Tuesday, 29 April 2025
ระเบิดปรมาณู

6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมือง ฮิโรชิมะ ส่งผลญี่ปุ่นยอมแพ้ นำไปสู่การยุติสงครามโลกครั้งที่สอง

ในช่วงเช้าของวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เครื่องบิน B-29 ของสหรัฐ อเมริกา ได้ปล่อยระเบิดปรมาณู อาวุธที่คิดค้นขึ้นใหม่ใส่พื้นที่ของเมืองฮิโรชิมะ ของญี่ปุ่น ทำลายเมืองจนราบเป็นหน้ากลอง คร่าชีวิตผู้คนนับแสนคนในพริบตา ก่อนที่ญี่ปุ่นจะประกาศยอมยุติสงครามในเวลาต่อมา

การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ เป็นการโจมตีจักรวรรดิญี่ปุ่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ อเมริกา ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง โดยคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แฮร์รี เอส. ทรูแมน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม และวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังจากการโจมตีทิ้งระเบิดเพลิงตามเมืองต่าง ๆ 67 เมืองของญี่ปุ่นอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาติดต่อกันถึง 6 เดือน สหรัฐอเมริกาจึงได้ทิ้งระเบิดปรมาณู หรือที่เรียกในปัจจุบันว่าระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งมีชื่อเล่นเรียกว่า ลิตเติลบอย ใส่เมืองฮิโรชิมะในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ตามด้วย ‘แฟตแมน’ ระเบิดปรมาณูลูกที่สองใส่เมืองนางาซากิ นับเป็นระเบิดนิวเคลียร์เพียง 2 ลูกเท่านั้นที่นำมาใช้ในประวัติศาสตร์การทำสงคราม

เรื่องเหลือเชื่อ ‘Tsutomu Yamaguchi’ ผู้รอดชีวิตถึง ๒ ครั้งจากระเบิดปรมาณู เมื่อครั้งสหรัฐฯ ถล่มญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2

Tsutomu Yamaguchi ชายผู้รอดจากระเบิดปรมาณูถึงสองครั้งสองครา

โลกใบนี้มีการใช้ระเบิดปรมาณูในการทำสงครามเพียงสองครั้งคือ ช่วงตอนปลายของสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1945 โดยกองทัพสัมพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ประเทศญี่ปุ่นถึงสองลูก ได้แก่ Little Boy และ Fat Man

เหตุการณ์ในนั้นครั้งถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ไปจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนไม่น้อย แต่ในเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้ ยังมีเรื่องราวปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้เช่นกัน

ลูกระบิดปรมาณู Little Boy น้ำหนัก 4.4 ตัน
 
‘Tsutomu Yamaguchi’ เป็นมนุษย์ที่อยู่ในรัศมีของระเบิดปรมาณูแล้วรอดชีวิตจากการระเบิดของระเบิดปรมาณูครั้งแรก (ลูกระบิดปรมาณูลูกดังกล่าวชื่อว่า Little Boy ถูกทิ้งจากเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 ที่ชื่อว่า Enola Gay ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว ๙๐,๐๐๐-๑๔๖,๐๐๐ คน) ที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 

แม้ว่าตัว Yamaguchi จะถูกแรงอัดของระเบิดจนหมุนคว้างกลางอากาศราวกับถูกพายุทอร์นาโดพัดจนตกลงไปในคูน้ำ แต่หลังจากรับการรักษาและพักฟื้นอย่างรวดเร็ว เขาก็ตัดสินใจกระโดดขึ้นรถไฟกลับไปยังเมืองนางาซากิ และมาถึงในเวลาที่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สอง (Fat Man ถูกทิ้งจากเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 ที่ชื่อว่า Bockscar ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกราว ๓๙,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ คน) พอดี แต่เขาก็รอดชีวิตมาได้อีกครั้งหนึ่ง


ลูกระบิดปรมาณู Fat Man น้ำหนัก 4.67 ตัน

Tsutomu Yamaguchi (山口彊, Yamaguchi Tsutomu) (16 มีนาคม ค.ศ. 1916 - 4 มกราคม ค.ศ. 2010) เป็นวิศวกรชาวญี่ปุ่นและเป็นผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูสองครั้งทั้งที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง 

แม้ว่าจะมีประชาชนอย่างน้อย ๗๐ คนที่ได้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดทั้งสองครั้ง แต่เขาเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลญี่ปุ่นว่า เป็นผู้ที่รอดชีวิตจากการระเบิดของระเบิดปรมาณูทั้งสองครั้ง


