Sunday, 19 May 2024
รมว.แรงงาน

“สุชาติ” รมว.แรงงาน ห่วงใยลูกจ้าง - ผู้ประกันตน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดจันทบุรี

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจผู้ป่วยประกันสังคม และมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ณ หมู่ที่ 5 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะรัตน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายแพทย์ธีรพงศ์ ตุนาค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน จังหวัดจันทบุรี เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของท่าน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้อง ผู้ใช้แรงงานและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกกฤตสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น สถานการณ์โรคระบาด เชื้อไวรัสโควิด-19 หรือปัญหาผลกระทบความเดือดร้อนจากอุทกภัยในปัจจุบัน รวมถึงให้ความสำคัญในการดูแลผู้ประกันตนอย่างใกล้ชิดในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณี แม้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ประสบอันตราย หรือมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในวันนี้ ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีโอกาสลงพื้นที่ในจังหวัดจันทบุรี พร้อมมอบของเยี่ยมลูกจ้าง/ผู้ประกันตนเพื่อเป็นกำลังใจ และมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี

 

‘รมว.สุชาติ’ ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์ฟื้นฟูคนงานฯ ภาค 5 สงขลา พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนทุพพลภาพ และส่งเสริมการมีงานทำ

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา พร้อมด้วย พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นางวันทนา ณัฐพูลวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

โดยมี นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายสมเกียรติ สิริชูทรัพย์ ประกันสังคมจังหวัดสงขลา นายปฐพี จิระวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 จังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผู้ประกอบการ SME อาสาสมัครแรงงาน และบัณฑิตแรงงานในจังหวัดสงขลา และผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ให้การต้อนรับ

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ประสบอันตรายหรือมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้เป็นผู้ทุพพลภาพรวมถึงให้ความสำคัญในการดูแลผู้ประกันตนอย่างใกล้ชิดในทุก ๆ ด้าน แม้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนประสบอันตราย กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม พร้อมเข้าดูแลผู้ประกันตนอย่างใกล้ชิดในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีอย่างเต็มที่ รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน

ในโอกาสนี้ ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้โอกาสมาติดตามการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 จังหวัดสงขลา ที่กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และผู้ประกันตน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533  

โดยหากมีการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญเสียอวัยวะ สามารถที่จะเข้ารับการฟื้นฟูฯ ได้เต็มตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีรูปแบบการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน เป็นกระบวนการต่อเนื่องและจำเป็นสำหรับลูกจ้าง ที่สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน สูญเสียอวัยวะ พิการหรือ ทุพพลภาพและผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ หลังสิ้นสุดการรักษาจากโรงพยาบาลแล้ว

ประกอบด้วย 2 ประการ คือ เป็นกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ในรูปแบบที่สมบูรณ์ครบวงจร ได้แก่ การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ การฟื้นฟู สมรรถภาพด้านอาชีพ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจ และสังคม และเป็นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

โดยดูองค์รวม ได้แก่ การให้บริการโดยพิจารณาภาพรวมของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นรายบุคคลในทุก ๆ ด้านไปพร้อมกัน โดยมุ่งเน้นการประสานงาน ของทีมงานทุกด้าน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกจ้าง และผู้ประกันตน

 

‘ผช.รมว.แรงงาน’ มอบนโยบายอาสาสมัครแรงงานจังหวัดชลบุรี 280 คน ร่วมกันพัฒนาประเทศก้าวข้ามวิกฤตไปด้วยกัน!!

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบนโยบายแก่อาสาสมัครแรงงานจังหวัดชลบุรี ณ ห้องประชุมชลบุรี ศาลากลางจังหวัดชลบุรี โดยกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อต้นปี 2564 ที่เกิดการแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบกิจการหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ที่ต้องถูกรัฐสั่งปิดการให้บริการ รวมไปถึงสถานประกอบกิจการรายเล็กที่แบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหวทำให้ต้องปิดกิจการลงในที่สุด ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก

