Friday, 17 May 2024
รมวปุ้ย

‘นายกฯ’ รับเรื่อง ‘รมว.ปุ้ย’ ชงลดค่าเช่าที่ดินจูงใจนักลงทุน ช่วยดัน!! ‘นิคมฯ สระแก้ว’ ผงาด!! สู่เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่

สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นเจ้าบ้านรับการมาเยี่ยมเยือนของ นายกฯ นั้น 

ผู้สื่อข่าวเผยถึงสาระสำคัญที่ ‘นายกฯ นิด’ ได้หารือกับ ‘รมว.ปุ้ย’ ในหลายประเด็น แต่หนึ่งในประเด็นที่ทั้งคู่ต่างมองเห็นเป็นนัยเดียวกัน คือ ทิศทางและศักยภาพของจังหวัดสระแก้ว ที่สามารถพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอนาคตได้ต่อจากนี้

แน่นอนว่า ในสายตาของนายกฯ ที่ได้ลองสำรวจและศึกษาข้อมูลพื้นที่ ก็ดูจะเข้าใจแบบเชิงลึกได้ทันทีที่ว่า จังหวัดสระแก้วนี้ มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจที่สูงมากขนาดไหน

“นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีความเหมาะสมที่จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะจะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังจะส่งผลให้เศรษฐกิจชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้นกลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศกลับมาแน่นแฟ้นมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าที่ครบวงจรในกลุ่มประเทศอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMVT ได้อีกด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้กับด่านศุลกากรอรัญประเทศ (ป่าไร่) และด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชาได้” นายกฯ กล่าว

หลังจากนั้น รมว.ปุ้ย ได้กล่าวเสริมให้ นายกฯ ทราบอีกด้วยว่า นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ถือเป็นหนึ่งในโครงการของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (Special Economic Zone: SEZ) ที่มีการวางไว้ 10 จังหวัดชายแดนต้นแบบได้แก่ ตาก, มุกดาหาร, ตราด, สงขลา, หนองคาย, นครพนม, กาญจนบุรี, นราธิวาส, เชียงราย และ สระแก้ว โดยรัฐบาล ได้สนับสนุนกลไกการอำนวยความสะดวกทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น การนิคมอุตสาหกรรม ด่านศุลกากร ถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่สำคัญคือสิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อเป็นการจูงใจนักพัฒนานักลงทุน โดยมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการพัฒนา

“ที่นี่มีความโดดเด่นในเชิงของทำเลที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงมีการพัฒนาด้านการค้าขายและด้านการท่องเที่ยว ที่ปีหนึ่งๆ มีมูลค่าสะพัดมากกว่า 1 แสนล้านบาทกันเลยทีเดียว” รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว

แน่นอนว่าจากการสนทนาของ นายกฯ นิด และ รมว.ปุ้ย ในครั้งนี้ ดูจะทำให้นายกฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น แต่ก็มิใช่ว่าจะราบรื่นเสียทั้งหมด โดยช่วงหนึ่ง รมว.ปุ้ย ได้เผยให้เห็นถึงอุปสรรคปัญหาที่กำลังเป็นกำแพงขวางโอกาสในด้านการลงทุนอยู่ด้วย ว่า…

“หากพิจารณาถึงศักยภาพของพื้นที่และโอกาสที่จะเอื้อต่อภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในสระแก้วนี้ ดูจะมีพร้อมมาก แต่ติดอยู่ที่ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี อัตราค่าเช่าที่ดินระยะยาวที่สูง และข้อจำกัดด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EIA ที่กำหนดไม่ให้มีปล่อง กำลังเป็นเงื่อนไขที่จะบีบรัดให้การเติบโตของนิคมฯ สระแก้วมีโอกาสไปต่อแบบไม่ราบรื่น”

พูดแบบนี้มา ‘นายกฯ’ ก็สวนกลับอย่างไว โดย ‘เศรษฐา’ ได้บอกกับ รมว.ปุ้ย ไปว่า…“หากสามารถเปิดกว้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ทุกประเภทกิจการที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วได้ จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันในเรื่องของ ‘ที่ดินราคาค่าเช่าสูง’ เพราะเป็นที่ของกรมธนารักษ์นั้น เดี๋ยว นายกฯ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะไปเจรจากับกรมธนารักษ์ ให้ช่วยพิจารณาลดอัตราค่าเช่า เพื่อจูงใจนักลงทุนในพื้นที่ ซึ่งผลลัพธ์คงได้ทราบในเร็ว ๆ นี้ 

ทำงานแบบนี้ ถือเป็นมิติใหม่ คนหนึ่งชงปัญหา อีกคนรับลูกปัญหา แก้ได้แก้ ส่งเสริมได้ส่งเสริม เดี๋ยวผลบวกต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ก็จะค่อย ๆ ประจักษ์ชัดโดยเร็วเอง...

