Saturday, 5 July 2025
รัฐอิสลาม

ทหารสหรัฐฯ บุกจู่โจม ‘ผู้นำไอเอส’ ในซีเรีย ด้านผู้นำจนมุม บึ้มตัวเอง ลากเด็กตายเพียบ

อาบู อิบราฮิม อัล-ฮาชีมี อัล-กูราจี ซึ่งขึ้นเป็นผู้นำของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ‘ไอเอส’ ได้เสียชีวิต หลังจากที่เขาตัดสินใจจุดชนวนระเบิดตัวเองและสมาชิกในครอบครัว ระหว่างทหารสหรัฐฯ เปิดปฏิบัติการจู่โจมในซีเรีย จากการเปิดเผยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในวันพฤหัสบดี (3 ก.พ.) ซึ่งก่อความเสียหายครั้งใหญ่ต่อกลุ่มญิฮาดกลุ่มนี้ที่กำลังพยายามรวมกลุ่มใหม่ในฐานะกองโจร หลังจากสูญเสียดินแดนยึดครองอันกว้างขวางไปเกือบหมดแล้ว

อาบู อิบราฮิม อัล-ฮาชีมี อัล-กูราจี ซึ่งขึ้นเป็นผู้นำของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ‘ไอเอส’ ตั้งแต่การเสียชีวิตของอาบู บักร์ อัล-บักดาดี ในปี 2019 โดย อัล-บักดาดี เองก็เสียชีวิตด้วยการจุดชนวนระเบิดฆ่าตัวตายเช่นกัน ระหว่างปฏิบัติการจู่โจมจากหน่วยคอมมานโดของสหรัฐฯ

ไบเดน และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่าในระหว่างที่กองกำลังของอเมริกาเข้าใกล้ กูราจี ในเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียเมื่อคืนวันพุธ (2 ก.พ.) เขาจุดชนวนระเบิด ซึ่งคร่าชีวิตสมาชิกในครอบครัวของเขาเช่นกัน ในนั้นรวมถึงเด็กหลายคน

แรงระเบิดรุนแรงมากถึงขั้นซัดศพหลายศพปลิวออกจากอาคาร 3 ชั้น ซึ่งเป็นแหล่งหลบซ่อนของ กูราจี และตกลงสู่ถนนที่อยู่โดยรอบ ในเมืองอัตเมห์ จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ พร้อมกล่าวโทษพวกรัฐอิสลามสำหรับชีวิตพลเรือนทุกคนที่ต้องมาสูญเสียไปในเหตุการณ์นี้

"ขอบคุณความกล้าหาญของทหารของเรา ไม่มีอีกแล้วผู้นำก่อการร้ายที่น่าขยะแขยง" ไบเดนกล่าวในทำเนียบขาว

ทั้ง ไบเดน และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไม่ได้ให้ตัวเลขของผู้เสียชีวิต แต่หน่วยกู้ภัยของซีเรียระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 ราย ในนั้นเป็นผู้หญิง 4 คน และเด็ก 6 คน

การเสียชีวิตของกูราจี ถือเป็นความเสียหายอีกครั้งของกลุ่มรัฐอิสลาม เกือบ 3 ปีหลังจากคำประกาศสถาปนาการปกครองแบบกาหลิบของพวกเขาพังครืนลง ในขณะที่นักรบของพวกเขาประสบความปราชัยต่อกองกำลังสหรัฐฯ และอิรัก

นับตั้งแต่นั้นกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ก็หันมาโจมตีก่อความไม่สงบในอิรักและซีเรีย หนล่าสุดเร็วๆ นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว โดยกลุ่มมือปืนบุกจู่โจมเรือนจำแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย ซึ่งใช้เป็นสถานที่คุมขังพวกผู้ต้องสงสัยไอเอส

ไบเดนและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เชื่อว่า กูราจี วัย 45 ปี คือกำลังขับเคลื่อนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยยาซิดี ทางภาคเหนือของอิรักในปี 2014 และบอกว่าเขาเคยดูแลเครือข่ายของรัฐอิสลามสาขาต่างๆ ไล่ตั้งแต่แอฟริกาไปจนถึงอัฟกานิสถาน

