Saturday, 5 April 2025
ราชวงศ์จักรี

‘ท่านใหม่’ ชมสมาชิกราชสกุล ไร้ความเกรงกลัว รวมตัวร้องเพลง ‘เราคือคนไทย’ ปลุกสำนึกรักชาติ

ม.จ. จุลเจิม ยุคล หรือ ท่านใหม่ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ผมขอชื่นชมจากใจจริงครับ ที่เหล่าสมาชิก ราชสกุล และราชินีกุล เกือบทุกมหาสาขา ในพระราชวงศ์จักรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็น คนรุ่นใหม่ หนุ่ม ๆ สาว ๆ และอาจจะมีที่อายุมากหน่อยบางท่าน ได้รวมตัวกันออกมาร้องเพลงปลุกใจ เพื่อให้คนไทยเกิดความรัก ความสามัคคี ต่อชาติ บ้านเมือง โดยไม่เกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น 

จงอยู่ยงคู่ฟ้าดิน!! 'เทพมนตรี' ย้อนประวัติศาสตร์ 240 ปี 'ราชวงศ์จักรี' กับพระราชกรณียกิจนานัปการ - อย่าหลงเชื่อพวกล้มเจ้า

'เทพมนตรี' ย้อนประวัติศาสตร์ 240 ปี พระเจ้าอยู่ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงทำพระราชกรณียกิจนานัปการ จึงไม่สมควรทำตัวเนรคุณแผ่นดิน อย่าหลงเชื่อพวกล้มเจ้าที่มีนักการเมืองผู้เคียดแค้นทรยศต่อแผ่นดินเป็นแกนนำ

6 เม.ย. 65 - นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาว่า

บรมราชจักรีวงศ์
จักรีพระสี่กร เราเกิดในราชวงศ์จักรี
ร่วมกันรักษาชาติบ้านเมือง

ตลอดระยะเวลาจาก พ.ศ. 2325-2565 รวม 240 ปี พระเจ้าอยู่ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงทำพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการด้วยความรัก ความมั่งคงสถาพรต่อแผ่นดินไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่พระเจ้าอยู่หัว 10 รัชกาลทรงดำรงความเป็นไทยมาถึงทุกวันนี้ มรสุมน้อยใหญ่ที่ถลาโถมเข้ามาหลายระลอก ตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงในระบอบประชาธิปไตย ทรงต้องตรากตรำทำงานหนักและบางสมัยต้องทนทุกข์ทรมานโทมนัสน้อยพระทัย แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ความขันติมานะและความสมัครสมานสามัคคีของบรรพบุรุษไทยอันเป็นองคาพยพสำคัญ ประกอบไปด้วยความประนีประนอม ความรัก ความมีเมตตาต่อกัน เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง จึงทำให้เรายังคงความเป็นเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้ในระยะหลังนี้จะมีนักวิชาการผู้ประเสริฐปัญญาหลายคนจะไม่เห็นด้วยในเรื่องการมีเอกราชและตีความว่าเป็นการปลูกฝังค่านิยมและชาตินิยมที่ผิดๆ ของคนในศตวรรษที่แล้ว

ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีใจเป็นธรรมย่อมต้องเข้าใจในเรื่องบริบททางสังคม วัฒนธรรมของแต่ละยุคกับความจำเป็นในเรื่องความมั่นคงหลายประการ การคลั่งไคล้ความแตกต่างของนักวิชาการผู้ประเสริฐปัญญาเหล่านั้นได้สร้างประดิษฐ์วาทกรรมออกมาเหน็บแนมบ่อยครั้งตั้งแต่ช่วงปลายแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หรืออาจจะนับว่าตั้งแต่ทักษิณขึ้นมามีอำนาจและการหนีคดีหัวซุกหัวซุนออกนอกประเทศไป

เขาฝากประโยคเด็ดๆ ไว้มากมาย นับตั้งแต่ให้พระเจ้าอยู่หัวมากระซิบที่หูเขาๆ จะลาออกจากนายกรัฐมนตรี ไปจนถึง “ถ้าผมไม่มีความสุข สังคมไทยก็อย่าหวังจะมีความสุข”

