Friday, 17 May 2024
รัฐบาลเมียนมา

FATF ขึ้นบัญชีดำทางการเงินต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ฤานี่จะเป็นสงครามตัดท่อน้ำเลี้ยงของประเทศตะวันตก

มีข่าวดัง เมื่อคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินสากล หรือ Financial Action Task Force: FATF ออกประกาศขึ้นบัญชีดำทางการเงินต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งประกาศดังกล่าวเหมือนคลื่นลูกใหญ่ที่กระทบกับผู้ประกอบการในเมียนมาอย่างจัง เพราะเกิดการกระทบกับระบบค่าเงินของเมียนมาในทันที 

โดยอัตราแลกเปลี่ยนในวันหลังประกาศของ FATF ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนดิ่งจาก 75 จ๊าดต่อบาท เป็น  93-95 จ๊าดต่อบาท ก่อนที่อัตราแลกเปลี่ยนจะคืนกลับมาอยู่ที่ประมาณ 90 จ๊าดต่อบาทในช่วงค่ำ ซึ่งถือว่าการกระทบครั้งนี้เป็นการกระทบทางการเงินไม่ต่างกับช่วงก่อนที่มีเรื่องดอลลาร์ในเมียนมาขาดตลาดจนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนพุ่งไปเป็น 100 จ๊าดต่อบาทมาแล้ว

แต่ก่อนอื่นรู้กันไหมว่า คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินสากล หรือ Financial Action Task Force: FATF เป็นใคร?

FATF เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาล จัดตั้งขึ้นโดยที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G7 ปัจจุบันมีสมาชิก 39 ราย มีเครือข่ายความร่วมมือ 9 แห่ง ในทุกภูมิภาคของโลก โดยปัจจุบันมีประเทศที่เป็นสมาชิก FATF 37 ประเทศ ได้แก่...

อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เบลเยี่ยม, บราซิล, แคนนาดา, จีน, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีช, ซาอุดีอาระเบีย, ฮ่องกง, ไอซ์แลนด์, อินเดีย, ไอร์แลนด์, อิสราเอล, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ลักแซมเบิร์ก, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, โปรตุเกส, รัสเซีย, สิงคโปร์, แอฟริกาใต้, สเปน, สวีเดน, สวิสเซอร์แลนด์, ตุรเคีย, สหราชอาณาจักรอังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศร่วมสังเกตการณ์ ส่วนไทยเรานั้นเพิ่งได้รับมติ ครม. เห็นชอบให้สมัครเข้าร่วม FATF เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา

ตามรายงานของ FATF ล่าสุดประกาศเมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น เมียนมาเป็นประเทศที่ติดอันดับประเทศที่ FATF เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกและประเทศอื่นๆ ใช้มาตรการตอบโต้ เช่นเดียวกันกับ เกาหลีเหนือ และ อิหร่าน ในขณะที่ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ติดระดับ 3 คือเป็นประเทศที่อยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้าในการปรับปรุงอย่างใกล้ชิดโดย FATF

ในช่วงเวลาใกล้กันก่อนการประกาศของ FATF กองทหาร KNU/KNLA ร่วมกับ PDF ยกพลถล่มค่ายทหารเมียนมาบริเวณก๊อกกาเร็ก ซึ่งส่งผลให้การค้าชายแดนเงียบสงัด ซึ่งถ้าเรามองว่าเหตุการณ์การโจมตีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ FATF ประกาศก็พอจะมองได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาก็มีการทดสอบอาวุธของพวก PDF หลายที่ไม่ว่าจะในรัฐสะกายหรือที่ตรงเชิงเขาของพระธาตุอินทร์แขวนที่ทำให้ผู้แสวงบุญเสียชีวิตไปหลายคน  

แต่ในขณะเดียวกันที่การค้าชายแดนกำลังจะดีขึ้นการรบและการประกาศของ FATF ก็คือตัวที่ทำการค้าชายแดนให้หยุดชะงักไปอย่างทันที จากจุดนี้จึงมองว่าเป็นการวางแผนจากประเทศตะวันตกในการจะทำลายเศรษฐกิจของเมียนมาที่กำลังจะฟื้นตัวหรือไม่