 
Yamaguchi เกิดและอาศัยอยู่ที่เมืองนางาซากิ เข้าร่วมงานกับ Mitsubishi Heavy Industries ในช่วงทศวรรษที่ 1930 และทำงานเป็นช่างเขียนแบบซึ่งออกแบบเรือบรรทุกน้ำมัน 

ระหว่างสงครามเขาก็ยังอาศัยอยู่ในเมืองนางาซากิ แต่ได้เดินทางไปยังเมืองฮิโรชิมาเพื่อทำธุรกิจให้กับบริษัท Mitsubishi Heavy Industries ซึ่งเป็นนายจ้างของเขา เมื่อเมืองฮิโรชิมาถูกทิ้งระเบิดเมื่อเวลา 8.15 น. ของวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เขาได้รับบาดเจ็บ แต่ตัดสินใจเดินกลับมาที่เมืองนางาซากิในวันรุ่งขึ้น และแม้ว่าจะมีบาดแผลเต็มตัว แต่เขาก็กลับไปทำงานในวันที่ 9 สิงหาคม วันที่มีการทิ้งระเบิดปรมาณูเป็นครั้งที่สอง 

เช้าวันนั้น ขณะที่เจ้านายของเขาบอกว่าเขา "บ้า" หลังจากที่เขาบรรยายว่า ระเบิดปรมาณูลูกหนึ่งสามารถทำลายเมืองได้อย่างไร ระเบิดปรมาณูที่ทิ้งยังเมืองนางาซากิก็จุดชนวน ในปี ค.ศ. 1957 เขาได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘Hibakusha’ (ผู้ได้รับผลกระทบจากระเบิดปรมาณู) ของเหตุระเบิดที่เมืองนางาซากิ 

แต่จนกระทั่งวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2009 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้รับรองอย่างเป็นทางการว่า เขาอยู่ในเมืองฮิโรชิมาเมื่อสามวันก่อนการระเบิดที่เมืองนางาซากิด้วย เขาจึงเป็นบุคคลที่รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูทั้งสองครั้งสองครา เขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 2010 ขณะอายุได้ ๙๓ ปี


 Yamaguchi กล่าวว่า เขา "ไม่เคยคิดว่า ญี่ปุ่นควรจะเริ่มสงคราม"

กลุ่มควันรูปดอกเห็ดจากการระเบิดของระเบิดปรมาณูสูงกว่า 20,000 ฟิต ซ้ายเมืองฮิโรชิมา ขวาเมืองนางาซากิ

ระว่างสงครามโลกครั้งที่สอง Yamaguchi อาศัยและทำงานในเมืองนางาซากิ แต่ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1945 เขาต้องเดินทางไปทำงานที่เมืองฮิโรชิมาเป็นเวลาสามเดือน ในวันที่ 6 สิงหาคม เขาเตรียมจะออกจากเมืองพร้อมกับเพื่อนร่วมงานสองคน Akira Iwanaga และ Kuniyoshi Sato และกำลังเดินทางไปสถานีรถไฟเมื่อเขานึกขึ้นได้ว่าลืม Hanko (ตราประทับประจำตัวแบบที่ใช้กันทั่วไปในญี่ปุ่น) จึงเดินทางกลับไปยังที่ทำงานของเขาเพื่อนำติดตัว ในเวลา 8.15 น. ขณะเขากำลังเดินไปที่ท่าเทียบเรือ เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B-29 ของอเมริกา Enola Gay ได้ทิ้งระเบิดปรมาณู Little Boy ลงใกล้กับใจกลางเมือง ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร 

Yamaguchi จำได้ว่าเห็นเครื่องบินทิ้งระเบิดและปล่อยร่มชูชีพขนาดเล็ก ๒ ร่ม ก่อนที่จะมีแสงวาบขนาดใหญ่บนท้องฟ้า และตัวเขาก็ถูกพัดปลิวไป

การระเบิดทำให้แก้วหูของเขาแตก ทำให้เขาตาบอดชั่วคราว และทิ้งรังสีที่รุนแรงไว้บนด้านซ้ายของลำตัวครึ่งบน หลังจากกลับมาได้สติเขารีบคลานไปที่ที่กำบัง และหลังจากพักผ่อนแล้ว เขาก็ออกเดินตามหาเพื่อนร่วมงานของเขา โชคดีที่พวกเขารอดชีวิตมาได้และอยู่ด้วยกันทั้งคืนในที่หลบภัยทางอากาศก่อนที่จะเดินทางกลับเมืองนางาซากิในวันรุ่งขึ้น