'พิมพ์ภัทรา' ต้อนรับ 'ฉางอาน' บิ๊กอีวียักษ์ใหญ่จากจีน ปักธงสร้างฐานผลิตพวงมาลัยขวาในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 พ.ย.66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานในกิจกรรมการเปิดตัว 'ฉางอาน' ยานยนต์ อีวี หรือรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ชื่อดังจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งยังเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังผลิตออกสู่ตลาดชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่อง โดย รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณดีอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยในขณะนี้ กำลังเป็นดาวรุ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์อีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นฐานการผลิตแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ภายใต้ค่ายผู้ผลิตชั้นนำมากมายที่ต่างสนใจเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะกับค่ายผู้ผลิตในประเทศจีน ถือเป็นผู้เล่นที่ก้าวหน้าล้ำสมัยอย่างมาก ภายใต้ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เฉกเช่นเดียวกับแบรนด์อื่น ๆ ทั่วโลก จนส่งผลให้ตลาดอีวีขยายตัวกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกใช้ยานยนต์ชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศไทยในเวลานี้นั้น มุ่งให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานใหม่ให้เดินหน้าไปด้วยกันได้กับอุตสาหกรรมยานยนต์เดิมที่ยังมีอยู่

"ในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ นั้นจะมีความเกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศต่าง ๆ มากมาย จนเกิดเป็นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่หมุนเวียนอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การขนส่ง, การผลิต, ทรัพยากร, วัตถุดิบ, แรงงาน และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เฉกเช่นเดียวกันกับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ลำดับ 10 ของโลก ก็ต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้ระบบนิเวศของรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ในไทยเกิดการหมุน ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่ท้าทาย แต่กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมที่กำลังเป็นอนาคตของโลก"

ในโอกาสนี้ ทาง รมว.พิมพ์ภัทรา ยังได้กล่าวขอบคุณทางผู้บริหารของ 'ฉางอาน' ด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องขอชื่นชมและขอบคุณการตัดสินใจของคุณจู หัวหรง และคณะ ผู้บริหาร บริษัท ฉางอาน ออโต้โมบิล จำกัด ที่ได้ใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ลงทุน ภายใต้มูลค่าการลงทุนกว่า 8,860 ล้าน และยังทราบว่าต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรองรับความต้องการในภูมิภาค และส่งไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศใช้รถพวงมาลัยขวา...

"ดิฉันในฐานะเจ้ากระทรวงฯ ขอกล่าวคำขอบคุณและขอต้อนรับอย่างเป็นทางการ ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์รักษ์สิ่งแวดล้อมของไทย โดยหนึ่งในย่างก้าวสำคัญนี้จากฉางอานจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ประเทศไทยก้าวไปสู่หมายเลข 1 ของภูมิภาคในด้านการผลิตและส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงทะยานสู่เป้าหมายการเบอร์ต้นๆ ของอุตสาหกรรมนี้ในโลกต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา ทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ประสานช่วยแก้ปัญหาค่าตั๋วเครื่องบินแพง ปมกระทบเป็นลูกโซ่ ฉุดการค้าการลงทุนเมืองคอน

(1 ธ.ค.66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากวันที่เริ่มงานอุตสาหกรรมแฟร์ที่นครศรีธรรมราช พบบุคคลสำคัญในสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช, หอการค้านครศรีธรรมราช และอีกหลายภาคส่วน ได้บอกเล่าถึงความคับข้องใจ ไม่สบายใจเรื่องตั๋วค่าโดยสารเครื่องบิน จาก ‘กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช’ หรือ ‘นครศรีธรรมราช - กรุงเทพฯ’ ที่มีราคาสูงในบางช่วงจนถึงขั้นหลายคนที่ต้องการโดยสารจำเป็นต้องขับรถไปจอดแล้วโดยสารเครื่องบินจากท่าอากาศยานจังหวัดใกล้เคียง ที่ทราบว่ามีราคาที่ต่ำกว่าครึ่งต่อครึ่ง หรือบางคนโดยสารมาลงแล้วต่อรถโดยสารหรือให้ญาติขับรถไปรับมาจังหวัดนครศรีธรรมราช 