‘ดร.ปณิธาน’ ชี้!! ยังเร็วเกินไปที่ ‘พม่าจะแตกเป็นเสี่ยงๆ-รัฐบาลทหารแพ้หมดรูป’ เตือน ‘ไทย’ ระวังตัวแปรกระทบ ‘ราคาพลังงานไทยพุ่ง-พม่าอพยพข้ามแดน’

ศึก 3 ก๊กใน ‘เมียนมา’ ระอุ ‘สหรัฐฯ’ อนุมัติงบหนุน ‘กลุ่มชาติพันธุ์’ ถล่มรัฐบาลทหาร ขณะที่สภาบริหารฯ ยอมรับถูกกลุ่มชาติพันธุ์ยึดพื้นที่ไปแล้วกว่าครึ่งประเทศ และกำลังบุกเข้าโจมตีเขตเศรษฐกิจ ‘รศ.ดร.ปณิธาน’ ชี้!! ยังไม่ถึงขั้นพม่าแตกเป็นเสี่ยง ด้วยมี 6 ปัจจัยหนุน เกรงสู้รบยืดเยื้อกระทบ ศก.ไทย การค้าชายแดนหดตัว หวั่นระเบิดท่อส่งก๊าซ ทำราคาแก๊ส-ราคาพลังงานในไทยพุ่งสูง อีกทั้งผู้อพยพทะลักเข้าไทย แนะรัฐบาลพลิกวิกฤตเป็นโอกาส คัดแรงงานฝีมือเข้าสู่ระบบ ดึงนักธุรกิจเมียนมาลงทุน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

(8 ธ.ค. 66) การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่า ที่นำโดย ‘พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย’ กับบรรดากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผนึกกำลังกันเข้ายึดเมืองต่างๆ กำลังขยายวงออกไปเรื่อยๆ และดูเหมือนว่ารัฐบาลทหารพม่าจะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ถึงขั้นที่นักวิชาการบางสำนักฟันธงว่า “เมียนมากำลังจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ” และรัฐบาลทหารพม่าใกล้ถึงคราล่มสลาย!!

ส่วนว่า สถานการณ์จะเดินไปถึงจุดนั้นหรือไม่? เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง และไทยควรจะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างไร คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้รู้

‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ ได้วิเคราะห์สถานการณ์การสู้รบในเมียนในขณะนี้มา ว่า ตอนนี้เมียนมาแบ่งออกเป็น 3 ก๊ก ได้แก่

ก๊กแรก คือ ‘ทหารพม่า’ ซึ่งจะปักหลักสร้างฐานที่มั่นยึดเมืองใหญ่ๆ อย่าง เนปิดอว์ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค ไว้ ตอนนี้กำลังระดมกำลังพลเพื่อปกป้องเมืองเศรษฐกิจ ส่วนเมืองเล็กๆ ก็คงจะตัดใจปล่อยไป โดยสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ ‘SAC’ ออกมายอมรับว่า รัฐบาลทหารพม่าเสียพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ไปกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศแล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเพราะผู้คนจะอพยพหนีออกจากพื้นที่อิทธิพลเพื่อหาที่ปลอดภัย ขณะที่การสู้รบจะดุเดือดยิ่งขึ้น

ก๊กที่สอง คือ ‘กองกำลังฝ่ายประชาธิปไตย’ ได้แก่ PDF และ NUG ของ ‘อองซาน ซูจี’ ซึ่งจะรุกคืบเข้าไปในเมืองใหญ่ดังกล่าว กลุ่มนี้มีรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา และมีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก โดยว่ากันว่าเขาได้เงินสนับสนุนจำนวนมาก มีเอ็นจีโอนับร้อยให้การสนับสนุน ช่วยพาคนเหล่าไปยังประเทศที่สามและมีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาพักรักษาตัวในประเทศไทย เช่น ที่เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมาก ซึ่งว่ากันว่ากลุ่มนี้มีการนำโดรนที่ใช้ในการเกษตรมาติดตั้งอาวุธเพื่อใช้บินโจมตีทหารพม่า