ซึ่งจากฐานข้อมูลของจังหวัดชลบุรี พบว่า มีสถานประกอบกิจการปิดกิจการชั่วคราว จำนวน 562 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ จำนวน 159,644 คน สูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กิจการประเภทการผลิต 140 แห่ง การขายส่งขายปลีก 165 แห่ง ที่พักและบริการด้านอาหาร 62 แห่ง ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี ได้ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย จำนวน 1.33 แสนราย คิดเป็นเงิน 1,527 ล้านบาท และได้มีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อโรคโควิด 19 ให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จำนวน 171,153 ราย

สำหรับในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงแรงงาน โดยท่านรัฐมนตรีสุชาติ ชมกลิ่น ได้แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ 1.ยกระดับกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ 2.กระตุ้นการจ้างงานตามความต้องการในระบบเศรษฐกิจใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ 4.เร่งรัด ปรับปรุง แก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคมให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และ 5.ดูแลให้แรงงานและนายจ้างสามารถทำงาน ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยและเป็นปกติสุข และนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1.พัฒนาทักษะแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศและรองรับเศรษฐกิจใหม่

2.บริหารจัดการแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

3.ต่อยอดการประกอบอาชีพ ยกระดับรายได้ และเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

4.ยกระดับการป้องกันแก้ไขปัญหาหารค้ามนุษย์ด้านแรงงานเพื่อปลดล็อก Tier 2 Watch List

5.พัฒนา ปรับปรุง และส่งเสริมการคุ้มครองแรงงาน ระบบสวัสดิการ และหลักประกันทางสังคม และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย ในการทำงานให้สอดคล้องกับสภาวะสังคม เศรษฐกิจ และรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

6.บริหารจัดการแรงงานนอกระบบ แรงงานกลุ่มเปราะบาง แรงงานสูงอายุและคนพิการให้ได้รับสิทธิและคุ้มครองด้านแรงงาน สวัสดิการและหลักประกันทางสังคมอย่างเท่าเทียม มีรายได้ที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศ นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และ

7.พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านแรงงานกระทรวงแรงงาน (Big Data) และบูรณาการข้อมูลภาครัฐเพื่อการบริหาร วางยุทธศาสตร์ด้านแรงงานและหลักประกันทางสังคมอย่างเป็นระบบ

อาสาสมัครแรงงาน คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย และมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกระทรวงแรงงาน ได้แก่

1.กระตุ้น ส่งเสริม รักษาการจ้างงาน และการขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ ได้แก่ การประกอบอาชีพอิสระ การรับงานไปทำที่บ้านให้แก่ผู้ว่างงานและผู้จบการศึกษาใหม่

2.ส่งเสริมการจ้างงานแรงงานคนไทยและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ

3.ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เชิงรุกในกลุ่มแรงงาน และสถานประกอบการโดยใช้มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การดำเนินโครงการ Factory Sandbox

4.ยกระดับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน Up-skill Re-skill New skill โดยการอบรมให้กับแรงงานกลุ่มว่างงานให้มีความรู้เพียงพอต่อการทำงานเป็นการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยการส่งเสริมการเรียนรู้วิธีการทำงานใหม่ ๆ ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์

5.พัฒนาทักษะอาชีพให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ที่นิยมทำงานรูปแบบแรงงานอิสระไม่ขึ้นกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง

6.ส่งเสริมอาชีพอิสระที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นหลักในการประกอบอาชีพ ตอบรับภาคการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและชุมชนที่ยั่งยืน

7.บูรณาการทำงาน สร้างความรู้ความเข้าใจแก่แรงงาน ผู้ประกอบการและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทุกมิติ และ

8.ยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานให้ดีขึ้น และส่งเสริมให้มีการพัฒนาแรงงานที่ยั่งยืนโดยคนหางานทุกคนมีโอกาสในการทำงานตามความสามารถของตน มีรายได้ที่เหมาะสม ได้รับการพัฒนาฝีมือที่ได้มาตรฐาน ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิพื้นฐาน มีสวัสดิการเพิ่มขึ้น มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและมีหลักประกันทางสังคมที่สอดคล้องกับความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีพ

 

“พิพัฒน์” รมว.แรงงาน นำข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เครือข่ายแรงงานทั่วประเทศกว่า 100,000 คน ใส่เสื้อม่วงแสดงพลังจงรักภักดีถวายแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เทิดทูนสถาบันอันเป็นที่รักและเคารพของชาวไทย