จากปัญหาดังกล่าวนี้ ทาง ‘รมว.ปุ้ย’ ซึ่งได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในหลาย ๆ ส่วน กังวลว่าจะกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังอาจลามเกี่ยวเนื่องไปอีกหลายส่วนเป็นลูกโซ่ กับภาคการค้าการลงทุนที่จะตามมาอีกเป็นขบวน 

“น้ายูร หรือ คุณประยูร เงินพรหม ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช ได้เผยกับปุ้ยว่า ได้เดินทางบ่อยเฉพาะค่าตั๋วแต่ละเดือนสาหัสอยู่เหมือนกัน ขณะที่ พี่อุ้ม ศิริกมล แก้วแสงอ่อน นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช ก็ได้เป็นตัวแทนทำหนังสือถึงความไม่สบายใจของหลายภาคส่วนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ยื่นหนังสือผ่านปุ้ย ซึ่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นครศรีธรรมราช ปุ้ยได้รับหนังสือฉบับนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว และจะนำไปประสานงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง”

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ปัญหาเหล่านี้จะต้องมีเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหา และตนจะเป็นอีกแรงที่ช่วยเร่งประสานงานให้เร็วที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทางโดยสายการบินต่าง ๆ ผ่านท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชของพี่น้องประชาชน และไม่เกิดปัญหาลุกลาม ส่งผลกระทบอย่างที่ได้รับข่าวสารตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมคณะ ‘นายกฯ’ ตรวจเยี่ยม จ.กาญจนบุรี  ‘รับฟัง-หาแนวทางแก้’ ปัญหา ‘ศก.-หนี้สิน-ยาเสพติด-เกษตรฯ’ ในพื้นที่

(9 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมคณะนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ลงตรวจราชการเพื่อติดตามความคืบหน้าเส้นทาง โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) และประชุมหารือแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาภาพรวมจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งตรวจเยี่ยมสถานการณ์การค้าชายแดนบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน โดยมีนายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, นายเนตร์ กัญยะมาสา อสจ.กาญจนบุรี และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมคณะด้วย ณ จังหวัดกาญจนบุรี 

สำหรับภารกิจในครั้งนี้ ทาง รมว.พิมพ์ภัทรา พร้อมคณะผู้บริหารในกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการประชุมหารือแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ภาพรวมจังหวัดกาญจนบุรี โดยได้ไปติดตามข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และปัญหาเชิงลึกแต่ละกรณี 

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ ปัญหาหนี้สินที่เป็นนโยบายสำคัญขณะนี้ ยาเสพติดที่ต้องเร่งปราบปราม การค้าขายระหว่างพรมแดนและผลิตภัณฑ์การเกษตร อันเป็นอีกช่องทางเศรษฐกิจสำคัญ เพราะพื้นที่กาญจนบุรีมีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการค้าขายเชื่อมโยง และมีโอกาสพัฒนาการที่ดีต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ระหว่างการลงพื้นที่ เพื่อติดตามการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าในพื้นที่ และรับฟังพร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาพรวมของจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีการพบปะพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่ หนี้สิน ยาเสพติด การค้าขายระหว่างพรมแดนและผลิตภัณฑ์การเกษตรนั้น ได้มีประชาชนในพื้นที่เดินทางมาให้กำลังใจจำนวนมากอีกด้วย

ในการนี้มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมลงพื้นที่ด้วย

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมงานสถาปนาครบ 80 ปี อนุบาลนครศรีธรรมราช ‘ณ นครอุทิศ’ โรงเรียนอนุบาลในตำนานที่ชาวนครศรีธรรมราชภาคภูมิใจ

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 66 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมทำบุญวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 80 ปี โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช ‘ณ นคร อุทิศ’ โดย รมว.ปุ้ย ได้รับคำเชิญจากคุณครู และผู้บริหารให้เป็นประธานในพิธีทำบุญและกิจกรรมของโรงเรียน 

สำหรับ โรงเรียนอนุบาลนครนครศรีธรรมราช มีอายุมายาวนานครบ 80 ปี นับแต่วันสถาปนาโรงเรียน ผลผลิตของโรงเรียนล้วนเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของนครศรีธรรมราช และของประเทศไทย ซึ่งกระจายตัวอยู่ในทุกแวดวงอาชีพ และถือเป็นโรงเรียนที่เป็นตำนานของชาวนครศรีธรรมราชก็ว่าได้ 

