Friday, 17 May 2024
รมวพิมพ์ภัทราวิชัยกุล

‘รมว.ปุ้ย’ ประสานช่วยแก้ปัญหาค่าตั๋วเครื่องบินแพง ปมกระทบเป็นลูกโซ่ ฉุดการค้าการลงทุนเมืองคอน

(1 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากวันที่เริ่มงานอุตสาหกรรมแฟร์ที่นครศรีธรรมราช พบบุคคลสำคัญในสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช, หอการค้านครศรีธรรมราช และอีกหลายภาคส่วน ได้บอกเล่าถึงความคับข้องใจ ไม่สบายใจเรื่องตั๋วค่าโดยสารเครื่องบิน จาก ‘กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช’ หรือ ‘นครศรีธรรมราช - กรุงเทพฯ’ ที่มีราคาสูงในบางช่วงจนถึงขั้นหลายคนที่ต้องการโดยสารจำเป็นต้องขับรถไปจอดแล้วโดยสารเครื่องบินจากท่าอากาศยานจังหวัดใกล้เคียง ที่ทราบว่ามีราคาที่ต่ำกว่าครึ่งต่อครึ่ง หรือบางคนโดยสารมาลงแล้วต่อรถโดยสารหรือให้ญาติขับรถไปรับมาจังหวัดนครศรีธรรมราช 

จากปัญหาดังกล่าวนี้ ทาง ‘รมว.ปุ้ย’ ซึ่งได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในหลาย ๆ ส่วน กังวลว่าจะกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังอาจลามเกี่ยวเนื่องไปอีกหลายส่วนเป็นลูกโซ่ กับภาคการค้าการลงทุนที่จะตามมาอีกเป็นขบวน 

“น้ายูร หรือ คุณประยูร เงินพรหม ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช ได้เผยกับปุ้ยว่า ได้เดินทางบ่อยเฉพาะค่าตั๋วแต่ละเดือนสาหัสอยู่เหมือนกัน ขณะที่ พี่อุ้ม ศิริกมล แก้วแสงอ่อน นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช ก็ได้เป็นตัวแทนทำหนังสือถึงความไม่สบายใจของหลายภาคส่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ยื่นหนังสือผ่านปุ้ย ซึ่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นครศรีธรรมราช ปุ้ยได้รับหนังสือฉบับนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว และจะนำไปประสานงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง”

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ปัญหาเหล่านี้จะต้องมีเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหา และตนจะเป็นอีกแรงที่ช่วยเร่งประสานงานให้เร็วที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทางโดยสายการบินต่าง ๆ ผ่านท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชของพี่น้องประชาชน และไม่เกิดปัญหาลุกลาม ส่งผลกระทบอย่างที่ได้รับข่าวสารตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ เดินหน้าปักธง ‘นครศรีฯ’ ดันสู่โกโก้ฮับภาคใต้ หนุนชูเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก คาด สร้างมูลค่า 4,000 ลบ.

‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ทั่วประเทศสู่การเป็นโกโก้ฮับเมืองไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ดันพื้นที่ภาคใต้ชูจังหวัดนครศรีธรรมราช สู่โกโก้ฮับ ‘นครศรีฯ เมืองโกโก้’ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ ผลักดันสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายรัฐบาล ในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ทั่วประเทศสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ โดยจะนำร่องการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมโกโก้ไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สู่ ‘โกโก้ฮับ’ (THAI COCOA HUB) ภายใต้ชื่อ ‘นครศรีฯ เมืองโกโก้’ เพื่อเป็นศูนย์กลางรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโกโก้ในไทย อีกทั้งเป็นแหล่งความรู้และลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีศักยภาพขีดความสามารถในการส่งออกสู่ตลาดโลกได้ในอนาคต

“กระทรวงฯ ได้จัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม (Focus group) กับผู้ประกอบการ รวมถึงศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมอย่างมีระบบ เป็นคลัสเตอร์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านการสร้างเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นถิ่น (Single Origin) ช่วยสร้างจุดเด่นและมูลค่าเพิ่มของโกโก้ให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมตลาดทั้งในและต่างประเทศ สนับสนุนให้มีการจัดโรดโชว์ในต่างประเทศ เพื่อให้โกโก้ไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมโกโก้ให้เป็นหนึ่งในพืชแห่งอนาคต (Future Crop) และยกระดับสู่การเป็นไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียนในอนาคต คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