ก๊กที่สาม คือ ‘กองกำลังชนกลุ่มน้อย’ ซึ่งบางครั้งก็รวมตัวกับก๊กที่สอง บางครั้งก็รวมตัวกับก๊กทหารพม่า ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์เป็นหลัก โดยมีการเจรจาต่อรองอยู่ 2-3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องการตั้งสหพันธรัฐเมียนมา หรือ ‘Federal State’ ซึ่งชนกลุ่มน้อยต้องการให้รัฐบาลเมียนมาตั้งประเทศในระบบใหม่ ไม่ใช่ระบบรวมศูนย์ ต้องคืนอำนาจให้แก่รัฐต่างๆอยู่กันอย่างอิสระ ดังที่ปรากฏในข้อตกลงปางหลวง ซึ่งถ้าทหารเมียนมาอ่อนกำลังลงข้อตกลงนี้จะมีน้ำหนักขึ้น อย่างเช่น รัฐฉานก็มีความพร้อมมากเพราะเขามีกำลังเยอะ ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย มีจุดผ่านแดนเป็นร้อย และมีการค้าขายกับจีน ซึ่งจีนให้การสนับสนุนรัฐฉานอย่างมาก ที่ผ่านมากองกำลังชนกลุ่มน้อยก็จะจัดกองกำลังร่วมกับ PDF เพื่อจัดการทหารพม่าอยู่เป็นระยะ

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด นักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่า นี่คือ ‘จุดเริ่มต้นของหายนะ’ ของรัฐบาลทหารพม่า เมียนมากำลังจะแตกเป็นเสี่ยงเนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถต้านทานการโจมตีของบรรดากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผนึกกำลังกันเข้ายึดเมืองต่างๆ และทหารพม่าจำนวนไม่น้อยเริ่มแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ด้านประชาชนก็ไม่ให้การสนับสนุนทหาร ขณะที่การสนับสนุนเงินและอาวุธจากต่างประเทศไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกองกำลัง PDF มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณผ่านสภาเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการครั้งนี้

ขณะที่บางฝ่ายมองว่ายังเร็วไปที่จะสรุปผลการสู้รบ เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าอ่อนแอลงก็จริง แต่ก็ยังสามารถรักษาฐานที่มั่นในเมืองใหญ่ไว้ได้ ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าพม่าจะแตกเป็นเสี่ยง รัฐบาลทหารจะแพ้หมดรูป ซึ่งกองกำลังติดอาวุธที่เคยรบกับทหารพม่ามองว่ายากที่จะถึงขั้นนั้น เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1.) ในบรรดา 17-18 กลุ่มติดอาวุธในพม่า ทหารพม่าก็ยังเข้มแข็งที่สุดเนื่องจากมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า ทั้งเครื่องบินรบ รถถัง

2.) รัฐบาลทหารพม่าสามารถเกณฑ์กำลังพลมาสู้รบได้เป็นแสนคน

3.) แม้จะมีทหารที่ยอมแพ้ ใน 7-8 สมรภูมิ เช่น แถวภาคสกาย ภาคพะโค แต่จำนวนดังกล่าวอยู่ที่หลักพัน

4.) รัฐบาลทหารพม่ามีพันธมิตรทางการทหารที่เข้มแข็ง อย่าง จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย ซึ่งพร้อมสนับสนุน โดยมีรายงานจากผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2566 ว่าประเทศเหล่านี้ส่งอาวุธให้รัฐบาลทหารพม่า

5.) ปัจจัยที่สำคัญคือรัฐบาลทหารพม่าไม่รู้จะหนีไปไหน ดังนั้นคงสู้หัวชนฝา

6.) รัฐบาลทหารพม่าและเครือข่าย มีผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจต่างๆ ในเมียนมา จึงต้องปกป้องผลประโยชน์ดังกล่าวอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี สถานการณ์หลังจากนี้ เป็นไปได้ยากที่รัฐบาลทหารพม่าจะสามารถกลับมาควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของประเทศได้เหมือนเดิม