จากปี 2549 มาจนถึงปัจจุบัน เขายังคงดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างตามคำอาฆาตมาดร้ายที่เขาได้เปล่งวาจาไว้ซึ่งข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ว่า ความสุข ในความหมายนั้นจะหมายถึงใคร ข้อนี้ผู้อ่านซึ่งมีสติปัญญาย่อมรู้และเข้าใจได้ง่าย

ถ้าข้าพเจ้าเกิดในสมัยอยุธยา ธนบุรี หรือตอนต้นรัตนโกสินทร์ ข้าพเจ้าจะตีค่าความเป็นคนของเขาว่า “อ้ายกบฏผีบุญ”

ทุกคนในปัจจุบันนี้เกิดในแผ่นดินพระบรมราชวงศ์จักรีทุกคน ไม่มีใครเกิดในแผ่นดินอยุธยาหรือธนบุรี เพราะถ้าใครอ้างตัวว่าเคยเกิดทันนั้นก็หมายความว่า เป็นชาติที่แล้ว แต่ความหมายของข้าพเจ้าคือคนที่เกิดในชาตินี้

ชาตินี้ชีวิตนี้ของเราเกิดในพระบรมราชจักรีวงศ์ พ่อแม่ปู่ย่าตายายลูกหลานล้วนแล้วเกิด เติบโต ทำกิน แก่เฒ่า และตายในแผ่นดินนี้ อุดมการณ์ใดๆ ก็ไม่อาจฝ่าฝืนสัจธรรมความจริงข้อนี้ไปได้

เราจึงไม่สมควรทำตัวเนรคุณแผ่นดินและพระบรมราชจักรีวงศ์ นี่ก็ไม่ใช่การบังคับ แต่ถ้าพิจารณาอย่างประณีตก็จะเห็นแจ่มแจ้ง

กระแส-สภาพการณ์ อุดมการณ์ที่อ้างประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพทั้งปวงไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนมากมายปานนี้ อ้างกันแบบมั่วๆ ปราศจากองค์รวมอันเป็นองค์ประกอบคู่กันนั่นคือ “หน้าที่”

สิทธิเสรีภาพหน้าที่ เมื่อใช้แล้วต้องตระหนักว่ามาคู่กันไป

การเลือกใช้แต่สิทธิเสรีภาพเช่นที่ว่านี้มันจึงมีความหมายว่าไม่เข้าใจในระบอบประชาธิปไตย หรือเลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือมีความเข้าใจดีแต่งดเว้นไว้ พูดแค่ครึ่งเดียวละเว้นหน้าที่เพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง

เมื่อเราเป็นคนไทย เราควรปฏิบัติตัวเช่นไร ผู้มีสติปัญญาย่อมควรทราบ ยิ่งพวกแก่กว่าข้าพเจ้าหรือเริ่มปัจฉิมวัยควรมีความเข้าใจอย่างสร้างสรรค์

ช่วยกันมองประเทศไทยและพระบรมราชจักรีวงศ์ให้กว้างและลึก ลองคิดดูเล่นๆ ถ้าประเทศนี้มีแต่นักการเมืองขึ้นมาบริหารประเทศมันจะเป็นอย่างไร คิดไปก็น่ากลัว

จะคิดแบบวิชาการก็น่ากลัวสังคมไทยที่มีจิตกุศล วัฒนธรรมไทยอันอยู่ในสายเลือดมันคงจบสิ้น

10 มิถุนายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ‘ด้วง’ หรือ ‘ทองด้วง’ เป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลังในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยก ธิดาเศรษฐีจีน มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ 

ต่อมาได้ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต จนพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษา ได้ทรงผนวช ณ วัดมหาทลายพรรษาหนึ่ง หลังจากทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมพรรษาได้ 25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี

ใน พ.ศ. 2311 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง โดยได้เสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบก๊กต่างๆ จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ

ต่อจากนั้น ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่างๆ หลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบให้เป็นพระยายมราช และทรงทำหน้าที่สมุหนายกด้วย 

ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม

ครั้น พ.ศ.2324 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องยกทัพกลับจากเขมรเพื่อปราบจลาจล และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2325 และทรงสถาปนาพระราชวงศ์จักรีขึ้น 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมทุกด้าน โดยมีพระราชประสงค์ให้กรุงรัตนโกสินทร์เจริญรุ่งเรืองเหมือนกับกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดต่างๆ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และโปรดให้เชิญพระพุทธรูปโบราณตามหัวเมืองต่างๆ มาประดิษฐานในพระนครด้วย

นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายโบราณสมัยอยุธยา ที่เหลืออยู่ให้เป็นหมวดหมู่และประทับตราสามดวงไว้เป็นฉบับหลวง

ทางด้านศาสนาโปรดให้ชำระพระไตรปิฎกและคัดเป็นฉบับหลวง เพื่อเก็บรักษาไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม ภายในพระบรมมหาราชวัง 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2352 พระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา

ย้อนประวัติศาสตร์ก่อนผลัดแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ ๓ ผู้ใด? มีรายชื่อสืบราชสมบัติ และผู้ใดไม่มีสิทธิ

หากจะกล่าวถึงการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงสืบราชสันตติวงศ์อย่างผิดแผกจากธรรมเนียมปกติ โดยพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยความเห็นพ้องของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ที่ต่อมารู้จักกันภายใต้หลักการ ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’

ทั้งหลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์แล้วก็ยังทรงตั้ง ‘วังหน้า’ อย่างผิดแผกแตกต่างไปจากยุคก่อน ๆ เพราะพระองค์ทรงตั้งพระปิตุลาของพระองค์ให้ทรงเป็น ‘กรมพระราชวังบวร’ นั่นก็คือ ‘กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ’ นัยว่าเพื่อสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นใน ๓ ส่วนสำคัญคือ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งก็เป็นไปได้อย่างราบรื่นตลอดรัชสมัย 

แต่กระนั้นในช่วงปลายรัชกาลในคราที่พระองค์ทรงประชวรหนักและอาจจะสวรรคตในอีกไม่นานนัก ทั้ง ‘วังหน้า’ ก็ทรงสวรรคตไปก่อนแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้ทรงตั้งใครขึ้น จนมาถึงในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๙๓ พระองค์จึงได้ทรงมีพระราชดำริถึงผู้ที่สืบทอดราชสันตติวงศ์ โดยมีพระราชโองการประกอบพระราชวินิจฉัยก่อนหน้า ให้ขุนนางผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ‘ตระกูลบุนนาค’ ตระกูลขุนนางอันดับหนึ่งของแผ่นดิน รับภาระผู้นำในเลือกสรรเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเพื่ออัญเชิญขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ โดยทรงขอ ‘อย่าให้มีการแตกแยก แก่งแย่งชิงราชบัลลังก์’ (พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์) 

ส่วนจะมีพระราชวงศ์พระองค์ไหน ? ที่อยู่ในข่ายได้รับการเลือกสรรให้เป็นผู้สืบราชสมบัติและทำไม? ถึงไม่ได้รับเลือก ผมเรียบเรียงมาให้อ่านกันเพลิน ๆ โดยเริ่มจากผู้ที่ไม่ได้รับเลือกสรรก่อนไปจนถึง ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ ๔ ที่ได้รับการเลือกสรรและอัญเชิญขึ้นครองราชย์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรรณพ กรมหมื่นอุดมรัตนราศี พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้าอรรณพ’

พระองค์แรก ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรรณพ กรมหมื่นอุดมรัตนราศี’ พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้าอรรณพ’ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ทรงกำกับกรมสังฆการี กรมธรรมการ และกรมมหาดเล็ก มีบทบาทในราชการและเป็นที่โปรดปรานมากกว่าพระโอรสองค์อื่น ๆ ว่ากันว่า รัชกาลที่ ๓ มีพระราชประสงค์อย่างชัดเจนที่จะมอบพระราชบัลลังก์ให้ ด้วยการนำเสนอพระนามท่ามกลางการประชุมพระราชวงศ์และขุนนาง 