นาฬิกาข้อมือจากเหตุ ‘บอมบ์ฮิโรชิมา’ ถูกเคาะที่ 1.1 ลบ. ด้านสื่อญี่ปุ่น ติง!! ไม่ควรนำสิ่งมีคุณค่าเช่นนี้มาหากำไร

(27 ก.พ. 67) นาฬิกาข้อมือที่รอดจากอานุภาพทำลายล้างของระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ปี 1945 ถูกขายไปด้วยราคาสูงกว่า 31,000 ดอลลาร์ในการประมูลที่สหรัฐอเมริกา

เข็มของนาฬิกาข้อมือทองเหลืองเรือนนี้หยุดอยู่ที่เวลา 8.15 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 Enola Gay ของสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณู ‘Little Boy’ ลงสู่เมืองฮิโรชิมา

นาฬิกาเรือนนี้ถูกประมูลซื้อไปในราคา 31,113 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.1 ล้านบาท เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (22 ก.พ.) โดยผู้ที่ชนะการประมูลไม่ขอเปิดเผยตัวตน

ทั้งนี้ สถาบัน RR Auction ที่เมืองบอสตันซึ่งเป็นผู้จัดการประมูล ระบุว่า ผู้ที่ฝากขาย (consignor) นาฬิกาเรือนนี้อ้างว่ามันถูกพบโดยทหารอังกฤษที่เข้าไปตรวจสอบซากความเสียหายในเมืองฮิโรชิมา ก่อนจะถูกขายต่อให้ผู้ฝากขายผ่านเวทีประมูลสินค้าในอังกฤษเมื่อปี 2015

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นาฬิกาโบราณซึ่งมีคุณค่าสมควรถูกเก็บในพิพิธภัณฑ์เรือนนี้จะเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่เพียงแต่เตือนผู้คนให้ตระหนักถึงความสูญเสียจากสงครามเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในการทำลายล้างที่มนุษยชาติจะต้องพยายามหลีกเลี่ยง” บ็อบบี ลิฟวิงสตัน รองประธานบริหาร RR Auction ให้สัมภาษณ์กับเอพี 

“เข็มนาฬิกาเรือนนี้บอกเวลาที่ประวัติศาสตร์ถูกเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล” เขาเอ่ยเสริม

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการนำนาฬิกาเรือนนี้ออกประมูลขาย

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า องค์กร International Campaign to Abolish Nuclear Weapons ได้ออกมาคัดค้านการประมูลนาฬิกาเรือนนี้ โดยให้เหตุผลว่าการนำสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สูงเช่นนี้มาประมูลเพื่อหากำไรเป็นเรื่องที่ไม่สมควร

16 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ‘สหรัฐฯ’ ทำการทดสอบ ‘ระเบิดปรมาณู’ ลูกแรกของโลก ภายใต้รหัส Trinity ส่วนหนึ่งของโครงการแมนฮัตตัน

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 การทดสอบทรินิตี ‘ระเบิดปรมาณู’ ลูกแรกของโลก เกิดขึ้นกลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ส่วนหนึ่งของโครงการลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ‘โครงการแมนฮัตตัน’ ก่อนใช้งานจริงและนำไปสู่การยอมแพ้สงครามของญี่ปุ่น สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้ กว่าการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อย่าง ‘ระเบิดปรมาณู’ (Atomic bomb) ของ ‘โครงการแมนฮัตตัน’ จะประสบความสำเร็จ ประสิทธิภาพของมันถูกตั้งข้อสงสัยมาตลอด เพราะโลกไม่เคยเห็นระเบิดปรมาณูมาก่อน การประเมินพลังงานที่จะถูกปลดปล่อยออกมาก็เป็นเพียงการคาดการณ์และคาดเดา แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ใน ‘ลอส อลามอส’ ที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการโครงการแมนฮัตตันเองยังอดแคลงใจไม่ได้ว่า โครงการจะสำเร็จหรือเปล่า 

กระทั่งศูนย์ปฏิบัติการรวมแร่ยูเรเนียม ซึ่งถือเป็นวัตถุประเภทจุดระเบิด (Gun-type) ในปริมาณที่เพียงพอ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 มีการส่งระเบิดยูเรเนียมส่วนใหญ่ไปยังชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อใช้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น โดยที่การทดสอบมันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ด้วยซ้ำ