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในกิจกรรมขอพระราชทานน้อมแสดงความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีทุกกรม ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และเครือข่ายสหภาพแรงงาน องค์กรนายจ้าง ลูกจ้างทั่วประเทศ พร้อมใจกันสวมเสื้อสีม่วงร่วมแสดงพลังจงรักภักดีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ณ ลานพระพุทธสุทธิธรรมบพิตร ด้านหน้าอาคารกระทรวงแรงงาน

โดย นายพิพัฒน์ อ่านแถลงการณ์กระทรวงแรงงาน ประกาศเจตจำนงปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ความว่า ข้าพระพุทธเจ้า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่ เครือข่ายอาสาสมัครแรงงาน และเครือข่ายภาคประชาชน ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ต่างมีความปลื้มปิติที่ได้มาร่วมแสดงความจงรักภักดีในวันนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นสถาบันหลักของชาติ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน การรักษาความมั่นคงสถาบันหลักของชาติ ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศชาติอย่างมั่นคงตลอดไป

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ และทรงมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านต่าง ๆ และได้สืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระกรุณาสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือแรงงาน และแรงงานผู้พิการ เพื่อให้ความรู้ พัฒนาศักยภาพ ทักษะฝีมือแก่ช่างกายอุปกรณ์ และช่างเครื่องช่วยคนพิการได้เพียงพอกับความต้องการ และทรงพระกรุณารับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการสงเคราะห์ ช่วยเหลือลูกจ้าง คนงานที่พิการให้ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน รวมถึงพัฒนาทักษะอาชีพให้กับผู้ว่างงาน คนงานที่ต้องการพัฒนาทักษะ จนเป็นที่ประจักษ์ 

“กระทรวงแรงงานได้น้อมนำพระจริยวัตรของพระองค์ คือ พระเมตตาและความเอาพระทัยใส่ในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ที่เดือดร้อนทุกคน นำมาขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวงในโอกาสนี้ จึงขอพระราชทานน้อมแสดงความจงรักภักดีแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยปวงข้าพระพุทธเจ้า ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน จักขอเทิดทูนปกป้อง และรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดไป” นายพิพัฒน์ กล่าวแถลงการณ์

ทั้งนี้ ภายหลังอ่านแถลงการณ์แล้ว นายพิพัฒน์ฯ ยังได้นำผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) และเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศ โดยร่วมกันกล่าวแสดงความจงรักภักดี “ทรงพระเจริญ” จำนวน 3 ครั้ง เสียงดังกึกก้องไปทั่วกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งโบกธงชาติไทยและธงสีม่วงพระนามาภิไธยย่อ “ส.ธ.” เพื่อร่วมกันแสดงพลังถวายกำลังใจแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่มีคุณูปการนำพาคนไทยสร้างชาติ รักษาเอกราช วัฒนธรรม ความเป็นไทยให้คงอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้  และได้เชิญชวนนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สหภาพแรงงาน และเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศ ได้รวมพลังแสดงความจงรักภักดี ถวายแด่กรมสมเด็จพระเทพฯ ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยตลอดไป

“วันนี้เราได้มีการรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงานโดยใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครที่เราได้จัดกิจกรรมการถวายความจงรักภักดีนี้ขึ้นที่กระทรวงแรงงาน ผมมั่นใจว่ากิจกรรมการถวายความจงรักภักดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศไทยมีผู้ออกมาแสดงความจงรักภักดีในนามของกระทรวงแรงงาน ในนามของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศไทยกว่า 100,000 คน” นายพิพัฒน์ กล่าว

รมว.แรงงาน“พิพัฒน์”เยือนถิ่นอีสาน นำทัพกระทรวงแรงงานพบชาวศรีษะเกษ เตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงาน ส่งเสริมอาชีพนอกระบบ ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน

วันที่ 8 มีนาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เปิดโครงการ “กระทรวงแรงงานพบประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ” สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กลุ่มนักเรียนอาชีวะ พร้อมมอบใบอนุญาตศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้แก่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษณ์ สาขา พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ระดับ 1 โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุรศักดิ์ พันเจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชัยยงค์ เมธาสุรวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ ต.จานใหญ่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ  