"ปฏิบัติการเมื่อคืนที่ผ่านมา สามารถพรากผู้นำก่อการร้ายคนสำคัญออกจากสมรภูมิรบ และส่งสารอย่างแข็งกร้าวถึงพวกก่อการร้ายทั่วโลก เราจะไล่ล่าพวกแกและหาพวกแกพบ" ไบเดน กล่าว 

ทั้งนี้ ปฏิบัติการสังหาร กูราจี ช่วยกอบกู้ชื่อเสียงนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลไบเดนคืนมาได้บางส่วน หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเมื่อปีที่แล้ว สืบเนื่องจากปฏิบัติการอพยพกองกำลังสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง

ชาวบ้านในเมืองอัตเมห์ ใกล้แนวชายแดนซีเรีย-ตุรกี เผยว่า พบเห็นเฮลิคอปเตอร์หลายลำลงจอด และได้ยินเสียงปืนและระเบิดดังระงม ระหว่างปฏิบัติการจู่โจมที่เริ่มต้นขึ้นตอนราวๆ เที่ยงคืน กองกำลังสหรัฐฯ ได้ใช้ลำโพงประกาศเตือนผู้หญิงและเด็กให้ออกนอกพื้นที่

เพนตากอนเผยว่า มีชาวบ้าน 10 คนได้รับการอพยพออกจากพื้นที่จู่โจม ในนั้นรวมถึงเด็ก ขณะที่ พล.อ.แฟรงค์ แม็คเคนซี ผู้บัญชาการกองบัญชาการกลางสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ว่าทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ปลอดภัยและปล่อยไว้ ณ จุดเกิดเหตุ ตอนที่กองกำลังสหรัฐฯ ถอนตัวออกมา

‘รัสเซีย’ เซ็นรับรอง ‘ตาลีบัน’ อย่างเป็นทางการ ชาติแรกของโลกที่ยอมรับรัฐบาลอัฟกันฯ ยุคใหม่

(4 ก.ค. 68) รัฐบาลรัสเซียประกาศรับรอง 'รัฐอิสลามอัฟกานิสถาน' ที่นำโดยกลุ่มตาลีบันอย่างเป็นทางการ กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้การยอมรับ หลังจากนายดมิทรี จิร์นอฟ (Dmitry Zhirnov) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำอัฟกานิสถาน เข้าพบนายอาเมียร์ ข่าน มุตตากี (Amir Khan Muttaqi) รัฐมนตรีต่างประเทศอัฟกานิสถาน ณ กรุงคาบูล เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ทางการอัฟกานิสถานระบุว่านี่คือ “ยุคใหม่ของความสัมพันธ์เชิงบวกและเคารพซึ่งกันและกัน” และเป็นตัวอย่างที่นานาประเทศควรศึกษา โดยรัสเซียแถลงว่าการรับรองครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ พลังงาน การเกษตร และโครงสร้างพื้นฐานระหว่างสองประเทศ พร้อมยืนยันจะร่วมมือกับรัฐบาลคาบูลต่อไปในการต่อต้านการก่อการร้ายและยาเสพติด

รัสเซียเคยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่ปิดสถานทูตในอัฟกานิสถานเมื่อปี 2021 และยังเคยลงนามข้อตกลงเศรษฐกิจฉบับแรกกับรัฐบาลตาลีบันในปี 2022 ซึ่งครอบคลุมการส่งออกน้ำมัน แก๊ส และข้าวสาลี อีกทั้งได้ถอดชื่อกลุ่มตาลีบันออกจากบัญชีกลุ่มก่อการร้ายเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อปูทางสู่ความร่วมมืออย่างเต็มรูปแบบ

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจะพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน แต่รัฐบาลตาลีบันยังคงถูกประณามจากนานาชาติ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิสตรี เช่น ห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย จำกัดการเดินทางโดยไม่มีผู้ชาย และบังคับแต่งกายตามกฎศาสนา จนถูกยูเอ็นระบุว่าเข้าข่าย “การแบ่งแยกทางเพศ”

ปัจจุบัน จีน ยูเออี อุซเบกิสถาน และปากีสถานได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำกรุงคาบูลแล้ว แต่ยังไม่มีประเทศใดนอกจากรัสเซียที่ประกาศรับรองรัฐบาลตาลีบันอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่กลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจในปี 2021


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top