แต่การณ์ก็ไม่เป็นดังหวังเพราะมีเสียงคัดค้านจากคณะขุนนาง เนื่องจากพระองค์ไม่ใช่พระราชโอรสที่มีพรรษาสูงนัก (อายุ ๓๑ พรรษา) หากเทียบกับพระองค์อื่น ๆ ถ้าข้ามอาวุโสไปก็จะเกิดปัญหา มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถสานประโยชน์ให้เกิดดุลยภาพได้เช่นพระราชบิดา 

ทั้งในกลุ่มขุนนางก็ไม่ค่อยมีผู้ใดได้ร่วมงานกันอย่างสนิทชิดเชื้อหรือรู้จักมักคุ้นมากพอที่จะสนับสนุนให้ได้ราชสมบัติ หากได้ขึ้นครองราชย์ก็อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ให้ความเคารพเชื่อถือ ทั้งในกลุ่มพระราชวงศ์และกลุ่มขุนนางเอาได้ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นภัยกับตัวพระองค์เจ้าอรรณพเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางทั้งหลายจึงมิได้เลือกสรรพระองค์ 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้ามั่ง’

พระองค์ที่สอง ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร’ มีพระนามเดิม ‘หม่อมเจ้ามั่ง’ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดานิ่ม พระองค์ทรงกำกับกรมพระอาลักษณ์ ทรงเป็นกวีสำคัญในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเป็นผู้รวบรวมและชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่าให้ประณีตและไพเราะมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะนำไปจารึกลงแผ่นศิลา เพื่อประดับให้ความรู้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) 

ซึ่งถ้ามองตามชั้นพระยศของพระองค์ พระองค์เมื่อแรกประสูตินั้นเป็นเพียง ‘หม่อมเจ้า’ หากจะข้ามชั้นพระยศ ‘เจ้าฟ้า’ ซึ่งมีพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๒ ในชั้น ‘เจ้าฟ้า’ ที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ถึง ๒ พระองค์คือเจ้าฟ้ามงกุฎ (ร.๔ ซึ่งขณะนั้นทรงอุปสมบทเป็น ‘วชิรญาณภิกขุ’ อยู่) อีกพระองค์คือเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ คงเป็นการมิบังควรหากจะข้ามไป 

ประกอบกับกรมพระยาเดชาดิศรนั้นทรงถูกติติงจากรัชกาลที่ ๓ ว่า “เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่เป็นโตไปไม่ได้” อีกทั้งกรมที่พระองค์ทรงดูแลอยู่นั้น มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมือง แม้จะเคยทรงไปทัพหรือเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางทั้งหลาย แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่กลุ่มพระราชวงศ์และกลุ่มผู้นำขุนนางทั้งหลายจะเลือกสรรให้ท่านได้ครองราชย์ 

พระองค์ที่สาม ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์’ มีพระนามเดิมว่า ‘พระองค์เจ้าพนมวัน’ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลา ทรงกำกับ กรมพระนครบาล (เวียง) และ กรมคชบาล ซึ่งเป็นกรมที่มีข้าในสังกัดมาก แต่การที่มีไพร่พลสังกัดในกรมจำนวนมากนี้เองที่กลายเป็นชนวนทำให้พระองค์ทรงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก คราวแรกพระองค์ได้ถูกพาดพิงจาก ‘กบฏหม่อมไกรสร’ (กรมหลวงรักษ์รณเรศ) ว่าหากกบฏสำเร็จจะตั้งพระองค์เป็นวังหน้าเพราะทรงคุมกรมใหญ่มีบารมีมาก (ดีที่ไม่ซวยติดร่างแหไปด้วยไม่งั้นคงถูกสำเร็จโทษตามหม่อมไกรสรไปเป็นแน่) 