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาพบปะกับทุกท่านที่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ในวันนี้ โดยเฉพาะน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษา และพ่อแม่ผู้ปกครอง กระทรวงแรงงานที่ผมรับผิดชอบดูแลนี้เราทำงานต่อเนื่องเชื่อมโยงกับกระทรวงศึกษาธิการเหมือนต้นน้ำกับปลายน้ำโดยกระทรวงศึกษาธิการผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะ ส่วนกระทรวงแรงงานจะต่อยอดทักษะ จัดหาอาชีพตามความต้องการของตลาดแรงงาน และดูแลสวัสดิการให้กับแรงงาน กระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในการผลิตกำลังคนในภาคการศึกษาและภาคแรงงาน หรือ Up - Skill for More Earn เพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ และพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกำลังแรงงานรุ่นใหม่ อย่างเช่นการเรียนอาชีวศึกษา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนตลาดแรงงานที่สำคัญ เพราะความรู้และทักษะที่น้อง ๆ ได้รับนั้นสามารถนำไปใช้งานได้จริง ช่วยสร้างบุคลากรเฉพาะทางในสายอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ ไม่ว่าจะเป็นช่างเชื่อม ช่างยนต์ ช่างก่อสร้าง บัญชี การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ หรือหากยกระดับต่อไปได้ก็สามารถก้าวไปสู่อาชีพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve เช่น หุ่นยนต์ ดิจิทัล หรือโลจิสติกส์ เป็นต้น

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานกับกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกันทำงานจนเกิดความสำเร็จ เช่น การส่งเสริมการเรียนอาชีวศึกษาแบบทวิภาคีให้สถานประกอบการได้ร่วมออกแบบหลักสูตรและสนับสนุนการเรียนการสอนแบบลงมือทำจริง รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น สำหรับน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษาที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตนั้น หากต้องการฝึกทักษะอาชีพ กระทรวงแรงงานมีหลักสูตรฝึกอบรมที่เรียนจบแล้วมีประกาศนียบัตรรับรอง ตัวอย่างหลักสูตรฝึกอาชีพที่ตลาดต้องการอย่างมากในขณะนี้ก็คือ การบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งที่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์แห่งนี้ก็มีสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรมอยู่ด้วย โดยผมได้ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อมาฝึกอบรมในด้านนี้ให้ได้ 100,000 ราย และป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น พนักงานแคชเชียร์ พนักงานต้อนรับ และเชฟ รวมทั้งยังมีหลักสูตรอื่น ๆ อีกมากมาย 
ซึ่งน้อง ๆ สามารถจะต่อยอดความรู้และทักษะที่ได้รับจากวิทยาลัยเทคนิคนี้ในระดับที่สูงขึ้นได้

“ส่วนใครที่ต้องการฝึกงานในต่างประเทศ กระทรวงแรงงานมีโครงการความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นผ่านองค์กร IM Japan ให้ไปฝึกงาน เช่น งานหล่อแบบ งานกลึงและเชื่อมโลหะ งานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ งานแปรรูปอาหาร งานก่อสร้างโครงเหล็ก งานเดินท่อ ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกก็จะได้รับเบี้ยเลี้ยง ค่าจ้าง ค่าอาหารและที่พัก เมื่อฝึกงานจบแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง ทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากทักษะอาชีพหรือว่า Hard Skills แล้ว เราต้องพัฒนาทักษะ Soft Skills เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความพร้อมด้านภาษาและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้เราได้เปรียบคนอื่น และทำให้นายจ้างมั่นใจที่จะจ้างงานเรามากขึ้น” นายพิพัฒน์ กล่าว