การทดสอบด้วยระเบิดปรมาณูจากแร่พลูโตเนียมของโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งมีกำหนดการในวันที่ 16 กรกฎาคม จึงเป็นตัวแทนการพิสูจน์ประสิทธิภาพของอาวุธนี้ และเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ให้มากที่สุด ก่อนใช้จริงในอีกฟากของมหาสมุทรแปซิฟิก

โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (Robert Oppenheimer) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการของโครงการ ตั้งชื่อการทดสอบนี้ว่า การทดสอบทรินิตี (The Trinity Test) โดย ‘Trinity’ หรือตรีเอกานุภาพ ออปเพรไฮเมอร์ได้แรงบันดาลใจจากบทกวีของ ‘จอห์น ดอนน์’ (John Donne) กวีชาวอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 17 นักเขียนคนโปรดของเขา

ริชาร์ด โรดส์ (Richard Rhodes) ผู้เขียนหนังสือ The Making of the Atomic Bomb วิเคราะห์ว่า “สำหรับ บอร์ (‘นีลส์ บอร์’ นักฟิสิกส์อีกคน) กับออปเพนไฮเมอร์ ระเบิดปรมาณูคืออาวุธมรณะที่อาจยุติสงครามและไถ่บาปให้มนุษยชาติด้วย”

ทั้งนี้ สถานที่สำหรับการทดสอบทรินิตีอยู่กลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก ห่างจากลอสอาลามอส ไปทางใต้ 210 ไมล์ พื้นที่ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘ฆอร์นาดา เดล มูเอร์โต’ (Jornada del Muerto) หรือการเดินทางแห่งความตาย

>> ระเบิดปรมาณู ‘ลูกแรก’

การจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ก่อนจะแล้วเสร็จต้นเดือนกรกฎาคม โดยมีบังเกอร์สังเกตการณ์ 3 แห่ง ตั้งอยู่ห่างออกไป 5.6 ไมล์ จากหอระเบิด ทางทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือการควบคุมกัมมันตภาพรังสีที่จะปลดปล่อยออกมาระหว่างการระเบิด กองทัพสหรัฐฯ จึงเตรียมพร้อมที่จะอพยพประชาชนในพื้นที่โดยรอบทันที หากเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดบานปลาย

12-13 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 มีการขนส่งแกนพลูโตเนียมและชิ้นส่วนประกอบระเบิดไปยังพื้นที่ทดสอบด้วยรถของกองทัพสหรัฐฯ และวันที่ 15 กรกฎาคม ก็ประกอบอุปกรณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน และยกขึ้นสู่จุดระเบิดซึ่งสูงเหนือพื้น 100 ฟุต

ทั้งหมดพร้อมแล้วสำหรับการทดสอบในเช้ามืดวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 วันแห่งการอุบัติของระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก

ปรากฏว่ามีฝนตกหนักตลอดคืนวันที่ 15 กรกฎาคม ออปเพนไฮเมอร์กับทีมของเขาอยู่ที่บังเกอร์ควบคุม S-10,000 ขบคิดกันว่าจะทำอย่างไรหากฝนไม่หยุดก่อนการทดสอบตามกำหนดในเวลา 04.00 น. ของเช้ามืดวันที่ 16 กรกฎาคม

เพื่อคลายความตึงเครียด หนึ่งในพวกเขายิงคำถามที่หลายคนสงสัย คือระเบิดนิวเคลียร์จะจุดชนวนในบรรยากาศหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ปฏิกิริยาลูกโซ่อาจทำลายรัฐนิวเม็กซิโก หรือลามออกไปทำลายล้างโลกได้เลย

แต่ออปเพนไฮเมอร์วางเงินสิบดอลลาร์กับค่าจ้างทั้งเดือนของ จอร์จ คิสเตียโควสกี (George Kistiakowsky) อาจารย์เคมีแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หนึ่งในเจ้าหน้าที่โครงการ เขาเดิมพันว่า ระเบิดจะไม่ทำงานเลยด้วยซ้ำ

เวลา 03.30 น. มีการเลื่อนกำหนดออกไปเป็น 05.30 น. ในที่สุดฝนก็หยุดตกช่วงเวลาประมาณ 04.00 น. คิสเตียโควสกีกับทีมงานไปจัดการติดตั้งอุปกรณ์หลังตี 5 แล้วกลับไปยัง S-10,000 ก่อนเริ่มการนับถอยหลัง ตอนนั้นเองผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่พากันหันหลังให้หอระเบิด เพื่อเลี่ยงแสงสว่างที่อาจทำลายดวงตาของพวกเขา

