Saturday, 4 May 2024
ระบบนิเวศ

เกษตรฯ เดินหน้า "5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย" วางหมุดหมายแผน 5 ปีพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนแม่น้ำโขงรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ดึงทุกภาคีร่วมขับเคลื่อน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง เปิดเผยถึงผลการประชุมผ่านระบบ ZOOM ในวันนี้ (28 พ.ย.) โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวง นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง นายทินกร อ่อนประทุม คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตร นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ประธานสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายกฤษฎา บุญชัย จากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนองค์กร ตัวแทนเกษตรกรจากทุกจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ในประเด็นความก้าวหน้าของการทำงานโดยคณะอนุกรรมการฯในพื้นที่ และแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 - 2570 พร้อมพิจารณาการตั้งของบประมาณในปี 2566 ตามโครงการพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของประชาชนต่อผลกระทบของแม่โขงที่เปลี่ยนแปลงไป

‘กลุ่มจีพีเอสซี’ ร่วมกับ ‘ทัพเรือภาคที่ 1’ และ ‘ศวทอ.’ ส่งมอบหญ้าทะเล เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ ณ หาดนภาธาราภิรมย์

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. นำโดย คุณณรงค์ชัย วิสูตรชัย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์และกิจการสาธารณะ ในฐานะผู้แทนกลุ่มจีพีเอสซี ร่วมกับทัพเรือภาคที่ 1 และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) ได้จัดพิธีส่งมอบหญ้าทะเลใน “โครงการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล” ณ บริเวณชายฝั่งหาดนภาธาราภิรมย์ กิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กองการบินทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นการขยายผลจากโครงการนำร่องปลูกหญ้าทะเล จำนวน 5,000 กอ ในพื้นที่ 3 ไร่ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 โดยในพิธีส่งมอบดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก พลเรือตรี สมประสงค์ วิศลดิลกพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ เป็นประธานในพิธี

หญ้าทะเลถือเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล เป็นแหล่งอาหาร แหล่งขยายพันธุ์ และแหล่งหลบซ่อนศัตรูของสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศป่าชายเลนกับแนวปะการัง ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอน นอกจากนี้ หญ้าทะเลยังช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่งได้อีกด้วย

 

‘อลงกรณ์’ นำทีมเกษตรลุยอีสานผนึกเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดแก้ปัญหาผลกระทบภาคเกษตรและประมงจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรและประมงจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ครั้งที่ 1/2566 (เฉพาะกิจ) และติดตามผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาด้านการเกษตรและด้านประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2566 – 2570 ณ โรงแรมบลู โฮเทล  นครพนม จ.นครพนม ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานโครงการที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อนแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 ประกอบด้วย 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง และแนวทางที่ 2 การบริหารจัดการด้านการประมงและทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนและคงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (AIC) ประจำจังหวัด ภาคประชาชน และหน่วยงานในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขง  

สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้นับเป็นการประชุมเฉพาะกิจนอกพื้นที่ครั้งแรกร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ด้านการประมงและด้านการเกษตร แบ่งเป็น ด้านการประมง รวมจำนวน 31 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 13,012,140 บาท พื้นที่ดำเนินการ 8 จังหวัด ได้แก่ 

จังหวัดเชียงราย เลย หนองคายบึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี อาทิ โครงการการจัดการระบบนิเวศปลาหน้าวัด, โครงการธนาคารผลผลิตเกษตรด้านการประมงสนับสนุนธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม, กิจกรรมส่งเสริมเยาวชนนักเพาะเลี้ยง, โครงการเพาะพันธุ์ปลายี่สกไทย (ปลาเอิน) ในแม่น้ำโขง เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา,  โครงการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงปลาตะเพียนขาวในบ่อดิน เป็นต้น สำหรับด้านการเกษตรสำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สป.กษ.) ได้สรุปแผนงาน/โครงการภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนระดับจังหวัด ปี 2566 – 2570 (ฉบับทบวน) รวมจำนวน794 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 7,770,595,287 บาท แบ่งเป็น งบจังหวัด/กลุ่มจังหวัด 304 โครงการ งบประมาณ1,124,048,495 บาท งบปกติ 375 โครงการ งบประมาณ 6,600,923,240 บาท และงบอื่น ๆ 70 โครงการ งบประมาณ 45,623,552 บาทโดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาบรรจุแผนงาน/โครงการไว้ในคำของบประมาณประจำปีของหน่วยงานต่อไป