จากนั้น นายพิพัฒน์ฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมบูธกิจกรรมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตามโครงการกระทรวงแรงงานพบประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ อาทิ กิจกรรมนัดพบแรงงาน ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครงานและสัมภาษณ์โดยตรงจากสถานประกอบการชั้นนำ มีตำแหน่งงานว่างมากกว่า 500 อัตรา อาทิ  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด บริษัท สยามโกลบอลเฮาส์ จำกัด (สาขาศรีสะเกษ) บริษัท ชนะชัย ขาเข้าขาออก จำกัด บริษัท โมเดิร์น เอ สตีล จำกัด (สาขากันทรลักษ์)  และบริษัท เอี่ยมศิริแป้งมัน จำกัด การแนะแนวอาชีพ การสาธิตอาชีพอิสระ หลักสูตรหมอพราหมณ์ พิธีผูกข้อต่อแขนเพื่อความสิริมงคล นิทรรศการความปลอดภัยในการทำงาน โดย บริษัท เอี่ยมศิริแป้งมัน จำกัด การรับสมัครผู้ประกันตนรับชำระเงินสมทบประกันสังคมตามมาตรา 40 และการให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 จากสำนักงานประกันสังคม และกิจกรรมทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 3 สาขา ได้แก่ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างไฟฟ้า พนักงานบริการอาหารเครื่องดื่ม จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ ยังได้ มอบใบอนุญาตศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขา พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ระดับ 1 ด้วย

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” ผลักดันครูมวย รับ License เตรียมรับฝึกสอนในไทยและต่างประเทศ

รมว.แรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ดันครูมวยรับ License ส่งเลขาอารี ชมการทดสอบมาตรฐานฝีมือผู้ฝึกสอนมวยไทย สร้างนักกีฬาอาชีพและ Soft Power หวังดึงรายได้เข้าประเทศ

วันที่ 10 เมษายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่งนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เยี่ยมชมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ผลักดันนโยบาย Soft Power โดยมี นายปรีชา ลาลุน รองผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย (ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวยไทย) ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมการทดสอบ ณ ห้องฝึกกีฬามวย ศูนย์ฝึกกีฬาในร่ม การกีฬาแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวภายหลังการเยี่ยมชมว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ให้เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขา ผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 จากทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตแล้ว 16 แห่งทั่วประเทศ  โดยในครั้งนี้ มีผู้เข้ารับการทดสอบฯ จำนวน 12 คน ประกอบด้วย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนมวยไทยอาชีพ ระดับ C - License ของการกีฬาแห่งประเทศไทย จำนวน 8 คน ผู้ฝึกสอนที่เตรียมไปทำงานเป็นครูฝึกสอนมวยไทยในต่างประเทศ จำนวน 1 คน และอีก 3 คนเป็นผู้ฝึกสอนมวยไทยจากค่ายมวยในประเทศไทย

นายอารี กล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์ทดสอบฯ ของการกีฬาแห่งประเทศไทย มีความพร้อมทั้งสถานที่ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐาน และมีคณะกรรมการควบคุมการทดสอบที่มีศักยภาพ อีกทั้งมีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ด้านกีฬามวยไทย รวมถึงมีเครือข่ายด้านมวยไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 แล้ว สามารถรองรับความต้องการของสถานประกอบกิจการ หรือผู้ประกอบอาชีพด้านมวยไทย รวมถึงนักมวยอาชีพที่ต้องการไปทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือเปิดสอนมวยไทย เข้ามาใช้บริการได้ตั้งแต่การฝึกอบรมจนถึงกระบวนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน  นอกจากนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือสาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ให้แก่แรงงานไทยในต่างประเทศด้วย เพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศให้ได้รับพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะและทัศนคติในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ฝึกสอนมวยไทย อีกทั้งเพื่อสร้างมาตรฐานในการประกอบอาชีพของผู้ฝึกสอนมวยไทยให้เป็นที่ยอมรับของนายจ้างและสถานประกอบกิจการในต่างประเทศ โดยมีแผนที่จะจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน อังกฤษ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป้าหมายไม่น้อยกว่า 80 คน 

“กีฬามวยไทยเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่รัฐบาลส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาคมโลกได้รับรู้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศในลักษณะ Sport Tourism และขณะเดียวกันก็สามารถส่งออกนักกีฬาและผู้ฝึกสอนไปยังต่างประเทศ สร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศจำนวนมหาศาล การทดสอบฯ ผู้ฝึกสอนมวยไทย จึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนในการผลิตนักกีฬามืออาชีพที่มีมาตรฐานฝีมือของกระทรวงแรงงานการันตี” นายอารีกล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top