“พื้นที่โรงเรียนนี้ เป็นวัดเก่าแก่ ชื่อวัดประตูขาว เป็นวัดร้างโบราณ แต่หลายคนมีตำนานชีวิตวัยเด็กซึ่งเริ่มต้นที่นี่ มีโพธิ์ทองต้นใหญ่เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาศิษย์ ส่วนทางตะวันตกของโรงเรียนมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพิธีสำคัญของบ้านเมือง เรียกว่าเฉพาะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของโรงเรียน ก็ถือเป็นมงคลชีวิตของเด็กๆ ทุกคนกันเลยทีเดียว” รมว.ปุ้ย กล่าว

สำหรับ โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช ก่อตั้งมาเมื่อปี 2486 โดยเริ่มแรกยังไม่มีอาคารสถานที่ มีครู 2 คน นักเรียน 8 คน คนงาน 2 คน ต่อมาในปี 2493 กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นได้จัดงบประมาณสร้างอาคารมาให้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ บุคคลสำคัญของนครศรีธรรมราชในขณะนั้น คือ พลเอกเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว จึงได้บริจาคสมทบทุนสร้างอาคารเป็นอนุสรณ์สถานแก่ท่านกลาง ณ นคร นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช 'ณ นคร อุทิศ' ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานนั่นเอง

“ตลอด 80 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนมีความก้าวหน้าทั้งการพัฒนาเด็กๆ ในช่วงปฐมวัย ความก้าวหน้าด้านการปลูกฝังวิชาการ เป็นโรงเรียนที่อยู่ในแถวหน้าของประเทศ จากคุณครู 2 คน นักเรียน 8 คนเมื่อวันก่อตั้งครั้น 80 ปีก่อน ผ่านไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า มาวันนี้ มีครู 196 คน นักเรียนจำนวน 2,723 คน…”

“ดังนั้น ในวันนี้ชาวอนุบาลนครศรีธรรมราช ณ นครอุทิศ จึงได้มาร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับพลเอกเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) และบรรพบุรุษตระกูล ณ นคร พร้อมทั้งยังร่วมระดมทุนสร้างอาคารปฏิบัติการ 4 ชั้น 10 ห้องปฏิบัติการ รวมถึงเป็นการเชิญชวนศิษย์เก่าร่วมรำลึกถาดหลุมโรงเรียนด้วย นักเรียนทุกคนที่นี่ไม่มีใครไม่รู้จักถามหลุม ทุกคนล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงจำที่ดี ดิฉันขอยินดีกับ 80 ปีที่ยิ่งใหญ่ ที่เป็นตำนานของลูกหลานชาวนครศรีธรรมราชไว้ ณ ที่นี้” รมว.พิมพ์ภัทรา ทิ้งท้าย

'รมว.ปุ้ย' เผย!! 'ก.อุตฯ' รับลูกนายกฯ ดันนโยบายสอดรับแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ชี้!! จัดเต็มแก้ไขตั้งแต่ต้นตอปัญหา 'โรงงาน-ควันรถยนต์-เผาไร่อ้อย'

(14 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยภายหลังติดตามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมงาน เดลินิวส์ ทอล์ก 2023 (Dailynews Talk 2023) พร้อมฟังเสวนา หัวข้อ ‘คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ’ ในหลากหลายมิติ ว่า…

เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค. 66) ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตาม นายกเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมงาน ‘เดลินิวส์ ทอล์ก 2023’ พร้อมฟังเสวนา ในหัวข้อ ‘คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ’ โดยมีพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวเดลินิวส์ จัดขึ้นอย่างอลังการมาก คุณปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ เป็นหัวเรือใหญ่ มีประเด็นที่พูดคุยเสวนากันอย่างครบครันที่ล้วนแต่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าอย่างเต็มสูบ เต็มกำลัง

รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก คือการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา อัตราเงินเดือนขั้นต่ำเงินของผู้จบปริญญาตรี เงินดิจิตอล การแก้ไขหนี้นอกระบบ ปัญหาเรื่องพลังงาน ปัญหาสังคมยาเสพติด อาชญากรรม ฝุ่น PM 2.5 โดยนายกเศรษฐาได้ให้คำมั่นไว้ รัฐบาลยึดถือประชาชนเป็นหลัก ทำงานให้เต็มกำลังแก้ปัญหาให้ทุก ๆ ปัญหา

รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม เรากำลังนำนโยบายมาแก้ไขซึ่งสอดรับกับเรื่องฝุ่น เป็นนโยบายที่เร่งด่วนลดผลกระทบกับสภาพอากาศ ต้นตอปัญหาที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งแก้ไขจัดการคือ โรงงานอุตสาหกรรมต้นตอการปล่อยฝุ่นควัน ท่อไอเสียยานยนต์ชนิดต่าง ๆ และที่กำลังรอผลประเมินคือการแก้ไขปัญหาการเผาไร่อ้อย โดยมีมาตรการที่เข้าไปจัดการแก้ไขคือทั้งในรูปแบบในการสนับสนุนด้วยวงเงินสนับสนุนเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลง และการสนับสนุนและการกำกับตามกฎหมาย ยกระดับมาตรฐาน ไปจนถึงระบบการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

“เหล่านี้เพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและภาคอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ มีความสุขและความยั่งยืน ตนกำลังนำพากระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าไปหาจุดนั้น เต็มที่ เต็มกำลังแน่นอน” รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้าย

‘รมว.ปุ้ย’ ผุดแผนยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ มุ่งส่งเสริมการลงทุนกว่า 359,000 คันต่อปี พร้อมชูรียูสแบตฯ 

'รมว.พิมพ์ภัทรา' นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เผยที่ประชุมรับทราบ และเห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน หลัง สศอ. ในฐานะเลขานุการฯ นำเสนอ พร้อมเตรียมรับเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 ตามแผนส่งเสริมการลงทุนรวม 359,000 คันต่อปี 

(14 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้รับทราบ และเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ นำเสนอ ได้แก่ ความคืบหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า, แนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (EV Conversion), แนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงแนวทางการส่งเสริมและจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียด ข้อกฎหมาย และรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามระเบียบขั้นตอน เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภททั้งรถขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์, รถยนต์, รถกระบะ ไปจนถึงรถขนาดใหญ่ เช่น รถโดยสาร, รถบรรทุก และการส่งเสริมการผลิตและการจัดการซากตลอดช่วงชีวิตการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า หรือ End of Life Vehicle (ELV) 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในส่วนของการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตเครื่องจักรกลอัตโนมัติในกระบวนการผลิต และ EV Conversion อาทิ รถขนขยะมูลฝอย, รถบรรทุกน้ำ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมกระบวนการจัดการแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อขยายความต้องการลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

ด้าน นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะเลขานุการฯ ได้นำเสนอความคืบหน้าของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งด้านการผลิต การใช้ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผน 30@30 เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน และ มาตการ EV3 ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle : BEV) รวม 67,056 คัน ซึ่งเติบโตมากกว่าร้อยละ 690 หรือ 7.9 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 8,483 คัน ทำให้ตลาด EV ไทยเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีผู้เข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิต BEV คิดเป็นมูลค่า 39,579 ล้านบาท กำลังผลิตรวม 359,000 คันต่อปี และผู้ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วน คิดเป็นมูลค่า 35,303 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถยนต์ (EV Conversion) โดยเป็นการสร้างต้นแบบการดัดแปลงรถขนาดใหญ่ให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถขนขยะมูลฝอย และรถบรรทุกน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ในราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ โดยให้คำนึงถึงการพัฒนาต้นแบบยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างมาตรฐานในการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการ โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดำเนินการกำหนดมาตรการ และกลไกในการขับเคลื่อนการส่งเสริมยานยนต์ดัดแปลงประเภทต่างๆ ผ่านคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติต่อไป

ขณะเดียวกัน ได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต ครอบคลุมมาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี โดยมีมาตรการที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ System Integrator (SI) ผ่านการดำเนินงาน เช่น พัฒนาบุคลากร System Integrator (SI) จำนวน 1,301 คน และบุคลากรในสถานประกอบการ จำนวน 3,665 คน รวมทั้งพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 185 ต้นแบบ 

โดยปัจจุบันมี System Integrator (SI) ที่ขึ้นทะเบียนรายกิจการ จำนวน 121 กิจการ ผ่านกลไกศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ Center of Robotics Excellence (CoRE) มีผู้ประกอบการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 271 กิจการ มูลค่ารวม 27,710 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการฯ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อแนวทางการส่งเสริม System Integrator (SI) ให้มีศักยภาพและเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของ SI ไทยที่จะสามารถเชื่อมโยงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทย เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศได้