ทั้งนี้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พืช ‘โกโก้’ ถูกจับตามองว่าเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจใหม่และได้รับกระแสความนิยมเพิ่มมากขึ้น สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมียม รวมถึงเทรนด์รักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม (Super Food) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกโกโก้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับโอกาสในอนาคต โดยจากข้อมูลปี 2565 ไทยส่งออกโกโก้และของปรุงแต่งจากโกโก้ไปตลาดโลกมีมูลค่ากว่า 69.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 64.32 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมี ญี่ปุ่น อาเซียน และเกาหลีใต้เป็นตลาดหลักส่งออกที่สำคัญ

สำหรับประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านพื้นที่สามารถปลูกโกโก้ได้ทุกภาค โดยที่น่าจับตามอง คือ ภาคตะวันออกในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ที่มีพื้นที่การปลูกโกโก้และเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะมุ่งเน้นการตั้งโรงงานแปรรูปโกโก้ขนาดเล็กเพื่อสนับสนุนให้มีการปลูกโกโก้ให้มากขึ้น รวมถึงภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกโกโก้มากกว่า 1,600 ไร่ เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกโกโก้ทั้งสิ้นกว่า 3,000 ครัวเรือน ถือว่าได้เป็นแหล่งผลิตโกโก้คุณภาพดีของไทย การันตีด้วยรางวัลระดับโลก อย่างแบรนด์ ‘ภราดัย’ คว้ารางวัลพิเศษระดับทองสำหรับช็อกโกแลตบาร์ 75 เปอร์เซ็นต์ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเภท ‘Bean to Bar’ หรือ ‘ช็อกโกแลตที่ผู้ผลิตมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว’

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมงานสถาปนาครบ 80 ปี อนุบาลนครศรีธรรมราช ‘ณ นครอุทิศ’ โรงเรียนอนุบาลในตำนานที่ชาวนครศรีธรรมราชภาคภูมิใจ

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมทำบุญวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 80 ปี โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช ‘ณ นคร อุทิศ’ โดย รมว.ปุ้ย ได้รับคำเชิญจากคุณครู และผู้บริหารให้เป็นประธานในพิธีทำบุญและกิจกรรมของโรงเรียน 

สำหรับ โรงเรียนอนุบาลนครนครศรีธรรมราช มีอายุมายาวนานครบ 80 ปี นับแต่วันสถาปนาโรงเรียน ผลผลิตของโรงเรียนล้วนเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของนครศรีธรรมราช และของประเทศไทย ซึ่งกระจายตัวอยู่ในทุกแวดวงอาชีพ และถือเป็นโรงเรียนที่เป็นตำนานของชาวนครศรีธรรมราชก็ว่าได้ 

“พื้นที่โรงเรียนนี้ เป็นวัดเก่าแก่ ชื่อวัดประตูขาว เป็นวัดร้างโบราณ แต่หลายคนมีตำนานชีวิตวัยเด็กซึ่งเริ่มต้นที่นี่ มีโพธิ์ทองต้นใหญ่เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาศิษย์ ส่วนทางตะวันตกของโรงเรียนมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพิธีสำคัญของบ้านเมือง เรียกว่าเฉพาะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของโรงเรียน ก็ถือเป็นมงคลชีวิตของเด็กๆ ทุกคนกันเลยทีเดียว” รมว.ปุ้ย กล่าว

สำหรับ โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช ก่อตั้งมาเมื่อปี 2486 โดยเริ่มแรกยังไม่มีอาคารสถานที่ มีครู 2 คน นักเรียน 8 คน คนงาน 2 คน ต่อมาในปี 2493 กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นได้จัดงบประมาณสร้างอาคารมาให้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ บุคคลสำคัญของนครศรีธรรมราชในขณะนั้น คือ พลเอกเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว จึงได้บริจาคสมทบทุนสร้างอาคารเป็นอนุสรณ์สถานแก่ท่านกลาง ณ นคร นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช 'ณ นคร อุทิศ' ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนั่นเอง