ที่ประชุมยังได้หารือและรับทราบในเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ 

1. แนวทางการดำเนินการรักษาพันธุ์ปลาบึกในแม่น้ำโขง โดยกรมประมง ซึ่งมี 2 แนวทาง ดังนี้ 1.1) การอนุรักษ์นอกถิ่นแม่น้ำโขง โดยการปล่อยลงในแหล่งน้ำภายในประเทศ ซึ่งกรมประมงจะใช้แม่พันธุ์ปลาบึกรุ่น F1 เพื่อผลิตปลาบึกรุ่น F2 ที่ยังคงความหลากหลายทางพันธุกรรมและยังคงสามารถรักษาไว้ได้จากเดิมให้มากที่สุด โดยปลาบึกรุ่นลูกF2 นี้ สามารถนำไปเลี้ยงไว้ในอ่างเก็บน้ำเพื่อเป็นการนกษาพันธุ์ปลาลึกไว้นอกแหล่งที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะเลี้ยงต่อไปได้ในอนาคต และ 1.2) สนับสนุนการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ให้แก่เกตรกร เนื่องจากปลาบึกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง 

2. ความก้าวหน้าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนทบทวนแผนพัฒนาการเกษตร ในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดย สำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สป.กษ. ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 8 จังหวัด รับทราบและดำเนินการตามแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2566 – 2570 และแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 แล้ว 

3. ความก้าวหน้าการศึกษาพลับพลึงแม่น้ำโขงและแผนการนำพลับพลึงแม่น้ำโขงกลับไปปลูกคืนถิ่นเดิม โอกาสนี้นายอลงกรณ์ ได้มอบต้นพันธุ์พลับพลึงแม่น้ำโขง (Crinum viviparum) (ที่เพาะพันธุ์จากเมล็ด) ซึ่งถือเป็นพืชเฉพาะถิ่นหายาก และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จำนวน 30 ต้น ให้แก่ นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้แทนสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสานและ1จังหวัดภาคเหนือคือเชียงรายเพื่อนำไปจัดกิจกรรมให้ชุมชนในการปลูกในพื้นที่อาศัยเดิม ตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ตามแผนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุ์พลับพลึงแม่น้ำโขงของกรมประมงที่ทำการเก็บรวบรวมตัวอย่างต้นพันธุ์จากธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2564 และนำไปศึกษาเพาะเลี้ยงในระบบโรงเรือน และห้องปฏิบัติการจนได้ต้นพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ในปัจจุบัน 

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันและสนับสนุนการพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติสร้างความมั่นคงด้านอาชีพ พัฒนาขีดความสามารถในทุกด้าน เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนและเกษตรกร และคงความหลากหลายของทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขงได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าว

‘สว.วีระศักดิ์’ เตือนแรง!! ระบบนิเวศโลกหนีไม่พ้นการดิ่งเหว หากยังหลงคิดว่าวัฒนาการอันน้อยนิด จัดการกับธรรมชาติได้

(8 มี.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ออกบทความในหัวข้อ ‘ระบบนิเวศในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ (ตอนที่ 1) มีเนื้อหา ระบุว่า...

มนุษย์เรียนรู้เพิ่มทุกวันว่ากระบวนการธรรมชาติซับซ้อนมาก แต่มนุษย์มักถูกกิเลสพาให้หลงคิดไปว่ามีวิวัฒนาการที่ไม่เพียงไล่ทัน แต่ยังสามารถจัดการกับระบบของธรรมชาติได้

บัดนี้ แม้แต่ผู้นำประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดรวมตัวกัน ก็ยอมรับว่าวิวัฒนาการที่มนุษยชาติได้สั่งสมมาทั้งหมด ไม่พอที่จะรักษาให้พวกเขามั่นใจได้เลยว่า หลาน ๆ ของเขาจะมีเผ่าพันธุ์สืบต่อไปได้อีกกี่รุ่น

ผู้นำชาติต่าง ๆ ไม่อาจการันตีกับประชากรได้ ว่าหลาน ๆ ของประชากรของเขาจะได้มีชีวิตอย่างไม่แร้นแค้น

ที่จริง ผู้นำโลกเดินทางไปพบกันเรื่อง โลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะเรือนกระจก และสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ มาหลายสิบหนแล้ว

ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจนเข้าขั้นวิกฤตินี้ ยากจะมีคำปลอบขวัญที่ยืนยันได้ว่าจะควบคุมได้

ข้อเขียนนี้ ถูกผูกขึ้นด้วยเป้าประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ทำไม การแก้ปัญหาระดับวิกฤติการณ์ต่อมวลมนุษยชาติหนนี้ ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างยิ่งใหญ่ของคนยุคเราขนาดไหน

เราทุกคนของยุคนี้ ไม่ว่าท่านจะเจนเนอเรชันอะไร โอกาสรอดจากการถูกประวัติศาสตร์จารึกว่า เราพากันขับรถพุ่งลงเหว ทั้งที่ยังเลี้ยวหลบหรือเบรกกันได้ทันยากเต็มที

จริงอยู่ ว่าเราไม่ใช่ชนรุ่นแรกที่พารถโดยสารวิ่งมาในเส้นทางนี้ แต่ในโศกนาฏกรรมทุกครั้ง ไม่ค่อยมีใครถามหรอกว่า มันเริ่มตอนใครควบคุมอยู่  แต่จะสนใจว่ามันจบตอนไหน และใครคือผู้ถือพวงมาลัยสุดท้ายก่อนตกเหวดับทั้งคัน

หรือจมลงทั้งลำ!!

แม้มีข่าวสารให้เราอ่านได้มากมายในอินเตอร์เน็ตว่า ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มายังไง แต่ผมก็อยากพยายามสื่อสารกับผู้อ่านสักหน ว่ามันคืออะไร มายังไง และ เราต้องทำอะไร เพื่อชะลอหรือให้ดีกว่านั้น หยุดมันให้ได้

ขอเริ่มจากสภาพของโลกใบนี้ ก่อนที่จะเกิดปัญหาขนาดนี้นะครับ

ภาวะเรือนกระจกของโลก

เราเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า โลกมีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่หลายชั้น มองด้วยตาเปล่าก็ไม่เห็น แต่มันทำหน้าที่ของมันตามระบบที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้อย่างซับซ้อนในการปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก

ดวงอาทิตย์ส่งคลื่นความร้อนทะลุทุกชั้นบรรยากาศได้ และพื้นผิวโลกก็สะท้อนความร้อนออกไปบางส่วน กักเก็บความร้อนไว้บางส่วน ซึ่งเกิดจากการดูดซับความร้อนนั้นไว้โดยก๊าซเรือนกระจก ที่มีอยู่หลายชนิด อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ก๊าซเรือนกระจกจึงทำหน้าที่ควบคุมความอบอุ่นของโลกอยู่ให้ในสภาวะที่สมดุล เกิดสภาพอากาศและฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสัดส่วนของก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ในชั้นบรรยากาศที่ผ่านมาในอดีต มีค่อนข้างสม่ำเสมอ 

ดังนั้น ภาวะเรือนกระจกจึงมีข้อดีของมันมานับล้านปี

แต่บัดนี้ ประชากรมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ต้องการผลิตไฟฟ้า ต้องการขนส่ง ผลิตขยะและน้ำเสียออกมาในปริมาณมาก อย่างต่อเนื่อง ใช่ครับ เราจึงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากจนเกินสมดุล ความร้อนที่ถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศจึงมากเกินกว่าที่ควร ผลก็จะเหมือนเรานั่งรถปิดกระจกดับแอร์ ต่อแม้จะเป็นกลางคืน เราก็จะรู้สึกอบอ้าว อึดอัด

และความอึดอัดนี้จะมีทั่วห้องโดยสารไม่ว่าจะนั่งอยู่เบาะหน้าหรือหลัง จะเอนตัวลงนอน หรือลุกขึ้นยงโย่ยงหยก ก็จะ อึดอัด อบอ้าว อยู่ดี

วันนี้ โลกมีประชากรถึง 8พันล้านคน ยังไม่นับปศุสัตว์ที่เราขุนเลี้ยงกันไว้บริโภคอีก จนเยอะกว่าสัตว์ป่าทุกชนิดรวมกัน แม้จะนับนกในธรรมชาติหมดทุกตัวด้วยก็ตาม

ภาวะของเรือนกระจกจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันรักษาสมดุล ไม่ให้มีก๊าซใดลอยขึ้นไปอยู่มากหรือน้อยจนเกินไป นี่จึงเป็นที่มาของชื่อองค์การมหาชนของไทย ที่เรียกชื่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

ภาวะโลกร้อน ช่วงแรกเราสังเกตได้จากการละลายของน้ำแข็งที่ยอดเขาและขั้วโลก ว่ามันละลายหนักกว่าเดิม และละลายนานกว่าฤดูที่มันเคยเป็น

แปลว่าโลกอุ่นขึ้น ศัพท์คำว่า Global warming จึงถูกใช้มาเรื่อย

แต่พอสังเกตนานเข้าก็พบพื้นที่ ๆ ไม่ได้อุ่นขึ้น แต่กลับเย็นหนาวจนหิมะตก ทั้งที่ ๆ นั่นไม่เคยเจอหิมะมาก่อน

ทีนี้ ผู้คนก็เริ่มเห็นภาพของ สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change

แต่น้อยคนจะตระหนักว่า เพดานฟ้าของขั้วโลกนั้น ต่ำกว่าเพดานฟ้าที่เขตอบอุ่น หรือพื้นที่สี่ฤดู

ส่วนเพดานฟ้าที่เขตศูนย์สูตรจะสูงกว่าที่อื่น ๆ ของโลก 

ดังนั้นในวันที่ขั้วโลกเหนือใต้อุ่นขึ้นแล้ว ถึง 5 องศาเซลเซียส คนในพื้นที่อื่นกลับไม่ค่อยรู้สึกตามไปด้วย

เพราะเพดานฟ้าของเขตตัวยังสูงมาก อะไร ๆ ยังเปลี่ยนแปลงไปน้อยเกินจะเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต

จากนั้น ก็มีภัยจากพายุรุนแรง แห้งแล้งยาวนาน น้ำท่วมหนัก และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น กัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น การเกษตรเสียหาย กระทบต่อรายได้ประชาชน เกิดโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ

แต่เราเรียกมันว่าภัยธรรมชาติเหมือนเดิม ไม่ทำให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อสิ่งนี้บ่อยขึ้นแต่อย่างไร

เราแก้ไขด้วยการพยายามพยากรณ์เตือนภัยล่วงหน้าให้ได้แม่นขึ้น จัดทีมกู้ภัยให้เร็วขึ้น

“เราถนัดจะแก้ที่ผล ไม่ใช่ที่เหตุ…”

ภายหลังมีคนลองขยับคำเรียกไปเป็น Climate Crisis หรือ วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ที่จ๊าบหน่อยก็มีคำเรียกเพิ่มขึ้นว่า ภาวะโลกรวน ด้วยซ้ำ แล้วคำนั้นก็จางหายไป

จนกระทั่งกลางปี2023 เลขาธิการสหประชาชาติประกาศว่า ภาวะโลกร้อนได้ผ่านไปแล้ว บัดนี้เราได้มาพึงยุคภาวะโลกเดือด (Global Boiling) แล้ว

มีข่าวออกสื่อ แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อคำนี้ที่ต่างไปจากคำเรียกสภาพการณ์ก่อนหน้านี้แต่อย่างไร

สปีดการแก้ไข ก็ดูจะเดิม ๆ

ส่วนมากเป็นการเอ่ยถึงปัญหา แล้วก็ทำแผนจุ๋ม ๆ จิ๋ม ๆ ซึ่งก็ไม่ได้จริงจังตั้งใจเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่

ในทางวิทยาศาสตร์ ก๊าซเรือนกระจกมีหลายอย่างมาก แต่ผู้ร้ายที่สำคัญ ๆ ที่เราท่านพอจะมีส่วนร่วมในการลดมันลงได้ ได้แก่...

อันดับ 1 ไม่ใช่เพราะมันร้ายกาจพิเศษ แต่เพราะสะสมในชั้นบรรยากาศโลกเยอะมากที่สุด คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (จากการเผาไหม้ทุกชนิด) อันนี้เป็นก๊าซที่เราท่านรู้จักค่อนข้างดี

อันดับ 2 คือ ก๊าซมีเทน มีเทนเป็นส่วนประกอบหลักของก๊าซชีวภาพ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ของซากพืช ซากสัตว์ที่ทับถมมาเป็นเวลานาน การปศุสัตว์ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับของก๊าซีเทนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่น วัว ควาย ที่เป็นสัตว์กินหญ้า เกิดก๊าซมีเทน และปล่อยออกมาด้วยการเรอ ก๊าซมีเทนนี้ มีพลังในการเป็นผู้กักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศที่ร้ายกาจสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่าตัว มันมีอายุอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ราว 12 ปี