“นี่เป็นโอกาสครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ที่ทำให้ทหารพม่าเพลี่ยงพล้ำได้ขนาดนี้ ถ้าไม่ตีเหล็กตอนกำลังร้อน รัฐบาลทหารพม่าก็อาจจะตั้งหลักได้ ช่วงนี้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จึงบุกโจมตีอย่างหนัก โดยกองกำลัง PDF กองกำลังรัฐฉาน กองกำลังจากรัฐยะไข่ สนธิกำลังกันชั่วคราวเพื่อโจมตีพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลทหารพม่า โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและพันธมิตร มีอาวุธส่งไปจากสิงคโปร์ อินเดีย แต่ทหารพม่ามีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอำนาจทำลายล้างสูง อีกทั้งยังมีจีนและรัสเซียหนุนหลัง การที่จะทำให้รัฐบาลทหารพม่าแพ้ราบคาบจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปที่กลุ่มชาติพันธุ์จะทำก็คือ โจมตีเขตเศรษฐกิจ ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นเยอะๆ หรือให้ทหารพม่าแตกกันเองและเกิดการยึดอำนาจจาก พล.อ.อ มิน อ่อง หล่าย น่าจะเป็นความหวังของกลุ่ม PDF มากกว่า” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทยนั้น รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่าในปีหน้าสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาจะหนักขึ้นเรื่อยๆ และจะกระทบเศรษฐกิจหนักกว่าเดิม เนื่องจากขณะนี้กองกำลังต่อต้านทหารพม่า ร่วมมือกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในหลายพื้นที่โจมตีทหารพม่า โดยกำลังรุกเข้าไปโจมตีพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงถล่มท่อส่งก๊าซและบริเวณที่แรงงานพม่าจะเดินทางเข้าออกไปยังไทย จีน อินเดีย ในส่วนของท่อก๊าซนั้นเชื่อว่า ถ้าหากมีการระเบิดท่อส่งก๊าซในพม่าจะสร้างปัญหาให้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งใช้พลังงานจากก๊าซเกือบ 20% ของปริมาณพลังงานที่ใช้ทั้งหมด จะทำให้ราคาก๊าซและราคาพลังงานของไทยพุ่งสูงขึ้น

ถ้ามีการโจมตีตัดเส้นทางที่แรงงานพม่าจะเดินทางเข้าออกมายังไทย ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในไทย หรือหากการสู้รบขยายวงและเป็นไปอย่างยาวนาน ก็จะมีชาวเมียนมาอพยพเข้ามาในไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีแรงงานพม่าอยู่ในไทยประมาณ 1.5 แสนคน โดยชาวเมียนมาที่อพยพออกนอกประเทศจะมี 4 ช่องทาง คือ หนีไปอินเดีย ซึ่งมีไม่มากเนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียไม่ดี, หนีไปบังกลาเทศเพื่อรออพยพตามข้อตกลงของ UN, หนีไปจีน ซึ่งจีนจะตรึงไว้ให้อยู่กับพวกชานซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยแต่ทำธุรกิจสีเทา และเข้ามาประเทศไทย ซึ่งไทยได้ทำค่ายพักผู้ลี้ภัย 8-9 แห่งไว้รองรับอยู่แล้ว เพื่อดูแลให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าไม่ไหลเข้ามาในเมือง

นอกจากนั้น หากเมียนมามีการสู้รบยาวนานก็จะกระทบต่อการค้าตามแนวชายแดนไทย-พม่า ซึ่งอาจจะทำให้ขนส่งสินค้าลำบาก และเมื่อกำลังซื้อของชาวเมียนมาลดลง ก็จะส่งผลให้ยอดส่งออกสินค้าของไทยตกลงตามไปด้วย