คราวที่สองเมื่อ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ สวรรคต พวกข้าในกรมคาดว่าเจ้านายของตนจะได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฯ แทน ก็เลยคุยเขื่องยกยอนายของตนไปทั่ว เล่นใหญ่จนกลายเป็นความหมั่นไส้ ก่อนที่เหตุการณ์ก็ผลิกผัน เพราะในที่สุด ร.๓ ก็มิได้ตั้งใครเป็นวังหน้า จากเหตุนี้ก็เลยกลายเป็นชนักที่ปักพระขนองของพระองค์อยู่ อีกทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ ยังได้ทรงตำหนิพระองค์ต่อวงขุนนางไว้ว่า “ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ คิดแต่ละเล่นอย่างเดียว” เพราะพระองค์ทรงโปรดดนตรีปี่พาทย์และการละครเป็นอย่างมาก จนมีโรงละครหลวงที่ใหญ่ติดอันดับของสยามในเวลานั้น 

จากเหตุข้าในกรมใฝ่สูงแทนนาย อีกทั้งยังถูกวางไว้ในตำแหน่งคานอำนาจกับเจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์) และพระยาศรีพิพัฒน์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) พระองค์จึงไม่ได้รับเลือกสรร

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)

พระองค์ที่สี่ ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์เสด็จฯ กลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม พร้อมพระราชมารดา 

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ ๒๔ พรรษา ได้ทรงบังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืนหน้า ปืนหลัง และญวนอาสารบแขกอาสาจาม ซึ่งเป็นกองทหารที่สำคัญและมีกำลังคนมาก แต่พระอุปนิสัยชอบสนุกเฮฮา ไม่มีพิธีรีตองอะไร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์ได้รับการตำหนิจากรัชกาลที่ ๓ ว่า “มีสติปัญญารู้วิชาการช่างและการทหารต่าง ๆ แต่ไม่พอใจทำราชการเกียจคร้าน รักแต่การเล่นสนุก เพราะฉะนั้นจึ่งมิได้ทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้าราชการ...จะไม่ชอบใจ” 

อีกอย่างหนึ่งคงไม่พ้นทางฝั่งขุนนางที่คาดกันว่าหากพระองค์ทรงครองราชย์แล้วคงจะทำลายสมดุลแห่งอำนาจเป็นแน่ เนื่องจากพระองค์ทรงหัวก้าวหน้า พูดอังกฤษได้ มีเพื่อนฝรั่งมาก ขุนนางทั้งหลายอาจจะต้องเผชิญขนบใหม่จากพระองค์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำขุนนางก็คงถูกลิดรอนอำนาจบารมีจากการเข้าถึงงานราชการของพระองค์ (ขัดกับคำตำหนิ ???) อย่ากระนั้นเลยเมื่อคิดได้ดังนี้ กลุ่มขุนนางจึงขอไม่เลือกสรรพระองค์โดยให้เหตุผลว่า น่าจะเรียงลำดับอาวุโสตามศักดิ์และสิทธิ์ของ ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ โดยขอเลือก ‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ ก่อน หากเจ้าฟ้ามงกุฎไม่ทรงรับจึงจะเลือกสรรเป็นพระองค์ 

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้ามงกุฎ’ หรือ ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)

พระองค์ที่ห้า ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้ามงกุฎ’ หรือ ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา 

เมื่อ ร.๓ ขึ้นครองราชย์ด้วยหลักการ ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะดำรงสมณเพศต่อไป ระหว่างผนวชพระองค์ได้ทรงธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ทรงเห็นความเป็นไปต่าง ๆ ของบ้านเมือง รวมไปถึงทรงเห็นความหย่อนยานของพระภิกษุในบางส่วน ทำให้พระองค์ทรงนำมาปรับปรุงโดยยึดพระธรรมวินัยเป็นที่ตั้ง จนเกิดเป็น ‘ธรรมยุกตินิกาย’ ทำให้พุทธศาสนาที่ย่อหย่อนกลับมาแข็งแรงขึ้น เรียบร้อยขึ้น 

แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงได้รับการตำหนิจาก ร.๓ ว่า “ถ้าเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะให้นำธรรมเนียมการห่มผ้าของพระสงฆ์ของพม่ามาใช้” แต่ด้วยความเป็น สมเด็จฯ เจ้าฟ้า มีศักดิ์และมีสิทธิ์ครบ มีความเข้าใจในบ้านเมือง และเข้าใจสถานการณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ตะวันตกกำลังรุกคืบมาเป็นอย่างดี อีกทั้งมิได้มีข้อขุ่นข้องหมองใจหรือขัดผลประโยชน์ใด ๆ อันจะทำให้ดุลยภาพแห่งอำนาจสั่นคลอนได้ 

ที่ประชุมพระราชวงศ์และเหล่าขุนนางจึงพร้อมใจกันเลือกพระองค์เป็นผู้สืบราชสมบัติ ครองราชย์เป็น ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

จะเห็นว่า การสืบราชสันตติวงศ์ทั้งรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ นั้นมิได้เป็นไปตามหลักการ การสืบราชสันตติวงศ์โดยพระราชโอรสพระองค์โตที่เป็น ‘เจ้าฟ้า’ จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่กลับเป็นไปตามหลัก ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’ ซึ่งมหาชนที่ว่านั้นก็คือ ‘ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่’

โดยเฉพาะเมื่อครั้งเลือกสรรผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ทรง ‘โปรดอนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวงสุดแต่เห็นพร้อมเพรียงกัน’

ทั้งหมดที่ผมเรียบเรียงมานั้น เน้นย้ำความสมดุลแห่งอำนาจ ๓ ฝ่ายคือ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเรื่องของอำนาจบารมีมาเกี่ยวข้อง หากจะเลือกสรรพระมหากษัตริย์ที่มาลิดรอนดุลยภาพแห่งอำนาจนั้นจึงเป็นการไม่เหมาะสม 

โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ที่มีอำนาจบารมีขั้นสุดอย่าง กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค ซึ่งนำโดย เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) และพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่กุมอำนาจบริหารแผ่นดินไว้ การจะเลือกสนับสนุนพระราชวงศ์พระองค์ใดขึ้นครองราชย์ย่อมต้องไม่ขัดกับผลประโยชน์ของตน ซึ่งในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น ทุกอย่างลงตัว 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ก็ทรงทราบเหตุแห่งผลประโยชน์ที่อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ จึงทรงถ่วงดุลด้วยการอุปราชาภิเษก ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒ ไปพร้อม ๆ กัน โดยทรงอ้างถึงพระชะตาอันแรงกล้า แต่โดยนัยแล้วเชื่อได้ว่านี่คือการวางแผนคานอำนาจของขุนนางตระกูลบุนนาคนั่นเอง เอาไว้ผมจะเรียบเรียงมาให้อ่านกันในครั้งถัด ๆ ไปครับ

1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 วันสวรรคต ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เสด็จทรงพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีชวด ฉศก จุลศักราช 1166 ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 มีพระนามเดิมว่า ‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย และที่ 2 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) และทรงเป็นพระราชนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สถาปนา พระบรมราชจักรีวงศ์และสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี

เมื่อ พ.ศ. 2367 ได้เสด็จออกผนวชเป็นเวลา 27 พรรษา ระหว่างทรงอยู่ในสมณเพศ ได้สนพระราชหฤทัยศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ปรากฏในพงศาวดารว่า ได้เป็นเปรียญ ในพ.ศ.  2394 ได้ทรงลาผนวชเนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีผู้ใหญ่ ได้อัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันพุธ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีกุน จุลศักราช 1213 ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามตามที่เฉลิมพระบรมนามาภิไธย จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงษ์ วงษาดิศวร กระษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาษ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา 17 ปี 6 เดือน เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระชนมพรรษา 65 พรรษา มีพระราชโอรส 39 พระองค์ และพระราชธิดา 43 พระองค์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top