Sunday, 27 April 2025
รัชกาลที่8

20 กันยายน วันพระราชสมภพ 2 พระมหากษัตริย์ไทย ล้นเกล้า รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 8

วันนี้ นับเป็นอีกวันรำลึกที่สำคัญยิ่ง เพราะวันที่ 20 กันยายน เป็นวันพระราชสมภพของพระเจ้าแผ่นดินถึง 2 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งประสูติเมื่อวันนี้ของ 166 ปีก่อน ตรงกับวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 แรม 3 ค่ำเดอน 10  ปีฉลู

และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ซึ่งพระราชสมภพเมื่อวันนี้ของ 94 ปีก่อน ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลูเหมือนสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช (ปู่) อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี  ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์แรกในพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ในเวลาต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 เสด็จสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453

เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่ของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

สำหรับ พระราชประวัติของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือ ล้นเกล้า ร.8 นั้นพระองค์เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

พระองค์มีพระเชษฐภคินี และพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)

พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา และทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

พระองค์เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488

แต่ก่อนถึงกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

และเนื่องจากด้วยวันที่ 20 กันยายน เป็นวันที่เป็นสิริมงคล เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรีถึงสองพระองค์ด้วยกัน และได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ จึงถือเอาวันนี้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ อีกด้วย

'เพจดัง' ชวนอ่าน!! 'อำนาจ การเมือง เรื่องลือ' ความจริงที่หายไปจากกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8

(4 ก.ค. 67) จากเพจ 'ฤๅ - Lue History' ได้โพสต์ข้อความถึงหนังสือเล่มใหม่ ในชื่อ 'อำนาจ การเมือง เรื่องลือ' - ความจริงที่หายไปจากกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ระบุว่า...

หนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องปริศนาเรื่องเอกของวงการประวัติศาสตร์ไทย ที่ยังเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ...

‘กรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8’

แม้ว่าในท้องตลาดจะมีหนังสือประเภทดังกล่าวอยู่จำนวนพอสมควร ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เริ่มทยอยผลิตออกมาตั้งแต่เหตุการณ์สวรรคตบังเกิดขึ้นใหม่ ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากกระแสเรื่องกรณีสวรรคตยังคงเป็นปริศนาและยังไม่เป็นที่ยุติโดยได้ง่าย ความกระหายใคร่อยากรู้ของประชาชนในประเด็นดังกล่าว จึงยังเป็นสิ่งที่ไม่เคยจางหายแม้นเหตุการณ์วิปโยคนี้จะล่วงเลยมากว่าชั่วอายุคนแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดี หนังสือเหล่านี้จำกัดอยู่เพียงแค่การเล่าถึงรูปคดีและการอธิบายทฤษฎีเบื้องลึก/เบื้องหลัง ตามหลักฐานเดิม ๆ ที่ถูกนำมาตีความใหม่ ๆ โดยผู้เขียนเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยต่างมีธงหรือทฤษฎีในใจในการเขียนชี้นำผู้อ่านให้เลือกเชื่อตามแต่เจตนาของผู้เขียนอยู่แล้ว

แน่นอนว่าจำนวนเกินกว่าครึ่งของหนังสือเหล่านี้หาใช่หนังสือในรูปแบบวิชาการ หากแต่เป็นการเล่าเรื่องแนวซุบซิบ คำแก้ตัว การรวมคำพิพากษาคดีและบทวิเคราะห์ หรืองานเขียนกึ่งสารคดีทางการเมือง อันมีการใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์รวมถึงกรอบทฤษฎีอย่างวิชาการน้อยมาก ทำให้ความก้าวหน้าในเรื่องกรณีสวรรคตไม่ปรากฏ ‘เป็นการพายเรือวนในอ่าง’ แต่เพียงเท่านั้น

ทางคณะผู้เขียนซึ่งเห็นตรงกัน จึงรู้สึกเบื่อหน่ายกับการใช้กรณีสวรรคต ซึ่งเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่จบไปแล้ว มาใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น การเผยแพร่ข่าวลือหรือการกล่าวหาอย่างไร้หลักฐานและไม่เป็นธรรมต่อบุคคลใด ๆ ก็ตามในเรื่องนี้โดยปราศจากข้อมูลที่ถูกต้อง

พฤติการณ์เช่นนี้คือ การกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ชาติ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันการใช้กรณีสวรรคตมาปลุกระดมทางการเมือง เป็นการกระทำการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นแกนกลางของกรณีสวรรคตนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้คณะผู้เขียนเห็นว่าควรต้องยุติได้แล้ว

>> ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงถูกเขียนขึ้นมาด้วยเหตุข้างต้น คณะผู้เขียนตั้งใจจะฉายให้เห็นสภาพแวดล้อมทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงเหตุการณ์และรายงานจากเอกสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคตนับตั้งแต่ พ.ศ.2489-2500 และลงลึกไปถึงระดับจุลภาคว่ามีผู้ใดบ้างที่เกี่ยวข้องหรือเป็นผู้บงการการปล่อยข่าวลือดังกล่าว

โดยหนังสือเล่มนี้ได้เรียกเอาเอกสารชั้นต้นเท่าที่เสาะหาได้ล่าสุดในปัจจุบันมาทำการสอบปากคำอย่างละเอียดในทุก ๆ หน้ากระดาษและตัวอักษร เพื่อเค้นเอา ‘ความจริง’ ในเหตุการณ์ที่จบสิ้นไปนานแล้วออกมาให้มากที่สุด