และบัดนี้ น้ำแข็งที่ทับบนแผ่นดินแคนาดาและไซบีเรีย รัสเซีย ซึ่งทับซากพืชซากสัตว์มาตั้งแต่หลายแสนหลายล้านปีเริ่มละลายออกมาอย่างน่าตกใจ ได้ปลดปล่อยทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนจากใต้ดินชั้นน้ำแข็งที่เราเคยรู้จักในนามชั้นดิน Permafrost ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทุกฤดูร้อน

ก๊าซเรือนกระจก 2 รายการข้างต้น จึงเติมขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกทาง

และเป็นที่ทราบว่า Permafrost นี้กักเก็บก๊าซทั้งสองนี้ไว้มากเสียยิ่งกว่าที่มี ๆ อยู่จนเป็นปัญหาในชั้นบรรยากาศอยู่แล้ว

แปลว่า ยิ่งเร่งและยิ่งเพิ่มก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปทำให้โลกร้อนมากขึ้นอีก

ส่วนอันดับ 3 ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งมนุษย์มักใช้ในเวลาผ่าตัด เวลาทำฟัน เพื่อให้มีอาการชา จะได้ไม่รู้สึกเจ็บปวดชั่วคราว ไนตรัสออกไซด์นี้เกิดจากภาคเกษตรกรรมถึง 65% เพราะใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ส่วนภาคอุตสาหกรรม ก็เป็นผู้ปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ราว 20% จากการผลิตพลาสติกบางกลุ่ม การผลิตเส้นไนลอน การผลิตกรดกำมะถัน การชุบโลหะ การทำวัตถุระเบิด และการผลิตไบโอดีเซล !!

ไนตรัสออกไซด์มีอายุในชั้นบรรยากาศได้ราวร้อยปี ดีที่ว่า ไนตรัสออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศยังไม่มาก แต่ที่เราพึงต้องระวังเพราะมันสามารถส่งผลต่อภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีปริมาณเดียวกันได้ถึง 265 เท่านี่แหละ

ไนตรัสออกไซด์จึงนับเป็นผู้ร้ายลำดับ 3 ที่เราต้องรู้ไว้ เพราะถ้ามันลอยไปสะสมในชั้นบรรยากาศมาก มันจะพาเราพังได้เร็วกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มาก

ทีนี้เหลืออีกตัวการภาวะโลกร้อนจากภาคอุตสาหกรรมแท้ ๆ ได้แก่ พวกสาร CFC ซึ่งอยู่ในสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นมายาวนานจนเพิ่งถูกเลิกใช้ไปเมื่อไม่นานมานี้ ตามพิธีสารมอนทรีออล แต่สารประกอบหมวดนี้ของ CFC มีอายุยืนได้นับร้อยปีจนถึงสามพันปี !!

CFC ก่อให้เกิดรูโหว่ในชั้นโอโซนทำให้รังสียูวีของดวงอาทิตย์ทะลุลงมาก่อมะเร็งผิวหนัง

ดังนั้น เท่าที่ปล่อย ๆ ไปก็นับว่าเพียงพอจะไปทำลายความสมดุลมากพอควรแล้ว และมันจะยังคงทำลายต่อไปตราบที่มันยังไม่เสื่อมสลายไปเองตามอายุของมัน

มีคนเคยถามเหมือนกันว่า แล้วทำไมคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่ติดท็อป 5 ของผู้ร้ายในเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ยานยนต์ทุกคัน ในเกือบร้อยปีที่ผ่านมาทั่วโลก ต่างก็ปลดปล่อยมาโดยตลอดมิใช่หรือ?