“ตลอด 80 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนมีความก้าวหน้าทั้งการพัฒนาเด็กๆ ในช่วงปฐมวัย ความก้าวหน้าด้านการปลูกฝังวิชาการ เป็นโรงเรียนที่อยู่ในแถวหน้าของประเทศ จากคุณครู 2 คน นักเรียน 8 คนเมื่อวันก่อตั้งครั้น 80 ปีก่อน ผ่านไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า มาวันนี้ มีครู 196 คน นักเรียนจำนวน 2,723 คน…”

“ดังนั้น ในวันนี้ชาวอนุบาลนครศรีธรรมราช ณ นครอุทิศ จึงได้มาร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับพลเอกเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) และบรรพบุรุษตระกูล ณ นคร พร้อมทั้งยังร่วมระดมทุนสร้างอาคารปฏิบัติการ 4 ชั้น 10 ห้องปฏิบัติการ รวมถึงเป็นการเชิญชวนศิษย์เก่าร่วมรำลึกถาดหลุมโรงเรียนด้วย นักเรียนทุกคนที่นี่ไม่มีใครไม่รู้จักถามหลุม ทุกคนล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงจำที่ดี ดิฉันขอยินดีกับ 80 ปีที่ยิ่งใหญ่ ที่เป็นตำนานของลูกหลานชาวนครศรีธรรมราชไว้ ณ ที่นี้” รมว.พิมพ์ภัทรา ทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ผุดแผนยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ มุ่งส่งเสริมการลงทุนกว่า 359,000 คันต่อปี พร้อมชูรียูสแบตฯ 

'รมว.พิมพ์ภัทรา' นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เผยที่ประชุมรับทราบ และเห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน หลัง สศอ. ในฐานะเลขานุการฯ นำเสนอ พร้อมเตรียมรับเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 ตามแผนส่งเสริมการลงทุนรวม 359,000 คันต่อปี 

(14 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้รับทราบ และเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ ได้แก่ ความคืบหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า, แนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (EV Conversion), แนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงแนวทางการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียด ข้อกฎหมาย และรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามระเบียบขั้นตอน เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภททั้งรถขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์, รถยนต์, รถกระบะ ไปจนถึงรถขนาดใหญ่ เช่น รถโดยสาร, รถบรรทุก และการส่งเสริมการผลิตและการจัดการซากตลอดช่วงชีวิตการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า หรือ End of Life Vehicle (ELV) 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในส่วนของการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตเครื่องจักรกลอัตโนมัติในกระบวนการผลิต และ EV Conversion อาทิ รถขนขยะมูลฝอย, รถบรรทุกน้ำ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมกระบวนการจัดการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อขยายความต้องการลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

ด้าน นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะเลขานุการฯ ได้นำเสนอความคืบหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งด้านการผลิต การใช้ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผน 30@30 เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน และ มาตการ EV3 ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle : BEV) รวม 67,056 คัน ซึ่งเติบโตมากกว่าร้อยละ 690 หรือ 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 8,483 คัน ทำให้ตลาด EV ไทยเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีผู้เข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิต BEV คิดเป็นมูลค่า 39,579 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 359,000 คันต่อปี และผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วน คิดเป็นมูลค่า 35,303 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ (EV Conversion) โดยเป็นการสร้างต้นแบบการดัดแปลงรถขนาดใหญ่ให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถขนขยะมูลฝอย และรถบรรทุกน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ในราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ โดยให้คำนึงถึงการพัฒนาต้นแบบยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างมาตรฐานในการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการ โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดำเนินการกำหนดมาตรการ และกลไกในการขับเคลื่อนการส่งเสริมยานยนต์ดัดแปลงประเภทต่างๆ ผ่านคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต ครอบคลุมมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี โดยมีมาตรการที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ System Integrator (SI) ผ่านการดำเนินงาน เช่น พัฒนาบุคลากร System Integrator (SI) จำนวน 1,301 คน และบุคลากรในสถานประกอบการ จำนวน 3,665 คน รวมทั้งพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 185 ต้นแบบ 

