Sunday, 27 April 2025
รางวัลโนเบล

‘3 นักวิทย์’ ผู้ค้นพบ ‘ควอนตัมดอท’ วัสดุแห่งอนาคต ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2023

เมื่อวานนี้ (4 ต.ค. 66) Royal Swedish Academy of Sciences ได้ตัดสินให้รางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2023 ตกเป็นของ Moungi G. Bawendi, Louis E. Brus และ Alexei I. Ekimov จากผลงาน ‘การค้นพบและการสังเคราะห์ควอนตัมดอท’

ควอนตัมดอท (Quantum dots) เป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตร (10^-9 m) ซึ่งมีคุณสมบัติที่น่าทึ่งและน่าสนใจมากมาย โดยขนาดที่แตกต่างกันจะเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของพวกมัน ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ ควอนตัมดอทจะมีสีที่แตกต่างกันขึ้นกับขนาดของตัวมันเอง

ควอนตัมดอทมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันมีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย เช่น เทคโนโลยีการแสดงผล (display technology) ทั้งในคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ การพิมพ์ภาพทางชีวภาพ (bioimaging) เพื่อระบุตำแหน่งและติดตามเซลล์รวมถึงสารชีวโมเลกุลภายในร่างกาย เซ็นเซอร์ทางชีวภาพ (biological sensors) ตัวนำสารเคมีเพื่อไปรักษาเฉพาะจุด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ควอนตัมดอทเป็นแหล่งกำเนิดโฟตอนเดี่ยวสำหรับการทดลองทางควอนตัม ฯลฯ

ความสำเร็จของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีทั้ง 3 ท่านในครั้งนี้ นับเป็นแรงกระเพื่อมที่สำคัญให้เกิดการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมดอท โดยนักวิจัยต่างเชื่อว่าวัสดุแห่งอนาคตชนิดนี้จะนำประโยชน์มหาศาลมาสู่มวลมนุษยชาติอย่างแน่นอน

13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456  ‘รพินทรนาถ ฐากูร‘ กวีเอกชาวอินเดีย ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม

วันนี้ เมื่อ 110 ปีก่อน 'รพินทรนาถ ฐากูร' กวีเอกชาวอินเดีย ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม จากบทประพันธ์ 'คีตาญชลี' นับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้

วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456  (ค.ศ.1913) กวีชาวอินเดีย รพินทรนาถ ฐากูร ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม จากงานประพันธ์และแปลหนังสือรวมบทกวี 'คีตาญชลี' เป็นภาษาอังกฤษ นับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

รพินทรนาถ ฐากุร (Robindronath Thakur) เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2404 และเสียชีวิตเมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2484 มีสมัญญานามว่า 'คุรุเทพ' เป็นนักปรัชญาพรหโมสมัช นักธรรมชาตินิยม และกวีภาษาเบงกาลี 

รพินทรนาถ เริ่มเขียนบทกวีครั้งแรกตั้งแต่อายุเพียง 8 ปี ครั้นอายุได้ 16 ปี ก็ได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานกวีนิพนธ์ภายใต้นามปากกา ภาณุสิงโห และเริ่มเขียนเรื่องสั้นกับบทละครในปี พ.ศ. 2420 

รพินทรนาถเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทเพลง ละครเพลง และเรียงความมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองการปกครอง และเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ประจำปี ค.ศ. 1913 นับเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รางวัลนี้ และรับผลงานของเขายังสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน 

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต รพินทรนาถต่อต้านการปกครองของรัฐบาลอังกฤษอย่างเปิดเผย และร่วมเคลื่อนไหวการประกาศเอกราชของประเทศอินเดียอีกด้วย

‘คณะกรรมการโนเบล’ มอบ ‘รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ’ ให้องค์กรในญี่ปุ่น เพื่อเชิดชูความพยายาม ในการผลักดันโลก ให้ปลอดจาก ‘อาวุธนิวเคลียร์’

(12 ต.ค. 67) คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลมีมติเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ประกาศให้ สมาพันธ์ผู้ประสบภัยจากระเบิดปรมาณูและไฮโดรเจนแห่งญี่ปุ่น หรือ ‘นิฮง ฮิดันเกียว’ (Nihon Hidankyo) ซึ่งเป็นองค์กรของผู้รอดชีวิตในญี่ปุ่นจากระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับ "รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ" ประจำปีนี้ เพื่อเชิดชูความพยายามในการผลักดันโลกให้ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์

คณะกรรมการฯ ระบุว่า นิฮง ฮิดันเกียว ซึ่งเป็นองค์กรรากหญ้าที่มีการก่อตั้งขึ้นในปี 1956 หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในเดือนส.ค. 1945 ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่ร้ายแรงต่อมนุษยชาติจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์

แม้เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงครามเป็นเวลาเกือบ 80 ปีแล้ว แต่เป็นเรื่องน่าวิตกที่ในปัจจุบัน แนวคิดในการไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์กำลังถูกกดดัน

สำหรับพิธีมอบรางวัลโนเบลจะมีขึ้นที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ในวันที่ 10 ธ.ค. โดยบุคคลหรือองค์กรที่คว้ารางวัลจะได้รับเงินจำนวน 11 ล้านโครนาสวีเดน (1.06 ล้านดอลลาร์) หรือราว 35 ล้านบาท

สำนักข่าววีโอเอระบุว่า สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกใส่ญี่ปุ่นในปี 1945 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 120,000 คนทันที และมีประชาชนจำนวนเท่าๆ กันเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากแผลไหม้และผลกระทบของกัมมันตภาพรังสี ขณะที่มีผู้รอดชีวิตอยู่ราว 650,000 คนที่มีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ฮิบากูชะ (Hibakusha)

แถลงการณ์ของคณะกรรมการโนเบลระบุว่า ชะตาชีวิตของผู้รอดชีวิตเหล่านั้นถูกปกปิดไว้หรือไม่สังคมก็ไม่ยอมรับรู้ และในปี 1956 สมาคมฮิบาคุชะหลายแห่งในญี่ปุ่นมารวมตัวกันกับเหยื่อของการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อสร้างกลุ่ม Nihon Hidankyo ขึ้นมา

คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า กลุ่มดังกล่าวได้รับรางวัลสันติภาพจาก ‘ความพยายามที่จะให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ และจากการแสดงให้เห็นผ่านคำให้การของพยานผู้รอดชีวิตว่า จะต้องไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกต่อไป’

"ผมไม่อยากเชื่อเลยว่ามันจะเป็นเรื่องจริง" โทชิยูกิ มิมากิ ประธานร่วมของนิฮง ฮิดันเกียว กล่าวโดยกลั้นน้ำตาและบีบแก้มตัวเองไว้ ในการแถลงข่าวที่เมืองฮิโรชิม่า ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุระเบิดปรมาณูเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 ในช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง

มิมากิซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตกล่าวว่า รางวัลนี้จะช่วยผลักดันความพยายามในการแสดงให้เห็นว่า การยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นไปได้ และตำหนิรัฐบาลต่างๆ ที่ยังเดินหน้าทำสงครามแม้ว่าประชาชนจะโหยหาสันติภาพก็ตาม

ด้านยอร์เกน วัตเน ฟรีดเนส ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลของนอร์เวย์ กล่าวเตือนโดยไม่ได้ระบุชื่อประเทศใดประเทศหนึ่งว่า ประเทศที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ไม่ควรคิดที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top