Friday, 17 May 2024
ระบบราง

ขนส่งทางราง เร่งสำรวจสถานีรถไฟภาคอีสาน ยกระดับมาตรฐาน 8 ด้าน สู่การเป็น ‘สถานีดีพร้อม’

กรมการขนส่งทางราง เดินหน้าตรวจประเมินสถานีรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ยกระดับสู่การเป็น ‘สถานีดีพร้อม’

เมื่อวันที่ (17 มิ.ย. 65) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ลงพื้นที่ตรวจประเมินความพร้อมของสถานีที่ให้บริการขนส่งทางรางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วย สถานีนครราชสีมาหรือที่ชาวโคราชเรียกกันว่า ‘หัวรถไฟ’ ประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานีบุรีรัมย์ และสถานีศรีสะเกษ ซึ่งสถานีเหล่านี้เป็นสถานีที่เข้าร่วมเข้ากิจกรรม ‘สถานีดีพร้อม’ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการให้มีประสิทธิภาพมุ่งสู่มาตรฐานสากล ซึ่งจะมีการประเมินความพร้อมของสถานีตามมาตรฐานสากล 8 ด้าน ประกอบไปด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการเชื่อมต่อ ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์ ด้านความปลอดภัย ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design ด้านการให้บริการ และด้านสุนทรียภาพ 

จากการลงสำรวจสถานีนครราชสีมา สถานีแห่งนี้มีจุดเด่นตรงความสวยงามและมีกลิ่นไอของอาคารสมัยเก่า และได้มีการนำไม้หมอนมาประยุกต์ใช้ตกแต่งภายในสถานีทำให้ตัวสถานีดูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้สถานีนี้ได้ให้ความสำคัญด้านการให้บริการของเจ้าหน้าที่และพนักงาน โดยจะมีการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงานในทุกวัน ส่งผลให้การให้บริการโดดเด่น รวดเร็วและฉับไว รองรับผู้โดยสารในทุกกลุ่มและทุกประเภท ซึ่งสอดคล้องตามหลักเกณฑ์ด้านการให้บริการและด้านสุนทรียภาพ ที่นับว่าเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนและพัฒนาสถานีและองค์กรให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบันสถานีกำลังถูกยกระดับเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่งของประเทศเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคายให้มีความทันสมัยและคล่องตัวมากขึ้นด้วย

ภายหลังจากการลงพื้นที่สถานีนครราชสีมาแล้วนั้น ถัดมา ขร. ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานีบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสถานีที่มีความสำคัญต่อการขยายตัวและเศรษฐกิจของชุมชนตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 จวบจนปัจจุบัน เนื่องจากในอดีตพื้นที่บุรีรัมย์มีความทุรกันดารและเป็นเมืองเล็ก เมื่อการมาถึงของทางรถไฟทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในเรื่องเศรษฐกิจของชุมชน โดยชาวบุรีรัมย์สามารถนำพืชผลทางการเกษตรขึ้นรถไฟมาค้าขายในตัวเมืองและบริเวณด้านหลังสถานี และปัจจุบันการค้าขายบริเวณสถานีของชาวบุรีรัมย์ยังคงเป็นจุดเด่นดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการรถไฟ อาทิ ตลาดรีบวายที่ชาวบุรีรัมย์จะมาจับจ่ายซื้อผัก ผลไม้และของดีที่ถูกหาบเร่ขึ้นขบวนรถไฟท้องถิ่นมาขายในช่วงเช้าบริเวณด้านหน้าสถานี ประมาณ 10 นาที ก่อนจะนำสินค้าไปขายยังที่อื่นต่อไป นับว่าเป็นจุดเด่นของสถานีที่ให้ความสำคัญในด้านโครงสร้างพื้นฐานของตัวสถานีที่ช่วยส่งเสริมการค้าขายและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ชนบท

‘ศักดิ์สยาม’ ตั้งเป้า 3 ปี ไทยเป็นฮับในอาเซียน ถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบราง

เมื่อไม่นานมานี้ (15 ธ.ค. 65) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ‘ผนึกกำลังพันธมิตรพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค’ ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ไม่มีกำหนดกรอบระยะเวลา เป็นการต่อยอดความร่วมมือการผนึกกำลังพัฒนาศักยภาพบุคลากร เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างสถาบันวิจัยฯ และกลุ่มอุตสาหกรรมระบบรางจากประเทศฝรั่งเศส 5 บริษัท โดยเป็นบริษัทที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรมเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ 

1. การสร้างสถาบันพัฒนาบุคลากรระบบราง ที่เป็นกลไกการพัฒนาบุคลากรระบบราง ทั้งระดับช่างเทคนิคทักษะสูง และระดับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ โดยร่วมกับสถาบันและหน่วยงานเครือข่าย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง

2. การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนฝรั่งเศส และภาคเอกชนไทย เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคม โดยไม่เพียงแค่ผลิตได้ แต่คาดหวังให้เกิดผู้ประกอบการไทยที่มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

และ 3. การวิจัยและพัฒนาร่วมกัน และถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบรางชั้นแนวหน้าระหว่างกลุ่มธุรกิจระบบรางชั้นนำของฝรั่งเศส และเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริม และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การถ่ายทอด และการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภูมิภาคอาเซียนภายใน 2-3 ปีหลังจากนี้

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ดังนั้นเวลานี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องรับความรู้ และเทคโนโลยีจากหลากหลายประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งนอกจากจะนำความรู้เพื่อมาใช้ผลิตบุคลากรในการเตรียมรองรับทางคู่ 4,000 กิโลเมตร (กม.) ทั่วประเทศ และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทยแล้ว ยังสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับประเทศอื่น ๆ เพื่อร่วมพัฒนาระบบขนส่งทางรางในระดับอาเซียนด้วย

ส่องแผนลงทุน ระบบรางไทย อีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่า 1.8 ล้านล้าน

สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เปิดแผนลงทุนระบบรางของไทย ช่วง 10 ปีข้างหน้า คาดจะลงทุนอีกอย่างน้อย 1.8 ล้านล้านบาท เพิ่มเส้นทางรถไฟทั่วประเทศอีก 4,746 กม. 

‘รถไฟสายใต้’ กรุงเทพ-ชุมพร ลดเวลาได้กว่า 2 ชม. พร้อมขยายการให้บริการอีก 4 เท่าตัว เริ่ม 15 ธ.ค. นี้

(17 พ.ย. 66) เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับรถไฟสายใต้ ระบุว่า…

รถไฟสายใต้เริ่มให้ผล กรุงเทพ-ชุมพร ลดเวลาได้กว่า 2 ชม.

พร้อมขยายศักยภาพการให้บริการ กว่า 4 เท่าตัว เริ่มต้น 15 ธันวาคม 2566 นี้!!!

ออกแบบ รองรับความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ในอนาคตสามารถเร็วได้มากกว่านี้อีก!!! ถ้ามีดีเซลราง ชุดใหม่….

วันนี้เอาข่าวการเปลี่ยนแปลงตารางการเดินรถไฟสายใต้ ทั้ง!!! จากการเปิดใช้ทางคู่สายใต้ ช่วง นครปฐม-ชุมพร

โดยจะสามารถ ลดระยะเวลารอหลีกได้ ทำให้การให้บริการเป็นไปได้แบบรวดเร็ว และต่อเนื่องได้อย่างเต็มที่ ตลอดเส้นทางสายใต้ ไปจนถึงชุมพร 

ซึ่งการเปิดให้บริการในช่วงนี้ จะสามารถลดระยะการเดินทางได้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง (ขึ้นกับ จำนวนสถานีทีศักดิ์จอด และ ศักดิ์ของรถ) โดยรถไฟที่เห็นได้ชัดเจนที่ี่สุดคือ รถไฟด่วนพิเศษดีเซลราง 
ซึ่งช่วงกรุงเทพ-ชุมพร สามารถลดเวลา จาก 8:16 ชั่วโมง เหลือเพียง 6:20 ชั่วโมง เท่านั้น!!! ไม่ต่างกับการเดินทางด้วยรถยนต์ 

แต่!!! ทางคู่ที่เรากำลังสร้างกันทั่วประเทศ ไม่ได้มีแค่การลดเวลารอทางหลีก 

แต่มันรองรับการเพิ่มความเร็วการให้บริการ ในอนาคตสูงสุดถึง 160 กิโลเมตร / ชั่วโมง พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการของทางรถไฟ จากเดิม ขึ้นอีก 4 เท่า!!! คู่ขนานกับการเพิ่มความปลอดภัย ด้วยจากการยกระดับระบบอาณัติสัญญาณ เป็นระบบ ETCS Level 1 

ทั้งหมดนี้ เราจะได้เห็นบนทางรถไฟทางคู่ทุกสายที่กำลังก่อสร้าง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถระบบรางของไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลาง Logistics ของภูมิภาคที่หวังไว้ซักที

*** ที่สำคัญ เมื่อมีขีดความสามารถเพิ่ม ก็ต้องหารถไฟมาเพิ่ม คู่กับการเปิดให้เอกชนมาร่วมให้บริการบนทางรถไฟเดียวกัน ทั่วประเทศ เพื่อให้ใช้ศักยภาพของระบบรางได้อย่างเต็มที่

สำหรับใครที่เดินทางหลังวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ควรจะเช็กตารางเดินรถไฟใหม่ ก่อนเดินทาง นะครับ!!!
สามารถตรวจเช็กตารางเวลาการเดินรถได้จากเว็บไซต์ https://dticket.railway.co.th


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top