Thursday, 22 May 2025
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ขอนแก่น - "ธรรมนัส" รับแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ของสมาชิกสหกรณ์ฯดงมูล ขอนแก่น ไม่เกินปี 67 ต้องมีโฉนดถูกต้อง 

รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสภาพปัญหาความเดือดร้อน จากการไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ของสมาชิกสหกรณ์นิคมดงมูล อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ไม่เกินปี 67 ต้องมีโฉนดที่ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2567 ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนติดตามสภาพที่แท้จริงของพื้นที่พร้อมมารับทราบปัญหาที่แท้จริงของสมาชิกสหกรณ์นิคมดงมูล และประชาชนทั่วไปที่ประสบภาวะความเดือดร้อนจากการถูกตราหน้าว่า เป็นผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติตลอดมา โดยมีนายไกรสร  กองฉลาด  ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ส่วนราชการและประชาชนชาวอำเภอกระนวนร่วมให้การต้อนรับ และรายงานสรุปข้อมูลของพื้นที่  

นายไกรสร  กองฉลาด  ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า อำเภอกระนวน แบ่งการปกครองเป็น 9 ตำบล 98 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมด 77,869 คน มีพื้นที่อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์ดงมูล จำนวน 159,400 ไร่  ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับหนังสืออนุญาตให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีการจัดตั้งสหกรณ์ในเขตพื้นที่นิคมสหกรณ์ดงมูล จำนวน  4 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์นิคมดงมูลหนึ่ง จำกัด สหกรณ์นิคมดงมูลสอง จำกัด สหกรณ์โคนมกระนวนสามัคคี จำกัด สหกรณ์กองทุนสวนยางขอนแก่น จำกัด  

ด้าน นายสมหมาย  กาพล  ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์นิคมดงมูลหนึ่ง จำกัด รองประธานเครือข่าย 13 นิคม 14 ป่า 17 สหกรณ์ 12 จังหวัด  4 ภาค  กรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ได้รายงานสรุปข้อมูลสภาพปัญหาของพื้นที่ โดยยืนยันว่าการที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ไม่เป็นผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติแต่อย่างใด หากแต่ได้เข้ามาอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยเมื่อวันที่  18  มิถุนายน พ.ศ. 2511  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชการที่ 9  ทรงพระราชทานพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ให้ปวงชนชาวไทยทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางกายภาพของสังคม  

ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า  ปัญหาของพี่น้องชาวอำเภอกระนวน ที่ลงมาติดตามในครั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณ 1.5 แสนกว่าไร่ เป็นพื้นที่อยู่ในนิคมสหกรณ์ดงมูล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เช่าจากกรมป่าไม้ มาเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยจัดสรรให้พี่น้องทำกินและหมดสัญญาเมื่อปี 2562 ปัญหาคือ หลังจากหมดสัญญาจะทำอย่างไร ซึ่งพี่น้องสมาชิกสหกรณ์ดงมูล มีความต้องการที่จะได้มาเพื่อเอกสารสิทธิ ตนในฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จะนำเรื่องนี้ไปเสนอในที่ประชุมในการหาแนวทางระหว่าง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมป่าไม้ และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันอังคารที่จะถึงนี้ เพื่อนำข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และหาแนวทางในการแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ต่อไป 

นอกจากนี้ ในพื้นที่อำเภอกระนวน เป็นพื้นที่ที่สหกรณ์ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ในเรื่องของการรับซื้อยางพารา มีเกษตรกรปลูกยางพาราเกือบ 3 หมื่นไร่ ขณะนี้ยางพารามีราคาดีขึ้น ชาวสวนยางก็มีความสุข ซึ่งจะรักษาเสถียรภาพของยางพาราให้มีการยกระดับด้านราคาให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทย ที่ได้กำกับดูแล

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจับมือประธานคณะกรรมการพืชสวนโลก ( AIPH ) ลุยเดินหน้าจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี 1 พฤศจิกายน 2569

(29 ต.ค. 67) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) เข้าร่วมพิธีปิดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครเฉิงตู Chengdu Expo 2024 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมทั้งหารือกับสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH)

โดยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และพันโทวรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ประชุมหารือร่วมกับ Mr. Leonardo Capitanio ประธานสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ Mr. Tim Briercliffe เลขาธิการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ และคณะกรรมการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ
สาระสำคัญสรุป ดังนี้

สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ได้แนะนำแนวทางการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการเตรียมการจัดงานที่มีอย่างจำกัดเพียง 1 ปี 4 เดือน ประกอบกับได้รับทราบข้อมูลว่าการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ยังไม่มีผู้รับจ้างมาดำเนินงาน ดังนี้