และแน่นอน คณะผู้เขียนได้พยายามอย่างที่สุดที่จะสกัดเอาการเมืองออกไปจากความจริงแห่งยุคสมัยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

*** คณะผู้เขียนหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป ผู้ที่สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย หรือเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยากทราบความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตที่มีความเบื่อหน่ายกับการใช้ข่าวลือ เรื่องเท็จ หรือความเห็นทางการเมืองมาเขียนปะปนกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้หวังใจว่าจะเป็น ‘ก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่’ ในการจุดประกายสู่การนำไปต่อยอดทางวิชาการหรือวิพากษ์งานชิ้นนี้ต่อไปในอนาคต เพื่อเติมเต็ม ‘ความจริง’ ที่ยังขาดตกบกพร่องในประเด็นนี้ต่อไป

จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี, จิตรากร ตันโห และธงรบ
มิถุนายน 2567, หาดใหญ่ - พระนคร

เราจะอัปเดตความคืบหน้าของหนังสือเล่มนี้ให้ทราบเป็นระยะครับ

ช่วยเป็นกำลังใจ และร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของพวกเราได้ที่...
บัญชี. มูลนิธิสยามรีกอเดอ
ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 0398045898

ขอบคุณครับ

23 ธันวาคม 2484 ‘ปรีดี พนมยงค์’ ปฏิญาณตนต่อสภาฯ รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8

วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นายปรีดี พนมยงค์ ได้ปฏิญาณตนต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ระหว่าง พ.ศ. 2484 ถึง 2488 หลังจากที่เจ้าพระยายมราช ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้ในฐานะหนึ่งในสามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม โดยที่ยังไม่มีผู้ใดได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน  จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กล่าวเสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ว่า  

“เนื่องจากเจ้าพระยายมราช ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ถึงแก่อสัญกรรม สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้แต่งตั้งผู้ใดแทน คณะรัฐมนตรีเห็นว่าการดำเนินงานของรัฐควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ อีกทั้งในขณะนี้ นายพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินก็ชราภาพและสุขภาพไม่สมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมควรแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณวุฒิเพิ่มเติม ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เหมาะสม หากสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ นายปรีดี พนมยงค์ จะต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทันที”  

สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ส่งผลให้นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พร้อมกับลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  

การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของนายปรีดี พนมยงค์ เกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลไทยร่วมมือกับญี่ปุ่นให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทย ซึ่งผู้นำบางส่วนรวมถึงนายปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังร้องขอเงินกู้จากรัฐบาลไทยเพื่อใช้จ่ายสำหรับกองทัพญี่ปุ่น แต่ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายปรีดี พนมยงค์ ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งคุณพระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง และอนุมัติเงินกู้ตามที่ญี่ปุ่นร้องขอ  

ในขณะนั้น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประกอบด้วย พล.ต.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พล.อ.พิชเยนทรโยธิน และนายปรีดี พนมยงค์ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2485 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 และไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเพิ่ม จึงมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว

29 มีนาคม พ.ศ.2493 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

29 มีนาคม พ.ศ. 2493 วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง 
2

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา

และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อวันนี้ของ 73 ปีก่อน หรือตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2493 คือวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพล้นเกล้ารัชกาลที่ 8 

คนไทยผ่านน้ำตาแห่งการสูญเสียอันยิ่งใหญ่มานับหลายครั้งหลายครา เช่นเดียวกับครั้งที่หัวใจปวงชนชาวไทยต้องแหลกสลาย เมื่อรับทราบข่าวร้ายเรื่องการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล แบบปัจจุบันทันด่วน

ไม่มีใครได้เตรียมตัวเตรียมใจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในพระชนมายุเพียง 20 ย่าง 21 พระชันษา ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง

ทั้ง ๆ ที่ทรงตั้งพระทัยเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวร และจะทรงรับการบรมราชาภิเษก หลังจากที่ทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

โดยการสิ้นพระชนม์นั้น เกิดขึ้นก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วันเท่านั้น

ทั้งนี้ หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 วันเดียวกันนั้นเอง รัฐสภาได้ลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้น) ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อไป

จากนั้น ก็ได้มีการอัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง จากนั้นมีกำหนดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง

ระหว่างนั้น ในวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เวลาผ่านไปจนกระทั่งวันที่ 5 มีนาคม 2493 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัตประเทศไทย เพื่อประกอบพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพ, พระราชพิธีอภิเษกสมรส, และบรมราชาภิเษก (จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง)

โดยเฉพาะวันพระถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้นตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2493 น้ำตาของคนไทยได้ท่วมแผ่นดิน!

เมื่อทุกอย่างผ่านไปเรียบร้อยสมบูรณ์ วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานที่บุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก และจัดให้มีการพระราชกุศลพระบรมอัฐิขึ้น

หลังจากนั้น ได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานทองกลาง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

กระทั่งวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม 

สำหรับ พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร หรือ ล้นเกล้า ร.8 นั้น มีดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงประสูติกาลเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)

พระองค์มีพระเชษฐภคินี และพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)

พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา และทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

พระองค์เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488

แต่ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้..


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top