ขณะเดียวกัน ยังได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริม และจัดการแบตเตอรี่ในประเทศ สร้างมูลค่าจากการจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ประกอบด้วย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เนื่องจากแบตเตอรี่มีมูลค่าสูง ซึ่งจากผลการศึกษาที่ได้ประเมินว่าแบตเตอรี่จากยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ซ้ำในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ การผลิตอุปกรณ์สำรองไฟฟ้า (Energy Storage System: ESS) และส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น Cloud Service โดยคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องในการควบคุม และติดตามการจัดการแบตเตอรี่ให้เหมาะสม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อศึกษารายละเอียด และกำหนดแนวทางการส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 มีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิจาก หลายหน่วยงานเข้าร่วมการประชุม โดยมีนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นกรรมการและเลขานุการ ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ กระทรวงอุตสาหกรรม

'รมว.ปุ้ย' หารือ 'รมว.อุตฯ ซาอุฯ' ถกความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมสองชาติ มั่นใจ!! ช่วยกระตุ้น ศก.ระหว่างกัน โดยเฉพาะประเด็น 'แร่โปแตช'

(10 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (9 ม.ค.) ได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ของประเทศไทย ในราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย โดยมีภารกิจสำคัญ ได้แก่ การเข้าหารือกรอบทวิภาคี หรือเป็นการหารือการประชุมร่วมกัน 2 ฝ่าย 

โดย รมว.ปุ้ย ได้นำคณะผู้แทนฯ และบุคลากรของกระทรวงอุตสาหกรรมของประเทศไทย เข้าประชุมหารือร่วมแบบทวิภาคีกับ ท่าน Bandar bin Ibrahim AlKhorayef รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งให้เกียรตินำคณะผู้บริหาร เข้าร่วมพูดคุยถึงความร่วมมือและพันธกิจระหว่างกันของทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมไทย และกระทรวงอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในการเข้าประชุมหารือร่วมระหว่าง 2 ประเทศ มีเรื่องน่ายินดีถึงทิศทางความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องแร่ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้หารือกันในประเด็นแร่โปแตช ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลายด้าน และเป็นต้นทางของปุ๋ยในอุตสาหกรรมการเกษตร อันเป็นต้นทางของวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมฮาลาล ที่ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนา และรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกหลายส่วน ที่ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีศักยภาพและขีดความสามารถพัฒนาร่วมกันได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศต่อไป

'รมว.ปุ้ย' ติดตามงานสำคัญทุกภาคส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลสำเร็จ!! 4 แพ็กเกจของขวัญปีใหม่ 'เข้าเป้า-ทะลุเป้า'

(18 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (17) ได้นัดหมายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม จากทุกกรมมาร่วมกันประชุมเป็นนัดแรกของปี 2567 สาระสำคัญอยู่ที่การติดตามงานที่ได้มอบหมายในหลายๆ เรื่อง

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวถึงการติดตามเรื่องพลังงานสะอาด ที่กำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานสะอาด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกันเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มกำลังผ่านนโยบายและการส่งเสริม สนับสนุนในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจ 

ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเรื่องพลังงานสะอาดเข้ามาร่วมพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 และยังมีการติดตามความก้าวหน้าโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้การดำเนินการ Green Industry (GI) และยังได้กำหนดให้มีการรวบรวมข้อมูลงบประมาณอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการตอบคำถาม หรือการสืบค้นได้อย่างรวดเร็วคล่องตัวมีความโปร่งใสและชัดเจน

รมว.ปุ้ย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของการดำเนินงานตามแพ็กเกจของขวัญปีใหม่กระทรวงอุตสาหกรรม ใน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสินค้าและบริการดี ราคาพิเศษ, มาตรการเติมทุน เสริมสภาพคล่อง, มาตรการเพิ่มโอกาส เสริมแกร่งธุรกิจ และ มาตรการกระจายรายได้สู่ชุมชนรอบอุตสาหกรรม พบว่ามีตัวชี้วัดที่น่าพอใจอย่างมาก โดยตัวชี้วัดที่ดีเข้าเป้าหมายหรือทะลุเป้าที่วางไว้คือผลสำเร็จ 

"ทุกกรมที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงงบประมาณในปี 2568 พร้อมทั้งนำเสนอโครงการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลสนับสนุนเสริมสร้างผู้ประกอบการ และยังมีการเตรียมมาตรการข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รวบรวมจากพื้นที่ เพื่อนำเข้าสู่การประชุม ครม.สัญจรครั้งที่ 1 ปี 2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล) จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม 2567 นี้ต่อไป" รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top