โดยปัจจุบันมี System Integrator (SI) ที่ขึ้นทะเบียนรายกิจการ จำนวน 121 กิจการ ผ่านกลไกศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ Center of Robotics Excellence (CoRE) มีผู้ประกอบการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 271 กิจการ มูลค่ารวม 27,710 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อแนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) ให้มีศักยภาพและเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของ SI ไทยที่จะสามารถเชื่อมโยงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทย เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศได้

ขณะเดียวกัน ยังได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริม และจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ สร้างมูลค่าจากการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ประกอบด้วย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เนื่องจากแบตเตอรี่มีมูลค่าสูง ซึ่งจากผลการศึกษาที่ได้ประเมินว่าแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ซ้ำในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ การผลิตอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า (Energy Storage System: ESS) และส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น Cloud Service โดยคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องในการควบคุม และติดตามการจัดการแบตเตอรี่ให้เหมาะสม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อศึกษารายละเอียด และกำหนดแนวทางการส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 มีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิจาก หลายหน่วยงานเข้าร่วมการประชุม โดยมีนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ กระทรวงอุตสาหกรรม

'รมว.ปุ้ย' ชี้!! เหตุผลปี 67 รถยนต์รุ่นใหม่ต้องมีมาตรฐาน ยูโร 5 สร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม 'ลด-ควบคุม' มลภาวะทางอากาศ

(3 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ข้อควาผ่านเฟซบุ๊ก 'พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล' เผยสาเหตุ ทำไมตั้งแต่ปีใหม่นี้ รถยนต์รุ่นใหม่ต้องมีมาตรฐานยูโร 5 ระบุว่า...

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นวันเริ่มบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและรถยนต์ขนาดใหญ่ คือ รถยนต์กระบะ รถบัส รถบรรทุก ทั้งใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล

ส่วนมาตรฐานยูโร 5 คืออะไร? หลายคนยังสงสัยว่ายังไง ทำไมต้องยูโร 5?...

หลักใหญ่ใจความของมาตรฐาน ยูโร 5 คือกฎเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดหรือควบคุมมลภาวะทางอากาศ ส่งผลให้การปล่อยมลภาวะออกมาต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเดิมประเทศไทยใช้มาตรฐานยูโร 4 แต่พอเข้าสู่ปีใหม่นี้ ก็คือยูโร 5 แล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วจะประกาศใช้ตั้งแต่ 2564 แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาด จึงมีการเลื่อนมาเป็น 2567 นั่นเอง

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า สำหรับรถยนต์ใหม่ที่ออกมาตามเกณฑ์ยูโร 5 จะต้องมีมาตรฐานที่กำหนดและจะต้องติดตั้งตัวควบคุมหรือตัวกรองฝุ่นละอองจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ นั่นหมายความว่าจะสามารถควบคุมฝุ่นจากการเผาไหม้ลงได้อีกระดับตามมาตรฐานค่ะ โดยมีเกณฑ์ที่จะต้องตรวจวัดและควบคุมเช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) สารไฮโดรคาร์บอน (HC) สารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) สารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ซึ่งจะมีค่าเกณฑ์ตัวเลขของการตรวจวัด

โดยทาง สมอ.ได้แจ้งปุ้ยมาแล้ว และได้มีการเปิดรับยื่นคำขอตรวจประเมินมาแล้ว มีผู้ผลิตได้ยื่นผ่านระบบ E-License มาตั้งแต่กุมภาพันธ์ ปีที่ผ่านมาแล้วค่ะ และมาจนถึงธันวาคม 2566 มี 50 คำขอจาก 25 ราย สมอ.พร้อมออกใบอนุญาต

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรฐานยูโร 6 มีแผนจะบังคับใช้มาตรฐานนี้กับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินในวันที่ 1 มกราคม 2568 โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง

'รมว.ปุ้ย' หารือ 'รมว.อุตฯ ซาอุฯ' ถกความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมสองชาติ มั่นใจ!! ช่วยกระตุ้น ศก.ระหว่างกัน โดยเฉพาะประเด็น 'แร่โปแตช'