เจมส์ โคแนนท์ (James Conant) นักเคมีในโครงการบอกว่า เขาไม่เคยรู้สึกว่าแต่ละวินาทีจะยาวนานได้ขนาดนี้มาก่อน โดยเฉพาะเมื่อนับถอยหลังถึง 10 วินาทีสุดท้าย

เลสลี่ โกรฟส์ (Leslie Groves) นายทหารผู้กำกับโครงการแมนฮัตตัน และอยู่กับออปเพนไฮเมอร์ในการทดสอบครั้งนั้น เขียนในบันทึกของเขาว่า “ในวินาทีสุดท้าย ผมได้แต่คิดว่าจะทำอย่างไรถ้านับถอยหลังถึงศูนย์และไม่มีอะไรเกิดขึ้น…”

เวลา 05.30 น. ของวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ยุคสมัยแห่งนิวเคลียร์เริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางสักขีพยานเป็นเจ้าหน้าที่โครงการแมนฮัตตัน ที่เฝ้าสังเกตการณ์อย่างจดจ่อและกังวลใจ ระเบิดปรมาณูลูกแรกระเบิดเหนือทะเลทรายในนิวเม็กซิโก หอระเบิดระเหยกลายเป็นไอ เปลี่ยนยางมะตอยรอบฐานเป็นทรายสีเขียว ไม่กี่วินาทีหลังจากการระเบิด บังเกิดคลื่นความร้อนขนาดใหญ่แผดเผาไปทั่วทะเลทรายบริเวณนั้น

ไม่มีใครมองรังสีที่เกิดแผ่ออกมาระหว่างจากการระเบิดได้ แต่พวกเขาทุกคนรู้ว่ามันอยู่ที่นั่น ภาชนะเหล็กไซส์ใหญ่ยักษ์น้ำหนักกว่า 200 ตัน ถูกขนไปกลางทะเลทราย เพื่อการทดสอบที่จะทำให้มันหายวับไปในเสี้ยววินาที ลูกไฟสีส้มเหลืองแผ่เหยียดยาวออกไป มวลที่สองซึ่งแคบพวยพุ่งขึ้นไปเป็นรูปดอกเห็ด นี่คือสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจและการทำลายล้างอันน่าพิศวงที่สุดในความรับรู้ของมนุษยชาตินับแต่นั้น

สำหรับสมาชิกโครงการแมนฮัตตัน ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังการระเบิดมีทั้งความประหลาดใจ ความยินดี และความโล่งใจ เออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์ (Ernest Lawrence) ซึ่งต่อมาจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เล่าถึงสิ่งที่เขาจำในเหตุการณ์ว่า “จากความมืดมิดสู่แสงสว่างเจิดจ้าในชั่วพริบตา” แสงนั่นทำให้บางคนตาบอดสนิทเป็นเวลาเกือบครึ่งนาทีด้วย

แรงระเบิดทำให้คิสเตียโควสกีที่อยู่ห่างออกไป 5 ไมล์ ล้มฟุบลงกับพื้น เขารีบลุกขึ้นยืนเพื่อตบหลังออปเพนไฮเมอร์แล้วพูดว่า “ออปพี นายเป็นหนี้ฉันสิบเหรียญนะ” ขณะที่เลสลี่ โกรฟส์ ปรี่เข้ามาหาออปเพนไฮเมอร์แล้วบอกว่า “ฉันภูมิใจในตัวนาย” พวกเขาเห็นตรงกันว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 จบแล้ว

แต่ไม่นานหลังการเปิดตัวอาวุธมหาประลัยนั้น โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ระลึกได้ว่าเขาได้สร้างความสยดสยองแก่มวลมนุษย์แล้ว บันทึกของเขาเล่าว่า ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เขานึกถึงตำนานของโพรมิธีอุส ผู้ถูกซุสลงทัณฑ์โทษฐานที่มอบไฟแก่มนุษย์

และทันทีที่ทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูก ลงไปที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ นักวิทยาศาสตร์ใน โครงการแมนฮัตตัน ต่างถูกสะกดด้วยพลังทำลายล้างอันน่าสะพรึงกลัว และการใช้ประโยชน์จากอาวุธเหล่านี้หลังจากนั้นได้ตามหลอกหลอนพวกเขาไปอีกนาน ซึ่งอาจหมายถึงตลอดชีวิต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top