“รัฐบาลไทยต้องไปคุยกับประเทศสมาชิกอาเซียนว่า หากมีชาวเมียนมาอพยพหนีภัยสงครามออกมา แต่ละประเทศจะช่วยรับผู้ลี้ภัยไว้ได้เท่าไหร่ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระอยู่ประเทศเดียว อย่างไรก็ดี นี่อาจจะเป็นโอกาสของไทยที่จะได้แรงงานฝีมือชาวเมียนมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และได้นักธุรกิจเมียนมาเข้ามาลงทุนในไทยมาก ขึ้นซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยได้ไม่น้อย เนื่องจากชาวเมียนมาที่จะอพยพออกจากพื้นที่เศรษฐกิจ ที่ถูกโจมตีนั้นจะเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และเป็นนักธุรกิจที่มีกำลังเงิน โดยปัจจุบันนักธุรกิจที่มาซื้อคอนโดในไทยอันดับต้น ๆ ก็คือชาวเมียนมา” รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ

รศ.ดร.ปณิธาน ระบุว่า ทางออกที่จะสามารถยุติการสู้รบในเมียนมาได้ ก็คือ ‘การตั้งโต๊ะเจรจา’ ที่ผ่านมามีการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์เรื่องยุติการสู้รบ ข้อตกลงปางหลวง และการปกครองแบบสหพันธรัฐ ซึ่งสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง จากทั้งหมด 17 กลุ่ม แต่ยังไม่มีการพูดคุยในข้อตกลง ซึ่งมีรายละเอียดเยอะที่ต้องหารือกันว่าหากเป็นสหพันธรัฐจริงรูปแบบการปกครองจะเป็นแบบไหน อย่างไรก็ดีกลุ่ม PDF ไม่ยอมเจรจา จึงยังหาทางออกไม่ได้ เพราะการที่กลุ่มชาติพันธุ์จะกำจัดกองกำลังทหารให้สิ้นซากนั้น ในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ หรือหากสามารถทำได้ ก็จะเกิดการสู้รบระหว่างกลุ่ม PDF กับกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ อีกเพราะขณะนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ยังไม่มีการเจรจาสงบศึกกันอย่างแท้จริง ยังไม่มีการตกลงกันว่าใครจะปกครองตรงไหน จังหวะที่จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซียจะเข้ามาสนับสนุนรัฐบาลพม่าก็ยังมีอยู่

“สิ่งที่รัฐบาลต้องระวังคือ อย่าให้ไทยถูกดึงเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งกับเมียนมา เนื่องจากอาจมีผู้อพยพชาวเมียนมาที่เข้ามาในไทยนัดหมายซ่องสุมกำลังกัน ซึ่งจะทำให้ไทยถูกมองว่าให้การสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก รัฐบาลจึงต้องควบคุมให้ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งรัฐบาลไทยก็อาจใช้โอกาสนี้ ในการเป็นคนกลางในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในพม่า เพราะหากพม่าสงบก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว

รัฐบาลทหารพม่าไม่หวั่น!! เดินหน้าจัดงานวันกองทัพ ย้ายฤกษ์สวนสนามจาก 'รุ่งอรุณ' เป็น 'อาทิตย์อัสดง'

กองทัพพม่า ยังเดินหน้าจัดงานสวนสนามครั้งใหญ่เพื่อเฉลิมฉลองวันกองทัพ ที่ตรงกับวันที่ 27 มีนาคมของทุกปี ในกรุงเนปิดอว์ ท่ามกลางเสียงนักวิจารณ์ที่ตั้งข้อสงสัยถึงกำลังพลในกองทัพพม่าว่ายังเหลืออยู่เท่าไหร่ หลังถูกกดดันอย่างหนักจากกองกำลังฝ่ายกบฏและถูกมองว่ากองทัพพม่าอยู่ในยุคที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี

โดยในปีนี้ กองทัพพม่ายังคงจัดงานฉลองวันกองทัพตามปกติ และ นายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ นายกรัฐมนตรีพม่า จะยังเข้าร่วมเป็นประธานในพิธี แม้กองทัพพม่ากำลังเผชิญสถานการณ์ที่ย่ำแย่ สูญเสียดินแดนจำนวนมากให้กองทัพชาติพันธุ์ เป็นเหตุให้เกิดกระแสขับไล่นายพล มิน อ่อง หล่าย อย่างกว้างขวางแม้ในแวดวงกลุ่มคนสีเขียวก็ตาม