(10 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (9 ม.ค.) ได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ของประเทศไทย ในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย โดยมีภารกิจสำคัญ ได้แก่ การเข้าหารือกรอบทวิภาคี หรือเป็นการหารือการประชุมร่วมกัน 2 ฝ่าย 

โดย รมว.ปุ้ย ได้นำคณะผู้แทนฯ และบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศไทย เข้าประชุมหารือร่วมแบบทวิภาคีกับ ท่าน Bandar bin Ibrahim AlKhorayef รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งให้เกียรตินำคณะผู้บริหาร เข้าร่วมพูดคุยถึงความร่วมมือและพันธกิจระหว่างกันของทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในการเข้าประชุมหารือร่วมระหว่าง 2 ประเทศ มีเรื่องน่ายินดีถึงทิศทางความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องแร่ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้หารือกันในประเด็นแร่โปแตช ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลายด้าน และเป็นต้นทางของปุ๋ยในอุตสาหกรรมการเกษตร อันเป็นต้นทางของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมฮาลาล ที่ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนา และรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกหลายส่วน ที่ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีศักยภาพและขีดความสามารถพัฒนาร่วมกันได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศต่อไป

'รมว.ปุ้ย' ติดตามงานสำคัญทุกภาคส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จ!! 4 แพ็กเกจของขวัญปีใหม่ 'เข้าเป้า-ทะลุเป้า'

(18 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (17) ได้นัดหมายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม จากทุกกรมมาร่วมกันประชุมเป็นนัดแรกของปี 2567 สาระสำคัญอยู่ที่การติดตามงานที่ได้มอบหมายในหลายๆ เรื่อง

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวถึงการติดตามเรื่องพลังงานสะอาด ที่กำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานสะอาด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกันเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มกำลังผ่านนโยบายและการส่งเสริม สนับสนุนในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ 

ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเรื่องพลังงานสะอาดเข้ามาร่วมพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 และยังมีการติดตามความก้าวหน้าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้การดำเนินการ Green Industry (GI) และยังได้กำหนดให้มีการรวบรวมข้อมูลงบประมาณอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการตอบคำถาม หรือการสืบค้นได้อย่างรวดเร็วคล่องตัวมีความโปร่งใสและชัดเจน

รมว.ปุ้ย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของการดำเนินงานตามแพ็กเกจของขวัญปีใหม่กระทรวงอุตสาหกรรม ใน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสินค้าและบริการดี ราคาพิเศษ, มาตรการเติมทุน เสริมสภาพคล่อง, มาตรการเพิ่มโอกาส เสริมแกร่งธุรกิจ และ มาตรการกระจายรายได้สู่ชุมชนรอบอุตสาหกรรม พบว่ามีตัวชี้วัดที่น่าพอใจอย่างมาก โดยตัวชี้วัดที่ดีเข้าเป้าหมายหรือทะลุเป้าที่วางไว้คือผลสำเร็จ 

"ทุกกรมที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงงบประมาณในปี 2568 พร้อมทั้งนำเสนอโครงการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลสนับสนุนเสริมสร้างผู้ประกอบการ และยังมีการเตรียมมาตรการข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รวบรวมจากพื้นที่ เพื่อนำเข้าสู่การประชุม ครม.สัญจรครั้งที่ 1 ปี 2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม 2567 นี้ต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ล็อกเป้า!! ผลักดันหลากผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่ชุมพร ยกระดับสู่ ‘อุตฯ ชุมชน’ ไม่ต้องใหญ่ถึงขั้นโรงงาน แต่มั่นคง ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 67 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘สมุนไพรไทยที่ชุมพร คุณค่าทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในชุมชน’ ระบุว่า…

“วันนี้ปุ้ยจะเล่าให้ฟังเรื่องสมุนไพรไทยค่ะ ปุ้ยอยากให้สมุนไพรไทยเป็นประกายหนึ่ง ที่สามารถต่อยอดทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในชุมชน หลายชุมชนในประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องนี้ค่ะ ที่จะสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ และแน่นอนค่ะ กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยง ส่งเสริม สนับสนุน”

