Saturday, 19 April 2025
รับมือน้ำท่วม

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนนทบุรี แจ้งประชาชนในพื้นที่ให้เฝ้าระวังน้ำท่วม อันเนื่องมาจากปรับเพิ่มปริมาณน้ำ ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนนทบุรี แจ้งประชาชนในพื้นที่ให้เฝ้าระวังน้ำท่วม อันเนื่องมาจากปรับเพิ่มปริมาณน้ำ ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 - 1.00 เมตร ระหว่างวันที่ 26 - 29 กันยายน 2564

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางได้มีโทรสารด่วนที่สุดที่มท (กปภก) 0631 / ว 334 ลงวันที่ 26 กันยายน 2564 ได้รับการประสานจากกรมชลประทานแจ้งว่าช่วงที่ผ่านมามีฝนตกสะสมต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบนและกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 26 - 30 กันยายน 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่างทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคกลาง

ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จังหวัดนครสวรรค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,400 - 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานได้ใช้การบริหารจัดการน้ำรวมทั้งตัดยอดน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทั้งสองฝั่ง แต่ยังคงจำเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ระหว่าง 2,400 - 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สั่งเข้มนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จับตาสถานการณ์น้ำท่วมใกล้ชิด พร้อมทั้งติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการงานร่วมกันหากเกิดกรณีฉุกเฉิน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่รับผิดชอบของตนเองอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศในพื้นที่แบบละเอียด ติดตามข้อมูลปริมาณน้ำที่ปล่อยออกจากเขื่อนบริเวณใกล้เคียงนิคมฯ และติดตามข้อมูลระดับน้ำทะเลหนุนในกรณีที่นิคมฯ อยู่ใกล้ทะเลด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันขอให้เร่งขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำ รวมถึงหากเป็นไปได้ ก็ขอให้ร่วมกับชุมชนในการขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำโดยรอบของนิคมฯ ด้วย

“สำหรับนิคมฯ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีนิคมฯ 3 แห่ง คือ บางปะอิน บ้านหว้า และนครหลวง โดยมีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง มีการขุดลอกคูคลองรอบนิคมฯ สำรวจและเสริมความมั่นคงแข็งแรงของคันดินป้องกันน้ำท่วม เตรียมความพร้อมระบบป้องกันน้ำท่วม เครื่องสูบน้ำระบายน้ำและเครื่องจักรอุปกรณ์ จัดหาเครื่องสูบน้ำสำรอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง กระสอบทราย และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน พร้อมทั้งติดตามข้อมูล ข่าวสาร และพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ”นายวีริศ กล่าว

‘บิ๊กป้อม’ รุดพื้นที่สระบุรี รับมือมวลน้ำตอนเหนือ หวั่น!! กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ กทม.และปริมณฑล

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งคณะทำงาน ได้เดินทางลงพื้นที่ จังหวัดสระบุรี ตรวจสอบความพร้อมกลไกต่าง ๆ และแผนรับมือการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำและอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ไม่ให้กระทบชุมชนท้ายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑลริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก

โดยรับฟังการบรรยายสรุป ถึงสถานการณ์น้ำภาพรวม แผนด้านทรัพยากรน้ำสระบุรี ความก้าวหน้า 13 มาตรการรับมือน้ำฤดูฝน แผนบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสัก และแนวทางระบายน้ำฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งความพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง จากผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี, เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), อธิบดีกรมชลประทาน และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ ศาลากลาง จังหวัดสระบุรี

ทั้งนี้ ‘พล.อ.ประวิตร’ ได้ย้ำสั่งการ สทนช. ร่วมกับ กรมชลประทาน รวมทั้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และฝ่ายปกครองระดับจังหวัด ให้ความสำคัญทำงานร่วมกับ ศูนย์อำนวยการส่วนหน้า สทนช.ที่จัดตั้งขึ้น ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนรับมือฤดูฝน 13 มาตรการ โดยให้ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เนื่องจากมีฝนตกหนักสะสมต่อเนื่องจากมรสุมในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลพื้นที่หลายจังหวัดมีน้ำท่วมขังสูง โดยเฉพาะพื้นที่ริมลำน้ำสายหลักยังคงต้องเฝ้าระวัง และติดตามสภาพอากาศแจ้งเตือนประชาชนให้ทันกับสถานการณ์ รวมทั้งให้การช่วยเหลือประชาชนทันที เน้นการมีส่วนร่วมมากขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top