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า แม้คาร์บอนมอนอกไซด์จะอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์มาก ๆ ตอนที่มันออกมาจากท่อไอเสีย แต่พอมันเจอชั้นบรรยากาศในธรรมชาติ ออกซิเจนจะค่อย ๆ เข้าไปผสมเอง และผลคือมันจะสลายเองในเวลาไม่กี่เดือน

มันจึงไม่ทันได้แสดงฤทธิ์มากนักต่อภาวะเรือนกระจกอย่างก๊าซอื่นที่มีช่วงชีวิตยาวนานมาก ๆ ที่ติดท็อป 4 ข้างต้นของข้อเขียนนี้

'สว.วีระศักดิ์' ยัน!! ทุกระบบ 'เศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง' ทั่วโลกรอดยาก หากวันหนึ่ง 'ระบบนิเวศธรรมชาติของโลก' ทวงคืน ไม่เอื้อให้มนุษย์ได้อยู่ต่อ

(9 มี.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ออกบทความในหัวข้อ ‘ระบบนิเวศในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ (ตอนที่ 2) มีเนื้อหา ระบุว่า...

Climate Change มีผลต่อชีววิทยาทางธรรมชาติอีกมาก อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์และพืชอีกมากมายหลายชนิด

แต่ผมขอแยกประเด็นนี้ออกไปก่อน เพราะซับซ้อนมากเกินกว่าจะอธิบายเพิ่มในพื้นที่จำกัดนี้

แต่ขอโฟกัสมาสู่การบันทึกว่าบัดนี้เราค้นพบว่าโลกที่ร้อนขึ้นนำเราไปสู่อะไรแล้วบ้าง

อย่างแรก การละลายของน้ำแข็งทั้งโลกเกิดขึ้นรวดเร็ว ดังนั้นน้ำจากที่สูงจะไหลลงไปรวมที่มหาสมุทร

ระดับน้ำทะเลจะท่วมชายฝั่งขึ้นมาเรื่อยๆ

และมนุษย์ฝังรากทางอารยธรรมอยู่ชายฝั่งเป็นส่วนมาก เมืองท่าค้าขาย เมืองเพื่อการผลิต เมืองการอยู่อาศัย เมืองเพื่อการท่องเที่ยว ล้วนมีระดับสูงจากทะเลปานกลางน้อยมากๆ

ส่วนเมืองเกษตรกรรมที่มักอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน มักอยู่ได้ด้วยลำน้ำจืดไหลผ่าน ซึ่งมีลำน้ำสาขาแผ่กระจาย จึงเป็นชลประทานธรรมชาติที่ทำให้มีนามีสวน

น้ำทะเลที่เพิ่ม อาจไม่ท่วมเหนือแผ่นดินลึกเข้าไปมากก็จริง แต่ก้นของแม่น้ำนั้นมักอยู่ในระดับสูงกว่าระดับทะเลปานกลางน้อยยิ่งกว่าเมืองชายฝั่งเสียอีก

แถมหลายสายจะต่ำกว่าทะเลปานกลางด้วย

ดังนั้น นิเวศน้ำจืดจำนวนมากจะถูกรุกล้ำด้วยน้ำเค็มเข้าลึกไปในแผ่นดิน เมืองไทยน้ำเค็มมีแนวโน้มจะบุกลึกใต้แม่น้ำไปถึงอ่างทอง นี่คือสิ่งที่อธิบดีกรมชลประทานเคยคาดการณ์ไว้

ยิ่งเมื่อมีภาวะภัยแล้ง หรือเมื่อน้ำแข็งยอดเขาละลายจนหมด ลำน้ำจืดจะไม่เหลือพลังดันน้ำเค็มอย่างที่เคยทำได้ตลอดปี ในหน้าแล้งเขื่อนและฝายจะกักเก็บน้ำไว้

น้ำจืดไหลลงร่องน้ำมาน้อยลง แปลว่าน้ำทะเลจะเอ่อเข้าลำน้ำในแผ่นดินไปทำลายนิเวศน้ำจืดของการเพาะปลูกจำนวนมากได้อย่างเงียบๆ

เพราะชาวบ้านสูบน้ำมาเข้าสวนเข้านาปกติไม่มีใครสำรวจหรือชิมว่าน้ำมันเค็มหรือยัง

จะรู้อีกทีก็ใบเหลืองเค็มจนเฉาแล้วทั้งสวน

ความมั่นคงทางอาหารจะถูกสั่นคลอนอย่างร้ายแรง

น้ำแข็งที่ว่าละลายนั้น ก็ให้ปรากฏการณ์ใหม่แก่มนุษย์อีก เพราะเมื่อน้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตรของกรีนแลนด์และที่ขั้วโลกใต้ละลาย มันได้กลายเป็นทะเลสาบทีละหย่อมเรียงรายไปสุดลูกตา

