Sunday, 19 May 2024
รางรถไฟ

‘ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.’ สั่งพิจารณาความดีความชอบ ‘นายสถานีบ้านส้อง’  หลังช่วยชีวิต ‘ผู้พิการทางหู’ ให้พ้นจากการถูกรถไฟชน!!

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี นายฐิติพงศ์ พิริพล นายสถานีรถไฟบ้านส้อง ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ให้อาณัติสัญญาณ สามารถช่วยเหลือคนชราหูหนวกรายหนึ่ง ให้พ้นจากการถูกรถไฟเฉี่ยวชน ขณะเดินข้ามรางรถไฟได้

ล่าสุด นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทราบข่าวและเห็นคลิปการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแล้ว โดยได้ชื่นชมในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ผู้โดยสารด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ฝ่ายเกี่ยวข้องพิจารณาความดีความชอบตามระเบียบต่อไป

เปิด 4 มาตรฐานใหม่ ยกระดับรางรถไฟไทย ปลอดภัยขั้นสุด

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 66 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานการขนส่งทางราง ครั้งที่ 8-2/2566 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมมนังคสิลา ชั้น 2 อาคาร ณ ถลาง กรมการขนส่งทางราง และผ่านระบบ Zoom cloud meetings  

โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างมาตรฐาน จำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่...

1. มาตรฐานองค์ประกอบทางรถไฟ (Track Components) เพื่อใช้กำหนดมาตรฐานการทดสอบและการรับรองคุณสมบัติและประสิทธิภาพขององค์ประกอบทางรถไฟ ซึ่งประกอบด้วย ราง เชื่อมต่อราง อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวราง และหมอนรองราง สำหรับทางรถไฟขนาดกว้าง 1.000 เมตร และขนาด 1.435 เมตร

2. มาตรฐานตำแหน่งเปลี่ยนผ่านบนทางรถไฟ (Railway Track Transition Zone) เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดมาตรฐานและเทคนิคในการออกแบบก่อสร้างและปรับปรุงในตำแหน่งเปลี่ยนผ่านบนทางรถไฟขนาดกว้าง 1.000 เมตร และขนาด 1.435 เมตร ที่เชื่อมต่อระหว่างทางรถไฟที่มีหินโรยทางกับทางรถไฟที่ไม่มีหินโรยทางหรือทางรถไฟบนพื้นคอนกรีต รวมไปถึงตำแหน่งเปลี่ยนผ่านบนทางรถไฟ ที่เชื่อมต่อกับสะพาน (Bridge) อุโมงค์ (Tunnel) ท่อทางลอดระบายน้ำ (Culvert) และบริเวณอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงค่าความแข็งเกร็งแบบทันทีทันใด เพื่อลดโอกาสเกิดความเสียหายและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงทางรถไฟบริเวณตำแหน่งเปลี่ยนผ่านบนทางรถไฟ

3. มาตรฐานการออกแบบทางรถไฟชนิดมีหินโรยทาง (Ballasted Track Design) เพื่อใช้สำหรับเป็นข้อกำหนดมาตรฐานและเทคนิคในการออกแบบทางรถไฟชนิดมีหินโรยทาง บนทางรถไฟขนาดกว้าง 1.000 เมตร และขนาด 1.435 เมตร ให้มีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัย

4. มาตรฐานระบบระบายน้ำบนทางรถไฟสำหรับระบบขนส่งทางรางระหว่างเมือง (Track Drainage System for Intercity Rail) เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดด้านเทคนิคสำหรับการระบายน้ำบนทางรถไฟในเขตทางรถไฟของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานทั้ง 4 มาตรฐานดังกล่าว โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะผู้จัดทำ นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปปรับปรุง ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นไปบังคับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

‘ททท.’ ชี้ เที่ยวไทยทางราง ตอบโจทย์ความยั่งยืน ชูจุดเด่น ‘ปล่อยคาร์บอนฯ น้อย-กระจายรายได้สู่ชุมชน’

(6 พ.ย. 66) นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. เล็งเห็นประโยชน์ของการต่อยอดการท่องเที่ยวโดยรถไฟซึ่งมีมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวที่สามารถเติมเต็มประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว

ททท. จึงจัดโครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ขึ้น เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มคนเจน Z

โดยการเดินทางผ่านทางรถไฟจะสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผ่านรวมทั้งส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ผ่านการเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ เช่น รถไฟ รถโดยสารสาธารณะ ไปยังชุมชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึงต่อไป

อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามว่าการจัดโครงการดังกล่าวจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทางรถไฟมากน้อยเพียงใด นายอภิชัย ให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้น และยังต้องมีการกำหนดเครื่องมือชี้วัดในลำดับต่อไป

นางสาววัลย์ณัฐ บุญประเสริฐ เลขาธิการสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟเป็นการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากการที่เดินทางผ่านขบวนรถไฟอาจมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการเดินทางรูปแบบอื่น

ขณะที่นายพล เวชการ รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า การท่องเที่ยวผ่านทางรถไฟสามารถตอบโจทย์ที่หลากหลาย ด้วยเส้นทางของรถไฟที่ผ่านหลายพื้นที่ของประเทศ ประกอบกับในอนาคตระบบคมนาคมทางรางของไทยจะพัฒนามากขึ้น จากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้น

รายงานจากททท. ระบุว่า ภายใต้โครงการดังกล่าว ททท. ได้ผนึกกับพันธมิตร เปิดพื้นที่ให้เหล่านักท่องเที่ยวมืออาชีพร่วมสร้างสรรค์ และนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟแบบไม่จำกัดไอเดีย ภายใต้ โครงการ The story of Railway Journey ‘เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง’ ออกแบบสร้างสรรค์สื่อนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟ และเพื่อชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 แสนบาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณจาก ททท. โดยผลการแข่งขัน มีดังนี้

-รางวัลชนะเลิศ : ทีม Touch And Go
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 : ทีม Freeland
-รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 : ทีมเปรี้ยวกับป้า
-รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม The Couple  และทีมสับราง team

‘นาซา’ วางแผนจะสร้าง ‘ระบบรางรถไฟ’ บนดวงจันทร์ หวังรองรับการปฏิบัติภารกิจของนักบินอวกาศในอนาคต

(14 พ.ค.67) เว็บไซต์ วีโอเอ รายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (นาซา) เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ ‘ระบบรางรถไฟ’ ที่วางแผนว่าจะสร้างบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อจัดเตรียม ‘ระบบขนส่งด้วยหุ่นยนต์’ สำหรับรองรับกิจกรรมบนดวงจันทร์ในอนาคต

รายงานระบุว่า ทางรถไฟดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการอาร์ทิมิส’ (Artemis) โครงการการบินอวกาศของมนุษย์ระดับนานาชาติ ที่นำโดยสหรัฐอเมริกากับเป้าหมายหลักในการส่งมนุษย์กลับคืนสู่ดวงจันทร์เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2515 และมีการกำหนดวันลงจอดเพื่อส่งนักบินอวกาศบนพื้นผิวดวงจันทร์ ในเดือนก.ย. 2569

องค์การนาซากล่าวด้วยว่ามีแผนที่จะสร้างฐานระยะยาวบนดวงจันทร์ ซึ่งนักบินอวกาศสามารถสำรวจและทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ฐานดังกล่าวได้ และคาดว่าจะเริ่มสร้างขึ้นเร็วที่สุดในช่วงทศวรรษ 2030 (ตั้งแต่ปี 2573) นอกจากนี้ยังใช้เป็นพื้นที่ปล่อยยานสำหรับการสำรวจดาวอังคารในอนาคตได้อีกด้วย

แผนสร้างรางรถไฟบนดวงจันทร์ถูกเรียกว่า ‘FLOAT’ (โฟลต) ย่อมาจาก Flexible Levitation on a Track จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ เพราะสามารถให้บริการขนส่งในพื้นที่ดวงจันทร์ที่นักบินอวกาศใช้งานอยู่ ซึ่งจะรวมถึงการบรรทุกดินบนดวงจันทร์และวัสดุอื่น ๆ ไปยังส่วนต่าง ๆ ของดวงจันทร์

นาซากล่าวว่ามีแผนจะขุด ‘เรโกลิธ’ (Regolith) หรือเศษดินเศษหินที่อยู่บนพื้นผิวชั้นบนของดวงจันทร์ เพื่อหาสารที่สามารถรองรับกิจกรรมของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ได้ เรโกลิธอาจประกอบด้วยน้ำหรือของเหลวของออกซิเจนและไฮโดรเจน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้สามารถใช้เพื่อสนับสนุนนักบินอวกาศและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่บนดวงจันทร์เป็นเวลานานได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top