาคประชาชนไม่ต้องเข้าชื่อเพื่อเสนอใหม่ แต่ผู้เสนอร่างกฎหมายนั้นต้องยืนยันต่อการเสนอต่อสภาฯ จึงขอให้ประธานสภาฯ พิจารณาทำหนังสือส่งถึงประชาชนที่ริเริ่มส่งร่างกฎหมายต่อสภาฯทุกคน เพื่อให้มายืนยันต่อสภาฯ ตามกรอบที่กำหนด

นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม มาตรา 1448 และมีเพิ่มอีก 68 มาตรา ต่อสภาฯ ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนจำนวนมาก เพราะไม่ต้องการรอการยืนยันจาก ครม.ชุดใหม่ ดังนั้น ขอให้พิจารณาเร่งรัดการตรวจสอบและบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาฯ โดยเร็ว

ด้านนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หารือให้สภาฯ พิจารณาบรรจุวาระกระทู้ถามสด โดยไม่ต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีประเด็นที่เป็นปัญหาของประชาชนที่ต้องการคำชี้แจงจากรัฐบาลชุดรักษาการ เช่นเบี้ยงยังชีพผู้สูงอายุที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ อยากให้เชิญรัฐมนตรีมาชี้แจง ดังนั้นขอให้พิจารณาดำเนินการในการประชุมคราวหน้าโดยทันที

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน ตนเห็นด้วยและจะรับไปพิจารณา

‘สส.เกาหลีใต้’ เล็งเสนอกฎหมายห้ามจำหน่าย-บริโภค 'เนื้อสุนัข' ขณะที่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการแบน-กำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายใดๆ

(18 ก.ย. 66) บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเกาหลีใต้ กำลังมีแผนเสนอร่างกฎหมายซึ่งมีเป้าหมายห้ามจำหน่ายและบริโภคเนื้อสุนัข ประเพณีเก่าแก่อายุหลายร้อยปีอันเป็นที่ถกเถียง ซึ่ง ณ เวลานี้ยังไม่มีการแบนหรือกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายใดๆ

สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเสนอโดยพรรคเดโมแครต ปาร์ตี พรรคฝ่ายค้านหลักเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ย.) และเรียกเสียงสนับสนุนในทันทีจากพรรคพีเพิล พาวเวอร์ ปาร์ตี พรรครัฐบาล ซึ่งเท่ากับว่าจะมีคะแนนเสียงมากพอสำหรับโหวตผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้

ปาร์ก แด-ชุล ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายของพรรครัฐบาล ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า "ประชาชนเกาหลีใต้ราว 10 ล้านครัวเรือน เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องหยุดรับประทานเนื้อสุนัข"

ทั้งนี้ ปาร์ก ยังให้คำจำกัดความร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น ‘ร่างกฎหมายคิม กอนฮี’ อ้างถึงสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของเกาหลีใต้ ซึ่งรณรงค์ยุติกิจวัตรการรับประทานเนื้อสุนัขในประเทศ อย่างไรก็ตาม การตั้งชื่อดังกล่าว เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง แม้กระทั่งจากสมาชิกภายในพรรคเอง ซึ่งกล่าวหา ปาร์ก ว่าประจบประแจงประธานาธิบดีจนเกินงาม

สุภาพสตรีหมายเลข 1 สนับสนุนการแบนซื้อขายและบริโภคเนื้อสุนัขทุกรูปแบบ และเมื่อเดือนที่แล้ว เธอได้เร่งเร้าสมัชชาแห่งชาติให้ผ่านกฎหมายฉบับหนึ่งสำหรับยุติกิจวัตรดังกล่าว และสัญญาว่าจะเดินหน้ารณรงค์และใช้ความพยายามเพื่อนำมาซึ่งจุดจบของการบริโภคเนื้อสุนัขให้ได้

‘มนุษย์และสัตว์ควรอยู่ร่วมกัน’ เธอบอกระหว่างแถงข่าวที่มีกลุ่มประชาคมหนึ่งเป็นเจ้าภาพเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม พร้อมระบุ "กิจกรรมเนื้อสุนัขอย่างถูกกฎหมายควรถึงจุดจบเสียที"

การบริโภคเนื้อสุนัขเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในคาบสมุทรเกาหลีมานานหลายร้อยปี แต่มันได้รับความนิยมลดน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนฟาร์มสุนัขทั่วเกาหลีใต้ลดลงกว่าครึ่ง แต่ยังมีสุนัขถูกฆ่าเป็นอาหารราว 700,000 ตัวต่อปี ลดลงจากระดับหลายล้านตัวเมื่อราว 1 ทศวรรษก่อน จากข้อมูลของสมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุนัข

ความพยายามที่ผ่านมาของรัฐบาลในการกำหนดให้อุตสากรรมเนื้อสุนัขเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถูกคัดค้านจากทั้งเจ้าของฟาร์มสุนัขและร้านอาหาร เนื่องจากเกรงว่ามันจะกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา

‘ฝรั่งเศส’ เสนอร่าง กม.ห้ามคนวิจารณ์ ‘วัคซีนโควิด mRNA’ เพราะจะกลายเป็นความผิดทางอาญา มีโทษทั้งจำ-ปรับ

เมื่อไม่นานมานี้ สื่อต่างประเทศรายงานว่า มีการเสนอร่างกฎหมายใหม่ในฝรั่งเศสที่อาจทำให้การวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนโควิด mRNA กลายเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี และปรับเงิน 45,000 ยูโร สถานการณ์นี้เป็นบททดสอบสมดุลระหว่างเรื่องสาธารณสุขและเสรีภาพการแสดงออก โหมกระพือประเด็นถกเถียงทั่วโลกเกี่ยวกับค่านิยมประชาธิปไตยและอำนาจของรัฐบาลในยุคศตวรรษที่ 21

โดยข้อเสนอร่างกฎหมายใหม่นี้ กระพือเสียงอึกทึกครึกโครมบนท้องถนนของฝรั่งเศส ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลในหมู่พลเมือง โดยเวลานี้บรรดาสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างดังกล่าว ที่อาจเปลี่ยนภูมิทัศน์ด้านสาธารณสุขในประเทศแห่งอย่างรุนแรง

รายงานข่าวระบุว่า ข้อเสนอร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายทำให้การวิพากษ์วิจารณ์วัคซีนโควิด mRNA เป็นความผิดทางอาญา ความเคลื่อนไหวที่มีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี และปรับเงินอย่างหนักหน่วง 45,000 ยูโร (ประมาณ 1,750,000 บาท) อย่างไรก็ตาม แก่นกลางในประเด็นนี้ไม่ใช่แค่การคลอดกฎหมายฉบับหนึ่ง แต่มันเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการทดสอบสมดุลระหว่างการปกป้องระบบสาธารณสุขกับการธำรงไว้ซึ่งข้อเท็จจริงตามระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพการแสดงออก

ปมคำสัญญาของประเด็นโต้เถียงนี้ก็คือท่าทีของรัฐบาลฝรั่งเศสที่สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว พวกผู้เสนออ้างว่ายามที่กำลังเผชิญโรคระบาดใหญ่ระดับโลก ข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับวัคซีนอาจเป็นอันตราย และเป็นไปได้ที่อาจนำไปสู่ความลังเลใจของประชาชนในการเข้ารับวัคซีน และบ่อนทำลายความพยายามสกัดการแพร่ระบาดของไว้รัส พวกเขามองว่ากฎหมายเช่นนี้เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องความผาสุกโดยรวม

อย่างไรก็ตาม พวกวิพากษ์วิจารณ์มองว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการบุกรุกเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างน่าเป็นกังวล พวกเขาเกรงว่าการลงโทษพวกที่วิพากษ์วิจารณ์วัคซีนโควิด mRNA อาจกลายเป็นแบบอย่างของการกัดเซาะเสรีภาพการแสดงออก ต่อข้อสงสัยเกี่ยวกับเส้นแบ่งใดๆ ในอนาคตเกี่ยวกับประเด็นสาธารณสุขกับเสรีภาพการแสดงออก

ฝรั่งเศสไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กำลังหาทางจัดการเกี่ยวกับสมดุลระหว่างความจำเป็นด้านสาธารณสุขกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล โดยหลายชาติทั่วโลกได้บังคับใช้มาตรการต่างๆ ในการต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับโรคระบาดใหญ่ บางส่วนเลือกใช้ยุทธการมอบการศึกษาแก่ประชาชน ขณะที่อื่นๆ ใช้มาตรการทางกฎหมายอันเข้มข้น

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสถูกจับตามองเป็นพิเศษเพราะว่าพวกเขาเล็งเป้าเล่นงานพวกวิพากษ์วิจารณ์วัคซีน mRNA โดยเฉพาะ และกำหนดบทลงโทษรุนแรง

ท่ามกลางการถกเถียงทั้งในแง่ของกฎหมายและในทางการเมือง ผู้คนชาวฝรั่งเศสมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างผสมผสานและมีหลายมุมมอง ไล่ตั้งแต่สนับสนุนรัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดกับการบิดเบือนข้อมูล ไปจนถึงแสดงความกังวลใหญ่หลวงต่อผลกระทบที่น่าตกใจต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงออก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top