1. เสนอให้มีการปรับแบบผังแม่บท โดยให้ลดความสลับซับซ้อน (Complexity) ของโครงสร้างและอาคาร แต่ยังคงสามารถสื่อสารความเป็นไทยและสอดคล้องกับธีมของงาน ทั้งนี้ ขอให้กรมวิชาการเกษตรหารือแนวทางการปรับปรุงผังแม่บทให้รีบปรับปรุงตามข้อแนะนำดังกล่าว รวมถึงได้แนะนำให้ปรึกษากับ Mr. John Boon ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผังแม่บทมหกรรมพืชสวนโลกของ AIPH เพื่อช่วยให้คำแนะนำแนวทางการปรับปรุงผังแม่บทใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด

2. เสนอให้ปรับลดขนาดของพื้นที่จัดงานลง เนื่องจากการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานีเป็นระดับ B ซึ่งตามข้อกำหนดของ AIPH กำหนดพื้นที่อย่างน้อยประมาณ 150 ไร่ หากประเทศไทยจะลดขนาดพื้นที่จัดงานลงจากเดิมที่กำหนดไว้ประมาณ 1,030 ไร่ ให้เหลือครึ่งหนึ่ง หรือ 400-500 ไร่ ก็สอดคล้องกับคำแนะนำของ AIPH เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ในการตรวจติดตามพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ (Site Inspection) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการจัดงานของประเทศไทยตามข้อจำกัดดังกล่าว ทั้งนี้ ประธาน AIPH เน้นย้ำว่าแนวทางการจัดงานของ AIPH คือ “Less is the best”

3. อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และผู้แทนจังหวัดอุดรธานี ได้เสนอขอให้ขยายระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่ให้แก่ประเทศสมาชิก AIPH เพื่อเข้ามาดำเนินการจัดสวนและก่อสร้างอาคารนานาชาติ ก่อนเปิดงาน 3 เดือน จากเดิมต้องส่งมอบพื้นที่ให้ AIPH ก่อนเปิดงาน 6 เดือน (วันที่ 1 สิงหาคม 2569 แทนวันที่ 1 พฤษภาคม 2569) เพื่อให้มีระยะเวลาในการก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการ AIPH ได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

4. เน้นความสำคัญของการจัดแสดงทางด้านพืชสวน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของพืช/ต้นไม้/ดอกไม้/ไม้ประดับ โดยขอให้เน้นการจัดสวนอย่างมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ รวมทั้ง ขอให้เร่งดำเนินการในการจัดเตรียมพื้นที่และสถานที่สำหรับการพักและอนุบาลต้นไม้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก โดยทาง AIPH ได้เน้นย้ำว่า โครงการ Type B โดยปกติในส่วนของอาคาร จะเป็น Temporary Building เป็นส่วนใหญ่

5. แนะนำให้เชิญชวนภาครัฐ ภาคเอกชน และเมืองอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมการจัดสวนองค์กร สวนเมืองพี่เมืองน้อง สวนจังหวัด เพื่อเพิ่มความหลากหลายและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน กรมวิชาการเกษตร สสปน. และผู้แทนของจังหวัดอุดรธานี จะนำข้อมูลดังกล่าว รายงานต่อคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ และคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯรวมทั้งสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานีต้องเร่งดำเนินการส่งมอบกรรมสิทธิ์ผังแม่บทให้กรมวิชาการเกษตรโดยด่วนที่สุด และเร่งปรับสภาพพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนด ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567เพื่อที่กรมวิชาการเกษตร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เชิญชวนผู้รับจ้างจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ใหม่ต่อไปอีกครั้ง

โดยการปรับปรุงตามคำแนะนำดังกล่าว จะสร้างความมั่นใจให้แก่คณะกรรมการ AIPH ในโอกาสที่มีกำหนดการลงตรวจติดตามพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก (Site Inspection) ทั้งในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2567 และในการประชุม AIPH Spring Meeting ณ จังหวัดเชียงราย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568

โอกาสนี้ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กล่าวขอบคุณประธาน และคณะกรรมการ AIPH สำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ และเตรียมเชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ผู้ประกอบการที่เคยได้รับการเชิญชวน และขอเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหม่มาร่วมรับทราบแนวทางในการปรับผังแม่บทที่ยังคงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานและข้อกำหนดของ AIPH ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป เพื่อให้สามารถ บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี และเพื่อให้เปิดงานได้ตามกำหนดในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top