ทะเลสาบเหล่านั้นค่อยๆ กัดกร่อนน้ำแข็งต่อเพื่อหย่อนให้น้ำเหลวๆ ใสๆ สามารถลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงได้

เกิดสภาพคล้ายสว่านหมุนเกลียวเจาะลงสู่เบื้องล่าง แล้วทำให้กลายเป็นโพรงรูพรุนคล้ายชีส เยอะไปหมด เมื่อน้ำไหลได้ มวลของมันจะส่งพลังการกระแทกเบียดกับผนังน้ำแข็งภายในโพรงราวน้ำตกกระแทกก้อนหิน ซึ่งย่อมเปราะบางกว่าหินมาก

การกร่อนของภูเขาน้ำแข็งจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นถ้ำน้ำลอดเต็มไปหมด

รูโพรงเหล่านี้ทำให้อากาศไหลเข้าไปด้านในและนำความอุ่นไปรบกวนน้ำแข็งในระดับโครงสร้างเพิ่มเข้าไปอีก

มนุษย์จึงตกใจว่าธารน้ำแข็งและแผ่นทวีปแอนตาร์กติกาและน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังแตกตัวออกตามที่ต่างๆ ในอัตราที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ไม่ใช่มันละลาย แต่เพราะโครงสร้างถูกลมอุ่นมุดเข้าไปเจาะภายในราวกับรังปลวกบุกกินไม้อย่างตะกละตะกลาม

ในขณะเดียวกัน น้ำแข็งที่ละลายที่เกาะกรีนแลนด์ ได้ปล่อยน้ำจืดมหาศาลลงทะเลแอตแลนติกตอนบน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของระบบเครื่องปรับอากาศของโลก ที่เคยเป็นจุดตั้งต้นของสายพานใต้ทะเลส่งความเยือกเย็นจากขั้วโลกให้ถูกน้ำทะเลพาไปไหลเวียนในทุกมหาสมุทรฟรีๆมานับล้านปี

ทำให้ตะกอนแร่ธาตุผงธุลีใต้ทะเลที่รับมาจากแม่น้ำบนฝั่งสามารถเดินทางไปไหลเวียนทั่วท้องมหาสมุทร เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่สารพัดชีวิตใต้ผืนมหาสมุทร

เมื่อการแปลงสภาพน้ำทะเลจากของเหลวไปเป็นน้ำแข็ง เกิดขึ้นมากที่สุดที่ข้างเกาะกรีนแลนด์ เพราะที่นี่ทะเลกว้างและลึกมาก

ต่างจากจุดเชื่อมของทะเลแปซิฟิกกับขั้วโลกเหนือที่ทั้งแคบและตื้น เฉลี่ยความลึกของแปซิฟิกตอนบนนั้น ตื้นกว่าอ่าวไทยเสียอีก เพราะที่นั่นลึกเพียง50 เมตร ในขณะที่อ่าวไทยลึกเฉลี่ย68เมตร

แต่ที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั้น ทะเลลึกหลายๆพันเมตร

ในการกลายสภาพจากน้ำไปสู่การเป็นน้ำแข็ง กฎทางธรรมชาติของฟิสิกส์จะทำให้โมเลกุลน้ำเท่านั้นที่กลายเป็นน้ำแข็ง

ดังนั้นน้ำแข็งธรรมชาติทั้งมวลจึงจืด เพราะที่ข้างเกาะกรีนแลนด์นั่นเองที่น้ำปริมาณมหาศาลกำลังกลายเป็นน้ำแข็ง ทั้งวันทั้งคืนมันจึงเกิดน้ำตกใต้ทะเลของผงตะกอนแร่ธาตุโดยเฉพาะเกลือที่ร่วงลงมา แล้วถูกแรงโน้มถ่วงโลกดึงมันจมลงสู่ก้นทะเลอันลึกล้ำ

แรงจมของเกลือปริมาณมหาศาลทุกวินาทีตลอดวันตลอดคืนนี้เองที่กลายเป็นแม่ปั้มธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่ดันส่งกระแสน้ำใต้สมุทรจากจุดนี้ให้ไหลดันตามกันไปจนเมื่อเเรงกดส่งตะกอนไปถึงก้นทะเลแล้วยังดันกันต่อไปจนเดินทางลงใต้ไปกระทบกับแผ่นดินของขั้วโลกใต้ ซึ่งก็เย็นจัดเช่นกัน แล้วจึงไหลเข้าสู่ก้นมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก นำพาความเย็นจากสองขั้วโลกเข้าสู่ใต้สมุทรทั้งหลาย