และการจัดงานสวนสนามในปีนี้ มีความพิเศษกว่าทุกปี ที่มักจัดขึ้นในช่วงเช้า ซึ่งปีนี้ รัฐบาลพม่าจะเปลี่ยนมาจัดพิธีสวนสนามในช่วงเย็น โดยอ้างเหตุปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ทำให้ช่วงเช้าอากาศร้อนเกินไป จึงเลือกมาจัดงานในตอนเย็น ช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ที่จะช่วยให้การแสดงการบินของกองทัพอากาศมีความตระการตามากขึ้นด้วย

ด้านสำนักข่าวอิรวดี สื่อพม่า ชี้ว่า กองทัพพม่าบรรจงเลือกช่วงเริ่มพิธี ในเวลา 17.15 น. หรือ 5 โมง 15 นาที ตามแนวพิธีกรรมไสยเวทย์ ที่เลือกฤกษ์เวลาที่ประกอบด้วยตัวเลข 3 หลัก คือ 5, 5 และ 1 (5.15 PM) ที่รวมกันแล้วได้ 11 ที่จะช่วยหลีกเลี่ยงภยันตราย 11 ประการ ตามความเชื่อดั้งเดิมของพม่า  รวมถึงการเปลี่ยนช่วงเวลาพาเหรดมาเป็นช่วงเย็นเพราะเชื่อว่าดวงอาทิตย์จะไม่ตกใส่กองทัพพม่า 

แต่บรรยากาศในงานพาเหรดที่มีเป้าหมายเพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพในปีนี้ มีความแตกต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มาอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นวันกองทัพครั้งแรกหลังจากที่รัฐบาลพม่า เพลี่ยงพล้ำให้กับกองทัพชาติพันธุ์ติดอาวุธ หลังปฏิบัติการ 1027

โดยกลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ อันประกอบด้วยกองกำลัง โกก้าง, ตะอ่าง และ อารกัน ได้รวมกลุ่มโจมตีกองกำลังพม่าอย่างฉับพลัน ในแผนปฏิบัติการ 1027 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่ทำให้กองทัพพม่าสูญเสียฐานที่มั่นในพื้นที่เขตปกครองชาติพันธุ์ไปเกือบทั้งหมด ต้องถอยมาปักหลักในเมืองศูนย์กลางที่ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และกรุงเนปิดอว์

ความเสียหายหลังถูกโจมตีโดยปฏิบัติการ 1027 ได้สะท้อนความอ่อนแอภายในกองทัพพม่าอย่างที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมานานหลายปี กลายเป็นแรงกดดันพุ่งสู่ นายพล มิน อ่อง หล่าย ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นผู้นำที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของกองทัพพม่า และกระแสเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง  

และความระส่ำระสายนี้ ทำให้รัฐบาลพม่าจำเป็นต้องออกกฎหมาย เรียกระดมพลเพิ่ม โดยอนุญาตให้เรียกผู้ชายอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงอายุ 18-27 ปีเข้าประจำการเป็นเวลา 2 ปี ทำให้คนหนุ่มสาวในพม่าจำนวนมากพยายามหลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งจุดหมายแรกของชาวพม่าที่เข้าเกณฑ์ถูกหมายเรียกคือประเทศไทย ที่มีชาวพม่าแห่ขอวีซ่าที่สถานทูตไทยในย่างกุ้งเป็นจำนวนมาก 

ดังนั้น งานสวนสนามประจำปีในวันกองทัพพม่าในวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของกองทัพพม่าเหมือนอย่างที่แล้วมา แต่เป็นเหมือนการเรียกขวัญ กำลังใจทหารในกองทัพในยามสิ้นหวัง และอาจเป็นโอกาสสุดท้ายของนายพล มิน อ่อง หล่าย ที่ต้องพยายามรักษาแสงอาทิตย์ของเขาไว้ให้ได้ แม้ต้องยืนในยามอาทิตย์ใกล้อัสดงก็ตาม 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top