นี่เป็นสิ่งที่ รมว.พิมพ์ภัทรา กำลังเตรียมการหลังจากได้เดินทางไปชุมพร เพื่อร่วมในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร ‘การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรท้องถิ่นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่อยู่ในโครงการ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน ในการจัดการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

รมว.ปุ้ย กล่าวอีกว่า หนึ่งในแนวนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมหลัก คือ การส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการทุกกลุ่มให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และที่สำคัญคือ การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง สามารถพัฒนาสร้างรายได้จากต้นทุนในชุมชนทั้งทุนวัฒนธรรม วัตถุดิบในท้องถิ่นอาศัย พยายามเน้นการผนวกวิชาการด้านอุตสาหกรรมเข้ากับวิถีชุมชน เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างรายได้ 

“คำว่า ‘อุตสาหกรรม’ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องโรงงานใหญ่ๆ เครื่องจักรใหญ่โตเสมอไป”

รมว.ปุ้ย กล่าวต่อ “มาที่เรื่องสมุนไพร ที่ชุมพร หลักสูตร ‘การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรท้องถิ่นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ เทคนิค วิธีการต่างๆ สร้างความเชื่อมโยงที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจในชุมชน จากทรัพยากรสมุนไพรในท้องถิ่นในชุมชนที่เป็นจุดแข็ง ไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ… ที่ปุ้ยเห็นมีตะไคร้, ขมิ้น, ไพลหอม สมุนไพรเครื่องหอมต่างๆ อีกสารพัดที่มีคุณสมบัติดีต่อสุขภาพทั้งผิวพรรณ น้ำมันหอมระเหย…

“สมุนไพรเหล่านี้สามารถนำไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพ และสามารถโยงไปสร้างโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มกับการท่องเที่ยวในชุมชน อันนี้น่าสนใจมาก พี่องอีกหลายชุมชนมีของดีสมุนไพรดีๆ ในท้องถิ่น ลองร่วมกันคิดร่วมกันทำค่ะ สร้างความร่วมมือในชุมชน ปุ้ยจะนำกรมกองต่างๆ ในกระทรวงอุตสาหกรรม ไปร่วมสร้าง ร่วมส่งเสริมองค์ความรู้สร้างเศรษฐกิจในชุมชนด้วยกันนะคะ”

‘รมว.ปุ้ย’ ตั้งเป้า!! ดึงต่างชาติลงทุนในไทย หนุนโอกาสทางธุรกิจ เล็งนำร่อง ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ ฟื้น ศก.-เพิ่มขีดการแข่งขัน

เมื่อไม่นานนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ตั้งเป้าหมาย เร่งดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ และตรึงให้ผู้ประกอบการในประเทศให้ดำเนินกิจการได้อย่างแข็งแกร่ง ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กำลังรวบรวมและประมวลผล ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังโดนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวมีจำนวนกี่ราย ใครบ้าง เพื่อส่งสัญญาณให้ต้องมีการปรับตัว โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย คอยช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการปรับตัว เพราะบางอุตสาหกรรมมีเครื่องจักรที่ทำงานได้หลายอย่าง จึงเสนอไปว่าอาจปรับไปผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ควบคู่กับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมที่เป็นโอกาส แต่เอ่ยชื่อไป หลายคนอาจจะตกใจ คือ ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ หมายถึง การผลิตยุทโธปกรณ์ อาทิ รถถัง, เรือรบ, ปืน หรือแม้แต่กระสุน แล้วส่งออกได้จำนวนมาก จึงเป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทที่ควรจะต้องส่งเสริม เพื่อให้เกิดการสนับสนุนที่มากขึ้น คงต้องไปหารือกับกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกระทรวงกลาโหม ในการดูเรื่องภาษี อาทิ รถถัง นำเข้าทั้งคันภาษีถูกกว่าการนำเข้ามาประกอบ

ดังนั้น จึงต้องไปดูเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม หรือเพิ่มขีดการแข่งขัน ผู้ผลิตในประเทศจะได้มีโอกาสแข่งขันกับผู้นำเข้าได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top