จากนั้นน้ำทะเลที่ไหลนี้จึงเริ่มมีน้ำหนักเบาขึ้น และค่อยๆสะสมการรับแดดในเขตศูนย์สูตรแล้วเดินทางต่อจนกลับมายังแอตแลนติกข้างเกาะกรีนแลนด์เหมือนเดิม

หนึ่งรอบวงจรนี้ ใช้เวลาราวพันปี

วงจรนี้เรียกว่า The Great Conveyor Belt ของโลกที่ส่งความเยือกเย็นจากสองขั้วโลกให้ไหลไปถึงใต้ชายฝั่งทะเลทั้งหลาย

ภูมิอากาศของโลกจึงถูกระบบนี้กำกับให้มาโดยตลอด

แต่เพราะน้ำจืดที่ละลายลงมาที่กรีนแลนด์ ทำให้ม่านความเค็มใต้ทะเลที่จุดเริ่มต้นการเดินทาง เจือจางลงมาก

ทำให้สารละลายขาดน้ำหนักเพียงพอที่จะจมลงในอัตราที่เคยเป็น 

แรงดันใต้มหาสมุทรให้เป็นกระแสธารของความเยือกเย็นจึงอ่อนลงเรื่อยๆ รายงานจากงานวิจัยชี้ว่าอ่อนลงกว่า 15% และยังคงอ่อนลงเรื่อยๆ

ระบบปรับอุณหภูมิของใต้สมุทรจึงกำลังค่อยๆ พังทลายลง และพลังการส่งสารอาหารให้เดินทางไปทั่วผืนสมุทรจึงกำลังหมดลงด้วย

อากาศเหนือชายฝั่งจึงต้องถูกกระทบ

หมู่ปลาและสัตว์ทะเลจะปั่นป่วนเพราะธาตุอาหารที่เคยไหลผ่านจางลงจนอาจหายไป

แล้วมนุษย์ซึ่งพึ่งพาทั้งเกษตรบนแผ่นดินและโปรตีนจากทะเลจะทำอย่างไร?

ทั้งหมดนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่มนุษย์ต้องคลี่คลายให้ได้ก่อนที่จะถึงวันที่หลายระบบจะล่มลงหรืออ่อนลงจนธรรมชาติเอื้อมส่งวงจรทางนิเวศกันไม่ถึง

ปี 2030 เป็นเสมือน Tipping Points ชุดแรกที่บอกเราได้ ว่าลูกบอลที่ชื่อนิเวศของโลกใบนี้จะตกบันไดที่น่าจะกู่ไม่กลับแล้ว

และถ้ายังปล่อยไปหรือเบรกไว้ไม่แรงพอ

ปี 2050 คือชุดบันไดยาวๆ ที่ลูกบอลแห่งระบบนิเวศนี้จะร่วงหล่นกลิ้งเป็นลูกขนุนตกเขา แม้มีเงินมีเศรษฐกิจชนิดไหน ณ ที่ใดของโลก ทุกระบบก็จะกระเด็นกระดอนจนพังพินาศทั้งหมด

There is no healthy business on a collapsing planet.

โลกใบนี้มีมานานก่อนมนุษย์คนแรกกลุ่มแรกจะปรากฏตัวขึ้น

และโลกใบนี้จะอยู่ได้สบายด้วย แม้ไม่มีมนุษย์อยู่อาศัยหลังจากนั้นแล้ว

แต่มนุษย์ต่างหากที่จะสาบสูญ ถ้าระบบธรรมชาติของโลกถูกรบกวนมากเกินไป

บทความนี้ถูกเขียนเรียบเรียงขึ้นเพื่อยืนยันว่า...

ทุกระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม และระบบการเมืองใดๆ ก็ไม่อาจอยู่ได้

ถ้าระบบนิเวศธรรมชาติของโลก เอาคืนหรือไม่เอื้อให้ระบบมนุษย์อยู่กันได้อีกต่อไป

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกความพยายามที่จะรื้อฟื้น คืนทุนให้ระบบธรรมชาติ ผ่านกลไกเศรษฐกิจสีเขียว การค้าสีเขียว การลงทุนสีเขียว และสังคมที่ระดมให้ทุกชีวิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top